กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ว่านหางจระเข้ กับประโยชน์และสรรพคุณทางยา

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ว่านหางจระเข้ กับประโยชน์และสรรพคุณทางยา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ว่านหางจระเข้ เป็นไม้ล้มลุกที่มีสรรพคุณรักษาอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น แผลน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ ผิวหนังอักเสบ บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ลดหน้าท้องลายหลังคลอดบุตร
  • นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังมีสรรพคุณทางยาอื่นๆ อีก เช่น รักษาแผลถลอก รักษาแผลตาปลา ฮ่องกงฟุต รักษาอาการท้องผูก แผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันโรคเบาหวาน
  • ว่านหางจระเข้เป็นพืชที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และกรดอะมิโนหลายชนิดแฝงอยู่ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินซี วิตามินอี
  • กลุ่มผู้ป่วยบางโรคอาจต้องหลีกเลี่ยงยาที่มีส่วนผสมของว่านหางจระเข้ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคลำไส้อักเสบ โรคกระเพาะ โรคริดสีดวง
  • หากคุณไม่สามารถบำรุงผิวด้วยว่านหางจระเข้ หรือสมุนไพรอื่นๆ ได้ คุณสามารถเข้าปรึกษากับแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกความงาม ว่าสามารถบำรุงให้ดูดี และชุ่มชื้นได้อย่างไร (ดูแพ็กเกจทรีตเมนต์หน้ากระจ่างใสได้ที่นี่)

หลายๆ คนอาจจะทราบถึงประโยชน์ดีๆ เกี่ยวกับ ว่านหางจระเข้ กันมาบ้างแล้ว เช่น ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แต่นอกจากสรรพคุณที่กล่าวมาแล้ว ว่านหางจระเขยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย หากตอนนี้ใครกำลังมองหาประโยชน์และสรรพคุณอื่นๆ อยู่ บทความนี้มีคำตอบ

ลักษณะทั่วไปของว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ จัดอยู่ในพืชตระกูล Aloaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Aloe vera (Linn.) Burm. f. ซึ่งยังมีชื่อพ้องอื่นๆ อีกมากมาย โดยว่านหางจระเข้มีมากกว่า 300 พันธุ์ มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ล้มลุก มีข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขอบใบมีหนามแหลม แผ่นใบหนาอวบน้ำมาก ข้างในเป็นวุ้นใส น้ำยางสีน้ำตาลอมเหลือง ดอกเป็นช่อแตกออกที่ปลายยอด โคนดอกย่อยเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบดอกแยกเป็น 6 แฉก สีส้มแกมเหลือง ผลเป็นผลแห้ง แตกได้

ส่วนที่ใช้เป็นยาและสรรพคุณ

  •  วุ้นจากใบ มีสรรพคุณใช้รักษาแผลน้ำร้อนลวก ผิวหนังอักเสบ บวม แมลงกัดต่อย เริม และฝี
  •  ยางจากใบและต้น มีสรรพคุณใช้รักษาอาการท้องผูก

สารสำคัญของว่านหางจระเข้

  • สารสำคัญที่ช่วยออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ aloctin A, veracylglucan B และ C และ bradykininase
  • สารสำคัญในการออกฤทธิ์สมานแผล คือ aloctin A และ aloctin B 
  • สารสำคัญออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร คือ traumatic acid
  • สารสำคัญออกฤทธิ์เพิ่มการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการท้องผูก คือ สารกลุ่ม anthraquinones 

ประโยชน์ทั่วไปของว่านหางจระเข้ 

  1. นำวุ้นของว่านหางจระเข้มาชโลมลงบนเส้นผม จะทำให้เส้นผมสลวย ดกดำและเงางามมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันปัญหาการเกิดรังแคบนหนังศีรษะ ช่วยบำรุงต่อมที่รากผมให้มีสุขภาพที่ดี และช่วยรักษาแผลที่เกิดจากการเกาบนหนังศีรษะได้อีกเช่นกัน 
  2.  มีผลการทดลองในการใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มารักษาผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับได้จนเห็นผล 
  3. มีส่วนช่วยในการลดหน้าท้องลายหลังคลอดบุตร โดยการใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มาทาในบริเวณท้องเป็นประจำ ทั้งในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด 
  4. การใช้วุ้นของว่านหางจระเข้มาทาในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเป็นประจำทุกวัน จะช่วยแก้เส้นเลือดขอดเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี 
  5. สามารถนำวุ้นของว่านหางจระเข้มาทำเป็นของหวานเพื่อสุขภาพได้ เช่น วุ้นว่านหางจระเข้ลอยแก้ว วุ้นว่างหางจระเข้แช่อิ่ม หรือจะนำวุ้นว่านหางจระเข้มาปั่นเป็นเครื่องดื่มสุขภาพก็ได้ 
  6. มีส่วนช่วยในการชะลอความแก่ชราได้ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ 
  7. เป็นสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโนหลากหลายชนิด รวมทั้งสารอาหารชนิดต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งยังให้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอีและโคลีน
  8. มีส่วนช่วยในการย่อยอาหาร รวมทั้งช่วยทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ เสมือนเป็นการดีท็อกซ์ล้างสารพิษที่อยู่ภายในร่างกายให้หมดไป แถมยังช่วยให้ระบบการทำงานของกระเพาะอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นมันยังช่วยลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ได้เป็นอย่างดี
  9. การนำวุ้นว่านหางจระเข้มาทาบริเวณผิวเป็นประจำทุกวัน จะเป็นการช่วยป้องกันอีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
  10. ใครที่ต้องการมีผิวพรรณที่เนียนนุ่มและแลดูชุ่มชื้นตลอดเวลา ควรใช้วุ้นว่านหางจระเข้มาพอกให้ทั่วบริเวณผิวประมาณ 15 นาที แล้วจึงค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาด นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยได้ด้วย

สรรพคุณทางยาของว่านหางจระเข้

  1. นำวุ้นว่านหางจระเข้มารักษาแผลสด แผลจากการโดนของมีคม และแผลที่ริมฝีปาก โดยนำวุ้นมาแปะตรงบริเวณแผลให้มิดชิด ตามด้วยการใช้ผ้ามาปิดทับไว้
  2. ช่วยรักษาแผลภายนอกได้ โดยเฉพาะถลอกและแผลไม่ติดเชื้อจะได้ผลการรักษาดี  
  3. นำเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้มาฝานบางๆ แล้วนำไปแปะไว้ที่แผลไฟไหม้ แผลจากการโดนน้ำร้อนลวก จะช่วยบรรเทาอาการปวดของแผลได้ ทั้งยังช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และยังช่วยในการดับพิษร้อน เพื่อบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนได้
  4. วุ้นว่านหางจระเข้ช่วยทำให้แผลเป็นจางได้เร็ว อีกทั้งยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลเป็นบนผิวได้ด้วย
  5. มีส่วนช่วยรักษาตาปลาและฮ่องกงฟุต โดยการใช้วุ้นจากใบว่านหางจระเข้มาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาปิดไว้ตรงบริเวณที่เป็น และควรหมั่นเปลี่ยนวุ้นว่านหางจระเข้บ่อยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  6. ช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ไม่ให้เกิดปัญหาผิวแห้งกร้าน
  7. ช่วยรักษาอาการผิวหนังไหม้จากแสงแดด ผิวหนังไหม้จากการฉายรังสี หรือจากการเป็นแผลเรื้อรังที่เกิดจากการฉายรังสีได้เช่นกัน
  8. รักษาฝ้าที่ใบหน้าให้จางลงได้
  9. วุ้นของว่านหางจระเข้ช่วยรักษาโรคสะเก็ดเงิน ซึ่งจะช่วยลดการตกสะเก็ดและลดอาการคันได้
  10. รับประทานเนื้อวุ้นว่านหางจระเข้ จะช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ ซึ่งสามารถนำวุ้นมาทำเป็นเครื่องดื่มด้วยการปั่นวุ้นก็ได้เช่นกัน
  11. วุ้นว่านหางจระเข้มีส่วนช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะในขณะที่ท้องว่าง และช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน
  12. เปลือกว่านหางจระเข้นั้นจะมีน้ำยางสีเหลือง ซึ่งในน้ำยางนั้นจะมีสารที่เรียกว่าสารแอนทราควิโนน ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ดังนั้นเมื่อนำน้ำยางไปเคี่ยวจนน้ำมันระเหยออกมา จากนั้นพักไว้ให้เย็น จะได้สารสีดำหรือที่เรียกว่า ยาดำ ซึ่งยาตัวนี้จะเป็นยาที่อยู่ในตำรับยาแผนโบราณที่ใช้เป็นยาระบายอยู่ในหลายตำรา

วิธีการใช้ว่านหางจระเข้ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข 

1.  รักษาอาการท้องผูก

วิธีทำ:   กรีดยางจากว่านหางจระเข้มาเคี่ยวให้งวด ทิ้งไว้ให้เย็นจะได้ก้อนสีดำ หรือเรียกว่า ยาดำ

วิธีรับประทาน:   ตักยาดำมาปลายช้อนชา เติมน้ำเดือด 1 ถ้วย คนให้ละลาย

ขนาดรับประทาน:   เด็กรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 ช้อนชา ก่อนนอน

2.  รักษาแผล

วิธีทำ:   นำใบสดมาปอกเอาแต่วุ้น แล้วนำวุ้นมาถูและปิดที่แผล ซึ่งเป็นแผลที่เกิดจากโดนความร้อน ควรรีบรักษาภายใน 24 ชั่วโมง เพราะจะทำให้การรักษาได้ผลดี

ข้อควรระวังในการใช้รักษาแผล ดังนี้

  • ระวังเรื่องการติดเชื้อ เพราะวุ้นว่านหางจระเข้ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ควรปลอกเปลือกแล้วล้างให้สะอาด
  • วุ้นว่านหางจระเข้มีความไม่คงตัว ถ้าปอกแล้วจะเก็บไว้ได้เพียง 6 ชั่วโมง
  • ระวังการปนเปื้อนของสาร anthraquinone จากยาง ซึ่งอาจทำให้แพ้ได้ จึงต้องล้างวุ้นให้สะอาดก่อนรับประทาน

3.  การใช้รักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบ แมลงกัดต่อย เริม

วิธีทำ:   ใช้น้ำคั้นจากวุ้นทา หรือใช้วุ้นมาพอกบริเวณที่อักเสบ ฟกช้ำ หรือมีอาการแพ้

หมายเหตุ : ก่อนเริ่มใช้ว่านหางจระเข้ทุกทั้ง ควรทดสอบก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าไม่รู้สึกคันหรือมีผื่นแดงก็สามารถใช้ได้ และยังไม่พบรายงานของผลข้างเคียงหลังใช้

ข้อควรระวังในการใช้ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ มีข้อควรระวังในการใช้ แม้จะเป็นพืชที่ไม่มีอันตราย ส่วนใหญ่นำมารับประทาน หรือใช้เป็นยารักษาแผลภายนอก รวมไปถึงการประทินผิว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อห้ามและข้อควรระมัดระวังที่ผู้ใช้ควรรู้ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยดังต่อไปนี้

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน 

ระวังการดื่มน้ำว่านหางจระเข้ที่มีส่วนประกอบของวุ้น เพราะจะกระตุ้นตับอ่อนให้มีการสร้างสารอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการใช้ยารักษาที่เป็นอินซูลินตามแพทย์สั่งอยู่แล้ว การดื่มน้ำว่านหางจระเข้เพิ่มเข้าไป เปรียบเสมือนกับเติมอินซูลินในร่างกายให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช็อกตามมาได้ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อน

2. ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบและโรคกระเพาะ 

กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเหล่านี้มาก่อนแล้ว การรับประทานวุ้นของว่านหางจระเข้จากต้นสด จำเป็นจะต้องพิถีพิถันในการทำความสะอาด เพื่อกำจัดเอายางสีเหลืองออกให้หมด ซึ่งวุ้นที่ล้างทำความสะอาดเป็นอย่างดีแล้ว จะไม่มีรสขมของยาง หากล้างทำความสะอาดไม่ดี รับประทานเอายางเข้าไปด้วย จะไปกระตุ้นให้เกิดการอักเสบรุนแรง บางรายมีอาการอาเจียนและท้องเสียอย่างหนัก

3. ผู้ป่วยโรคริดสีดวง หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร 

ห้ามรับประทานยางของว่านหางจระเข้ หรือยาดำ แม้จะมีสรรพคุณเป็นยาก็ตาม เพราะจะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น การตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งบุตร และอาจทำให้ลูกที่ดื่มนมแม่เกิดภาวะท้องเสียได้

สรุป ประโยชน์และสรรพคุณทางยาของว่านหางจระเข้มีมากมาย ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมปัจจุบันนี้จึงได้มีการนำเอาส่วนต่างๆ มาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและยารักษาโรคกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนผสมก็มักได้รับความนิยม และยังเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภคอีกด้วย

ดูแพ็กเกจทรีตเมนต์หน้ากระจ่างใส เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, ว่านหางจระเข้ (http://www.medplant.mahidol.ac... )
Wang H, Li F, Wang T; และคณะ (2004). "[Determination of aloin content in callus of Aloe vera var. chinensis]". Zhong yao cai = Zhongyaocai = Journal of Chinese medicinal materials (in Chinese). 27 (9): 627–8. PMID 15704580

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป