กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

8 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณเป็นโรคไต

โรคไตสามารถป้องกันได้ หากรู้จักและเข้าใจอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 6 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
8 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณเป็นโรคไต

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไตเกิดได้จากหลายปัจจัย ปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ได้แก่ พันธุกรรม ภูมิลำเนา (ภาคเหนือมีโอกาสเป็นนิ่วในไตมาก อาจเกิจากอาหารการกินหรือน้ำดื่ม) อายุ
  • ปัจจัยโรคไตที่เกิดจากพฤติกรรม ได้แก่ ความดันโลหิตสูงจะทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง โรคเบาหวานมีโอกาสเกิดกรวยไตอักเสบ และที่สำคัญคือยาและอาหาร เช่น การใช้ยากลุ่ม NSAIDs เป็นประจำอาจเป็นพิษต่อไตได้
  • หากเป็นโรคไตแล้วอาจต้องมีการควบคุมอาหาร ลดเค็ม ควบคุมแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ฟอสฟอรัส และแคลเซียม ร่วมกับการควบคุมความดันและเบาหวานให้อยู่ในระดับปกติ 
  • สารอาหารที่ควรหลักเลี่ยงเมื่อเป็นโรคไต ได้แก่อาหารโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรต ไขมันทั้งหลาย อาหารที่มีโซเดียมมาก อาหารที่มีพิวรีนสูง และหลีกเลี่ยงขนมหวาน
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจไต

"ไต" เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายถั่วอยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านหลังทางซ้ายและขวา ไตเป็นอวัยวะสำคัญทำหน้าที่กำจัดของเสียและสารพิษจากกระแสเลือดออกไป รวมทั้งควบคุมคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ ตลอดจนความเป็นกรดด่างในเลือด 

  นอกจากนี้ไตยังทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดและวิตามินดี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

8 ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณเป็นโรคไต

โรคไต หรือโรคไตเรื้อรัง คือการที่ไตมีภาวะการทำงานผิดปกติ หรือไตทำงานได้ลดลง เกิดได้จากหลายสาเหตุและแต่ละสาเหตุก็มีอาการแสดงทางกายแตกต่างกันไป เช่น โรคไตอักเสบ จะมีอาการบวม มีปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ  โรคไตที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรังต่างๆ ส่วนมากจะไม่มีอาการหากเป็นในระยะแรก  

ส่วนอาการของโรคไตระยะสุดท้ายจะมีความคล้ายคลึงกัน คือ ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ปริมาณปัสสาวะออกน้อยซึ่งในบางรายอาจไม่มีปัสสาวะออกเลย ตัวบวม เกิดภาวะน้ำท่วมปอด หายใจลำบาก นอนราบไม่ได้เนื่องจากมีภาวะน้ำเกินในร่างกาย มีภาวะโลหิตจางซึ่งส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เป็นโรคไต

1. พันธุกรรม

โรคไตบางชนิดมีสาเหตุจากพันธุกรรม เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic kidney disease) ฉะนั้นคนที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นโรคไตก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน 

โรคไตที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมมี 2 แบบ ได้แก่ แบบทารก (Infantile PKD) ซึ่งมักจะเสียชีวิตตั้งแต่เกิด  และแบบผู้ใหญ่ (Adult PKD-ADPKD) ซึ่งมักพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป โดยผู้ป่วยจะมีถุงน้ำที่ไตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ ส่งผลให้ไตทำงานน้อยลง เกิดภาวะไตวายและเสียชีวิตในที่สุด

2. ความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง หากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อหัวใจ หลอดเลือด สมอง รวมทั้งไต 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โดยจะทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง ในระยะแรกจะมีโปรตีนหรือนิยมเรียกกันว่าไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ  หากยังไม่ได้รับการรักษา หรือควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ จะทำให้เกิดภาวะไตวายจนไปถึงภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้

  • ในทางกลับกันคนที่เป็นโรคไตวาย หรือโรคไตบางชนิดก็ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้
  • พบว่า หากเกิดความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง (Malignant hypertension) เป็นระยะเวลา 1 ปี จะส่งผลให้จากเดิมที่ไตทำงานได้ปกติจะกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้
  • การรักษาควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยชะลอการเกิดโรคไตช้าลง หรือไตเสื่อมช้าลงได้
  • โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ได้ราว 30-50%

3. โรคเบาหวาน

เป็นสาเหตุของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 30 %  ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีภายในระยะเวลา 10-15 ปี จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ไต 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หลอดเลือดของไต มีโปรตีน หรือไข่ขาว รั่วออกมาในปัสสาวะจนเกิดภาวะเกิดไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นบ่อยๆ และ/หรือรุนแรง ก็ส่งผลทำให้ไตเสื่อม และเกิดภาวะไตวายได้

4. ภูมิลำเนา

เป็นที่ทราบกันดีว่าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะมาก สาเหตุอาจเกี่ยวเนื่องจากอาหาร น้ำ และปัจจัยอื่น เพราะฉะนั้นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้

5. ความอ้วน

คนอ้วนจะมีเมตาบอลิซึมสูงกว่าคนปกติ เกิดของเสียต่างๆ มากขึ้น ทำให้ไตและอวัยวะอื่นๆ ต้องทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย ทั้งหัวใจ ปอด และทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงตามมา 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไตต้องรับภาระมากขึ้นเปรียบเสมือนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เริ่มแรกจะพบโปรตีน หรือไข่ขาว ในปัสสาวะก่อน แล้วต่อมาไตจะเสื่อม หรือเกิดภาวะไตวายได้

6. อายุ

ไตของคนปกติจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 2 ปี และจะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 35 ปี ฉะนั้นสมรรถภาพการทำงานของไตจะเสื่อมไปตามอายุ  นอกจากนี้ในชายสูงอายุมีโอกาสสูงที่จะเป็นต่อมลูกหมากโต ส่งผลให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงได้ 

การรับประทานยาและการฉีดยาต่างๆ ที่มีพิษต่อไตจำเป็นต้องลดขนาดลงด้วยมิฉะนั้นอาจทำให้เกิดไตวายได้ 

7. ยาและอาหาร

ยาหลายชนิดและอาหารบางประเภทมีพิษต่อไต ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ต้องปรับขนาดของยาให้พอเหมาะและหมั่นติดตามการทำงานของไตอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นกว่าจะรู้ตัวก็เกิดภาวะไตวายเสียแล้ว เช่น การใช้ยากลุ่ม NSAIDs เป็นประจำ เป็นต้น 

ส่วนอาหารพิสดารบางชนิด เช่น ดีงู ก็ทำให้เกิดไตวายได้ นอกจากนี้สายทึบรังสีที่ใช้ฉีดให้ผู้ป่วยเวลาตรวจทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ก็มีผลทำให้ไตวายได้เช่นกัน 

ดังนั้นผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางเอ็กซเรย์ที่ต้องได้รับการฉีดสีจะได้รับการตรวจการทำงานของไตก่อนเสมอ และตัวผู้ป่วยเองควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนและหลังการเข้ารับการตรวจทางรังสี

8. อาชีพ / อุบัติเหตุ

อาชีพบางอย่างอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตได้ เช่น นักมวยอาจถูกต่อย ถูกเตะบริเวณไตจนเกิดอันตรายได้ หรือบางคนทำงานในโรงงานซึ่งได้รับสารพิษต่อไตสะสมยาวนาน ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้

ฉะนั้นใครที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตก็ควรมีสติ รู้ตัว รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยง หรือพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ  เช่น การรับประทานยา การกินอาหารที่มีรสเค็มจัด การประกอบอาชีพบางอย่างป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ 

อย่างไรก็ตาม บางครั้งความเสี่ยงบางอย่างก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง เช่น พันธุกรรม โรคประจำตัวอย่างโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน 

แต่สามารถลดความรุนแรงได้ เช่น โรคที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม หากมีคนใดในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) สมาชิกในครอบครัวที่เหลือควรจะไปพบแพทย์เพื่ออัลตราซาวน์คัดกรองแต่เนิ่นๆ 

รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีการศึกษาว่า ถ้าสามารถควบคุมความดันโลหิต และระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอย่างต่อเนื่อง จะช่วยลดโอกาส และความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนได้รวมทั้งโรคไต 

ดังนั้นผู้ที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตจึงควรหาโอกาสไปตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อติดตามอาการต่างๆ ในร่างกาย

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

การรักษาโรคไตชนิดต่างๆ นอกจากการใช้ยา  การบำบัดทดแทนไต  การควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น  ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างแล้ว  

วิธีอาหารบำบัด ได้แก่ การควบคุมอาหาร การหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดก็มีผลต่อการลดระดับความรุนแรงของโรคได้ด้วยเช่นเดียวกัน  แม้ว่า "อาหารเค็ม" จะเป็นชนิดแรกๆ ที่เรานึกถึงเมื่อเอ่ยถึงโรคไต คือ ต้องลดความเค็มลง 

แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยโรคไตยังต้องควบคุมแร่ธาตุอีกหลายชนิดในอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน หรือแต่ละระดับอาการของโรคไตด้วย ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง

โพแทสเซียม เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป รวมทั้งในเลือดและในกล้ามเนื้อ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดและการคลายตัวของกล้ามเนื้อทั่วไป รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ 

ปกติไตจะขับโพแทสเซียมส่วนเกินทิ้งไปในปัสสาวะ แต่เมื่อเกิดภาวะไตวาย โพแทสเซียมจะคั่งและมีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงหยุดเต้นได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการไตวายและมีโพแทสเซียมในเลือดสูง ต้องควบคุมอาหารที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบ

หากไตเสื่อม ไตจะกรองเอาโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยลงทำให้ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมสูงเกินไปจนอาจทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ใจสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นช้าลง หรือจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ 

การได้รับโพแทสเซียมในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการบวมน้ำในร่างกายของผู้ป่วย ช่วยปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว  

อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง และอาหารที่โพแทสเซียมต่ำ

อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักสด โดยเฉพาะผักสีเข้มๆ นมไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน ถั่วต่างๆ และธัญพืช ผงโกโก้ ลูกพรุนอบแห้ง ลูกเกด เมล็ดทานตะวัน อินทผลัม ปลาแซลมอน ผักโขมสด เห็ด กล้วย ส้ม  

ดังนั้นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานได้ คือ อาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสีซีด หรือสีอ่อน เช่น ชมพู่ องุ่นเขียว แตงโม บวบเหลี่ยม เห็ดหูหนูขาว ฟักเขียว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา 

นอกจากนี้คุณยังสามารถรับประทานสลับระหว่างอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงและต่ำ เพื่อรักษาสมดุลของโพแทสเซียมในร่างกายได้เช่นเดียวกัน 

ในกรณีที่เป็นโรคไตเรื้อรังแต่ไม่ถึงขั้นระยะสุดท้าย นอกจากนี้มีเคล็ดลับในการลดปริมาณโพแทสเซียมในผัก คือ การลวกผักในน้ำร้อนก่อนรับประทานจะช่วยลดปริมาณโพแทสเซียมได้ 30-40 % 

แต่หากพบปริมาณโพแทสเซียมในเลือดสูงผิดปกติควรงดผลไม้ทุกชนิด แล้วรับประทานแต่ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ฟอสฟอรัส เป็นเกลือแร่อีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระดูก โดยทำงานร่วมกับแคลเซียม หากมีอาการไตวายและมีระดับฟอสฟอรัสสูง กระดูกจะปล่อยแคลเซียมออกมาในเลือดเพื่อควบคุมระดับของฟอสฟอรัส ถ้าเกิดฟอสฟอรัสสูงนาน ๆ กระดูกจะบาง เปราะ และหักง่ายในที่สุด

หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้

  • ไข่แดง 
  • นมทุกรูปแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง
  • เครื่องในสัตว์ ปลาทั้งกระดูก ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ 
  • เมล็ดพืช ถั่วต่าง ๆ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน
  • อาหารที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เพราะยีสต์มีฟอสเฟตอยู่มาก งดอาหารที่ใช้ผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมหน้าแตก 

2. ควบคุมอาหารที่มีโปรตีนสูง 

โดยเฉพาะเนื้อสัตว์  ปริมาณโปรตีนที่แนะนำคือ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสม 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูงประเภทเนื้อปลา 

โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เนื่องจากมีไขมันต่ำ และยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง  รวมทั้งสามารถรับประทานไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ที่ไม่ติดมัน  นมไขมันต่ำ ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง

3. ควบคุมคาร์โบไฮเดรต

ควบคุมคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าว-แป้ง ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญ เช่น ข้าวเจ้า ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น แต่ในแป้งเหล่านี้ก็ยังคงมีโปรตีนอยู่บ้าง 

หากผู้ป่วยต้องจำกัดโปรตีนมากๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ หรือรับประทานขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีน เช่น ซาหริ่ม สาคูเปียก เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ แต่หากผู้ป่วยเป็นเบาหวานด้วยควรใช้น้ำตาลเทียม หรือน้ำตาลจากหญ้าหวานแทน

4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทั้งหลาย 

ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทั้งหลาย ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และจำกัดไขมันอิ่มตัวทั้งจากพืช และสัตว์ จำพวกกะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู มันไก่ รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ประเภทเบเกอรี่ต่างๆ 

ทางที่ดีคุณควรใช้น้ำมันแบบไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ในการประกอบอาหาร

5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมมาก

ได้แก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว ฯลฯ  หากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง หรือมีอาการบวม 

ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน คือ ให้ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน หรือใช้เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน โดยสามารถใช้เครื่องเทศ สมุนไพร มะนาว และน้ำตาล ในการช่วยชูรสอาหาร เป็นต้น 

ในกรณีที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมากอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นตัวแต่งกลิ่นอาหารให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ ใบสะระแหน่ 

6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง

ในกรณีที่มีกรดยูริกในเลือดเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์ทุกชนิด สัตว์ปีก น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อน ๆ พวกยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง และต้องรับประทานอาหารไขมันต่ำควบคู่กันด้วย เพราะอาหารไขมันสูงทำให้กรดยูริกขับถ่ายทางปัสสาวะได้ไม่ดี 

7. หลีกเลี่ยงขนมหวาน 

ควรหลีกเลี่ยงขนมหวาน เช่น ขนมใส่กะทิ หรือขนมอบที่มีเนย เนยแข็ง เพราะขนมอบมักใส่ผงฟูซึ่งมีสารฟอสเฟตสูง 

ยิ่งหากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วย และระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงขนมหวานจัดซึ่งมีน้ำตาลมาก และไม่ควรใช้น้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ไม่อย่างนั้นจะส่งผลให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้เร็วขึ้น

8. ดื่มน้ำเปล่า 

น้ำเปล่า  เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หากมีอาการบวมน้ำ มีความดันโลหิตสูง ให้ดื่มน้ำไม่เกินวันละ 700-1,000 ซีซี หรือ 3-4 แก้วต่อวัน 

แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการบวมน้ำ สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ และสามารถดื่มน้ำสมุนไพรที่ไม่หวานจัดได้บ้าง เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ทั้งนี้ต้องควบคุมปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับระดับความเสื่อมของไตด้วย

Q&A

เป็นโรคไต ดื่มนมได้หรือไม่?

ในน้ำนม 1 กล่อง (240 มิลลิลิตร) มีโปรตีนคุณภาพดีประมาณ 8 กรัม เท่ากับเนื้อหมู หรือเนื้อไก่หั่น 2 ช้อน แต่ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังบางราย การดื่มนมอาจจะไม่เหมาะ เพราะในน้ำนมยังมีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสจึงรับประทานได้ในจำนวนจำกัด 

ผู้ป่วยที่ต้องจำกัดโปรตีน เมื่อดื่มน้ำนมก็ต้องลดปริมาณเนื้อสัตว์ที่ได้รับในวันนั้นลงด้วย อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมทุกประเภท นมผง นมแพะ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว เนยแข็ง และไอศกรีม

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจไต จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ฟอกไตเจ็บไหม ระยะไหน เตรียมตัวอย่างไร อ่านที่นี่, (https://hdmall.co.th/c/kidney-dialysis).
ตรวจไต ต้องอดอาหารไหม ตรวจยังไง อ่านผลยังไง? , (https://hdmall.co.th/c/kidney-screening).
Rumeyza Kazancioğlu, Risk factors for chronic kidney disease: an update (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4089662/) 27 November 2013

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป