หลายท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า “ไตวาย ตายไว” กันมาบ้างแล้ว ที่ฟังดูน่ากลัวกันนักก็เพราะว่าภาวะไตวายนั้น มีผลต่ออัตราการเพิ่มการเสียชีวิตของผู้ป่วยทุกราย เนื่องจาก “ไต” (Kidney) นั้น เป็นอวัยวะภายในที่สำคัญที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียในร่างกาย ถ้าไตสูญเสียการทำงาน หรือ ที่เราเรียก “ไตวาย” (Kidney Failure) นั้น จะทำให้คนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เนื่องจาก จะเกิดภาวะของเสียจากเลือดคั่งในร่างกาย ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ล้มเหลวตามมานั่นเอง ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจที่มาของโรคไตวายได้ดังนี้
ไตทำหน้าที่อะไร
โดยปกติ “ ไต” (Kidney) ของคนเรามีอยู่ 2 ข้าง คือ ข้างซ้ายและข้างขวา อยู่บริเวณช่องท้องด้านหลังของกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว โดยไตแต่ละข้างมีรูปร่างเหมือนเม็ดถั่ว ความยาวประมาณ 11 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. และหนาประมาณ 3 ซม. ระหว่างไตจะมีท่อเลือดดำขนาดใหญ่ (Inferior vena cava) ส่งเลือดเข้าไปกรองของเสียที่ไตและไหลออกมาจากท่อเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ที่ไตเช่นเดียวกัน
หน้าที่หลักของไต คือ การกรองของเสียที่อยู่ในเลือดแล้วขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ ทำให้น้ำปัสสาวะมีสารพวกยูเรียที่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่เกิดจากการสลายสารพวกโปรตีนด้วย นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในร่างกายและ ปรับสมดุลกรดด่างในร่างกาย
ภาวะไตวายเกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยปกติแล้ว ไตจะสามารถทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดได้ตามปกติ แต่ไตที่เริ่มเสื่อมจะไม่สามารถกรองของเสียได้ และความสามารถในการกรองจะลดลงจนไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียในเลือดได้ เราจึงเรียกว่า “ภาวะไตวาย” (renal failure หรือ kidney failure)
ภาวะไตวายนั้น สามารถแบ่งออกได้ เป็น 2 ชนิด คือ ภาวะไตวายเฉียบพลัน กับ ภาวะไตวายเรื้อรัง
โดยภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure หรือ Acute Renal Failure) นั้นสามารถเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยรุนแรงจนเป็นเหตุให้ไตสูญเสียหน้าที่ในการทำงานได้ เช่น ร่างกายขาดน้ำรุนแรงจากภาวะลมร้อน การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบเฉียบพลัน เป็นต้น อาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใด โดยที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีภาวะปัสสาวะน้อยลงจนไม่มีปัสสาวะเลย เริ่มมึนงง สับสน คลื่นไส้อาเจียน บางรายมีอาการง่วงอ่อนเพลียรุนแรง ปวดบริเวณชายโครง หายใจหอบถี่ จากนั้นจะเริ่มมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัวเข้าสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันทันที
ภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Failure หรือ Chronic Renal Failure) นั้น อาการจะค่อยเป็นค่อยไป แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 ระยะไม่แสดงอาการ สามารถตรวจพบได้ทางห้องปฏิบัติการ โดยประเมินค่าความสามารถการกรองของไตที่เริ่มลดลง ค่าการทำงานของไตคงที่ประมาณ 90 มิลลิลิตรต่อนาที และอาจพบอาการไตอักเสบ หรือพบภาวะโปรตีนรั่วออกมาปะปนในเลือดหรือในปัสสาวะ
- ระยะที่ 2 เป็นระยะไม่แสดงอาการแต่ค่าการทำงานของไตลดลงเหลือประมาณ 60-89 มิลลิลิตรต่อนาที
- ระยะที่ 3 ค่าการทำงานของไตลดลงเหลือประมาณ 30-59 มิลลิลิตรต่อนาที
- ระยะที่ 4 เริ่มแสดงอาการ ค่าการทำงานของไต ลดลงเหลือเพียง 15-29 มิลลิลิตรต่อนาที ผู้ป่วยเริ่มมีอาการมึนงง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผิวแห้งและคัน กล้ามเนื้อเป็นตะคริวบ่อยขึ้น มีอาการบวมน้ำที่ตามข้อ ขา และเท้า ใต้ตาคล้ำ ปวดปัสสาวะบ่อย แต่ปริมาณปัสสาวะน้อยลง โลหิตจาง หรือรู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวตลอดเวลา
- ระยะที่ 5 ระยะสุดท้าย มีการตรวจพบการเสียสมดุลของ แคลเซียม ฟอสเฟต หรือสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือด นำมาสู่ภาวะกระดูกบางและเปราะหักง่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคไตวาย
ตามที่ทราบกันไปแล้วว่า สาเหตุของการเกิดภาวะไตวายนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียเลือดมากเกินไป การมีภาวะความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน โรคเรื้อรังที่ทำให้ไตเสื่อมเช่น โรคเบาหวาน การติดเชื้อรุนแรง ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด รวมถึง การได้รับสารพิษ หรือร่างกายเสียสมดุลจากภาวะผิดปกติต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น การป้องกันโรคไตวายที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพ ถนอมไตไม่ให้ทำงานหนัก หลีกเลี่ยงปัจจัยสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะหากท่านพบว่ามีภาวะไตวายในระยะที่ 1-3 ซึ่งอาจจะยังไม่แสดงอาการแต่ไตเริ่มสูญเสียหน้าที่แล้วนั้น ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไปตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารและยาที่มีผลต่อไต หรือทำให้ไตทำงานหนัก โดยเฉพาะอาหารรสจัด อาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ดื่มสุรา ควบ คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และ หลีกเลี่ยงการใช้ยา โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดต่างๆ ดูแลเอาใจใส่ไตด้วยการดูแลสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ