กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

Zika Virus (ไวรัสซิก้า)

เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 27 พ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไข้ซิก้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้าซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้เหลือง 
  • โรคไข้ซิก้าโดยทั่วไปสามารถหายป่วยเองได้ภายใน 2-7 วัน แต่อันตรายร้ายแรงของโรคนี้คือ สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ ศีรษะเล็ก สมองเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แท้ง คลอดก่อนกำหนดได้
  • โรคไข้ซิก้าสามารถติดต่อผ่านยุงลายที่เป็นพาหะ จากแม่สู่ลูกระหว่างตั้งครรภ์ ผ่านเลือด และการมีเพศสัมพันธ์ธ์ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดได้อีกด้วย
  • อาการโดยทั่วไปคล้ายกับไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก เช่น มีไข้สูง มีผื่นแดงขึ้น ปวดเมื่อกล้ามเนื้อและข้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เยื่อบุตาอักเสบ 
  • ปัจจุบันโรคไข้ซิก้ายังไม่ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะจึงเป็นการรักษาตามอาการ รวมทั้งป้องกันยุงกัด การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อจากไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 

โรคไข้ซิก้า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้า ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) และโรคไข้เหลือง (Yellow Fever)

รู้จักโรคไข้ซิก้า

โรคไข้ซิก้าถูกค้นพบเมื่อค.ศ. 1947 ในลิงรีซัส (Rhesus Monkeys) จากป่าซิก้า (Zika forest) ในประเทศอูกันดา มีรายงานว่า มนุษย์ติดเชื้อซิก้าครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1952 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โดยโรคไข้ซิก้ามีการระบาดในบริเวณทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และบริเวณแถบแปซิฟิก เช่น บราซิล โคลอมเบีย กัวเตมาลา เฮติ ปารากวัย เวเนซุเอลา รวมทั้งหลายจังหวัดในประเทศไทย

โรคไข้ซิก้าโดยทั่วไปสามารถหายป่วยเองได้ภายใน 2-7 วัน แต่อันตรายร้ายแรงของโรคนี้คือ สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ 

สาเหตุของโรคไข้ซิก้า

โรคไข้ซิก้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้าซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) โดยมียุงตระกูลเอดีส์ (ยุงลาย) (Aedes mosquitoes) เป็นพาหะนำโรค 

ยุงลายมักจะออกหากินช่วงเวลากลางวัน เย็น และพลบค่ำ เมื่อยุงกัดและดูดเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสจะติดไปกับตัวยุง และจะแพร่กระจายต่อผ่านการกัดคนต่อๆ ไปนั่นเอง 

รายงานจากกรมควบคุมโรค (CDC) มีการระบุว่า ไวรัสซิก้ายังสามารถติดต่อผ่านการให้เลือด และผ่านจากแม่สู่ลูกได้ในระหว่างตั้งครรภ์ (แต่ยังไม่มีรายงานระบุว่ามีการติดต่อผ่านทางการให้นมบุตร) 

นอกจากนี้การวิจัยทางการแพทย์ยังพบว่า สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของโรคไข้ซิก้า

หลังจากเกิดการติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-14 วันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้าส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ มีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเท่านั้น 

ทั้งนี้อาการที่คล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ได้แก่

โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและจะทุเลาลงภายใน 2-7 วัน แต่บางรายก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติได้ ดังนั้นหากสงสัยว่า อาจป่วยเป็นโรคไข้ซิก้าควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การตั้งครรภ์และการติดเชื้อไวรัสซิก้า

แม้ว่า เชื้อไวรัสซิก้าจะไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์อาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้ เพราะอาจทำให้เกิดความภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แท้ง คลอดก่อนกำหนด 

รวมทั้งทำให้เมื่อคลอดออกมา ทารกอาจมีภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติ (Microcephaly) มีสมองเล็ก มีความผิดปกติของสมองแต่กำเนิดอย่างรุนแรง รวมไปถึงความผิดปกติแต่กำเนิดอย่างอื่น

กรมควบคุมโรคให้คำแนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์ควรงดเว้นการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด หรือสงสัยว่า มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิก้า หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้าสู่พื้นที่เหล่านั้นจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนป้องกันอย่างรัดกุม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการไข้ ผื่นแดง ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสซิก้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย

ภาวะไมโครเซฟาลี (Microcephaly) / ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด คืออะไร ?

ไมโครเซฟาลี (Microcephaly) เป็นความผิดปกติที่ทารกมีศีรษะขนาดเล็กตั้งแต่แรกเกิด ร่วมกับการที่สมองมีการเจริญเติบโตช้ากว่าทารกทั่วไป ภาวะนี้อาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กได้ 

ไมโครเซฟาลีนับว่า เกี่ยวข้องกับมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิก้าระหว่างตั้งครรภ์ โดยใน ค.ศ. 2015 มีรายงานจากประเทศบราซิลถึงเรื่องภาวะไมโครเซฟาลีที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการระบาดของไวรัสซิก้า 

นั่นทำให้บราซิลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายแนะนำให้ผู้หญิงบราซิลเว้นช่วงการตั้งครรภ์ไประยะหนึ่ง

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง “กิลแลง-บาร์เร” (Guillain-Barre Syndrome)

โรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) เป็นความผิดปกติที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมีการทำลายเซลล์ประสาทของตนเอง ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอัมพาต (Paralysis) ได้ 

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิก้าด้วยเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขของบราซิล (The Brazilian Ministry of Health) มีรายงานเกี่ยวกับอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคกิลแลง-บาร์เร 

กรมควบคุมโรคได้ประกาศยืนยันว่า การติดเชื้อไวรัสซิก้ามีความเกี่ยวข้องอย่างมากเกี่ยวกับโรคกิลแลง-บาร์เร แต่รายละเอียด หรือสาเหตุการเกิดนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการของโรคไข้ซิก้า

หากมีอาการที่คล้ายกับอาการของโรคซิก้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเพิ่งเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้า 

แพทย์จะสั่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อไวรัสซิก้า หรือแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกด้วย

การรักษาโรคไข้ซิก้า

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส หรือยารักษาไวรัสซิก้าได้ แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ โดยแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานยาลดไข้ บรรเทาปวดตามอาการ (พาราเซตามอล)
  • ไม่ควรรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ / NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน (Aspirinไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะอาจรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด และเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย
  • ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำด้วย

ถ้าหากติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้วจะหายได้ไหม ?

ประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้ามักไม่อาการแสดงใดๆ ส่วนผู้ที่แสดงอาการโดยมากมักคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms) แต่จะหายได้เองภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์ 

เนื่องจากเชื้อไวรัสซิก้าจะคงอยู่ในกระแสเลือดได้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางกรณีก็อาจอยู่ได้นานมากกว่านั้น

การป้องกันโรคไข้ซิก้า

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสซิก้าได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเช่นเดียวกับไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามที่พักอาศัย รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ของยุง 

หากคุณกำลังจะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสซิก้า กรมควบคุมโรคแนะนำดังต่อไปนี้

  • ใช้ยากันแมลง (ที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/ EPA-registered) โดยไม่ควรใช้ยากันแมลงกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน
  • ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
  • พักอาศัยในที่ที่มีหน้าต่างปิดมิดชิด
  • หากจำเป็นต้องนอนนอกอาคาร ให้ใช้มุ้งกันยุง
  • คลุมเปล / รถเข็นเด็กทารกด้วยตาข่ายกันยุง
  • หากมีอาการต้องสงสัยว่า อาจเป็นโรคไข้ซิก้า โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไวรัสซิก้า ต้องหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสัปดาห์แรกที่ป่วย เนื่องจากยังมีปริมาณเชื้อไวรัสซิก้าในกระแสเลือดจำนวนมาก 

หากถูกยุงกัดในช่วงนี้ เชื้อไวรัสจะติดไปที่ยุงและมีโอกาสแพร่ต่อไปยังผู้อื่นที่ถูกยุงกัดได้มาก 

นอกจากนี้สำหรับผู้ชายควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ส่วนผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน หรือควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์

สถานการณ์ของโรคไข้ซิก้า และการประกาศภาวะฉุกเฉิน

1 ก.พ. 2559 WHO - องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกๆ ประเทศร่วมมือกันตรวจหาผู้ติดเชื้อและเร่งมือพัฒนาวัคซีนเพื่อวิจัยโรคให้เร็วขึ้น 

การประกาศภาวะฉุกเฉินในครั้งนี้ จะประกาศเฉพาะใน 23 พื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสในวงกว้าง ได้แก่

  1. บราซิล
  2. โคลอมเบีย
  3. โดมินิกัน
  4. นิการากัว
  5. เอลซัลวาดอร์
  6. เฟรนช์เกียนา
  7. กัวเตมาลา
  8. เฮติ
  9. ฮอนดูรัส
  10. มาร์ตีนิก
  11. เม็กซิโก
  12. ปานามา
  13. ปารากวัย
  14. ซูรินาม
  15. เวเนซุเอลา
  16. เปอร์โตริโก
  17. บาร์เบโดส
  18. โบลิเวีย
  19. เอกวาดอร์
  20. กัวเดอลุป
  21. กายอานา
  22. หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา
  23. เกาะเซนต์มาร์ติน

Update: 30 สิงหาคม 2559 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ที่ จ.เชียงใหม่จำนวน 7 คนในชุมชนบ้านแม่โจ้ และสามารถควบคุมพื้นที่แพร่กระจายได้แล้ว หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทยแม้จะพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นระบาด โดยกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่า ไวรัสซิกา สามารถพบได้ในทั่วประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมียุงลายและเป็นเขตร้อนชื้น 

แม้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกจนทำให้ทารกเกิดความพิการ แต่เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้ โรคติดต่อไข้ซิก้าเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 

ความหมายคือ เป็นโรคที่รุนแรงและอันตราย สามารถติดต่อกันได้ง่าย รวมทั้งหากเกิดการติดต่ออาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อเฝ้าระวัง

โรคไข้ซิก้าแม้จะยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะนอกจากการรักษาตามอาการ แต่สามารถป้องกันตนเองได้คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคไข้ซิก้า หรือเมื่อตนเองป่วยด้วยโรคนี้ 

รวมทั้งหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
"Zika virus". Emerging Infectious Diseases. 20 (6): 1090. June 2014. doi:10.3201/eid2006.ET2006. PMC 4036762. PMID 24983096.
Sirohi D, Chen Z, Sun L, Klose T, Pierson TC, Rossmann MG, Kuhn RJ (April 2016). "The 3.8 Å resolution cryo-EM structure of Zika virus". Science. 352 (6284): 467–470. Bibcode:2016Sci...352..467S. doi:10.1126/science.aaf5316. PMC 4845755. PMID 27033547.
Centre for Health Protection, Zika Virus Infection Pamphlet-Thai Version (https://www.chp.gov.hk/en/wapdf/43957.html?page=2), 28 April 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)