ตะไคร้

ตะไคร้ สมุนไพรพื้นบ้านที่มีประโยชน์มากมาย ผู้คนนิยมนำมาประกอบอาหารต่างๆ เช่น แกง หรือยำ และนำไปทำเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพอีกด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ตะไคร้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ตะไคร้ เป็นผักสวนครัวที่คนนิยมนำมาประกอบอาหาร เพราะมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ตะไคร้ยังสามารถนำมาทำเป็นยาได้ทั้งต้นอีกด้วย
  • ประโยชน์ของตะไคร้ เช่น ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ลดแก๊สในลำไส้ ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคมะเร็ง เพิ่มภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการคัดจมูก ต้านเชื้อรา กลาก และเกลื้อน
  • วิธีการใช้ตะไคร้รักษาอาการแน่นจุดเสียดตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ นำตะไคร้ 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย ติดต่อกัน 3 วัน
  • ผู้ที่ควรระมัดระวังในการรับประทานตะไคร้ ได้แก่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคต้อหิน และผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ
  • นอกจากตะไคร้แล้ว ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ตะไคร้ ผักสวนครัวที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป หรือจะปลูกเองก็ทำได้ไม่ยาก คนทั่วไปมักใช้ตะไคร้ในการทำอาหารเป็นเครื่องแกงต่างๆ เพราะให้กลิ่นหอมช่วยกลบกลิ่นคาวได้ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ตะไคร้ยังเป็นสมุนไพรที่ให้สรรพคุณทางยาทั้งต้น มีสารสำคัญ และน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ข้อมูลสมุนไพร

  • ชื่อ ตะไคร้ 
  • ชื่อสามัญ Lemongrass หรือ Lapine
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Cymbopogon citratus, Stapf
  • ชื่อวงศ์ GRAMINEAE (POACEAE)
  • ชื่อท้องถิ่น จะไคร (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน) เชิดเกรบ เหลอะเกรย (เขมร – สุรินทร์) ห่อวอตะโป๋ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) หัวสิงไค (เขมร – ปราจีนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ตะไคร้มีลักษณะเป็นกอคล้ายพืชตระกูลหญ้า ใบเป็นรูปหอก (lanceolate) ปลายและโคนใบสอบเรียว ผิวใบเกลี้ยงนวล สีเขียว ขอบใบสากมือ กาบใบอัดตัวแน่น เป็นก้านตรงเรียวยาวคล้ายลำต้น แต่ลำต้นที่แท้จริงอยู่ใต้ดินเป็นแบบเหง้า (rhizome) สามารถนำมาใช้เป็นยาได้ทั้งต้น

สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ 

น้ำมันหอมระเหยของตะไคร้ มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ คือ Menthol, Cineole, Camphor และ Linalool ช่วยลดอาการแน่นจุกเสียด และขับลมได้ 

นอกจากนี้มี Citral, Citronellol, Geraneol และ Cineole มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย E. coli

รสและสรรพคุณยาไทย  

  • ราก รสจืด แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ขัดเบา
  • โคนกาบใบและลำต้น ทั้งสดและแห้ง รสร้อน ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด

คุณค่าทางโภชนาการของตะไคร้

ตะไคร้ส่วนที่กินได้ 100 กรัม มีพลังงาน 126 กิโลแคลลอรี่ โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 2.1 กรัม คาร์โบไฮเดรต 25.5 กรัม แคลเซี่ยนม 35 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 2.6 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.05 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.02 มิลลิกรัม ไนอะซิน 2.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 1 มิลลิกรัม 

ประโยชน์ของตะไคร้

ตะไคร้เป็นพืชอันทรงคุณค่า เพราะนอกจากนำมาเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคได้อีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของตะไคร้ก็มีด้วยกันดังนี้

  • ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น สารเคมีที่อยู่ในตะไคร้จะช่วยขับปัสสาวะ ขับสารพิษ และกรดยูริกที่มีอยู่ในปัสสาวะออกจากร่างกาย

  • ลดแก๊สในลำไส้ หากนำมาชงเป็นชาดื่มระหว่างวัน จะช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร ลดอาการท้องอืด ช่วยย่อยอาหารได้ดี

    เนื่องจากน้ำมันหอมจากตะไคร้มีสารออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยลดการจุกเสียด ช่วยขับลม และยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดท้องเสียได้อีกด้วย

  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล ตะไคร้สามารถนำมาใช้รักษาระดับคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการสะสมไขมันในเส้นเลือด และทำให้เลือดสามารถไหลเวียนได้สะดวกขึ้น

  • ป้องกันโรคมะเร็ง ตะไคร้เป็นตัวช่วยสำคัญในเรื่องการช่วยรักษาเซลล์มะเร็ง แต่ในการรักษาจะไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติ โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนัง

    มีงานวิจัยพบว่า ตะไคร้ยังสามารถป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากได้

  • รักษาความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ สามารถบรรเทาลงได้ด้วยน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ ซึ่งจะมีกลิ่นไอเย็นๆ ออกมา โดยในน้ำมันหอมระเหยจะมีส่วนประกอบของวิตามินซีที่จะช่วยลดการอุดตันในทางเดินหายใจได้ดีนั่นเอง

  • ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ตะไคร้จะช่วยในเรื่องของการดูแลระบบภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญยังสามารถทำให้ลำไส้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้กลไกการสร้างภูมิต้านทานแข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

  • ต่อต้านเชื้อรา กลาก และเกลื้อน ตะไคร้มีสาร citral และ myrcene ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราได้ จึงสามารถนำตะไคร้ไปสกัดเป็นครีมรักษาอาการผิวหนังดังกล่าว

  • ลดอาการอักเสบ และอาการปวด น้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ช่วยลดอาการปวด และการอักเสบได้

ไอเดียการใช้ตะไคร้เพื่อสุขภาพ

เราสามารถนำประโยชน์ของตะไคร้มาใช้เพื่อบำบัดอาการทางร่างกายได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้บำบัดอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ซ่อมแซมระบบประสาท หากนำตะไคร้มาทำเป็นน้ำมันหอมระเหยโดยผสมกับน้ำมัน Carrier oil แล้วนำมาใช้ทาลงบนผิว จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลาย หายจากการเป็นตะคริว

  • ช่วยรักษาอาการอักเสบ โดยการนำน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ทาบริเวณที่เกิดอาการปวด คุณสมบัติของตะไคร้จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาอาการอักเสบจากอาการปวดต่างๆ ได้ เช่น ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ นับเป็นประโยชน์ของตะไคร้อีกข้อที่ไม่ควรมองข้าม

  • แก้อาเจียน ให้นำตะไคร้มาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำมาดื่ม น้ำตะไคร้จะช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ลดอาการเมา และช่วยแก้อาการอาเจียนลงได้

    นอกจากนี้ยังเป็นน้ำสมุนไพรที่ช่วยดับร้อน แก้กระหายน้ำได้ดี โดยอาจแปรรูปให้น่ารับประทานหรือรับประทานได้ง่ายมากขึ้น เช่น การนำไปอบแห้งเพื่อใช้เป็นเครื่องดื่ม ชงดื่มต่างน้ำชา

  • ไล่ยุงและแมลง ตะไคร้ที่ใช้ไล่แมลง คือ ตะไคร้หอม ซึ่งเป็นคนละต้นกับตะไคร้ที่ใช้ทำอาหาร จะมีกลิ่นหอมไปทั้งต้น เป็นกลิ่นที่ยุงและแมลงไม่ชอบ ดังนั้น จึงสามารถนำมาไล่ยุงและแมลงได้อย่างเห็นผล

    นอกจากนี้ ตะไคร้ยังมีฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำได้ดี หากนำไปปลูกรวมกับพืชชนิดอื่นจะสามารถไล่แมลงได้ ไม่เพียงเท่านั้น การนำน้ำตะไคร้มาผสมกับน้ำสะเดา แล้วนำไปฉีดพ่นพืชผักก็จะสามารถไล่แมลงที่จะมาทำลายพืชพรรณ หรือต้นไม้ได้เช่นเดียวกัน

  • แก้ปัสสาวะขัด ใช้หัวตะไคร้ 3-5 หัว คั่วไฟให้เหลือง จากนั้นใส่น้ำร้อนเหมือนชงชา รับประทานเป็นยาแก้ปัสสาวะขัด

ไอเดียการรับประทานตะไคร้เพื่อสุขภาพ

ตะไคร้เป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้นตั้งแต่ราก ใบ ต้น ดอก มีประโยชน์ในด้านสรรพคุณทางยาหลายด้าน ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นทั้งเมนูรับประทานก็ได้ ครบทั้งอรรถรสความหอมอร่อย ขณะเดียวกัน กลิ่นของตะไคร้ยังทำให้สดชื่นขึ้นอีกด้วย ไปดูไอเดียการรับประทานตะไคร้เพื่อสุขภาพดังนี้เลย

  • ชาตะไคร้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็ง เริ่มจากนำตะไคร้และใบเตยมาล้างให้สะอาด หลังจากนั้นนำทั้งหมดลงใส่หม้อต้มจนเดือดซึ่งสามารถเติมน้ำตาลลงไปได้ หรี่ไฟลง และต้มต่ออีก 15 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาดื่มเป็นชาตะไคร้เพื่อสุขภาพได้

  • น้ำตะไคร้แอปเปิ้ลเขียว เป็นเครื่องดื่มแก้อาการปวดตามข้อต่างๆ เริ่มจากต้มน้ำเปล่าพร้อมผสมเกลือ ทุบปลายโคนตะไคร้ให้แตก และหั่นแอปเปิ้ลเป็นซีก เมื่อน้ำเดือดจึงใส่ลงไปพร้อมกัน ต้มจนเดือดอีกรอบ สามารถใส่น้ำผึ้งเพื่อเพิ่มรสชาติได้

  • เมี่ยงข่า เครื่องเคียงคล้ายคลึงกับน้ำพริก โดยโขลกข่า ตะไคร้ พริกแห้ง ใบมะกรูด หอมแดง เมื่อโขลกจนเข้ากันก็ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำมะขามเปียก น้ำตาล ผงชูรส คลุกจนเข้ากัน ก็สามารถนำมารับประทานกับข้าวสวย หรือข้าวเหนียวได้เลย

  • ไก่คั่วตะไคร้ เริ่มจากการโขลกรากผักชี พริกไทย ตะไคร้ กระเทียม หลังจากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำมัน เมื่อร้อนแล้วจึงใส่ตะไคร้ซอยลงไปคั่วจนมีสีเหลืองกรอบแล้วจึงตักขึ้น นำไก่ลงไปผัด ปรุงรสโดยใส่น้ำตาลทราย และสมุนไพรที่โขลกเตรียมเอาไว้ ผัดจนมีกลิ่นหอม ตักใส่จาน โรยด้วยตะไคร้ที่นำลงไปทอดตอนแรก

  • ดับกลิ่นคาวปลาและเนื้อสัตว์ ด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อนำไปประกอบอาหารจำพวกเนื้อปลาก็จะช่วยลดกลิ่นคาวปลาได้เป็นอย่างดี เช่น เมนูปลานึ่ง ปลาต้ม ดับกลิ่นคาวในเนื้อสัตว์อื่นๆ เพิ่มความหอมให้เมนูจานนั้น และยังช่วยกระตุ้นร่างกายให้เจริญอาหารมากขึ้น

วิธีการใช้ตะไคร้รักษาอาการแน่นจุกเสียด

ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข

  • นำตะไคร้ทั้งต้นรวมรากจำนวน 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ เติมน้ำต้ม 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ติดต่อกัน 3 วัน อาการปวดท้องจะดีขึ้น
  • นำลำต้นแก่สดๆ ทุบพอแหลกประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม 

ข้อควรระวังในการใช้ตะไคร้

ถึงแม้ประโยชน์ของตะไคร้จะมีมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเสียเช่นกัน ดังนั้น ก่อนรับประทานตะไคร้จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังของตะไคร้ให้ดีก่อน โดยมีข้อควรระวังของการนำตะไคร้มารับประทานและใช้ประโยชน์ดังนี้

  • ทำให้เสี่ยงแท้งได้ เพราะตะไคร้มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบบีบตัว และมีผลต่อระบบไหลเวียนเลือด

    ดังนั้น คนที่กำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะไคร้ เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัวอย่างรุนแรงจนเสี่ยงต่อการแท้งได้ในที่สุด โดยเฉพาะในคนที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ และท้องแก่ใกล้คลอด

    นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ก็ไม่ควรใช้เช่นกัน

  • อันตรายกับผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิด ควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน (glaucoma) เพราะทำให้ความดันในลูกตาเพิ่มขึ้น ในผู้ที่ป่วยด้วยโรคประจำตัวบางชนิดก็อาจเป็นอันตรายจากการรับประทานตะไคร้ได้เช่นกัน

    ดังนั้น คนที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังป่วย ควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนว่าสามารถรับประทานตะไคร้ได้หรือไม่ จะได้ไม่เกิดอันตรายจากการรับประทานตะไคร้โดยไม่รู้นั่นเอง

  • หญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทาน ความจริงแล้วยังไม่มีการวิจัยที่แน่ชัดว่าการรับประทานตะไคร้ในหญิงที่ให้นมบุตรจะก่อให้เกิดผลเสียใดๆ หรือไม่

    ดังนั้น แพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานตะไคร้ในระหว่างที่กำลังให้นมบุตร ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวคุณแม่เองและทารกที่จะได้รับสารอาหารต่างๆ ผ่านทางน้ำนมแม่ด้วย

ตะไคร้เป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ใส่คู่กับเมนูอาหารจานไหนก็ยิ่งทำให้เมนูนั้นทวีความอร่อยมากขึ้น และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย 

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า การรับประทานตะไคร้ก็มีข้อควรระวังเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายจากการรับประทานตะไคร้ 

เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะไคร้ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูก หรือผู้ป่วยด้วยโรคบางชนิด หากต้องการรับประทานจริงๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
BagoraBaya, laImaël H.N.Bassole, Salwan Maqdasy, Silvère Baron, Jacques Simpore, Jean-Marc A.Lobaccaro. Cymbopogon citratus and Cymbopogon giganteusessential oils have cytotoxic effects on tumor cell cultures. Identification of citral as a new putative anti-proliferative molecule. (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0300908418300567?via%3Dihub)
Orata iNeamsuvan, Panadda Komonhiran, Kamonvadee Boonming. Medicinal plants used for hypertension treatment by folk healers in Songkhla province, Thailand. (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0378874117329379)
O.A.LawalA.L.OgundajoN.O.AvosehI.A.Ogunwande. Chapter 18 - Cymbopogon citratus. (https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/B9780128092866000182)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
กระวาน
กระวาน

สรรพคุณของกระวานมีอะไรบ้าง? มีวิธีใช้ที่ถูกต้องอย่างไร?

อ่านเพิ่ม
ตะไคร้ ข้อมูล สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีการบริโภคเพื่อสุขภาพ
ตะไคร้ ข้อมูล สรรพคุณ ประโยชน์ และวิธีการบริโภคเพื่อสุขภาพ

แนะนำประโยชน์ของตะไคร์ และแนวทางการกินการใช้ตะไคร้เพื่อสุขภาพ

อ่านเพิ่ม