โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

เผยแพร่ครั้งแรก 30 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

ความหมาย

เป็นโรคติดเชื้อที่ติดจากสัตว์นำโรค

สาเหตุ

เกิดจากการสัมผัสเชื้อโรคฉี่หนู (Leptospirosis หรือ Leptospira interogans) ในปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง เชื้อโรคอยู่ในหนู วัว ม้า หมู สุนัข โดยเข้าร่างกายได้ทางแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อเมือก ทำให้เกิดการทำลาย ตับ ไต กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออกเป็นจุดเล็กๆ ทั่วไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

พยาธิสรีรภาพ

เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางผิวหนังที่มีรอยแผลหรือเยื่อเมือกแล้วเข้าสู่กระแสเลือดแล้วแบ่งตัวแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ แล้วร่างกายจะกำจัดเชื้อด้วยกระบวนการกินเชื้อ (Phagocytosis) และระบบน้ำเหลือง เชื้อโรคจะถูกกำจัดให้หมดไปจากกระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 4-7 วัน แต่มีเชื้อบางส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ในอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อ ผิวหนัง หลอดเลือดฝอย เป็นต้น หากตับมีเชื้อจำนวนมากจะทำให้ตับโต มีการเสื่อมและตายของเนื้อตับเป็นหย่อมๆ ทั่วตับทำให้ตับเสียหน้าที่ ไตจะบวมและมีการเสื่อมและตายของเซลล์ กล้ามเนื้อมักมีจุดเลือดออกที่กล้ามเนื้อน่องและอวัยวะภายใน ผิวหนังและเยื่อบุช่องปากมีจุดเลือดออกเป็นจุดเล็กๆ ทั่วร่างกาย หลอดเลือดฝอยถูกทำลาย

อาการ

มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดศีรษะ หนาวสั่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ไตวายเฉียบพลัน ตัวและตาเหลือง เลือดจางเพราะมีเลือดออกตามใต้ผิวหนังและเยื่อเมือก อาจมีเยื่อบุตาอักเสบ มีตาแดงจัดหรือมีตาเหลือง ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น พบ Albumin, เม็ดเลือดขาว, BUN, Creatinine สูง

การวินิจฉัยโรค

มักพบในฤดูฝน อาจมีประวัติการสัมผัสโรค อาชีพ ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม น้ำขัง และฤดูกาล ความชุกของโรค ผู้ป่วยมีไข้สูง อาจหนาวสั่น ปวดศีรษะบริเวณขมับหรือบริเวณด้านหลังของกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อน่องและบั้นเอวอย่างรุนแรงโดยปวดเมื่อถูกสัมผัสหรือแตะต้องเพียงเบาๆ อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ความดันเลือดปกติ อาจมีอาการหอบเหนื่อย ไอเจ็บหน้าอกหรือไอเป็นเลือด คออักเสบแดง เยื่อบุตาแดงและมีอาการแพ้แสง มีเลือดออกใต้ผิวหนังตามตัว อาจพบม้ามโต ตับโต ต่อมน้ำเหลืองโต ตัวตาเหลือง ตรวจพบ Erythrocyte sedimentation rate (ESR) สูง แต่หน้าที่ของตับ (Liver function test; LFT) ปกติ หากตัวตาเหลืองจะพบค่า Bilirubin สูงขึ้นถึง 60 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เม็ดเลือดขาว (White blood cell; WBC) สูง 10,000-30,000 ซีด ค่า Albumin และ Globulin จะลดลง Blood urea nitrogen (BUN) และ Creatinine (Cr) สูงขึ้น กรวดน้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid; CSF) จะพบ Polymorphonuclear cell จำนวนมากในระยะแรกก่อนจะพบ Lymphocyte ในน้ำไขสันหลัง Glucose ปกติ แต่ Protein สูงขึ้น ตรวจปัสสาวะพบ Hyaline granular, Cellular casts, Bilirubin และ Albumin ทำการเพาะเชื้อ (Culture) ทำ Agglutination test พบว่าค่า Titer สูงกว่าปกติ 4 เท่า

การรักษา

ให้ยาปฏิชีวนะที่ดีที่สุด คือ Penicillin หรือ Tetracycline แต่ต้องให้โดยเร็วที่สุด การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การแก้ปัญหาความสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ หากไตวายแก้ไขด้วยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) หรือการล้างไตผ่านเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal dialysis) และการถ่ายเลือด (Exchange blood transfusion) ในกรณีที่มีบิลิรูบินในเลือดสูง (Hyperbilirubinemia)

การพยาบาล

ดูและให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความไม่สุขสบายจากการติดเชื้อโดยเช็ดตัวลดไข้ เพื่อให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ อาจให้ยาลดไข้ ติดตามผลเลือดเพื่อหาเชื้อ Leptospira ให้ยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษา ให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย แก้ไขภาวะเสียสมดุลน้ำอิเล็กโทรไลต์ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยและญาติ


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Suman Veerappa Budihal and Khalid Perwez, Leptospirosis Diagnosis: Competancy of Various Laboratory Tests (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3939550/)
nhs.uk, Leptospirosis (Weil's disease) (https://www.nhs.uk/conditions/leptospirosis/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)