กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ประโยชน์ของถั่วลิสง ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เผยแพร่ครั้งแรก 24 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของถั่วลิสง ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

ในบรรดาถั่วทั้งหลายถั่วลิสงจัดว่าเป็นพืชที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นเพราะคุณประโยชน์จากถั่วลิสงที่มีครบแทบทุกด้านทั้งทางด้านอาหาร สรรพคุณทางยารักษาโรค เป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศกันเลยทีเดียว

รู้จักถั่วลิสง

ถั่วลิสง จัดเป็นพืชล้มลุก มักมีขนเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของต้น ยกเว้นเพียงกลีบดอกที่ไม่มี ลำต้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ลำต้นเป็นพุ่มตรง มีกิ่งก้านมาก ฝักเป็นกระจุกที่โคนต้น กับอีกชนิดเป็นพุ่มเตี้ย เลื้อย มีฝักกระจายตามข้อของลำต้น การปลูกถั่วลิสงมีทุกภาคในประเทศไทย แต่มักพบมากที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วลิสง

ถั่วลิสงในปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย

ประโยชน์ของถั่วลิสง

ถั่วลิงสง พืชตระกูลถั่วที่เปี่ยมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารต่างๆ หลายชนิด กินเป็นอาหารว่างก็ทำให้อิ่มท้องได้ แถมไม่อ้วนง่ายอีกด้วย เราไปดูประโยชน์ของถั่วลิสงเพื่อสุขภาพกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

1.ช่วยป้องกันโรคต่างๆ

เช่น โรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะถั่วลิสงมีสารต้านเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านโรคมะเร็งและยังประกอบไปด้วยสารจีเนสติน ซึ่งเป็นตัวการทำให้เส้นเลือดที่จะไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็งตีบเล็กลง อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ การรับประทานบ่อยๆ จะช่วยลดปริมาณไขมันเลวในเส้นเลือด นอกจากนี้ ยังปราศจากคอเลสเตอรอลซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแข็งตัวของเลือด อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ และยังช่วยลดความดันโลหิตสูงลงได้อีกด้วย  

2.ช่วยรักษาโรคบางชนิด

เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ เพราะเยื่อหุ้มของเมล็ดถั่วลิสงมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการสลายตัวของ Fribrin และยังช่วยกระตุ้นให้กระดูกมีการผลิตเกล็ดเลือด ช่วยให้การหดตัวของเส้นเลือดฝอยดีขึ้น ช่วยในการห้ามเลือด ช่วยรักษาอาการเลือดออกง่าย และรักษาโรคตับอักเสบ

3.ช่วยบำรุงร่างกายรวมทั้งอวัยวะต่างๆ

เช่น บำรุงประสาทตา บำรุงสมอง มีโคลีนช่วยทำให้ความจำดี ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย บำรุงกระเพาะ สมานแผลในกระเพาะอาหาร และยังช่วยเพิ่มความหล่อลื่นในลำไส้ เพราะอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้ ทำให้เกิดกระบวนการทำความสะอาดแบบเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังช่วยบำรุงม้าม บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น และบำรุงน้ำนมในสตรีมีครรภ์ทำให้มีน้ำนมมากเพียงพอ

4.ลดความอ้วน

เมื่อรับประทานถั่วลิสงเข้าไปในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปนักจะช่วยให้ไม่เกิดอาหารหิวบ่อย เพราะถั่วลิสงมีไขมันไม่อิ่มตัว ทำให้อิ่มท้องนาน ทำให้ทานอาหารได้น้อยลง จึงไม่ทำให้อ้วน เหมาะที่จะทานเป็นอาหารว่างอย่างมาก ปริมาณที่แนะนำคือ ไม่ควรทานเกิน 1 กำมือ หรือปริมาณ 30 กรัมต่อวัน

5.ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิด

การเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดสามารถยับยั้งได้ โดยนำมาทำเป็นยาฉีด แต่ก็สามารถยับยั้งได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

6.ช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย

เป็นเพราะแมกนีเซียมที่มีในปริมาณมากในถั่วลิสง ที่จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว และยังช่วยให้การทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ดีขึ้น

7.ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร

นอกจากให้ผลดีกับสุขภาพแล้ว ยังสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ นำเปลือกมาทำเป็นปุ๋ย ทำให้ดินดี มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ใช้เพาะเห็ด ทำเชื้อเพลิง เป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้าง และใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้

ไอเดียการนำถั่วลิสงมาใช้เพื่อสุขภาพ

  • แก้อาการฟกช้ำ หากเกิดอาการฟกช้ำจากการหกล้ม กระทบกระแทก สามารถนำใบมาตำให้ละเอียดแล้วโปะลงบริเวณที่เป็นได้ แต่หากฟกช้ำภายใน ให้ใช้ก้านใบสดหรือใบแห้ง (เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง) สำหรับใบแห้งให้กะน้ำหนักปริมาณ 30 กรัม ส่วนใบสดใช้ปริมาณ 40 กรัม โดยนำมาต้ม แล้วกรองเอาน้ำมาดื่มจะช่วยแก้อาการฟกช้ำจากภายในร่างกายได้
  • ลดความดันโลหิตสูง ให้ใช้ก้านหรือใบสด ใบแห้ง โดยนำมาต้ม แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
  • รักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ ใช้เปลือกถั่วลิสงปริมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำ กรองกากออก เอาแต่น้ำมาดื่มทุกวันก็จะช่วยรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำได้
  • รักษาอาการไอกรน ให้นำเมล็ดถั่วมาต้มกับน้ำตาลกรวด แล้วรับประทานจะช่วยรักษาอาการไอกรน อาการนอนกรนในเด็ก
  • บรรเทาอาการฝีในท้อง ให้นำเมล็ดถั่วมาต้มกับเกลือรับประทาน ซึ่งจะมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการฝีในท้องได้
  • รักษาอาการไอแห้ง ให้นำเมล็ดแห้งมาบดชงหรือต้มเอาแต่น้ำมาดื่ม จะช่วยมีรสชุ่ม ช่วยในการหล่อลื่นปอด และรักษาอาการไอแห้งได้
  • รักษาอาการปลายเท้าชา นำถั่วลิสง ถั่วแดงและพุทราจีนมาต้มรวมกันแล้วรับประทาน จะช่วยรักษาอาการปลายเท้าชาได้ วิธีการทำคือ ใช้เมล็ดที่ยังคงมีเนื้อเยื่ออยู่จำนวน 100 กรัม ถั่วแดง 100 กรัม และเปลือกพุทราจีน 100 กรัม โดยนำส่วนผสมทั้งหมดนี้มาต้มรวมกัน รับประทานหลายๆ ครั้งก็จะเห็นผล
  • บำรุงน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด นำถั่วลิสงจำนวน 120 กรัม กับขาหมู 1 ขา นำมาต้มรวมกัน ปรุงรสตามชอบ แต่รสชาติไม่ควรให้จัดนัก แล้วนำมารับประทานจะช่วยบำรุงน้ำนม เร่งน้ำนมในคุณแม่หลังคลอดให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นได้
  • ใช้เป็นยาระบาย ให้นำน้ำมันจากเมล็ดประมาณ 30-60 มิลลิลิตร นำมาใช้ทานก็จะเป็นยาระบาย ช่วยในการหล่อลื่นลำไส้ แก้อาการท้องผูกได้
  • แก้อาการปวดเมื่อย โดยใช้น้ำมันสกัดจากเมล็ดถั่วลิงสง มาทาถูนวดภายนอกตรงบริเวณที่มีอาการปวด ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้เช่นเดียวกัน

ไอเดียการนำถั่วลิสงมารับประทานเพื่อสุขภาพ

เมล็ดถั่วลิสงเราสามารถนำมาประกอบเมนูอาหารทานได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเมนูอาหารว่างทานเล่นเพื่อสุขภาพ แต่ก่อนอื่น เราจะต้องคำนึงถึงความสะอาดก่อนเป็นอันดับแรก โดยควรเลือกเมล็ดถั่วลิสงใหม่ สะอาด ปราศจากสารเจือปน และเมื่อคัดสรรเมล็ดที่สะอาดได้คุณภาพตามที่ต้องการแล้ว เราก็ไปดูเมนูน่าทานกันเลย

  1. ถั่วลิสงต้ม เตรียมถั่วลิสงดิบ เกลือ น้ำเปล่า เริ่มการทำด้วยการล้างถั่วให้สะอาด นำใส่หม้อต้ม เติมเกลือลงไป ต้มให้เดือดจนสุก เมื่อสุกแล้วให้ปล่อยไว้ครึ่งชั่วโมง ตักมาพักให้แห้ง รับประทานได้
  2. ขนมถั่วกรอบเคลือบน้ำตาล เตรียมถั่วลิสง น้ำตาลทราย น้ำสะอาด เกลือ งาขาวคั่ว เริ่มการทำด้วยการนำน้ำตาลทราย น้ำสะอาด และถั่วมาคนให้เข้ากัน นำลงกระทะ ใช้ไฟกลางคนไป-มา เมื่อน้ำเชื่อมเดือด ให้คนบ่อยๆ ปรับไฟให้อ่อนลงแล้วคนจนน้ำเชื่อมแห้งเกาะบนเมล็ดถั่ว โรยเกลือกับงาขาว คนให้ทั่วอีกครั้ง ปิดไฟ เทถั่วลงบนถาด เกลี่ยให้ถั่วกระจายอย่าให้ติดกัน พอแห้งเย็น ถั่วจะกรอบ หอม ทานอร่อยมากทีเดียว
  3. ยำถั่วลิสง เหมาะสำหรับทานเป็นอาหารว่าง เป็นกับแกล้ม เพียงนำถั่วลิสงดิบ มะนาวหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เกลือป่น มาคั่วรวมกัน เมื่อถั่วสุก สามารถนำประทานได้เลยจะได้ทั้งความหอมของถั่วและมะนาว รับรองว่ากลมกล่อมมาก

ข้อควรระวัง

ถึงแม้ประโยชน์ของถั่วลิสงจะมีมากมาย แต่ถั่วลิสงก็ยังคงแฝงไปด้วยสารที่อาจมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ดังนั้น ก่อนทานจะต้องศึกษาข้อควรระวังเอาไว้ ดังนี้

1.ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีสารอะฟลาทอกซินสูง (Alflatoxin)

ซึ่งนับว่าเป็นสารพิษที่มีความร้ายแรงต่อร่างกายของคนและสัตว์เป็นอย่างมาก หากได้รับในปริมาณที่มาก จะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งที่ตับ ตับถูกทำลาย สมองบวม ชัก หายใจไม่ออก ดังนั้นปริมาณที่กำหนดให้ใช้สารชนิดนี้ได้ไม่เกิน 20 ppb ซึ่งอาจเกิดมาจากขบวนการเก็บเกี่ยว การตากแห้ง เจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน ดังนั้นจึงพบราชนิดนี้มากในฤดูฝนนั่นเอง

2.ผู้ที่แพ้ถั่วควรเลี่ยงทาน

พบว่าใน 1,000 คน จะมีผู้ที่แพ้ถั่วลิสง 2-14 คน ดังนั้นหากมีอาการแพ้เช่น ผื่นคันตามตัว เป็นลมพิษ อาเจียน ไอ หอบ หายใจไม่สะดวก ปวดท้อง หากแพ้รุนแรงเช่น ตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก อาจทำให้ช็อก หมดสติและอาจเสียชีวิตได้ หากเริ่มมีอาการ ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ซึ่งสาเหตุการแพ้อาจเกิดมาจากการแพ้โปรตีนในถั่วลิสง ภูมิคุ้มกันแปรปรวน ไม่สามารถรับโปรตีนจากถั่วได้นั่นเอง

3.หลีกเลี่ยงการทานในบางช่วง

โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายกำลังเป็นโรคปวดตามกล้ามเนื้อ ปวดตึงตามข้อ ท้องเสีย หากมีอาการรุนแรง ไม่ควรกินถั่วลิสงในช่วงนี้ เพราะอาจจะเร่งทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย

4.ถั่วลิสงมีสารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์จึงไม่ควรรับประทาน เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้อาการของโรคอักเสบขึ้นได้

ถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่ก็นับว่ายังคงเป็นพืชที่ให้คุณประโยชน์มากกว่าให้โทษ และยังหาซื้อมาทานง่าย ราคาถูก ทำเป็นเมนูอาหารว่างทานได้หลากหลายเมนู หรือจะต้มทานเปล่าๆ ก็อร่อยอิ่มสบายท้องได้ง่ายแล้ว เพราะฉะนั้น หากกำลังมองหาอาหารดีเพื่อสุขภาพกันอยู่ล่ะก็ แนะนำถั่วลิสงรับรองไม่มีผิดหวัง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jennifer J. Brown, Eat Peanuts: You May Live Longer (https://www.everydayhealth.com/news/eat-peanuts-live-longer/)
Atli Arnarson, Peanuts 101: Nutrition Facts and Health Benefits (https://www.healthline.com/nutrition/foods/peanuts) 7 May 2019

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป