อาการหนองใน มีอะไรสังเกตได้บ้าง

โรคหนองในเกิดจากอะไร ติดต่อกันผ่านทางไหน มีวิธีป้องกันและรักษาอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการหนองใน มีอะไรสังเกตได้บ้าง

โรคหนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุดในเพศชายและเพศหญิง นอกจากนี้โรคหนองในยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก จากการเก็บสถิติอุบัติการณ์การเกิดโรคหนองในพบว่า พบผู้ที่เป็นโรคหนองในมากที่สุดในช่วงอายุ 15-24 ปี ในปี พ.ศ. 2560 พบผู้ป่วยโรคหนองในเพิ่มขึ้นขึ้น คิดเพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราป่วย 15.74 ต่อแสนประชากร และคาดการณ์ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี

โรคหนองในติดต่อกันทางไหน?

โรคหนองในติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรค ผ่านทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทำให้เกิดการติดเชี้อแบคทีเรียซีเรียโกโนเรีย (Neisseria Gonorrhea) ที่อยู่ในน้ำอสุจิ ตกขาว หนองจากช่องคลอดหรือปลายองคชาต ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการหลังจากที่ได้รับเชื้อประมาณ 3-5 วัน นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถติดจากมารดาสู่ทารกระหว่างการคลอดได้อีกด้วย ทั้งนี้ผู้ที่เป็นเคยโรคหนองใน หลังจากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจนรักษาโรคให้หายแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซ้ำได้หากสัมผัสโรคอีก เนื่องจากยาปฏิชีวนะไม่สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหายไปแล้วได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

กลุ่มเสี่ยงโรคหนองใน

  • ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน หรือผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยในรอบ 1-3 เดือน
  • กลุ่มวัยรุ่น ที่ไม่มีความรู้ในการป้องกันการเกิดโรค
  • ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆมาแล้ว เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis) หรือผู้ที่เคยเป็นโรคหนองในแล้ว สามารถกลับมาเป็นโรคซ้ำได้
  • ผู้ติดยาเสพติด

การสังเกตอาการหนองในเบื้องต้น ในผู้หญิงและผู้ชาย

อาการของเพศหญิงและเพศชายจะคล้ายกัน คือ มีของเหลวข้นๆ สีเหลืองหรือสีขาว คล้ายหนอง ไหลออกจากช่องคลอดหรือไหลจากปลายองคชาต มีอาการปัสสาวะขัดหรือเจ็บแสบ อาจมีอาการรูสึกไม่สบายเนื้อตัว หรือมีอาการเจ็บคอ คอแห้ง ร่วมด้วย นอกจากนี้ในเพศหญิง เชื้อโรคจะแพร่อยู่บริเวณท่อปัสสาวะและปากมดลูก อาจมีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก และทวารหนนัก อาจมีอาการอักเสบของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรงจนเป็นหนอง ทำให้ท่อนำไข่ตีบตัน มีผลทำให้เป็นหมันและท้องนอกมดลูกได้ ส่วนเพศชาย จะเชื้อโรคจะกระจายบริเวณท่อปัสสาวะ อาจมีฝีที่ผนังท่อปัสสาวะ เกิดการตีบตัน ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ และทำให้เป็นหมันได้เช่นเดียวกัน

วิธีการตรวจหาเชื้อหนองใน

ทั้งในเพศชายและเพศหญิงจะมีวิธีการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการที่คล้ายกัน โดยเพศหญิงตรวจหาเชื้อได้โดยการตรวจภายในเก็บตัวอย่างตกขาวหรือหนองในช่องคลอดไปตรวจ ส่วนเพศชายนำตัวอย่างของเหลวที่ถูกขับออกมาจากปลายของคชาต จากนั้นย้อมสีด้วยวิธีเฉพาะ ส่องดูเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ และนำตกขาวหรือสิ่งที่ตรวจพบส่งไปห้องปฏิบัติการเพื่อเพาะเชื้อและตรวจหาเชื้อต่อไป นอกจากการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศแล้ว โรคหนองในสามารถติดเชื้อบริเวณอื่นได้อีกด้วย เช่น ลำคอ ทวารหนัก หรือเยื่อบุตา สามารถเก็บตัวอย่างของเหลวจากอวัยวะดังกล่าวส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรียได้เช่นเดียวกัน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหนองใน

พบว่าประมาณ 77 % ของผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีสาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันหรือการไม่ใช้ถุงยางอนามัย ดังนั้นผู้ป่วยโรคหนองในจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HIV เนื่องจากโรคหนองใน มีความสัมพันธ์กับโรคเอดส์ โดยผู้ป่วยหนองในจะมีโอกาสรับเชื้อ HIV ได้ง่ายกว่าคนปกติทั้งในเพศชายและเพศหญิง ยิ่งไปกว่านั้น ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อแบคทีเรียโรคหนองในยังอาจทำให้ทารกแรกเกิดติดเชื้อจากการคลอดผ่านช่องคลอด จนเกิดเยื่อบุตาอักเสบ และหากไม่ทำการรักษาอาจทำให้ทารกตาบอดได้

การรักษาอาการหนองใน

เนื่องจากหนองในเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดจึงเป็นการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ เพราะแพทย์จะทราบว่าควรใช้ยาชนิดใดจึงให้ผลการรักษาดีขึ้นและเหมาะสมที่สุดสำหรับอาการป่วยแต่ละบุคคล

การปฏิบัติตนขณะป่วยและรักษาอาการหนองใน

  1. ควรงดร่วมเพศ รวมทั้งการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปบริเวณอื่น
  2. รักษาความสะอาดร่างกาย ความสะอาดของเสื้อผ้า ไม่ใช้เสื้อผ้าร่วมกับผู้อื่น รักษาความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณใกล้เคียงให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
  3. ควรตรวจรักษาทั้งผู้ป่วยและคู่นอนกับแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะเชื้อชนิดนี้ดื้อยาง่าย อาจทำให้รักษาไม่หายขาด
  4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เข้ารับการรักษาและตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
  5. หากคู่นอนมีอาการผิดปกติ น่าสงสัยว่าเป็นโรคหนองใน เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนองไหลจากอวัยวะเพศ ควรรีบพบแพทย์ทันที

การป้องกันอาการหนองใน

  1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  2. มีคู่นอนเพียงคนเดียว และควรได้รับการตรวจหาเชื้อก่อนมีเพศสัมพันธ์
  3. รักษาความสะอาดของร่างกายและอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
  4. เข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
มูลนิธิหมอชาวบ้าน, โรคหนองใน คืออะไร? (https://www.thaihealth.or.th/Content/43155.html), 26 มิถุนายน 2561.
ชนากานต์ เกิดกลิ่นหอม, งานการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคหนองใน (https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/210_49_1.pdf), 2556.
กลุ่มบางรักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการดูแลรักษาโรคหนองใน พ.ศ. 2562 (http://e-library-aidssti.ddc.moph.go.th/books/detail/407), 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป