กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล แพทย์ทั่วไป

เปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิด และประสิทธิภาพ

ตารางเปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ มีประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างไร ราคาเท่าไหร่ ใช้งานง่ายหรือยาก อ่านเลย!
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ส.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
เปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิด และประสิทธิภาพ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • วิธีคุมกำเนิดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่น กินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุม การใส่ถุงอนามัย หรือห่วงอนามัย และประเภทคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่ การทำหมันเปียก และทำหมันแห้ง
  • วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวมีข้อดีตรงที่สามารถควบคุมช่วงเวลาการคุมกำเนิดได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่อาจตามมา เช่น คัดตึงเต้านม หน้าเป็นฝ้า คลื่นไส้อาเจียน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • วิธีคุมกำเนิดเดียวที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ คือ วิธีใช้ถุงยางอนามัยของฝ่ายชาย
  • วิธีคุมกำเนิดแบบถาวรเป็นวิธีที่ปลอดภัย สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ โอกาสที่จะแก้หมันอีกครั้งเป็นไปได้ยาก
  • วิธีคุมกำเนิดแต่ละประเภทล้วนมีข้อดีข้อเสีย และเพื่อไม่ให้การคุมกำเนิดมากระทบกับสุขภาพ และแผนการมีครอบครัวระยะยาว คุณจึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคุมกำเนิดเพื่อให้แน่ใจเสียก่อน (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตรวจก่อนแต่ง ตรวจภาวะมีบุตรยากได้ที่นี่)

การมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ยังไม่พร้อม หรือไม่ต้องการมีบุตร สิ่งต้องให้ความสำคัญ ก็คือ การคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

ในปัจจุบัน มีวิธีคุมกำเนิดหลากหลายวิธี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว และการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งในบทความนี้จะเปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ ว่ามีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ตารางเปรียบเทียบวิธีคุมกำเนิดในรูปแบบต่างๆ 

การคุมกำเนิดจะแบ่งกลุ่มใหญ่ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวและการคุมกำเนิดแบบถาวร ซึ่งสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกหลายวิธี ดังนี้

1. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

การคุมกำเนิดชั่วคราว มีหลายประเภทให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยระยะเวลาที่มีผลคุมกำเนิดและโอกาสในการตั้งครรภ์จะแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-8% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 50-500 บาท แต่ข้อจำกัดคือห้ามลืมกินแม้แต่วันเดียว
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-10% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 50-500 บาท แต่ข้อจำกัดคือห้ามลืมกินแม้แต่วันเดียว และต้องกินให้ตรงเวลาด้วย
  • ยาฉีดคุมกำเนิดแบบ 3 เดือน หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-3% เท่านั้น สามารถขอใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 100-200 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องไปฉีดให้ตรงเวลา
  • ยาฝังคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.01%-0.05% เท่านั้น สามารถขอใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 2,500 บาท แต่ข้อจำกัดคือโรงพยาบาลทุก 3 ปี
  • แผ่นแปะคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.30%-8% เท่านั้น สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาใหญ่ๆ โดยมีอายุการใช้งาน 1 เดือน ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 400-600 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกสัปดาห์
  • ห่วงคุมกำเนิด หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.06%-0.08% เท่านั้น สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ต่อ 1 หน่วย ราคาประมาณ 1,000-5,000 บาท แต่ข้อจำกัดคือต้องให้แพทย์ตรวจภายในทุกปี
  • ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างสมบูรณ์ ถูกวิธี จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 15% สามารถซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป โดยมีอายุการใช้งาน 1 ครั้ง ต่อ 1 หน่วย ราคาไม่เกิน 100 บาท แต่ข้อจำกัดอาจขัดจังหวะในการมีเพศสัมพันธ์
  • หลั่งภายนอก เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์มากถึง 27% เนื่องจากหากมีการสอดใส่ จะทำให้น้ำหล่อลื่นบริเวณปลายอวัยวะเพศชาย มีอสุจิปนเปื้อนเข้าไปในช่องคลอดได้
  • นับวันปลอดภัย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ โดยมีโอกาสตั้งครรภ์มากถึง 25% เนื่องจากอสุจิสามารถอยู่ภายในช่องคลอดได้หลายวัน ส่วนข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะกับคนที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

2. การคุมกำเนิดแบบถาวร

การคุมกำเนิดแบบถาวร จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทสำหรับทั้งชายและหญิง ดังนี้

  • ทำหมันเปียก (ผู้หญิง) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.5% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท ข้อจำกัดคือการทำหมันรูปแบบนี้จะทำหลังจากคลอด
  • ทำหมันแห้ง (ผู้หญิง) เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.5% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาอยู่ระหว่าง 3,000-5,000 บาท ข้อจำกัดคือทำยากกว่าทำหมันเปียก และแผลมีขนาดใหญ่กว่า
  • ทำหมันชาย เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.1-0.15% เท่านั้น สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาล โดยมีระยะเวลาคุมกำเนิดตลอดชีวิต ราคาขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล แต่สามารถรับบริการได้ฟรีที่คลินิกมีชัย ไม่ต้องวางยาสลบ ทำเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้ทันที


การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มี 7 วิธี ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาคุมฉุกเฉิน การฉีดยาคุม ยาฝังคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ห่วงอนามัย และถุงยางอนามัย โดยมีรายละเอียดดังนี้

วิธีที่ 1 ยาเม็ดคุมกำเนิด 

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบ่งได้เป็น  2 ประเภท คือ ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม และฮอร์โมนเดี่ยว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1.1 ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม 

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมในเม็ดยาจะมีส่วนประกอบของฮอร์โมน 2 ชนิดคือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งมีผลในการยับยั้งการตกไข่  

รูปแบบยา

มี 2 รูปแบบคือ 28 เม็ด และ 21 เม็ด ซึ่งมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเท่ากัน โดยปริมาณฮอร์โมนในแต่ละเม็ดจะมีทั้งแบบที่เท่ากันทุกเม็ด และไม่เท่ากัน (ปรับให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของผู้หญิง) ซึ่งจะมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็มีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน

วิธีการใช้ยา

รับประทานยาเรียงตามลำดับลูกศรจนกว่าจะหมดแผง

  • แบบ 28 เม็ด ประจำเดือนจะมาใน 7 เม็ดสุดท้ายของแผง เมื่อยาหมดแผงแล้วให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดไปทันที
  • แบบ 21 เม็ด เมื่อยาหมดแผงแล้ว ให้นับต่อไปอีก 7 วัน (ประจำเดือนจะมาในช่วง 7 วันนี้) และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8

ข้อแนะนำการใช้ยา

  • สำหรับผู้เริ่มใช้ยา ควรเริ่มภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน (เพื่อประสิทธิภาพในคุมกำเนิดที่ดีที่สุด ให้เริ่มรับประทานยาในวันแรกของการมีประจำเดือน) 
  • ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มรับประทานยา ยาจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย 
  • ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอในเวลาเดียวกันของทุกวัน จะช่วยลดการเกิดเลือดประจำเดือนออกกะปริดกะปรอยได้ 
  • แนะนำให้รับประทานยาในช่วงก่อนนอน เพราะจะช่วยหลีกเลี่ยงอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานยาได้  

หากลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร

กรณีที่ลืม 1 เม็ด

  • ถ้านึกได้ก่อนถึงเวลารับประทานยาเม็ดถัดไป ให้รับประทานยาเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาเม็ดถัดไปตามเวลาปกติ
  • ถ้านึกได้ตอนใกล้ถึงเวลารับประทานยาเม็ดถัดไป ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมและเม็ดถัดไปพร้อมกัน 2 เม็ด ตามเวลาปกติ

กรณีที่ลืม 2 เม็ด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ถ้าเป็นในช่วง สัปดาห์ที่ 1-2 ของรอบเดือน ให้กิน 2 เม็ดทันที วันต่อไปกินอีก 2 เม็ด แล้วจึงกินตามปกติ
  • ถ้าเป็นช่วง สัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป ให้หยุดยา แล้วคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นจนกว่าประจำเดือนรอบใหม่จะมา แล้วจึงเริ่มกินแผงใหม่ในวันแรกของการมีประจำเดือน

กรณีลืม 3 เม็ดขึ้นไป

ให้หยุดใช้ยาแผงนั้น และคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นไปก่อน รอประจำเดือนมาแล้วค่อยเริ่มแผงใหม่ในวันแรกของการมีประจำเดือน

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

สำหรับการใช้ยาที่สมบูรณ์แบบ มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.3% แต่สำหรับการใช้ยาแบบคนทั่วไป คือ ลืมรับประทานยา หรือรับประทานยาไม่ตรงเวลา จะมีโอกาสตั้งครรภ์ 8%

ข้อดี

  • หลังหยุดยาแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดไป
  • ประจำเดือนมาสม่ำเสมอตามปกติ ลดอาการปวดประจำเดือนได้
  • ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งมดลูกและรังไข่

ข้อเสีย

  • ต้องมีวินัยในการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ 
  • หากมีการใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปีขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ผู้ใช้ยาควรไปตรวจมะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง
  • ความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน การเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด

ข้อห้ามใช้

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ใช้ อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ แต่หลังจากใช้ไปเรื่อยๆ รอบเดือนจะเริ่มมาสม่ำเสมอมากขึ้น
  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้
  • คัดตึงเต้านม
  • น้ำหนักขึ้น
  • หน้าเป็นฝ้า

1.2 ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว ตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว กลไกหลักในการคุมกำเนิด คือ เพิ่มความเหนียวข้นของมูกบริเวณปากมดลูก ทำให้อสุจิวิ่งผ่านเข้าไปไม่ได้ ยาบางชนิดสามารถใช้ในการคุมกำเนิดสำหรับแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตร

รูปแบบยา

มีรูปแบบเดียวคือ 28 เม็ด

วิธีการใช้ยา

รับประทานยาเรียงตามลำดับลูกศรจนกว่าจะหมดแผง โดยต้องรับประทานตรงเวลาเดิมทุกวัน ห้ามคลาดเคลื่อนเกิน 3 ชั่วโมง มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิด และเมื่อยาหมดแผง ให้รับประทานแผงใหม่ต่อในวันถัดไปโดยไม่ต้องเว้นระยะ

ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเริ่มรับประทานยา ตัวยาจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จึงต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย

หากลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร

  • ลืม 1 เม็ด ให้รับประทานเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ และรับประทานเม็ดต่อไปตามเวลาเดิม หลังจากนั้นให้ใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 1 สัปดาห์
  • ลืม 2 เม็ด ให้รับประทานยาต่อไป วันละ 1 เม็ด และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

  • สำหรับการใช้ที่สมบูรณ์แบบจะมีโอกาสการตั้งครรภ์ 0.3%
  • สำหรับการใช้ยาแบบคนทั่วไปจะมีโอกาสตั้งครรภ์ 1% โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะสูงที่สุดเมื่อใช้ในหญิงให้นมบุตร

ข้อดี

  • ใช้ได้ดีในแม่หลังคลอดที่ให้นมบุตร เพราะไม่ส่งผลต่อการหลั่งน้ำนม
  • ใช้ในผู้ที่มีข้อห้ามใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือผู้ที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้
  • หลังหยุดรับประทานยาแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้เลยในเดือนถัดมา

ข้อเสีย

ผู้ใช้ยาจะไม่มีประจำเดือนเป็นรอบๆ หรืออาจไม่มีประจำเดือนเลย หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย

ข้อห้ามใช้

ไม่มีข้อห้ามใช้ แต่สำหรับการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากการรับประทานยาต้านไวรัสร่วมด้วยอาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • มีเลือดออกกระปริดกระปรอย
  • คลื่นไส้
  • เวียนศีรษะ
  • คัดตึง เจ็บเต้านม

วิธีที่ 2 ยาคุมฉุกเฉิน

ใช้สำหรับคุมกำเนิดในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิด

กลไกการออกฤทธิ์

ป้องกันและชะลอการตกไข่ แต่ไม่สามารถใช้ทำแท้งได้

รูปแบบยา

มี 2 แบบ คือ

  • ยาเม็ดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน โดยตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเข้มข้น วิธีใช้ยา คือ รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งรับประทานช้าเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสตั้งครรภ์มากขึ้นเท่านั้น (ห้ามเกิน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์)
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม สามารถนำมาใช้เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินได้ โดยต้องคำนวณขนาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในการรับประทานยาแต่ละครั้งให้ได้ 100 ไมโครกรัม รับประทานทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

โดยทั่วไป การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 8%

  • ยาเม็ดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ลดโอกาสตั้งครรภ์เหลือ 1 %
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ลดโอกาสการตั้งครรภ์เหลือ 2%

ผลข้างเคียง

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ (มาช้าหรือเร็วกว่าปกติ) อาจมีเลือดออก 1-2 วันหลังจากรับประทานยา
  • คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม เวียนศีรษะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยา

ข้อควรระวัง

ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเกินเดือนละ 2 ครั้ง และหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินควรพิจารณาหาวิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า

วิธีที่ 3 ยาฉีดคุมกำเนิด

ตัวยาจะประกอบด้วยฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรน โดยยา 1 เข็ม มีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด 3 เดือน

วิธีการใช้ยา

ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (นิยมฉีดบริเวณสะโพก) ครั้งละ 1 เข็ม ทุกๆ 3 เดือน โดยเริ่มฉีดในวันแรกของการมีประจำเดือน หรือภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หลังฉีดจะไม่มีประจำเดือนตามปกติเช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยว แต่อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยเรื้อรังได้

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

สำหรับการใช้ในคนทั่วไปมีโอกาสตั้งครรภ์ 3% และในคนที่ฉีดยาสม่ำเสมออย่างสมบูรณ์แบบมีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.3%

ข้อเสีย

ต้องหยุดยานานประมาณ 9-12 เดือนขึ้นไป จึงจะสามารถมีบุตรได้

ผลข้างเคียงของการใช้ยา

  • เลือดออกกระปริดกะปรอย ไม่สม่ำเสมอ แต่ไม่เป็นอันตราย หากกังวลสามารถไปพบแพทย์ได้
  • น้ำหนักขึ้น (ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อปี)
  • ปวดศีรษะ
  • อารมณ์แปรปรวน

วิธีที่ 4 ยาฝังคุมกำเนิด

รูปแบบยา

ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว มีลักษณะเป็นหลอดยาทรงกระบอกเล็กๆ ขนาดความหนาประมาณครึ่งหนึ่งของหลอดยาคูลท์ ความยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร

กลไกการออกฤทธิ์

ยาที่ถูกฝังจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนคุมกำเนิดออกมาในระยะเวลา 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของหลอดยา

วิธีใช้

หลอดยาจะถูกฝังเข้าไปใต้ชั้นผิวหนัง โดยใช้เครื่องมือสอดยาแทงทะลุชั้นผิวหนังเข้าไป เป็นแผลเล็กๆ ประมาณ 0.5 เซนติเมตร (อาจฟังดูน่ากลัว แต่ในกระบวนการทำจริงง่ายและเจ็บน้อยมาก เนื่องจากจะมีการฉีดยาชาก่อนฝังยา)  

ในเดือนแรกที่ฝังยาจะต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย เพราะยาฝังคุมกำเนิดจะยังออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ จนเมื่อครบกำหนด 3 ปี หรือ 5 ปีแล้ว จะต้องกลับมาโรงพยาบาลเพื่อเอายาหลอดเก่าออก และใส่หลอดใหม่เข้าไป

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.01-0.5%

ผลข้างเคียง

อาจมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอยได้

วิธีที่ 5 แผ่นแปะคุมกำเนิด

รูปแบบยา

เป็นแผ่นแปะขนาดเล็ก แผ่นแปะคุมกำเนิด 1 ชุด สามารถใช้ได้ 1 เดือน

กลไกการออกฤทธิ์

ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ออกฤทธิ์เหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมคือ ป้องกันไม่ให้ไข่ตก เมื่อนำไปแปะตามส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ตัวแผ่นแปะคุมกำเนิดจะค่อยๆ ปล่อยฮอร์โมนคุมกำเนิดออกมา

ประสิทธิภาพ

เทียบเท่ากับการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม แต่ประสิทธิภาพจะลดลงหากใช้ในคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม

วิธีใช้

ใน 1 ชุดจะประกอบด้วยแผ่นแปะคุมกำเนิด 3 แผ่น สำหรับแปะสัปดาห์ละ 1 แผ่น และเว้นไม่แปะในสัปดาห์ที่ 4 ของรอบเดือน (เหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิดชนิด 21 เม็ด) ซึ่งจะเป็นช่วงที่ประจำเดือนมา 

นอกจากนี้ คุณยังต้องระวังแปะแผ่นคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องติดกันทุกสัปดาห์ หากลืมแปะจะเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงมาก อีกทั้งต้องแปะตลอดเวลา ห้ามแกะแผ่นแปะออกเด็ดขาด โดยตัวแผ่นแปะคุมกำเนิดจะเหนียวหนึบทนทาน สามารถอาบน้ำ หรือว่ายน้ำได้ตามปกติ

ผลข้างเคียง

  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
  • ระคายเคืองบริเวณผิวที่ติดแผ่นแปะคุมกำเนิด
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บเต้านม

วิธีที่ 6 ห่วงคุมกำเนิด

รูปแบบยา

เป็นแท่งพลาสติกอันเล็กจิ๋ว ขนาดเล็กกว่าปลายนิ้วก้อย ส่วนปลายกางออกเป็นลักษณะร่มหรือห่วง

วิธีใช้

ใส่เข้าไปทางปากมดลูก ตัวห่วงจะกางอยู่ในโพรงมดลูก และกระตุ้นการสร้างเมือกเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิว่ายเข้าไปผสมกับไข่ได้

ห่วงคุมกำเนิดบางรุ่นจะสามารถปล่อยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาช่วยคุมกำเนิดได้ เช่น ไมรีน่า (Mirena) มีอายุการใช้งาน 3–5 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ควรเข้ารับการตรวจภายในทุกปี เพื่อเช็กสภาพและตำแหน่งของห่วงคุมกำเนิด

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.06–0.08%

ผลข้างเคียง

เลือดออกกระปริดกะปรอย ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือน หรือตกขาว

หมายเหตุ

การใส่ห่วงคุมกำเนิดไม่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นอุ้งเชิงกรานอักเสบ และไม่เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

วิธีที่ 7 การใช้ถุงยางอนามัย (ชาย)

ข้อดี

เป็นการคุมกำเนิดวิธีเดียวที่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส โรคเอดส์

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 15%

วิธีอื่นๆ ในการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว 

เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในการตั้งครรภ์ ได้แก่ การหลั่งภายนอก และการนับวันปลอดภัย

การหลั่งภายนอก  

มีโอกาสตั้งครรภ์ 27%

การนับวันปลอดภัย

  • มีโอกาสตั้งครรภ์ 25%  
  • วิธีการคือ นับหน้า 7 หลัง 7  (นับ 7 วันก่อนประจำเดือนมา และนับอีก 7 ตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนมา ซึ่งไม่ใช่เริ่มนับจากวันที่ประจำเดือนหมด)  
  • วิธีนี้ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ

การคุมกำเนิดแบบถาวร

การคุมกำเนิดแบบถาวร มี 2 วิธี ได้แก่ การทำหมันหญิง (ทำหมันเปียก และทำหมันแห้ง) และการทำหมันชาย

วิธีที่ 1 การทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงแบ่งออกเป็น การทำหมันเปียก และการทำหมันแห้ง

การทำหมันเปียก (การทำหมันหลังคลอด)

วิธีทำ

ตัดท่อนำไข่ให้แยกออกจากกัน ทำให้อสุจิไม่สามารถเดินทางไปผสมกับไข่ได้

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.05%

ข้อดี

  • ทำง่ายกว่าหมันแห้ง เนื่องจากระดับของมดลูกอยู่สูงกว่า
  • แผลเล็กมาก โดยรอยแผลจะกรีดบริเวณใต้สะดือ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร
  • ไม่มีผลต่อฮอร์โมนเพศ ไม่ทำให้ความรู้สึกทางเพศ หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลง
  • ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว

ข้อเสีย

  • เป็นการทำหมันถาวร ก่อนทำควรตัดสินใจให้รอบคอบ
  • แก้หมันยาก โอกาสแก้สำเร็จน้อยมาก

การทำหมันแห้ง

ประสิทธิภาพเหมือนกับการทำหมันเปียก แต่ทำยากกว่า

วิธีที่ 2 การทำหมันชาย

เป็นวิธีที่ง่าย ปลอดภัย และได้ผลดี

วิธีทำ

ไม่ต้องวางยาสลบ เพียงแค่ฉีดยาชา แล้วกรีดแผลผ่าตัดเล็กๆ ที่บริเวณถุงอัณฑะ จากนั้นตัดท่อนำอสุจิให้แยกออกจากกัน หลังผ่าตัดสามารถกลับบ้านได้ทันที 

เมื่อท่อนำอสุจิถูกตัดแยกจากกัน จะทำให้อสุจิไม่สามารถหลั่งออกไปสู่ภายนอกได้ โดยหลังทำต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อรอให้เชื้ออสุจิหมดไป

ประสิทธิภาพ

มีโอกาสตั้งครรภ์ 0.03%

ข้อดี

  • ทำง่ายกว่าหมันหญิงมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อยกว่า 
  • ฮอร์โมนเพศชายยังอยู่ครบถ้วน ไม่มีผลต่อความรู้สึกทางเพศ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

ดูแพ็กเกจแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตรวจก่อนแต่ง ตรวจภาวะมีบุตรยาก เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ฝังยาคุม ผลข้างเคียงเป็นยังไง เตรียมตัวยังไง? อ่านที่นี่, (https://hdmall.co.th/c/contraceptiveimplant).
ฉีดยาคุมกำเนิด ป้องกันได้นานกี่เดือน ไม่ฉีดแล้วจะกลับมาท้องทันทีหรือไม่? (https://hdmall.co.th/c/injectable-contraceptive).
ใส่ห่วงคุมกำเนิด คืออะไร อ้วนไหม เช็กได้ที่นี่ (https://hdmall.co.th/c/itrauterine-device).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การมีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบคืออะไร ?
การมีประจำเดือนมาไม่ตรงรอบคืออะไร ?

มีหลายสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนของคุณไม่ตรงรอบ รู้ก่อนเพื่อแก้ไขให้ถูกทางและปลอดภัย

อ่านเพิ่ม
ประจำเดือนมาแบบไหน ถึงเรียกว่าไม่ปกติ
ประจำเดือนมาแบบไหน ถึงเรียกว่าไม่ปกติ

ประจำเดือนมาน้อย มามาก สีของประจำเดือน รอบประจำเดือนที่เปลี่ยนไป บอกสัญญาณอะไรของร่างกายคุณได้บ้าง

อ่านเพิ่ม