โทษของบุหรี่ ที่มีผลต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อผู้คนรอบข้าง

บุหรี่สิ่งเสพติดที่ให้โทษทั้งต่อตัวผู้สูบและบุคคลใกล้ชิด มีโทษอะไรบ้าง และจะเลิกได้อย่างไร อ่านได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
โทษของบุหรี่ ที่มีผลต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อผู้คนรอบข้าง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • บุหรี่ เป็นสิ่งเสพติดที่ให้โทษทั้งต่อตัวผู้สูบ และบุคคลใกล้ชิด
  • ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือภาวะเหล่านี้ ตาบอดถาวร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือดสมองตีบ ถุงลมโป่งพอง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และแท้งลูก
  • ผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด มะเร็งปอด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วย หากเป็นเด็กจะมีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ
  • ผู้สูบบุหรี่ควรเลิกบุหรี่เพื่อสุขภาพร่างกายของตัวเอง และบุคคลรอบข้าง หากไม่สามารถเลิกได้ด้วยตัวเอง สามารถขอคำแนะนำได้ที่สถานบำบัด
  • การสูบบุหรี่เป็นประจำส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหลายด้าน การตรวจสุขภาพจะช่วยให้รู้ว่า สุขภาพในปัจจุบันเป็นอย่างไร และต้องระมัดระวังด้านใดบ้าง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

“บุหรี่” นับเป็นสิ่งเสพติดที่มีโทษมากมายต่อตัวผู้สูบ และบุคคลใกล้ชิด ทั้งยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งในระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ โดยการสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้เกิดโรคทันทีทันใด แต่สารพิษจะค่อยๆ สะสมในร่างกาย และก่อให้เกิดโรคได้ในอนาคต

โทษของบุหรี่ที่มีต่อตัวผู้สูบ

เนื่องจากบุหรี่มีสารพิษนับพันชนิด อีกทั้งยังสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที ทำให้บุหรี่ส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายมากมาย ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1. เสี่ยงตาบอดถาวร

เมื่อเราสูบบุหรี่บ่อยๆ สารพิษในบุหรี่จะทำให้เกิดตาต้อกระจกได้ง่ายขึ้น โดยสังเกตได้จากดวงตาที่ดูขุ่นมัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเพียงอาการเริ่มต้นเท่านั้น 

หากยังคงสูบต่อไปเรื่อยๆ สารพิษในบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอเรตินาเกิดการตีบตัน จนเป็นผลให้ตาบอดถาวรในที่สุด

2. เสี่ยงมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสูงมาก เพราะตามปกติร่างกายจะมีกระบวนการดูดซึมสารพิษ หรือสารแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือด และขับถ่ายออกทางปัสสาวะ

สารนิโคติน และสารเสพติดอื่นๆ ในบุหรี่นั้น มีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อมีการดูดซึม และขับออกทางปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะจึงสัมผัสกับสารเหล่านี้ตลอดเวลา ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้ผู้สูบบุหรี่เป็นเวลานานบางคน อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากกล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมกระเพาะปัสสาวะถูกทำลายอีกด้วย

3. เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูงมาก

โดยสารนิโคติน และสารเสพติดอื่นๆ ในบุหรี่ จะทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว และตีบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จึงทำให้หัวใจขาดเลือดจนเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้นั่นเอง

4. เสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหาร

ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรคกระพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งช่องปาก และมะเร็งหลอดอาหาร รวมถึงการติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สารเคมีในบุหรี่จะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารผลิตน้ำย่อยมากเกินความจำเป็น จนกัดกร่อนกระเพาะอาหารทำให้เกิดแผล เมื่อกัดกร่อนนานขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร เสี่ยงเกิดภาวะกระเพาะทะลุ หรือเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต

5. เสี่ยงหลอดเลือดสมองตีบ

หลอดเลือดสมองตีบ เป็นอีกโรคที่น่ากลัว เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองแตกได้ ซึ่งก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤต อัมพาต และอาจเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้อีกเช่นกัน

จากการวิจัยพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่บ่อยๆ และสูบเป็นประจำมักเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า อีกทั้งยังอาจทำให้เซลล์สมองฝ่อ และเสื่อมได้ง่ายกว่าปกติ

6. เสี่ยงถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง เกิดจากการที่เนื้อปอด และถุงลมเล็กๆ ค่อยๆ เสื่อมสภาพลงจนโป่งพองในที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเพราะการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน โดยสารนิโคติน ไนโตรเจนไดออกไซด์ และสารเคมีอื่นๆ จะเข้าไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อของปอด และทำให้ถุงลมเล็กๆ ฉีกขาด

ผู้ป่วยถุงลมโป่งพองจะมีอาการหายใจลำบาก และหายใจยากขึ้น บางคนอาจรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอดจนต้องหายใจถี่ และเร็วขึ้นกว่าปกติ ซึ่งก็สร้างความทรมานให้ผู้ป่วยได้มากทีเดียว

7. เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

บุหรี่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้สูบเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตัน ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงประสาทที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้น้อยลง และยังทำให้จำนวนอสุจิอ่อนแอและลดน้อยลงด้วย ซึ่งเมื่อขาดอสุจิที่แข็งแรงโอกาสที่คุณจะเป็นหมันก็เพิ่มสูงขึ้น

8. เสี่ยงแท้งลูก

สำหรับผู้หญิงที่สูบบุหรี่ นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ชายแล้ว หากสูบในช่วงตั้งครรภ์ก็ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้อีกด้วย เนื่องจากสารเคมีในบุหรี่จะทำให้รกเกาะต่ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน และอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษตามมาได้

ดังนั้นหากรู้ตัวว่า กำลังตั้งครรภ์ ควรเลิกสูบบุหรี่ทันที และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ด้วย

9. ส่งผลกระทบอื่นๆ ต่อทางร่างกาย

นอกจากโทษของบุหรี่ที่กล่าวมาแล้ว ผู้สูบบุหรี่อาจมีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ฟันผุ ฟันดำ มีกลิ่นปาก ไอเรื้อรัง กลิ่นตัวเหม็นมาก แก่เร็ว ผมหงอก และอาจมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ เล็บเหลือง หรือมีอาการเบื่ออาหาร รวมไปถึงทำให้เกิดมะเร็งปอด ซึ่งมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

โทษของบุหรี่ต่อคนรอบข้าง

คนรอบข้างไม่ได้สูบบุหรี่ก็มีสิทธิเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้เช่นกัน หากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีควันบุหรี่มาก เราเรียกบุคคลที่ได้รับบุหรี่โดยที่ไม่ได้สูบว่า “บุหรี่มือสอง”

1. เสี่ยงโรคหอบหืด

เนื่องจากควันบุหรี่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง จึงอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ และเสี่ยงต่อโรคหอบหืดได้ นอกจากนี้ในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็อาจมีอาการกำเริบจากการสูดควันบุหรี่ได้ง่ายเช่นกัน

2. ทำลายสุขภาพทารกในครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ หากได้รับควันบุหรี่ในปริมาณมาก หรือเป็นประจำทุกวัน อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการตั้งแต่กำเนิด แท้ง หรือการเสียชีวิตระหว่างคลอดได้ 

ดังนั้นหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ จึงไม่ควรอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่ และผู้สูบบุหรี่เองก็ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ใกล้ๆ กับหญิงตั้งครรภ์ด้วย

3. เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดได้ถึง 2 เท่า

ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดอยู่แล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองกลับเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าถึง 2 เท่า เพราะตัวผู้สูบจะได้รับควันบุหรี่เพียงส่วนหนึ่งของควันที่พ่นออกมาเท่านั้น แต่ผู้ที่อยู่รอบข้างกลับได้รับควันบุหรี่ไปเต็มๆ

ดังนั้นหากไม่อยากทำร้ายคนรอบข้าง ก็ควรงดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการสูบในบริเวณที่มีคนอื่นๆ อยู่ด้วย

4. ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ

ควันบุหรี่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าลงจากปกติถึง 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ หรือพัฒนาการทางด้านสมอง ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองพิการ

บุหรี่เป็นสารเสพติดที่ให้โทษทั้งต่อตัวผู้สูบ และบุคคลรอบข้าง การเลิกสูบบุหรี่แม้เป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็มีหลายคนที่ทำสำเร็จ ซึ่งหลังจากเลิกบุหรี่ได้แล้วก็ทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างชัดเจน

โดยปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนเหล่านี้สามารถเลิกบุหรี่ได้คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะลด ละ เลิกสูบบุหรี่เพื่อตัวเอง และคนที่รัก

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

คำถามจากผู้อ่านเกี่ยวกับบุหรี่

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับบุหรี่ที่ได้รับการตอบโดยแพทย์ มีดังนี้

1. หากเราเลิกสูบบุหรี่แล้วออกกำลังกาย เราจะสามารถฟื้นฟูสภาพปอดให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้หรือไม่ครับ

คำตอบ 1: การหยุดสูบบุหรี่ทันที เป็นการหยุดไม่ให้ปอดถูกทำลายไปมากกว่าเดิม แต่การจะกลับมาสมบูรณ์นั้นไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เชื่อได้เลยว่าคุณภาพชีวิตหลังจากหยุดสูบบุหรี่จะดีขึ้นมาก แต่การออกกำลังกายก็ยังไม่ควรหักโหม เพราะสภาพปอดอาจไม่เอื้ออำนวย ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปครับ - ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

คำตอบ 2: อาจจะไม่สมบูรณ์ดังเดิมค่ะ แต่อย่างน้อยก็เป็นการหยุดทำลายปอด การเลิกสูบบุหรี่ช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้น เช่น อาการเหนื่อยหอบจะลดลง การขับเสมหะน้อยลง เป็นต้น โดยรวมแล้วการเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้ระบบร่างกายสมดุลมากขึ้นค่ะ - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

2. ได้รับควันบุหรี่จากคนอื่นบ่อยๆ เสี่ยงเป็นมะเร็งปอดไหมคะ

คำตอบ: บุคคลทั่วไปที่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ผู้อื่นสูบบุหรี่แล้วต้องได้รับควันพิษอยู่เรื่อยๆ นั้น มีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้สูบบุหรี่ด้วยซ้ำ เพราะควันบุหรี่มีความเข้มข้นของสารพิษมากกว่า เนื่องจากควันจากปลายมวลบุหรี่มีอุณหภูมิเผาไหม้ต่ำกว่า และยังไม่มีตัวกรองที่ก้นบุหรี่อีกด้วย - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)

3. ปรับความคิดยังไงเมื่อต้องการเลิกบุหรี่ครับ

คำตอบ 1: ดูข้างซองบุหรี่เลยค่ะ สภาพคนที่สูบบุหรี่ อนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น มะเร็ง โรคปอกอุดกันเรื้อรัง เสี่ยงต่อ เส้นเลือดสมองตีบ แตกโรคหัวใจ ค่ะ - ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 2: หากต้องการเลิกบุหรี่ มีคลินิกเลิกบุหรี่ตามโรงพยาบาลรัฐบาล สามารถเข้าไปปรึกษาได้นะครับ หากไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับด้านนี้ จะมีการสอบถาม ให้คำแนะนำ ให้ความช่วยเหลือ นัดติดตาม และประเมินผลเป็นระยะครับ เรียกว่า "เทคนิค 5A" หรืออีกเทคนิคคือ 5R 

คือมีกิจกรรมจูงใจให้อยากเลิกบุหรี่ ให้ข้อมูลความเสี่ยง บอกถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลิกบุหรี่ พยายามค้นหาอุปสรรคที่ขัดขวางการเลิกบุหรี่ โดยจะทำขั้นตอนแบบนี้ซ้ำหลายๆ ครั้ง จนเกิดเป็นไอเดียกับผู้ที่อยากเลิกบุหรี่เองครับ 

ส่วนในกรณีที่ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่สามารถทำได้เองคือ เทคนิคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เรียกว่า "5D" เช่น 

  • Delay ไม่สูบบุหรี่ทันทีที่อยากสูบ อาจจะนับเลข เพื่อไม่ให้คิดถึงบุหรี่
  • Deep breath หายใจเข้าออกลึกๆ
  • Drink water จิบน้ำ
  • Do something หาอะไรอย่างอื่นทำจะได้ไม่คิดถึงบุหรี่
  • Destination ให้พยายามมองถึงจุดหมายของการเลิกบุหรี่เข้าไว้

เป็นอีกเทคนิคที่นิยมปฏิบัติกัน ลองทำดูได้ครับ - ตอบโดย Rattapon Amampai (Dr.)

คำตอบ 3: การที่จะเลิกสูบได้ขึ้นอยูกับตัวเอง และความคิดของเราก่อนค่ะ เราจะต้องเตรียมตัว ตั้งใจแน่วแน่ ว่าต้องเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ อาจจะต้องหาแรงจูงใจนะคะ เช่น ทำเพื่อลูกของเรา ครอบครัวเรา หรือคนรอบตัวเราค่ะ ในเมื่อเรามีเป้าหมายเราก็จะสามารถเลิกได้ค่ะ - ตอบโดย Nawaporn Le. (Dr.)

คำตอบ 4: ให้นึกถึงข้อเสียของบุหรี่ และโทษของบุหรี่ที่ตามมาต่อเราเอง และคนอื่น จากนั้นก็ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ทำให้นึกถึง หรือเคยสูบบุหรี่ ให้หาสิ่งที่แทนบุหรี่ เช่น หมากฝรั่ง สุดท้ายก็ย้ำตัวเองบ่อยๆ พยายามหากลุ่มเพื่อน หรือชมรมที่ต้องการเลิกบุหรี่เหมือนกันเพื่อจะได้มีกำลังใจในการเลิกค่ะ - ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

4. อยากเลิกบุหรี่มีวิธีไหนบ้างครับ

คำตอบ: วิธีเลิกบุหรี่ที่ดีที่สุด และได้ผลมากที่สุดคือการหักดิบค่ะ โดยเมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเลิกแล้ว ควรกำหนดวันที่จะเลิกชัดเจน สร้างแรงจูงใจในการเลิก หาตัวช่วยระหว่างเลิก เช่น อมกานพลู อมมะนาว (หั่นแว่นบางๆ ให้ติดเปลือก) อมผลไม้รสเปรี้ยว จิบน้ำสะอาดบ่อยๆ 

ไม่แนะนำให้ใช้ลูกอมหรือหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของเมนทอล/เย็นซ่า และหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น เช่น เพื่อนที่สูบบุหรี่ วงเหล้า และหลังรับประทานอาหาควรแปรงฟันให้ปากสะอาด 

ควรอดทนกับอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นระหว่างเลิกบุหรี่ เช่น หงุดหงิด หาว เปรี้ยวปาก (อาการเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการปกติหลังหยุดบุหรี่) อาการเหล่านี้จะทำให้ผู้เลิกบุหรี่รู้สึกทรมานประมาณ 2 สัปดาห์ - 1 เดือน ถ้าผ่านระยะวิกฤตินี้ไปได้หมายความว่าคุณเลิกได้ 50 % แล้วค่ะ 

ที่เหลือแค่ประคับประคองตัวเองอย่างมีสติไม่ให้กลับไปสูบซ้ำจนครบ 1 ปี จึงจะถือว่าเลิกได้ค่ะ 

**วิธีหักดิบเป็นวิธีที่ค่อนข้างทำได้ยากเนื่องจากผู้เลิกด้วยวิธีนี้มักมีอาการทรมานจนทนไม่ได้ หากจิตใจไม่เข้มแข็งพอมักกลับไปสูบซ้ำ 

ขอแนะนำวิธีค่อยๆ ลดปริมาณ (ใช้กับคนไข้ในคลินิกเลิกบุหรี่ รพ.พังงา บ่อยๆ ค่ะ) 

  1. กำหนดวัน โดยใช้ระยะการลดปริมาณลงจนเลิกได้ภายในเวลา 1 เดือน

  2. ใช้ตารางหรือปฏิทินเป็นตัวช่วย( 1 เดือนมี 4 สัปดาห์) สัปดาห์ที่ 1 สูบ 10 มวน/วัน สัปดาห์ที่ 2 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 5 มวน/วัน สัปดาห์ที่ 3 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 2 มวน/วัน สัปดาห์ที่ 4 ลดปริมาณลงครึ่งนึง 0 มวน/วัน

  3. เข้าระยะวิกฤติ (ต้องหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น ปรับพฤติกรรม การใช้ตัวช่วยต่างๆ หากำลังใจเสริม เป็นต้น) ระยะวิกฤติของการเลิกแบบลดปริมาณจะไม่รู้สึกทรมานมากเท่ากับการเลิกแบบหักดิบ เพราะอาการข้างเคียงจะน้อยกว่าวิธีหักดิบ 

การใช้หมากฝรั่งนิโคติน ไม่สามารถช่วยให้เลิกได้ 100 % เพียงแต่เป็นการใช้นิโคตินทดแทนโดยเปลี่ยนจากวิธีสูบเป็นเคี้ยว 

ยาในการเลิกบุหรี่สามารถช่วยบรรเทาอาการทรมานที่เกิดจากการหยุดบุหรี่ได้ แต่การใช้ยาจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ค่ะ ลองเลือกดูนะคะว่าวิธีไหนน่าจะเหมาะกับตัวคุณมากที่สุด - ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

5. ผมเป่าปอดไม่ผ่านมาสองสามปีเเล้วครับเป็นเพราะเกี่ยวกับสูบบุหรี่หรือไม่ครับ

คำตอบ: การที่คุณทดสอบการทำงานของปอดไม่ผ่านเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ด้วยครับ โดยสารทาร์ในควันบุหรี่จะทำให้ถุงลมปอดโป่งพอง มีผลทำให้ปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนได้มากเท่าเดิม และทำลายเซลล์ปอดอีกด้วยครับ จึงทำให้การทำงานของปอดลดลงครับ - ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ (นพ.)


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ธนูรัตน์ พุทธชาต, โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา, รู้เท่าทันพิษภัยบุหรี่ (http://thaincd.com/document/file/download/powerpoint/Moddule%205_smoking.pdf)
อารยา หาอุปละ, พิษภัยบุหรี่ (https://med.mahidol.ac.th/sdmc/sites/default/files/public/pdf/smoke1.pdf)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงอะไรบ้าง ตั้งแต่ 20 นาที จนถึง 15 ปี
ประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ที่มีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงอะไรบ้าง ตั้งแต่ 20 นาที จนถึง 15 ปี

ร้อยพันประโยชน์ของการหยุดสูบบุหรี่ อ่านสักนิด คุณภาพชีวิตดีขึ้นแน่นอน

อ่านเพิ่ม
วิธีเลิกบุหรี่แบบหักดิบ
วิธีเลิกบุหรี่แบบหักดิบ

เลิกบุหรี่แบบหักดิบ ความยากที่ตามมาด้วยผลลัพธ์ของสุขภาพที่ดี

อ่านเพิ่ม
บอกเล่าประสบการณ์ของ Steve กับการเลิกบุหรี่ที่กว่าจะสำเร็จได้ในวันนี้
บอกเล่าประสบการณ์ของ Steve กับการเลิกบุหรี่ที่กว่าจะสำเร็จได้ในวันนี้

เรื่องราวของ Steve กว่าจะเลิกบุหรี่สำเร็จ ต้องใช้ความอดทนมากแค่ไหน

อ่านเพิ่ม