ประโยชน์ของใบเหลียง ไอเดียการกินและการใช้ใบเหลียงเพื่อสุขภาพ

เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประโยชน์ของใบเหลียง ไอเดียการกินและการใช้ใบเหลียงเพื่อสุขภาพ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ใบเหลียง (Baegu) เป็นผักพื้นบ้านของภาคใต้ชนิดหนึ่ง ใบสีเขียวเข้ม มีรสชาติดี ไม่มีรสขม ปราศจากกลิ่น เต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย นิยมนำมาประกอบอาหาร หรือนำมาลวกจิ้มแกล้มกับน้ำพริก
  • ใบเหลียง ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญมากมาย เช่น โปรตีน วิตามินซี เหล็ก ใยอาหาร แคลเซียม ไรโบฟลาวิน และไนอะซิน
  • การรับประทานใบเหลียงเป็นประจำจะช่วยบำรุงระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นดวงตา กระดูก สมอง หัวใจ ป้องกันโรคมะเร็ง โรคภูมิแพ้ และยังแก้ร้อนในได้อีกด้วย
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

ใบเหลียง เป็นผักพื้นบ้านของภาคใต้ชนิดหนึ่ง ใบสีเขียวเข้ม มีรสชาติดี ไม่มีรสขม ปราศจากกลิ่น เต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย จึงมีการนำมาประกอบอาหาร หรือนำมาลวกจิ้มแกล้มกับน้ำพริกก็อร่อยไม่แพ้กันเลยทีเดียว

ทำความรู้จักใบเหลียง

ใบเหลียง (Baegu) มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องถิ่น เช่น ผักเหมียง ผักเมี่ยง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ใบเหลียง เป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 3 – 4 เมตร ใบมีสีเขียวสด แต่หากปลูกเอาไว้กลางแจ้ง สีใบจะจางหรือกลายเป็นสีขาว 

ใบเหลียงมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ในอดีตเป็นผักที่ขึ้นในป่า เจริญเติบโตได้ดีในภูมิอากาศร้อนชื้น ในประเทศไทยจะพบได้บ่อยในบริเวณเชิงเขา 

ในปัจจุบัน ใบเหลียงได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มขึ้น เกษตรกรนิยมปลูกร่วมกับยาง จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมนำมารับประทานกับอาหารใต้ที่มีรสชาติเผ็ดจัด เพราะจะช่วยลดความจัดจ้านของอาหารลงได้ และทำให้ความเผ็ดลดน้อยลงอีกด้วย

คุณค่าทางโภชนาการใบเหลียง

ใบเหลียง 100 กรัม มีพลังงาน 100 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญดังนี้

  • โปรตีน 6.56 กรัม 
  • เหล็ก 2.5 มิลลิกรัม 
  • วิตามินซี 192 มิลลิกรัม 
  • ใยอาหาร 8.8 กรัม 
  • ไขมัน 1.2 กรัม 

นอกจากนี้ ใบเหลียงยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ไรโบฟลาวิน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน ไทอะมิน และวิตามินเอ

ประโยชน์ของใบเหลียง

ใบเหลียงอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุเป็นจำนวนมาก จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
โปรแกรมตรวจสุขภาพวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 99 บาท ลดสูงสุด 96%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. บำรุงสายตา

ในใบเหลียงมีสารเบต้าแคโรทีนสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงประสิทธิภาพชนิดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ทำหน้าที่ปกป้องสายตา ช่วยให้มองเห็นในตอนกลางคืนได้ดีขึ้น 

อีกทั้งยังช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ในลูกตา ป้องกันปัญหาตาต้อกระจก หรือปัญหาอื่นๆ ได้ดีอีกด้วย

2. ช่วยเสริมสร้างกระดูก

ใบเหลียง เป็นผักที่มีปริมาณแคลเซียมสูง มีสรรพคุณช่วยส่งเสริมการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ทำให้ระบบการทำงานของร่างกายส่วนต่างๆ เป็นไปด้วยดี 

หากรับประทานใบเหลียงเป็นประจำ ก็จะช่วยลดปัญหาโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกเปราะบางในวัยสูงอายุได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

3. บำรุงหัวใจ

การรับประทานใบเหลียงเป็นประจำจะช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดมีสุขภาพดี ป้องกันการแข็งตัวของเลือด 

นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่มีความจำเป็นต่อร่างกายได้อีกด้วย โดยในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียนิยมรับประทานผักชนิดนี้ เพื่อใช้ในการบำรุงเส้นผม สายตา และบำรุงเส้นเอ็น

4. ป้องกันมะเร็ง

สารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่สูงในใบเหลียงจะช่วยปกป้องร่างกายจากการเกิดเนื้อร้ายที่ทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สูงขึ้น จึงสามารถกำจัดเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี 

5. บำรุงความงาม

ใบเหลียง เป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงดีต่อสุขภาพผิวพรรณ ทำให้ผิวพรรณเนียนนุ่มชุ่มชื่น ช่วยชะลอความเสื่อมและทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์กว่าวัยอยู่เสมอ

6. ช่วยในการบำรุงสมอง

เนื่องจากใบเหลียงมีวิตามินบีสูง จึงช่วยบำรุงระบบประสาท ทำให้สมองทำงานได้ดี ความจำดีขึ้น และช่วยป้องกันอาการเหน็บชาที่เกิดจากการอักเสบของปลายประสาทได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้เมื่อรับประทานเป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในวัยสูงอายุได้อีกด้วย

7. แก้กระหายน้ำ

การรับประทานใบเหลียง จะทำให้รู้สึกสดชื่น แก้อาการกระหายน้ำได้ดี และยังช่วยฟื้นฟูร่างกายให้เกิดความกระปรี้กระเปร่า คลายอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ได้อย่างดีเยี่ยม นั่นก็เพราะใบเหลียงมีน้ำเป็นส่วนประกอบสูงนั่นเอง

8. แก้ร้อนใน

การรับประทานใบเหลียงก็สามารถแก้อาการร้อนในได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีแผลในปากที่เกิดจากการร้อนใน เมื่อทานผักเหลียงเป็นประจำ จะทำให้อาการร้อนในหายเป็นปกติเร็วขึ้น

9. ป้องกันโรคภูมิแพ้

หลายคนมีอาการภูมิแพ้ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการแพ้อากาศ แพ้อาหาร หรือแพ้สารบางอย่าง ซึ่งการรับประทานใบเหลียงเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ให้ดีขึ้น โดยลดการกำเริบของโรคภูมิแพ้ให้น้อยลง นอกจากนี้ในคนที่มีอาการไม่รุนแรง ก็อาจรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน

10. แก้หิวได้ดี

เมื่อรู้สึกหิวจัด สามารถนำใบเหลียงสดมาทานแก้หิวได้ โดยจะช่วยลดความหิวให้น้อยลง คนส่วนใหญ่จึงนิยมนำใบเหลียงสดมาทานก่อนมื้ออาหาร เพื่อช่วยลดน้ำหนัก โดยเมื่อรับประทานใบเหลียงแล้วจะทำให้ทานอาหารในมื้อนั้นได้น้อยลงจากปกติ จึงทำให้ลดน้ำหนักได้ดีนั่นเอง

ไอเดียการใช้ใบเหลียงเพื่อสุขภาพ

ด้วยประโยชน์ที่มากมายของใบเหลียง จึงสามารถนำมาใช้เพื่อสุขภาพได้หลากหลายวิธี ตัวอย่างเช่น

1. รักษาฝ้า

ยางจากลำต้นของใบเหลียง สามารถนำมาใช้รักษาฝ้าได้ โดยนำยางที่ได้มาทาให้ทั่วใบหน้า ทิ้งไว้สักพัก แล้วลอกออก จะช่วยลอกฝ้าให้หลุดออกไป พร้อมกับผลัดเซลล์ผิวเก่า ทำให้ใบหน้าดูขาวกระจ่างใสและเรียบเนียนมากขึ้นอีกด้วย

2. แก้โรคซางในเด็ก

ใบเหลียง สามารถนำมาใช้เพื่อแก้โรคซางในเด็กได้ โดยจะนำใบเหลียงมาทำเป็นยาสมุนไพร แล้วชงกับน้ำต้มสุกหรือชงกับน้ำข้าวสารให้เด็กกินเป็นประจำ จะช่วยบรรเทาอาการให้ค่อยๆ ทุเลาลง และหายเป็นปกติในที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูง เพราะใบเหลียงเป็นพืชสมุนไพรที่มากไปด้วยประโยชน์และสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ไอเดียการกินใบเหลียงเพื่อสุขภาพ

ใบเหลียงมีรสชาติอร่อย จึงเหมาะกับการนำมาประกอบอาหารที่สุด ซึ่งก็สามารถนำมาทำได้หลากหลายเมนู ตัวอย่างเช่น

1. ใบเหลียงทอดกรอบ

เมนูง่ายๆ แต่มากไปด้วยประโยชน์ โดยวิธีทำ ให้นำใบเหลียงมาเด็ดก้านออก นำแป้งทอดกรอบมาผสมกับน้ำเย็นให้ละลายข้นๆ นำใบเหลียงลงไปชุบแป้ง ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป 

จากนั้นนำใบเหลียงลงไปทอดด้วยไฟอ่อน ทอดจนกว่าจะสุกเหลืองทั้งสองด้าน ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน นำไปกินกับข้าวสวยร้อนๆ ส้มตำ หรืออาหารรสจัดจะอร่อยมาก

2. ใบเหลียงต้มกะทิกุ้งสุด

เมนูสุดอร่อยที่จะพลาดไม่ได้ โดยนอกจากจะมีประโยชน์อย่างครบครันแล้ว ยังช่วยเรียกน้ำนมได้อีกด้วย 

วิธีทำ ให้นำหัวกะทิใส่หม้อขึ้นตั้งไฟ ใส่กะปิและหอมแดงที่ทุบให้แตกลงไป ตามด้วยใบเหลียง รอจนเริ่มเดือด ใส่กุ้งลงไป ปรุงรสด้วย น้ำตาลทราย พริกไทยขาว เกลือป่น ใส่กุ้งแห้งลงไปให้สวยงาม ชิมรสตามชอบ ปิดไฟ ตักขึ้นเสิร์ฟได้เลย

3. ใบเหลียงผัดไข่

สำหรับเมนูนี้ นิยมนำมากินเพื่อลดน้ำหนักมากที่สุด โดยวิธีทำ ให้นำใบเหลียงไปล้างให้สะอาด เด็ดเอาเฉพาะส่วนใบเท่านั้น สับกระเทียมเตรียมไว้ นำน้ำมันขึ้นตั้งกระทะ ใส่กระเทียมสับลงไปผัด ตอกไข่เป็ดใส่ลงไป คนไข่ให้แตกจนทั่วกระทะ ใส่ใบเหลียง ตามด้วยน้ำมันหอย น้ำปลา ผัดจนใบเหลียงเริ่มสุก ปิดไฟ นำกากหมูมาโรย คลุกส่วนผสมให้เข้ากัน ตักใส่จานได้เลย

4. ใบเหลียงผัดกะปิ

ใครที่ยังไม่เคยกิน แนะนำให้ลองทำกันดู โดยวิธีทำ ให้สับกระเทียม หั่นหอมแดงและพริกขี้หนู เตรียมไว้ ทอดกุ้งแห้ง เสร็จแล้วนำกระทะตั้งไฟใส่น้ำมันลงไป นำกระเทียมลงไปผัดให้หอม ใส่ใบเหลียงที่เด็ดไว้แล้วลงไปในกระทะ เร่งไฟให้แรงขึ้น นำกะปิที่ละลายน้ำใส่ลงไป ตามด้วยผงปรุงรส คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากัน ใส่พริกขี้หนูลงไป 

ผัดต่อไปจนส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว ใส่กุ้งแห้งทอดลงไปผัดต่อ เมื่อใบเหลียงสุกแล้ว ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟทันที

5. ใบเหลียงผัดน้ำมันหอย

เป็นเมนูง่ายๆ แต่อร่อย และได้ประโยชน์อย่างครบครัน โดยวิธีทำ ให้นำใบเหลียงมาเด็ดใบออกจากก้านก่อน แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นสับกระเทียม แล้วนำลงไปผัดกับน้ำมันในกระทะจนหอม ใส่ใบเหลียงลงไป ตามด้วยน้ำมันหอย และปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาล ผงชูรสตามใจชอบ ผัดจนใบเหลียงสุก ก็ปิดไฟ ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟได้ทันที

6. ใบเหลียงลวก จิ้มน้ำพริก

วันไหนที่รู้สึกขี้เกียจทำกับข้าว ก็ลองทำเมนูง่ายๆ อย่างเมนูใบเหลียงลวก จิ้มน้ำพริกกันเลย โดยให้ตำน้ำพริกกะปิเตรียมไว้ 

จากนั้นนำใบเหลียงไปลวกในน้ำร้อน หรือจะใช้วิธีการนึ่งแทนก็ได้ จากนั้นนำมาจิ้มกับน้ำพริกกับกับข้าวสวยร้อนๆ รับรองว่าอร่อยโดนใจแน่นอน ที่สำคัญคุณค่าทางอาหารเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว

7. รองห่อหมก

ใบเหลียงนิยมนำมาใช้ในการรองห่อหมก ซึ่งจะทำให้ห่อหมกมีกลิ่นหอมน่ากินมากขึ้น และยังช่วยเพิ่มคุณค่า ประโยชน์ให้กับห่อหมกมากกว่าเดิมอีกด้วย 

เมนูนี้ก็ให้ทำห่อหมกตามปกติ เพียงแต่ใช้ใบเหลียงในการรองแทนใบพืชชนิดอื่น เมื่อนำห่อหมกไปนึ่งจนสุกแล้ว ก็สามารถนำมากินได้ทั้งห่อหมกและใบเหลียงเลยทีเดียว รับรองว่าได้ทั้งประโยชน์และความอร่อย

ใบเหลียงเป็นผักที่มีรสชาติอร่อย นิยมนำมาทำอาหาร หรือนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริกมากที่สุด ซึ่งก็เป็นพืชผักมากประโยชน์ที่จะมองข้ามไม่ได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมื้อต่อไปคงต้องไปหาใบเหลียงมาทำอาหารกินเพื่อสุขภาพกันแล้วล่ะ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Melinjo seed extract increases adiponectin multimerization in physiological and pathological conditions. Nature. (Available via: https://www.nature.com/articles/s41598-020-61148-2)
Ikuta T, Saito S, Tani H, Tatefuji T, Hashimoto K. Resveratrol derivative-rich melinjo (Gnetum gnemon L.) seed extract improves obesity and survival of C57BL/6 mice fed a high-fat diet. Bioscience, biotechnology, and biochemistry 2015;79(12):2044-9. National Center for Biotechnology Information. (Available via: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26103448)
Konno, H., Kanai, Y., Katagiri, M., Watanabe, T., Mori, A., & Ikuta, T. et al. (2013). Melinjo (Gnetum gnemonL.) Seed Extract Decreases Serum Uric Acid Levels in Nonobese Japanese Males: A Randomized Controlled Study. Evidence-Based Complementary And Alternative Medicine, 2013, 1-9. https://doi.org/10.1155/2013/589169. Hindawi. (Available via: https://www.hindawi.com/journals/ecam/2013/589169/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป