ยาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง

ทำความรู้จักกับยาสามัญประจำบ้าน มีกี่ชนิด และแต่ละชนิดใช้รักษาโรคอะไร
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ยาสามัญประจำบ้านมีอะไรบ้าง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาที่กระทรวงสาธารณสุขเห็นสมควรให้ซื้อมาไว้ประจำบ้าน ปลอดภัย ราคาไม่แพง สามารถใช้ดูแลรักษาอาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ เช่น โรคหวัด แก้ท้องเสีย หรือแก้เมารถได้
  • ยาสามัญประจำบ้านมีทั้งหมด 53 ชนิด แบ่งออกเป็น 16 กลุ่ม
  • ควรเลือกซื้อยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเช็กวันหมดอายุ สภาพบรรจุภัณฑ์ก่อนซื้อ
  • ก่อนใช้ยาควรอ่านข้อบ่งใช้ให้เรียบร้อย เลี่ยงการใช้ยาที่ผิดกับโรค และไม่ควรใช้ยาเกินขนาด
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก ไม่โดนแดด ความร้อน ความชื้น เปลวไฟ และแยกประเภทของยาให้ชัดเจน
  • การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้คุณรู้เท่าทันโรค (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ยาสามัญประจำบ้าน คือ ยาที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาว่า เป็นยาที่เหมาะสมสำหรับให้ประชาชนซื้อไว้ประจำในบ้านของตนเอง เพื่อใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน 

ยาสามัญประจำบ้านเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง หากใช้อย่างถูกต้องก็จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยาสามัญประจำบ้านยังเป็นยาที่มีราคาถูก ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา ห้าง ร้านขายของชำทั่วไป 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ปัจจุบันยาสามัญประจำบ้านมีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้รักษาโรคสามัญได้ 16 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้

เป็นกลุ่มสำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวดเมื่อย เช่น 

  • ยาเม็ดบรรเทาอาการปวดลดไข้พาราเซตามอล ขนาด 325 มิลลิกรัม และ 500 มิลลิกรัม ให้รับประทานหลังอาหาร หรือขณะท้องไม่ว่างทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 4-5 ครั้ง
  • พลาสเตอร์บรรเทาอาการปวด วิธีใช้ คือ ให้เช็ดผิวหนังที่เกิดอาการปวดให้สะอาด แล้วปิดพลาสเตอร์บริเวณที่ปวดลงไป ให้เปลี่ยนพลาสเตอร์วันละ 1-2 ครั้ง และระมัดระวังอย่าใช้พลาสเตอร์บริเวณเยื่อยุตา หรือแผลที่ปากแผลเปิดอยู่

2. กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก

เป็นกลุ่มยาบรรเทาอาการแพ้ เช่น ผื่นลมพิษ น้ำมูก รวมถึงอาการไอ มีเสมหะมาก เช่น

  • ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกคลอร์เฟนิรามีน เป็นยาสำหรับบรรเทาอาการแพ้ ให้รับประทานทุกๆ 4-6 ชั่วโมง ตัวยาอาจทำให้มีอาการง่วงซึม ไม่ควรขับขี่พาหนะ หรือใช้เครื่องจักรกล โดยมีปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมดังนี้ 
    • ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด แต่ไม่ควรเกินวันละ 12 เม็ด 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด แต่ไม่ควรเกินวันละ 6 เม็ด
  • ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก เป็นยาสำหรับบรรเทาอาการไอ และขับเสมหะให้น้อยลง มีปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมดังนี้
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา หรือประมาณ 10 มิลลิลิตร 
    • เด็กอายุ 3-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา หรือประมาณ 5 มิลลิลิตร 
    • เด็กอายุ 1-3 ปี ให้รับประทานครั้งละครึ่งช้อนชา หรือประมาณ 2.5 มิลลิลิตร

3. กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ

  • ยาแก้ไอน้ำดำ ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ หญิงมีครรภ์ และคนชรา อีกทั้งในตัวยามีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง และให้เขย่าขวดก่อนรับประทาน โดยควรรับประทานวันละ 3-4 ครั้ง ในผู้ป่วยแต่ละวัยจะมีปริมาณการรับประทานดังต่อไปนี้ 
    • ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา หรือประมาณ 5-10 มิลลิลิตร 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละครึ่งถึง 1 ช้อนชา หรือประมาณ 2.5-5 มิลลิลิตร

ยาแก้ไอน้ำดำมีข้อควรระวังอีกอย่าง คือ ผู้ที่ไอ และมีเสมหะเหนียวมากจากหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ยาตัวนี้อาจทำให้เสมหะเหนียวขึ้นกว่าเดิม แล้วไปอุดกั้นทางเดินหายใจจนทำให้หยุดหายใจได้ 

เพื่อความปลอดภัย คุณอาจปรึกษาแพทย์ก่อนว่า สามารถใช้ยาตัวนี้ได้หรือไม่ หรือควรเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น

4. กลุ่มยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก

เป็นยากลุ่มสำหรับใช้ดม และห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด อีกทั้งต้องปิดฝาให้สนิทหลังใช้ด้วย โดยได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ยาดมแก้วิงเวียนเหล้าแอมโมเนียหอม เป็นยาสำหรับบรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด รวมถึงใช้ทาผิวหนังที่ถูกแมลงกัดต่อย หรือถูกพืชที่มีพิษ วิธีใช้ คือ นำสำลีมาชุบยา แล้วดม หรือทา 
  • ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก เป็นยาแก้อาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก อาการวิงเวียน หน้ามืด วิธีใช้ คือ ใช้สูดดม หรือทาบางๆ บริเวณคอกับหน้าอก 
  • ยาระเหยชนิดน้ำผึ้งเพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก ผู้ที่เป็นโรคหวัดแล้วมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวกสามารถใช้ยานี้ทาบริเวณลำคอ หน้าอก และหลังได้ ตัวยาจะระเหยทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ง่ายขึ้น

5. กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ

ใครที่มักมีอาการเมารถ เมาเรือ อาจหายานี้ติดกระเป๋าไว้ด้วย แต่ต้องระมัดระวังไม่ขับขี่พาหนะด้วยตนเอง เพราะตัวยาอาจทำให้ง่วงซึม อ่อนเพลีย และไม่ควรรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งได้แก่

  • ยาแก้เมารถ เมาเรือไดเมนไฮดริเนท เป็นยาสำหรับผู้ใหญ่ โดยให้รับประทานก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30 นาทีในปริมาณ 1 เม็ด

6. กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ

ใช้สำหรับบรรเทาอาการอักเสบ และเจ็บบริเวณลำคอ ลิ้น หรือในช่องปาก เช่น 

  • ยากวาดคอ มีลักษณะเป็นยาผงที่ต้องเติมน้ำลงไป แล้วใช้นิ้วป้ายยาลงไปในลำคอของผู้ป่วย ยานี้จำกัดการใช้ในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยากวาดคอไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อนแล้ว เพราะหากกวาดคอผิดวิธี ก็จะทำให้เกิดบาดแผลในลำคอได้
  • ยารักษาลิ้นเป็นฝ้าเยนเชี่ยนไวโอเลต ใช้รักษากระพุ้งแก้ม และลิ้นเป็นฝ้าขาว วิธีใช้คือ นำสำลีมาชุบยาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง เป็นยาสำหรับทาเท่านั้น
  • ยาแก้ปวดฟัน เป็นชาสำหรับใช้สำลีชุบแล้วป้ายอุดฟันที่เป็นรู หรือปวด แต่ทางที่ดี ผู้ป่วยควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาต้นตอของอาการจะดีที่สุด
  • ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอ เป็นยาสำหรับใช้ในเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปเท่านั้น โดยให้อมครั้ง 1 เม็ดให้ยาละลายอย่างช้าๆ ในปาก ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

7. กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ

เป็นกลุ่มยาสำหรับลดอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในกระเพาะมาก หรือมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป เช่น 

  • ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา - แมกนีเซีย เป็นยาเคี้ยวก่อนกลืน ใช้ลดอาการจุกเสียด ท้องเฟ้อ ปวดท้องจากกรดในกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ มีข้อควรระวัง คือ ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต และห้ามรับประทานนานกว่า 2 สัปดาห์ มีปริมาณการรับประทานดังนี้ 
    • ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1-4 เม็ด 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด
  • ยาเม็ดโซดามินต์ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้บรรเทาอาการจุกเสียด ลดอาการไม่สบายตัวจากกรดในกระเพาะอาหาร ให้รับประทานหลังอาหาร โดยผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 3-6 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 6-12 ให้รับประทานครั้งละ 1-3 เม็ด
  • ยาธาตุน้ำแดง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้บรรเทาอาการจุกเสียด ท้องเฟ้อ หรืออาการปวดท้อง ให้เขย่าก่อนรับประทาน และรับประทานก่อนมื้ออาหารวันละ 3 ครั้ง ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละครั้งละครึ่งถึง 1 ช้อนโต๊ะ 
  • ยาน้ำโซเดียมไบคาร์บอเนต แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดกรดในกระเพาะอาหารที่มากเกินไปจนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มักใช้รักษากลุ่มผู้ป่วยเด็ก แต่ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 1 เดือน โดยมีปริมาณการรับประทานดังนี้ 
    • เด็กอายุ 2-3 ขวบ ให้รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนชา 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา 
    • เด็กอายุ 1-6 เดือน ให้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา
  • ยาขับลม ใช้บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจากลมในกระเพาะอาหารที่มากเกินไป ยาชนิดนี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยควรให้รับประทานวันละ 3-4 ครั้ง มีปริมาณการรับประทานดังนี้ 
    • ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละครึ่งถึง 1 ช้อนโต๊ะ

8. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย

  • ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่ เป็นยาสำหรับทดแทนสารน้ำที่ร่างกายเสียไปจากอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรืออาเจียนหนักมากๆ จนเสี่ยงที่ร่างกายจะช็อก วิธีรับประทาน คือ เทผงยาทั้งซองละลายในน้ำสะอาด หรือต้มสุกแล้วประมาณ 250 มิลลิลิตร

    วิธีการรับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่จะแตกต่างกันไปตามอาการป่วย คือ ถ้ามีอาการท้องร่วง ให้ดื่มเกลือแร่มากๆ หากถ่ายบ่อยด้วยก็ให้ดื่มบ่อยครั้งขึ้นอีก แต่หากมีอาการอาเจียนเกิดขึ้น ให้ค่อยๆ ดื่มหรือจิบทีละน้อย แต่บ่อยครั้ง

9. กลุ่มยาระบาย

เป็นกลุ่มยาสำหรับรักษาอาการท้องผูก แต่ไม่ควรใช้เป็นประจำ ได้แก่

  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก ใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูก ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น วิธีใช้ คือ ใช้เหน็บทวารครั้งละ 1 แท่ง โดยหลังจากเหน็บแล้วให้รอประมาณ 15 นาทีเพื่อให้ยาละลาย 
  • ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่ ใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูกเช่นเดียวกัน วิธีใช้เหมือนกัน แต่เป็นยาสำหรับผู้ใหญ่ 
  • ยาระบายแมกนีเซีย เป็นยารับประทานเพื่อให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ให้รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อตื่นนอนตอนเช้า มีปริมาณการรับประทานดังนี้ 
    • ผู้ใหญ่ ให้รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 30-45 มิลลิลิตร 
    • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 15-30 มิลลิลิตร
    • เด็กอายุ 1-6 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1-3 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 5-15 มิลลิลิตร
  • ยาระบายมะขามแขก ใช้สำหรับรับประทานก่อนนอน หรือตื่นนอนตอนเช้าเพื่อเป็นยาระบาย ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 3-4 เม็ด ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด
  • ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร ใช้สวนเข้าทวาารเพื่อแก้อาการท้องผูก ผู้ใหญ่ใช้ครั้งละ 20-40 มิลลิลิตร เด็กอายุ 6-12 ปีใช้ครั้ง 10-20 มิลลิลิตร และเด็กอายุ 1-6 ขวบ ใช้ครั้งละ 5-10 มิลลิลิตร

10. กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้

  • ยาถ่ายพยาธิตัวกลม มีเบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม แต่ก็มีวิธีรับประทานที่แตกต่างกันไปตามชนิดของพยาธิด้วย ซึ่งได้แก่
    • พยาธิเส้นด้าย พยาธิเข็มหมุด ทั้งเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเพียงครั้งเดียว โดยให้เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืนด้วย 
    • พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ และพยาธิอื่นๆ ทั้งเด็กอายุ 2 ขวบ และผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารวันละ 2 ครั้งติดต่อกัน ประมาณ 3 วัน

11. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย

  • ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง ใช้บรรเทาอาการปวด บวม อักเสบจากแมลงกัดต่อย หรืออาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นยาห้ามรับประทาน ใช้สำหรับทา หรือนวดบริเวณที่มีอาการเท่านั้น

12. กลุ่มยาสำหรับโรคตา

  • ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์ ใช้รักษาอาการตาแดง ตาอักเสบจากการติดเชื้อ วิธีใช้ คือ หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน และเมื่อยาถูกเปิดใช้แล้วเกิน 1 เดือน ห้ามใช้ต่อเด็ดขาด รวมถึงหากสังเกตว่า ยามีสีขุ่น หรือตกตะกอนด้วย
  • ยาล้างตา ใช้สำหรับล้างตาที่เกิดความระคายเคือง หรือแสบจากสิ่งสกปรกที่เข้าตา ใช้วันละ 2-3 ครั้ง ห้ามรับประทานเด็ดขาด

13. กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง

เป็นกลุ่มยาสำหรับรักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนัง หรืออาการแพ้ที่แสดงออกทางผิวหนัง การติดเชื้อราทางผิวหนัง เช่น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • ยารักษาหิดเหา เบนซิลเบนโซเอต สำหรับรักษาโรคหิด ให้อาบน้ำให้สะอาด แล้วใช้ผ้า หรือแปรงอ่อนๆ ถูบริเวณที่มีผื่นคัน แล้วทายาทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วค่อยอาบน้ำอีกครั้ง จากนั้นวันต่อมา ให้ทาซ้ำใหม่อีกครั้ง
  • ยารักษาหิดแบบขึ้ผึ้งกำมะถัน ใช้ทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 2-3 ครั้ง หากเกิดความระคายเคือง หรือมีอาการคล้ายกับแพ้ยา ให้หยุดใช้ยาทันที
  • ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า มีวิธีใช้ และข้อควรระวังเหมือนยารักษาหิดแบบขี้ผึ้งกำมะถัน
  • ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต มีวิธีใช้ คือ เติมน้ำสะอาดจนเต็มถึงคอขวด แล้วเขย่าจนตัวยาละลายผสมกับน้ำจนเข้มข้นประมาณ 25% หลังจากอาบน้ำแล้ว ให้ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน วันละหลายๆ ครั้ง มีข้อควรระวัง คือ หากผสมยากับน้ำทิ้งไว้แล้ว ควรใช้ภายใน 15 นาทีไม่นานกว่านั้น

14. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

  • ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม เป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาการติดเชื้อของแผลไฟใหม้ โดนความร้อน หรือน้ำร้อนลวก วิธีใช้ คือ ทำความสะอาดแผลก่อน แล้วทายาลงไปทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง หากเป็นแผลไฟไหม้ควรใช้ทุกๆ 24 ชั่วโมง

15. กลุ่มยาใส่แผล ยาล้างแผล

เป็นกลุ่มยาสำหรับปฐมพยาบาล และดูแลแผลสดให้สะอาด เช่น 

  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน ใช้สำหรับรักษาแผลสด โดยนำสำลีสะอาดมาชุบยาทาที่แผล พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้ยาเข้าตาเด็ดขาด และมีอาการแพ้ยา เช่น ผื่นแดง หรือรู้สึกระคายเคือง ให้รีบหยุดยาทันที
  • ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล ใช้รักษาบาดแผล วิธีใช้ และข้อควรระวังเหมือนยาใส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน 
  • ยาเอทิลแอลกอฮอล์ ใช้รักษาความสะอาดรอบๆ บาดแผล ใช้สำหรับทาเท่านั้น ห้ามรับประทาน
  • น้ำเกลือล้างแผล ใช้รักษาความสะอาดรอบๆ บาดแผลให้สะอาด

16. กลุ่มยาบำรุงร่างกาย

เป็นกลุ่มยาสำหรับบำรุงไม่ให้ร่างกายขาดวิตามิน หรือแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น

  • ยาเม็ดวิตามินบีรวม ให้รับประทานวันละ 1 ครั้งหลังรับประทานอาหาร ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 1 เม็ด
  • ยาเม็ดวิตามินซี ใช้รับประทานเพื่อป้องกันการขาดวิตามินซี ผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 1 เม็ด หากยามีลักษณะเปลี่ยนสีไป ให้เปลี่ยนไปรับประทานชุดใหม่ 
  • ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต ใช้รักษาโรคโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กของผู้ใหญ่ ให้รับประทาน 3 ครั้ง ครั้งละ 1-2 เม็ดหลังอาหาร ในระหว่างรับประทานอาหาร อุจจาระอาจมีสีดำ รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน คุณอาจให้แพทย์เป็นผู้แนะนำว่า ควรรับประทานขนาดไหนจึงจะเหมาะกับร่างกาย
  • ยาน้ำมันตับปลาชนิดแคปซูล ใช้รักษาเพื่อป้องกันการขาดวิตามินเอ และดี ผู้ใหญ่ให้รับประทานวันละ 1 เม็ดแต่พอดี อย่ารับประทานเกินเพราะอาจสะสมในร่างกายจนเกิดอันตราย

ข้อควรระวังในการซื้อยาสามัญประจำบ้าน

การเลือกซื้อยาสามัญประบ้าน ควรเลือกที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะต้องมีเลขทะเบียบตำรับยาอยู่บนฉลากของยานั้น เพราะยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจะเป็นยาที่ได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ 

อีกสิ่งที่ควรดูก่อนซื้อยา คือ วันหมดอายุ เนื่องจากยามีเวลาเสื่อมสภาพ จึงไม่ควรซื้อยาที่ใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้วมาใช้รับประทาน เพราะอาจจะมีอันตรายต่อร่างกายได้ 

นอกจากนี้ คุณยังควรเลือกยาที่มีสิ่งบรรจุ ผลิตภัณฑ์อยู่ในสภาพดี ครบสมบูรณ์ ยาเม็ดต้องไม่แตก สีเรียบไม่มีจุดแปลกปลอม ยาน้ำไม่ตกตะกอน แต่ถ้าแขวนตะกอนเมื่อเขย่าตัวยาแล้วต้องกระจายตัวสม่ำเสมอ

วิธีใช้ยาสามัญประจำบ้านให้ปลอดภัย

  1. ควรอ่านฉลากยา และเอกสารกำกับยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะได้ไม่ใช้ยาผิด
  2. ใช้ยาให้ถูกต้องตามที่เอกสารกำกับยาระบุไว้ ไม่ควรใช้ยาเกินขนาดเด็ดขาด
  3. เลี่ยงการใช้ยาที่ผิดกับโรค เพราะโรคบางอย่างตัวยาต้องใช้ต่างชนิดกัน

การเก็บรักษายาสามัญประจำบ้านที่ถูกต้อง

การเก็บยาสามัญประจำบ้านเอาไว้นั้น ควรมีตู้สำหรับใส่ยาเหล่านี้โดยเฉพาะเพื่อให้เป็นระเบียบ และเพิ่มความสะดวกในการหยิบใช้ อีกทั้งช่วยรักษาตัวยาให้มีอายุการใช้งานได้ตามกำหนด โดยมีวิธีเก็บดังนี้

  1. ควรแยกยาออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน ว่าอันไหน คือ ยาสำหรับรับประทาน และยาอันไหน คือ ยาสำหรับใช้ภายนอก
  2. ยาจะต้องมีฉลากยาที่มีความถูกต้องชัดเจน ไม่จาง หรือขาดหาย
  3. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก
  4. เก็บยาไว้ในที่ไม่โดนแสงแดด ความร้อน ความชื้น และเปลวไฟ
  5. อย่าเก็บยาชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเอาไว้ในตู้เก็บยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจจะหยิบผิดได้

ยาสามัญประจำบ้านเป็นของที่ต้องมีติดบ้านเอาไว้เสมอ เพราะรักษาโรคทั่วไปเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถซื้อยาทานเองได้ แต่ก็ต้องศึกษาตัวยาและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับยาให้ครบถ้วนเพื่อจะได้ใช้รักษาโรคได้อย่างปลอดภัย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The New Emergency Health Kit 98: Drugs and Medical Supplies for 10,000 People for Approximately 3 Months: Chapter 1: Essential drugs and supplies in emergency situations: Drug and supply management control. World Health Organization (WHO). (https://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Jwhozip31e/3.5.html)
Your medicine cabinet. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/live-well/healthy-body/your-medicine-cabinet/)
12 Must-Have OTC Drugs: Non-Prescription First Aid Supplies. eMedicineHealth. (https://www.emedicinehealth.com/home_pharmacy/article_em.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)