กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Malaria (มาลาเรีย)

เผยแพร่ครั้งแรก 22 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที

มาลาเรีย เป็นโรคที่เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะมาลาเรียเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์ถึงปีละราว 4 แสนราย โรคมาลาเรียร้ายแรงแค่ไหน อาการของโรคเป็นอย่างไร และมีวิธีการป้องกันอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

มาลาเรียคืออะไร?

มาลาเรีย (Malaria) หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้ป่า ไข้จับสั่น นับเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต โดยมักพบการติดเชื้อในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า พ.ศ. 2560 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียทั้งสิ้น 219 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงถึง 435,000 ราย ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่สูงมากทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตจากมาลาเรียให้น้อยลง หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการติดเชื้อ อาการ วิธีรักษา และวิธีป้องกัน เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากโรคมาลาเรีย    

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของโรคมาลาเรีย

โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวกลุ่ม “พลาสโมเดียม” (Plasmodium) เข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะซีดอย่างรุนแรง มีไข้ หนาวสั่น ฯลฯ โดยเชื้อชนิดนี้มียุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรค

กระบวนการติดเชื้อของผู้ป่วยคือ เมื่อยุงก้นปล่องกัดผู้ป่วยมาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 – 12 วัน เมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายสู่ผู้ที่ถูกกัด ทำให้คนๆ นั้นติดเชื้อมาลาเรียต่อไป

ทั้งนี้เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ถูกกัด เชื้อจะเข้าไปอาศัยในเซลล์ตับ จากนั้นจะเจริญเติบโตในเซลล์ตับประมาณ 1 – 2 สัปดาห์จนเซลล์ตับแตกจึงกลับออกมาในกระแสเลือดอีกครั้ง และเข้าไปเจริญเติบโตต่อในเซลล์เม็ดเลือดแดงจนทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก

ร่างกายจะตอบสนองต่อแอนติเจนของเชื้อมาลาเรียโดยการปล่อยไซโตไคน์ (Cytokine) เช่น Interleukin 1(IL-1) และ Tumor necrosis factor (TNF) ซึ่งเป็นสารโปรตีนขนาดเล็กทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์ที่มีหน้าที่ปกป้องร่างกาย เคลื่อนเข้ามายังเซลล์ หรือเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย เพื่อทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ หรือเนื้อเยื่อนั้นๆ ผลข้างเคียง เช่น ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น เป็นต้น

หากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจำนวนมากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะพร่องออกซิเจนหมายถึง ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ (เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ลำเอียงออกซิเจน) ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจมีการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดงทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี เลือดจับตัวเป็นลิ่มเลือดเล็กๆ ในหลอดเลือดฝอย หรือจับตัวเป็นก้อนขนาดใหญ่ในอวัยวะต่างๆ จนส่งผลกระทบรุนแรงได้ เช่น ตับและม้ามโต มีเลือดคั่งเป็นหย่อมๆ สมองบวมและมีเลือดคั่ง ปอดมีเลือดคั่งและบวม หากไม่ได้รับการรักษาทันทีอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

เชื้อมาลาเรีย นอกจากจะติดต่อกันผ่านการถูกยุงก้นปล่องกัดแล้ว ยังพบการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก ผ่านการได้รับเลือด การผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน แต่ถือว่าพบน้อยมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เชื้อมาลาเรีย 5 สายพันธุ์

จริงๆ แล้วการติดเชื้อมาลาเรียไม่ได้มีแค่ชนิดเดียว แต่มีหลากหลายชนิด โดยชนิดที่พบได้ในประเทศไทยมีทั้งหมด 5 ชนิด ซึ่งล้วนรุนแรงและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

  • Plasmodium falciparum (Pf) สายพันธุ์นี้พบได้ทั่วโลก แต่พบได้บ่ายในแอฟริกา เชื้อชนิดนี้นับว่า อันตรายมากที่สุดเพราะสามารถแบ่งตัวได้รวดเร็วและทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกเป็นจำนวนมาก เซลล์เม็ดเลือดแดงที่แตกจะเข้าไปอุดตันเส้นเลือดขนาดเล็ก รวมถึงเส้นเลือดในสมองอาจกลายเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • Plasmodium vivax (Pv) สายพันธุ์นี้มักพบในเอเชีย ละตินอเมริกา และบางส่วนของแอฟริกา สายพันธุ์นี้สามารถเข้าไปแฝงตัวอยู่ในตับได้นานถึง 2 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก แล้วจึงออกมาทำลายเม็ดเลือดแดงอีกครั้ง
  • Plasmodium ovale (Po) เชื้อสายพันธุ์นี้พบได้มากในแอฟริกาตะวันตกและหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกตะวันตก สายพันธุ์นี้สามารถเข้าไปแฝงตัวอยู่ในตับได้นานถึง 4 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก
  • Plasmodium malariae (Pm) สายพันธุ์นี้พบได้ทั่วโลกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เนโฟรติก ซินโดรม (Nephritic syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของโรคไตที่ทำให้ร่างกายขับโปรตีนออกทางปัสสาวะมาก ผู้ป่วยจะมีอาการบวมน้ำโดยเฉพาะบริเวณเท้าและข้อเท้า
  • Plasmodium knowlesi (Pk) สายพันธุ์นี้พบได้ในลิงที่อาศัยในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถติดต่อสู่คนได้ และมีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ภาวะติดเชื้อรุนแรง

อาการของโรคมาลาเรีย

อาการเริ่มแรกของมาลาเรียจะเป็นอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไอ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ ผู้ป่วยจะมีไข้เป็นช่วงๆ อย่างสม่ำเสมอ แต่ละช่วงเรียกว่า “แพร็อกซิซึม” (Paroxysm) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะหนาวสั่น: ผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายลดลง มีอาการหนาวสั่น เป็นเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
  • ระยะไข้ตัวร้อน: ผู้ป่วยมีไข้สูง 40-41 เซลเซียส ตัวร้อนจัด หน้าแดง ริมฝีปากแห้งมาก หิวน้ำ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย เป็นเวลา 1-4 ชั่วโมง
  • ระยะออกเหงื่อ: อาการตัวร้อนจะค่อยๆ ลดลง มีเหงื่อออกมากตามหน้าผากและลำตัว จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนเป็นปกติ หรือเรียกว่า ช่วงปราศจากไข้ (Apyrexia) ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย และอาจหลับไปเพราะความเพลีย เมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกตัวเหมือนปกติทุกอย่าง

จากนั้นอาการของผู้ป่วยก็จะเข้าสู่ระยะหนาวสั่นอีกครั้ง วนเช่นนี้เรื่อยไป ทั้งนี้การติดเชื้อชนิด P. vivax และ P. ovale นั้น ทำให้มีไข้ทุกๆ 48 ชั่วโมง หรือเรียกว่า มีไข้วันเว้นวัน ส่วน P. malariae นั้น ทำให้มีไข้วันเว้นสองวัน

ผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียที่ป่วยนานและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะมีผิวหนังเหลืองซีด ตาเหลือง ผอม ท้องป่อง เนื่องจากตับและม้ามโต โดยภาวะนี้มักจะเกิดในผู้ป่วยที่เป็นชาวเขา หรือชาวบ้านที่อาศัยตามชายป่า แต่หากเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าป่าเพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวแล้วเผอิญติดเชื้อมาลาเรีย มักมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตมากกว่า เพราะไม่เคยมีภูมิต้านทานต่อเชื้อมาลาเรียเลย

ไข้กลับ (Relapse)

หลังจากเป็นไข้ครั้งแรกและหายเป็นปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้มาลาเรียได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ถูกยุงกัด ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า “ไข้กลับ” ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อมาลาเรียบางตัวยังหลงเหลืออยู่ที่เซลล์ตับ หรืออยู่ในกระแสโลหิต แต่มีระดับต่ำเกินกว่าจะตรวจพบได้ ผู้ป่วยจึงมักมาด้วยอาการไข้วันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวันขึ้นกับชนิดของโรคมาลาเรีย

ภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรีย

ภาวะแทรกซ้อนของมาลาเรียอาจเกิดได้ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง (Cerebral malaria) ผู้ป่วยมักมีอาการชัก ไม่รู้สึกตัว และหากไม่ได้รักษาทันที อาจผู้ป่วยตาบอด หรือหูหนวกได้ (โดยเฉพาะในเด็ก) และหากร้ายแรงกว่านั้นอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • โลหิตจางอย่างรุนแรง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ไตวาย
  • ปอดบวม ภาวะนี้จะทำให้สารน้ำเข้าสู่ปอดทำให้มีอาการหายใจลำบากจะมีอาการเหนื่อยง่าย
  • ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะนี้อาจเกิดจากการที่เชื้อมาลาเรียเข้าขัดขวางการทำหน้าที่ของตับ ในการกักตุนน้ำตาล หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา Quinine sulfate เพื่อรักษาโรคมาลาเรียจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก ทำให้คนไข้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย
  • ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อาจเกิดการอุดตันของเส้นเลือด ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ ตัวเย็น หรือชักได้
  • เลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis) ภาวะนี้เลือดและสารน้ำในเนื้อเยื่อจะเป็นกรดเพิ่มขึ้น โดยมักพบร่วมกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

อาการของโรคมาลาเรียอาจมีตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับที่อันตรายต่อชีวิต ดังนั้นการวินิจฉัยโรคได้เร็วและรักษาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียระดับรุนแรง

  • หญิงตั้งครรภ์ ทารกและเด็กเล็ก (อายุระหว่าง 6-36 เดือน)
  • นักเดินทางที่ไม่ได้มีภูมิต้านทานเชื้อมาลาเลียมาก่อน
  • ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา เช่น HIV/AIDS หรือเบาหวาน
  • นักเดินทางที่เดินทางไปทวีปแอฟริกาเขต Sub-Saharan ซึ่งมีเชื้อมาลาเรียชนิด P. falciparum (สายพันธุ์ที่อันตรายที่สุด) อยู่มาก

อาการติดเชื้อมาลาเรียรุนแรง

สำหรับเด็กที่ติดเชื้อมาลาเรียระดับรุนแรง มักมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เลือดเป็นกรด ซีดอย่างรุนแรง ไม่รู้สึกตัว ชัก และพัฒนาการเกี่ยวกับการรับรู้ถูกทำลาย

สำหรับผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อมาลาเรียระดับรุนแรง มีแนวโน้มที่จะเกิดตัวเหลือง ตาเหลืองรุนแรง ไตวาย และปอดบวม

การวินิจฉัยโรคมาลาเรีย

เนื่องจากอาการเริ่มต้นของโรคมาลาเรียอาจมีไข้สูง ทำให้คนไข้คิดว่า เป็นไข้หวัดธรรมดาจึงไม่ได้มาพบแพทย์ ฉะนั้นเบื้องต้นหากสงสัยว่า ตนเองมีอาการคล้ายติดเชื้อมาลาเรีย เช่น มีไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มีอาการหนาวสั่น ซีด ตาแดง ปัสสาวะสีเข้ม และเคยเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดของมาลาเรีย หรืออยู่ในพื้นที่ที่เคยพบการติดเชื้อภายใน 12 เดือน ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะบางครั้งอาการของมาลาเรียอาจเปลี่ยนจากระดับไม่รุนแรงกลายเป็นระดับรุนแรงได้ภายใน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้แพทย์จะซักประวัติและสอบถามอาการเบื้องต้น หากพบว่า มีอาการคล้ายโรคมาลาเรียจึงตรวจเลือด เพื่อทดสอบว่า ร่างกายมีเชื้อมาลาเรียอยู่หรือไม่ และติดเชื้อชนิดใด นอกจากนี้การตรวจเลือดยังทำให้ทราบว่า เราติดเชื้อระดับรุนแรงหรือไม่ มีภาวะซีด เลือดเป็นกรด หรือมีปัญหาที่ตับ ไต หรือไม่

การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคมาลาเรีย

  • การวินิจฉัยจากกล้องจุลทรรศน์: การทดสอบนี้ถือเป็นวิธีการตรวจมาตรฐาน ในการยืนยันการติดเชื้อโดยสามารถบ่งบอกได้ว่า เชื้อมาลาเรียเป็นสายพันธุ์ใดและประเมินว่า มีการติดเชื้อในเม็ดเลือดแดงกี่เปอร์เซ็นต์
  • การทำ Rapid diagnostic test (RDTs): การทดสอบนี้ให้ผลอย่างรวดเร็ว แต่อาจไม่แม่นยำเท่าการตรวจจากกล้องจุลทรรศน์ บางโรงพยาบาลจะใช้การตรวจวิธีนี้เพื่อบอกผลอย่างคร่าวๆ ก่อนการส่งตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
  • การทำ Rapid diagnostic test (RDTs): การทดสอบนี้ให้ผลอย่างรวดเร็วแต่อาจไม่แม่นยำเท่าการตรวจจากกล้องจุลทรรศน์ บางโรงพยาบาลจะใช้การตรวจวิธีนี้เพื่อบอกผลอย่างคร่าวๆ ก่อนการส่งตรวจใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
  • การวินิจฉัยจากโมเลกุล: การทดสอบนี้เป็นทดสอบโดยใช้ Polymerase Chain Reaction (PCR) สามารถใช้วินิจฉัยสายพันธุ์ของมาลาเรียได้อย่างแม่นยำ แต่มักใช้เวลานานเกินกว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ป่วยเฉียบพลันได้
  • การวินิจฉัยโรคโดยการตรวจแอนติบอดีในน้ำเลือด (Serology): ใช้ตรวจว่า ผู้ป่วยเคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนหรือไม่

การทดสอบการดื้อยา

การทดสอบนี้จำเป็นต้องทำเพื่อให้ทีมแพทย์ประเมินได้ถูกต้องว่า ควรจ่ายยาชนิดใดในการกำจัดเชื้อมาลาเรีย

การรักษาโรคมาลาเรีย

ยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียมีหลากหลายชนิด โดยเบื้องต้นแพทย์จะต้องประเมินตามปัจจัยดังนี้

  1. ความรุนแรงของอาการ: หากผู้ป่วยมีอาการมาลาเรียระดับไม่รุนแรง สามารถให้ยารับประทานได้ แต่หากมีอาการระดับรุนแรงจะต้องให้ยาผ่านทางเส้นเลือดดำ
  2. สายพันธุ์ของเชื้อมาลาเรีย: เชื้อมาลาเรียแต่ละสายพันธุ์จะมีระยะเวลาในการทำลายเม็ดเลือดแดงต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้ยาก็ต้องต่างกันด้วย ทั้งนี้ยาส่วนใหญ่จะเข้าไปทำลายเชื้อในกระแสเลือด แต่หากเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ P. Vivax หรือ P. Ovale จะต้องใช้ยาเพื่อกำจัดเชื้อตัวอ่อนที่อาจกำลังฟักตัวอยู่ในตับเพิ่มเติมด้วย เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต
  3. อายุ: เด็กใช้ยาปริมาณน้อยกว่าผู้ใหญ่โดยขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว
  4. การตั้งครรภ์: ยาบางชนิดไม่ปลอดภัยที่จะใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือไม่ทราบระดับความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาโรคมาลาเรียในหญิงตั้งครรภ์
  5. การดื้อยา: โรคมาลาเรียเป็นโรคที่มักพบการดื้อยา ดังนั้นแพทย์จึงต้องเลือกใช้ยาโดยอ้างอิงจากสายพันธุ์ของเชื้อลักษณะการดื้อยา รวมทั้งใช้ยาหลายชนิดควบคู่กันในการรักษา
  6. ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD: ผู้ป่วยบางคนมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD หมายถึง ร่างกายขาดเอนไซม์ G6PD ที่ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงทำงานได้ปกติ หากร่างกายเอนไซม์ชนิดนี้จึงอาจส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงสลายตัวจนเกิดภาวะโลหิตจางตามมาได้ ซึ่งยารักษาโรคมาลาเรียบางตัวไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ดังนั้นแพทย์ต้องตรวจหาภาวะนี้ก่อนการเริ่มให้ยา

ยารักษาโรคมาลาเรีย

  • Aralen หรือPlaquenil (Chloroquines): ยาชนิดนี้จัดเป็นยาแรกที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียที่ไม่ดื้อยาและไม่รุนแรง
  • Quinine: ยานี้ใช้รักษาโรคมาลาเรียชนิดที่มีการดื้อต่อยา Chloroquine
  • Primaquine: ยานี้ใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ P. vivax หรือ P. ovale เพื่อกำจัดเชื้อมาลาเรียตัวอ่อนในตับ แต่ไม่สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD
  • Lariam (Mefloquine): ยานี้อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางจิตได้จึงหลีกเลี่ยงการใช้ในบางครั้ง
  • Malarone (Atovarone และ Proguanil): ยานี้สามารถทำให้เกิดอาการผิดปกติในกระเพาะอาหารและจำเป็นที่ต้องรับประทานพร้อมกับอาหาร หรือนม
  • Coarten (Artemether และ Lumefantrine): ยาชนิดนี้เป็นการรวมยาที่ออกฤทธิ์สั้นเข้ากับยาที่ออกฤทธิ์ยาวโดยการรักษาโดยใช้ยา Artemisinin เป็นส่วนประกอบ เช่น Coartem จึงเป็นแนวทางหลักของการรักษาโรคมาลาเรียในปัจจุบัน สาร Artemisinins มีต้นกำเนิดมาจากพืชตระกูล Artemisia annua
  • Doxycycline, Tetracycline และ Clindamycin: ยาปฏิชีวนะเหล่านี้มักใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแต่สามารถช่วยหยุดการแบ่งตัวของเชื้อมาลาเรียได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมียาที่ใช้ในการรักษาโรคมาลาเรียที่รุนแรง ดังนี้

  • Quinidex (Quinidine gluconate): ยาชนิดนี้ให้ทางเส้นเลือดดำสำหรับการรักษาโรคมาลาเรียระดับรุนแรง แต่จำเป็นต้องติดตามการทำงานของหัวใจและความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากยาชนิดนี้อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจรุนแรงได้
  • Artesunate: ยาชนิดนี้ให้ทางเส้นเลือดดำในผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียระดับรุนแรงซึ่งไม่สามารถทนต่อยา Quinidine ได้

นอกจากการให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียแล้ว แพทย์จะรักษาตามอาการควบคู่กันไปด้วย เช่น ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ ให้เลือด เป็นต้น

การป้องกันโรคมาลาเรีย

วัคซีนโรคมาลาเรีย 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนโรคมาลาเรียที่ได้รับการยอมรับให้ใช้อย่างแพร่หลาย แต่มีวัคซีนหลายชนิดที่อยู่ในขั้นพัฒนา โดยวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากที่สุดในปัจจุบันชื่อ Mosquirix (RTS,S/AS01) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2015 วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีนตัวแรกที่ผ่านการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 และได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้กับการติดเชื้อ P. falciparum จากผลการทดลองเมื่อมีการให้วัคซีน 4 ครั้ง ในเด็กเล็กอายุมากกว่า 5 เดือน พบว่า 

  • การติดเชื้อมาลาเรียลดลง 51% ในช่วง 12 เดือน หลังการฉีดเข็มที่ 3 และลดโอกาสการติดเชื้อมาลาเรียชนิดรุนแรงได้ 45%
  • การติดเชื้อมาลาเรียลดลง 39% ในช่วง 48 เดือน (การติดเชื้อลดลง 43% ในเด็กชาย และ 35% ในเด็กหญิง)

ยาป้องกันโรคมาลาเรีย 

แม้วัคซีนจะยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็มีวิธีที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยยาที่ใช้ป้องกันโรคมาลาเรียมักเป็นยาชนิดเดียวกันกับที่ใช้ในการรักษา หากจำเป็นต้องเดินทางไปในบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อมาลาเรีย แพทย์จะจ่ายยาป้องกันโรคมาลาเรียโดยประเมินจากพื้นที่ที่ต้องเดินทางว่า พื้นที่นั้นพบการระบาดของเชื้อมาลาเรียชนิดใด ลักษณะการดื้อยาเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เลือกจ่ายยาได้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาก่อน ระหว่าง และหลังจากเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด แม้ว่าเราจะเคยอยู่พื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ หรือเคยติดเชื้อมาลาเรียมาก่อนก็ควรรับประทานยาป้องกัน

การดูแลตัวเอง 

วิธีป้องกันมาลาเรียเบื้องต้นที่สามารถทำเองได้คือ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ แต่หากจำเป็นจริงๆ ต้องพยายามป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด โดยยุงก้นปล่องมักจะออกหากินในช่วงระหว่างหัวค่ำจนถึงเช้ามืด ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวมีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่กลางแจ้งระหว่างช่วงหัวค่ำและเช้ามืด
  • สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังให้มากที่สุด
  • ทายากันยุง

มาลาเรียนับเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต หากรู้ตัวตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการใดๆ ที่คล้ายคลึงกับอาการของโรคมาลาเรีย แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษา จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
webmd.com, What Is Malaria and What Are the Symptoms? (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/malaria-symptoms#1)
Peter Lam, What to know about malaria (https://www.medicalnewstoday.com/articles/150670.php), November 19, 2018
Darla Burke, Malaria (https://www.healthline.com/health/malaria), July 9, 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ป่วยเป็นมาลาเลีย มีเพศสัมพันธ์ได้มั้ยครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
โดนยุงกัดช่วง 4ทุ่ม ถึง ตี 2 เป็นประจำ ต้องตรวจเลือดเลยไหมครับ กลัวพวกเท้าช้าง มาลาเรีย ไข้สมอง หอพักอยู่ในกรุงเทพ ข้างหอ เป็นหญ้าสูงครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
หมอค่ะ แฟนของหนูเขาไม่สายมา3วันแล้วว มีไข้สูง 36องศา ปวดเมื่อยตามตัว ทานยาก็ไม่หาย เช็ดตัวทุก2ชั่วโมง ยังไม่ดีขึ้นเลย หนูก้อทำไงบ้างค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เป็นผื่นเหมือนคนเป็นไข้เลือดออกแต่ไปเจาะเลือดมาแล้วไม่พบเชื่อ มาลาเรีย สรุปแล้วเป็นอะไร
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)