รู้หรือไม่ การกินยาปฏิชีวนะได้ผลสูงถึง 85-100 เปอร์เซ็นต์ ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยอาจจะเป็นรูปแบบของยาเม็ดที่ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3-7 วันผล การรักษาของยาปฏิชีวนะแบบเม็ดที่อ้างอิงจากการศึกษาพบว่าสามารถรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ผลดีถึง 85-100 เปอร์เซ็นต์
ถ้าคุณเคยได้รับการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมาแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้เปลี่ยนยาปฏิชีวนะเป็นตัวอื่นที่แตกต่างจากตัวแรกสำหรับการรักษาอาการติดเชื้อในครั้งต่อไป เนื่องจากแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนั้น อาจดื้อต่อยาปฏิชีวนะบางชนิดได้ เมื่อเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะตัวใหม่ อัตราการดื้อยาก็จะลดลง
ยาปฏิชีวนะสำหรับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ปัจจุบันมียาปฏิชีวนะหลายชนิด ที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ถ้าคุณเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ลุกลามไปถึงการติดเชื้อที่ไต แพทย์อาจจะสั่งยาในกลุ่มต่อไปนี้
- Macrobid (nitrofurantoin monohydrate) – แมคโครบิด (ไนโตรฟูแรนโตอิน โมโนไฮเดรต)
- Bactrim (trimethoprim and sulfamethoxazole) – แบคทริม (ไตรเมโทพริม และ ซัลฟาเมททอคซาโซล)
- Selexid (pivmecillinam) – ซีเล็กส์สิด (พิฟเมคซิลลินัม)
- Monurol (fosfomycin tromethamine) – โมนูรอล (โฟสโฟมัยซิน โทรเมททามีน)
- Cipro (ciprofloxacin) – ซิโปร (ซิโปรฟลอกซาซิน)
- Levaquin (levofloxacin) – ลีวาควิน (ลีโวฟล็อกซาซิน)
- Augmentin (amoxicillin and clavulanate) – อ็อกเมนติน (แอมอกซี่ซิลิน และ คลาวูลาเนต)
การที่แพทย์จะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ยากลุ่มไหน สามารถพิจารณาได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
- มีการติดเชื้อลามไปถึงไตหรือไม่
- ไตของคุณมีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่
- คุณสามารถกินยาหลาย ๆ เม็ดต่อวันได้หรือไม่
- ประวัติการแพ้ยา
- ผลการเพาะเชื้อปัสสาวะ (หากมีการตรวจและพบว่ามีการติดเชื้อ)
หากมีการติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง จนทำให้การติดเชื้อไปสู่ไต คุณอาจต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลาหลายวัน
ถ้าคุณได้รับยาปฏิชีวนะในระยะเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็วหลังมีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ จะสามารถบรรเทาอาการได้ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งถ้าได้รับการรักษาช้า จะทำให้มีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะนานขึ้นกว่าเดิม
ยาอื่น ๆ สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
ในบางครั้งแพทย์อาจสั่งยา Pyridium (phenazopyridine) หรือไพรีเดียม เป็นยาเสริมจากยาปฏิชีวนะ ซึ่งยาชนิดนี้สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อใช้ลดอาการปวดบริเวณทางเดินปัสสาวะ
การกินไพรีเดียม 3 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 2 วัน อาจช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะแสบขัดในช่วงเริ่มต้น จนกว่ายาปฏิชีวนะจะออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ
การรักษาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นซ้ำ
ในบางคนอาจเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะในผู้หญิง ซึ่งอาการดังกล่าวหมายความว่ามีการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งใน 6 เดือน หรือมากกว่า 3 ครั้งใน 1 ปี
การลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อซ้ำ สามารถทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น การฝึกการรักษาความสะอาด โดยเช็ดทำความสะอาดหลังปัสสาวะหรืออุจจาระจากหน้าไปหลัง และการหลีกเลี่ยงการใช้สารทำลายเชื้ออสุจิ
การติดเชื้อ ESBL (อี เอส บี แอล)
การติดเชื้ออีกชนิดหนึ่งในทางเดินปัสสาวะที่รักษายากและเป็นที่สนใจของแพทย์ ก็คือการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Extended-Spectrum Beta-Lactamase (ESBL)-Producing organism (กลุ่มเชื้อโรคที่สร้างเบตาแลคแทมเมส) ซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะทั่วไปหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ จะรักษาด้วยยา Doribax (doripenem) หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นในกลุ่ม Cabapenem
น้ำแครนเบอร์รี่กับโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
มีความเชื่อกันว่า น้ำแครนเบอร์รี่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน หรือ เครื่องดื่มคอคเทล มีส่วนผสมที่ช่วยลดการยึดเกาะของแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้แบคทีเรียถูกกำจัดได้ง่ายขึ้น ซึ่งแม้ว่าน้ำแครนเบอร์รี่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ว่ามีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ดีจริงหรือไม่ แต่การดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโทษอะไร ดังนั้น ถ้าคุณเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำหลายครั้ง แพทย์อาจพิจารณาแนะนำคุณให้ดื่มน้ำแครนเบอร์รี่ก็ได้