กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาเลื่อนประจำเดือน

วิธีการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนและการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 30 ธ.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 3 พ.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
ยาเลื่อนประจำเดือน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาเลื่อนประจำเดือน คือ ยาคุมกำเนิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อเลื่อนช่วงเวลามีประจำเดือนออกไป ผ่านการกำหนดช่วงเวลาที่จะรับประทานยาใหม่
  • วิธีรับประทานยาคุมกำเนิดมี 2 แบบ ได้แก่ แบบสำหรับผู้ที่ไม่เคยรับประทานยาคุมกำเนิด และแบบสำหรับผู้ที่เคยรับประทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว ซึ่งวิธีรับประทานก็จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวผู้ใช้ยา รวมถึงระยะเวลาที่ต้องการเลื่อนประจำเดือนออกไป
  • หลักสำคัญสำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว และต้องการเพิ่มยาเพื่อเลื่อนประจำเดือนออกไป คือ ให้รับประทานยาคุมกำเนิดในส่วนของตัวเม็ดยาทันทีโดยไม่ต้องรับประทานยาเม็ดแป้ง หลังจากรับประทานยาคุมกำเนิดแผงแรกหมดแล้ว
  • คุณสามารถเลื่อนประจำเดือนให้มาเร็วขึ้นได้ แต่คุณจะต้องยุ่งยากเกี่ยวกับการกำหนดเวลารับประทานยา มากกว่าการเลื่อนประจำเดือนออกไป
  • วิธีรับประทานยาคุมกำเนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์จึงจะปลอดภัยที่สุด เพราะการรับประทานยาคุมกำเนิดมากเกินไป จะเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ตรวจภายใน มะเร็งปากมดลูก และรังไข่ได้ที่นี่)

ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบไม่ถาวรที่ได้รับความนิยม เนื่องจากราคาไม่แพง หาซื้อได้สะดวก ใช้ง่าย และมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การคุมกำเนิด หรือต้านสิวเท่านั้น  ยังสามารถนำมาใช้กับอาการปวดประจำเดือน ภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น ปวดศีรษะ หงุดหงิดง่าย คัดตึงเต้านม 

ซึ่งแต่ละข้อบ่งใช้ จะมีชนิด ขนาด และระยะเวลาการใช้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งสูตินรีแพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ ยาเม็ดคุมกำเนิดยังสามารถนำมาใช้เป็นยาเลื่อนประจำเดือนได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การเลือกใช้ยาเลื่อนประจำเดือน 

สำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้ยาคุมกำเนิด

  • วิธีที่ 1

    สำหรับผู้ที่เคยใช้ยาเลื่อนประจำเดือน อาจคุ้นเคยกับยาที่มีชื่อการค้าว่า Primolut-N ซึ่งก็คือตัวยา Norethisterone (มีจำหน่ายในชื่อการค้าอื่นๆ เช่น Steron, Norterone, Sunolut เป็นต้น) 

    วิธีการรับประทานยาในกรณีนี้คือ รับประทาน 1 เม็ด วันละ 2 - 3 ครั้ง (พิจารณาตามน้ำหนัก) โดยจะเริ่มใช้ยาก่อนวันที่จะคาดว่าจะมีประจำเดือนมาเป็นวันแรกอย่างน้อย 3 วัน และรับประทานต่อไปเรื่อยๆ หากต้องการให้ประจำเดือนมาให้หยุดรับประทานยา แต่ไม่ควรใช้ยาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 - 14 วัน และผู้ใช้ยาจะมีประจำเดือนหลังจากหยุดยาแล้วประมาณ 2 - 3 วัน

  • วิธีที่ 2

    ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้นานเกิน 10 - 14 วัน ก็สามารถเลือกใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (มี 21 - 28 เม็ดในแต่ละแผง) แต่ต้องรับประทานวันละ 1 เม็ดก่อนที่ประจำเดือนจะมาอย่างน้อย 7 วัน หรือเพิ่มขนาดเป็นวันละ 2 เม็ด (แบ่งรับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้น) 

    กรณีที่เหลือเวลาน้อยกว่า 7 วันที่คาดว่าประจำเดือนจะมา และเมื่อหยุดใช้ยา ก็จะมีเลือดประจำเดือนมาหลังหยุดยา 2  -3 วันเช่นกันกับการใช้ Primolut N

    ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีจำนวน 28 เม็ด จะประกอบด้วยเม็ดยาจำนวน 21 - 24 เม็ด (แล้วแต่ละยี่ห้อ) และเม็ดที่เหลือเป็นเม็ดแป้งหรือแป้งผสมยาบำรุงเลือด ซึ่งให้รับประทานเม็ดที่เป็นตัวยา  ถ้าไม่มั่นใจว่าอันไหนเม็ดยา อันไหนเม็ดแป้ง สามารถปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยาได้ 

สำหรับผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้ว

ให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ต่อทันทีเมื่อรับประทานตัวยาในแผงแรกหมดแล้ว ย้ำว่าตัวยา ไม่ต้องรับประทานเม็ดแป้ง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มี 21 - 22 เม็ด (ต่างกันไปตามชื่อการค้า)
    ปกติเมื่อใช้หมดแผงแล้วก็ต้องเว้น 7 วัน (กรณี 21 เม็ด) หรือ 6 วัน (กรณี 22 เม็ด) ก่อนเริ่มรับประทานแผงใหม่ แต่หากต้องการเลื่อนประจำเดือน ก็ไม่ต้องเว้นวัน เมื่อหมดยาแผงเดิมแล้วก็ต่อแผงใหม่ได้เลย และใช้ต่อไปเรื่อยๆ ตามปกติจนหมดแผงใหม่นั้น ประจำเดือนก็จะมาในช่วงที่เว้นวันรับประทานยาคุมรอบใหม่แทน
  • สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มี 28 เม็ด 
    ส่วนมากจะมีเม็ดยา 21 เม็ด + เม็ดแป้ง 7 เม็ด แต่บางชื่อการค้าจะมีเม็ดยา 24 เม็ด + เม็ดแป้ง 4 เม็ด ให้รับประทานเฉพาะเม็ดยาในแผงไปจนหมด แล้วต่อแผงใหม่ทันทีโดยไม่ต้องรับประทานเม็ดแป้งในแผงเดิม จากนั้นก็ใช้ไปเรื่อยๆ จนหมดแผง แล้วประจำเดือนก็จะมาในช่วงวันที่ใช้เม็ดแป้งของแผงใหม่นั่นเอง

หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรได้ เพื่อจะได้รายละเอียดที่ชัดเจน หรือถ้าต้องการอ่านเพิ่มเติมเรื่องการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนที่ละเอียดและมีภาพประกอบที่ช่วยให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น คลิก 

ถ้าไม่อยากเลื่อนประจำเดือนออกไป แต่อยากเร่งให้มาเร็วขึ้น ทำได้ไหม? 

มีหลายคนสงสัยว่า เราสามารถเร่งประจำเดือนให้มาเร็วขึ้นได้ไหม เพราะเมื่อประจำเดือนมาก่อนวันที่ต้องการหลีกเลี่ยงแล้ว ก็จะได้สบายใจ สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ โดยไม่ต้องรับประทานยาไปตลอดทริปท่องเที่ยว และไม่ต้องวิตกกังวลว่าหากลืมรับประทานยา ซึ่งการเลื่อนประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ยุ่งยากกว่าการเลื่อนออกไป เพราะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้านาน 1-2 เดือน (หรืออย่างน้อยก็ 2-3 สัปดาห์)  โดยทำในลักษณะของการปรับเปลี่ยนรอบประจำเดือน

ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด ที่มีประจำเดือนมาในช่วงกลางเดือน หากต้องการเลื่อนให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้นในเดือนเมษายน ก็ควรวางแผนล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม  

ดังนั้นเมื่อใช้ยาคุมหมดแผง (คาดว่าประจำเดือนจะมาประมาณกลางเดือน ยาคุมก็น่าจะหมดก่อนวันที่ 15) ซึ่งพอยาหมดแผงก็ให้ต่ออีกแผงทันที เช่นเดียวกับกรณีเลื่อนประจำเดือน แล้วรับประทานต่อจนถึงวันที่ต้องการให้ประจำเดือนมา

เช่น หากต้องการให้มาช่วงสิ้นเดือนแทนช่วงกลางเดือน ก็รับประทานไปจนใกล้สิ้นเดือนมีนาคมแล้วค่อยหยุดยา ประจำเดือนก็จะมาหลังหยุดยาประมาณ 2-3 วัน แล้วพอหยุดยาครบ 7 วัน ก็ให้เริ่มใช้ยาคุมแผงใหม่ 

ดังนั้น ช่วงกลางเดือนเมษายนก็จะยังเป็นช่วงที่เรารับประทานยาคุมกำเนิดแผงล่าสุดอยู่และจะไม่มีประจำเดือนมาในช่วงนี้นั่นเอง และหลังจากนี้ ประจำเดือนที่เคยมาในช่วงกลางเดือนก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นช่วงปลายเดือนไปเรื่อยๆ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จากกรณีที่ยกตัวอย่างคือ ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ดมาเป็นประจำอยู่แล้ว ช่องที่เป็นสีขาวคือวันที่มีการรับประทานยา ช่องที่เป็นสีเขียว คือวันที่เว้นว่างการกินยา ซึ่งประจำเดือนก็จะมาในช่วงเวลานี้นั่นเอง (ตัวเลขที่เห็นเป็นวันที่ตามปฏิทิน ไม่ใช่ลำดับของเม็ดยาที่รับประทาน)

ยาเลื่อนประจำเดือน


จากภาพจะเห็นได้ว่า เดิมนั้น หลังจากช่วงเว้นว่าง 7 วันที่ไม่ต้องรับประทานยา ตั้งแต่วันที่ 15 – 21 กุมภาพันธ์ ผู้ใช้จะต้องเริ่มรับประทานยาคุมแผงใหม่ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และเมื่อรับประทานไปเรื่อยๆ ตามวิธีใช้ปกติ (คือรับประทานยา 21 วันและเว้นว่าง 7 วัน) 

หากวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้ว ต้องการให้ประจำเดือนเลื่อนในช่วงสงกรานต์ โดยคิดไว้ก่อนวันที่ 15 มีนาคม แทนที่จะเว้นว่างการรับประทานยา 7 วันในวันที่ 15 – 21 มีนาคม ก็ให้รับประทานแผงใหม่ต่อไปเลย 

สมมติว่าต้องการให้ประจำเดือนมาช่วงสิ้นเดือน ก็อาจรับประทานต่อจนถึง 28 มีนาคมแล้วค่อยหยุดยา (แล้วยาที่เหลือในแผงก็ทิ้งได้เลย จะได้ไม่งงกันทีหลัง) ดูรูปภาพด้านล่างตามได้

ยาเลื่อนประจำเดือน


เมื่อเราเลื่อนรอบเดือนให้มาเร็วขึ้น รอบประจำเดือนก็จะถูกปรับเปลี่ยนไป โดยมีประจำเดือนมาในช่วง 29 มีนาคม – 4 เมษายน ซึ่งพอเว้นว่างครบ 7 วัน ก็ให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ล่าสุด (ไม่ใช่แผงที่ทิ้งไปแล้ว) ต่อไป ประจำเดือนก็จะมาอีกทีในช่วงปลายเดือนเมษายน 

แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดอยู่ ก็สามารถเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อปรับเปลี่ยนรอบประจำเดือนในลักษณะข้างต้นเช่นเดียวกัน หรือจะใช้เป็นตัวยา Norethisterone เหมือนการเลื่อนประจำเดือนก็ได้ 

โดยรับประทาน Norethisterone ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งประจำเดือนก็จะมาใน 2 - 3 วันหลังหยุดยา แต่จะให้ได้ผลดี ต้องเริ่มใช้ก่อนวันไข่ตก มิฉะนั้น หลังหยุดยาและมีประจำเดือน (ที่ถูกเร่ง) มาแล้ว หลายวันหลังจากนั้นก็อาจมีประจำเดือนแถมมาอีกรอบได้ เนื่องจากการเลื่อนประจำเดือนออกไปจะสะดวกและให้ผลที่แน่นอนมากกว่า การเร่งประจำเดือนเข้ามาจึงไม่เป็นที่นิยมใช้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มาซื้อ "ยาเร่งประจำเดือน" ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ใช่ผู้ที่ต้องการให้ประจำเดือนมาก่อนกำหนด แต่เป็นผู้ที่ "ถึงกำหนดแล้วประจำเดือนยังไม่มา" จึงต้องการ เรียก หรือ เร่งประจำเดือนให้มามากกว่า

ซึ่งก็พบได้ทั้งกับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออยู่เรื่อยๆ หรือจู่ๆ ประจำเดือนก็ขาดหายไปหลายเดือนโดยที่ไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์ ในกรณีนี้แนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์ดีกว่า จะได้หาสาเหตุที่แท้จริงและแก้ไขอย่างเหมาะสมต่อไป

และก็พบได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะตั้งครรภ์ทั้งที่ยังไม่พร้อม ยิ่งเห็นว่าประจำเดือนไม่มาตามกำหนดก็ยิ่งวิตกกังวล จึงต้องการใช้ยาเพื่อเร่งให้ประจำเดือนมา เพราะคิดว่า ถ้าประจำเดือนมา…ก็คือไม่ท้อง หรือ ถ้าท้องไปแล้ว…ก็จะได้แท้ง

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ยาเลื่อนประจำเดือนไม่ใช่ยาป้องกันการท้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องตามวิธีการคุมกำเนิด และข้อสำคัญที่อยากให้ทราบกันมากๆ (เพราะเจอว่ามีคนที่เข้าใจผิดๆอยู่มาก)  คือ ยาเลื่อนประจำเดือนไม่ใช่ยาทำแท้ง

คำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาเลื่อนประจำเดือน และการใช้ยาเลื่อนประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น

1. แฟนจะกลับมาจากต่างประเทศประมาณวันที่ 23 พฤษภาคม ตอนนี้เรารับประทานยาคุม 28 เม็ดอยู่ แต่เพิ่งกินได้ 11 เม็ดค่ะ ถ้ากินหมดเม็ดที่ 21 ประจำเดือนจะมาช่วงแฟนกลับมาพอดี เราอยากให้ประจำเดือนมาก่อนได้ไหมคะ ต้องทำยังไงบ้าง?

คำตอบ 1 : ในกรณีนี้ หากยี่ห้อยาคุมที่ใช้อยู่ ไม่ใช่ “ไตรควิล่าร์ อีดี” และ “ออยเลซ” เมื่อรับประทานยาเม็ดที่เป็นฮอร์โมนหมด วันต่อไปให้ต่อแผงใหม่ได้เลย โดยไม่ต้องรับประทานเม็ดยาหลอกค่ะ (ให้สังเกตว่า สี หรือขนาดของเม็ดยาฮอร์โมนจะต่างจากเม็ดยาหลอก) ส่วนแผงเก่าที่มีเม็ดยาหลอกเหลืออยู่ก็ให้ทิ้งไป

เมื่อทำเช่นนี้ เลือดประจำเดือนที่ควรจะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอกก็จะยังไม่ออกมาค่ะ จากนั้น ก็รับประทานยาคุมแผงใหม่นี้ไปเรื่อยๆ ตามปกติจนหมดแผง ประจำเดือนก็จะค่อยมาช่วงที่ใช้เม็ดยาหลอกของแผงใหม่นั่นเองค่ะ

คำตอบ 2 : ไม่ทราบว่าใช้ยาคุมกำเนิดอะไรอยู่มั้ยคะ เช่นหากรับประทานยาคุมกำเนิดยี่ห้อใดๆ อยู่ก็ตาม ไม่ต้องรับประทานเม็ดยาหลอก (เม็ดแป้ง) หรือเว้นช่วงปลอดฮอร์โมน แต่ให้ต่อแผงใหม่ไปเลยค่ะ แค่นี้ประจำเดือนก็จะไม่มา ตราบใดที่เรายังรับประทานเม็ดยาคุมกำเนิดที่เป็นตัวยาฮอร์โมนอยู่ค่ะ

กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ Norethisterone ซ้ำอีกเพื่อเลื่อนประจำเดือน แต่หากไม่ได้ใช้ยาคุมกำเนิดใดๆ อยู่ การใช้ Norethisterone เลื่อนประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น จะได้ผลดีเมื่อใช้ก่อนวันตกไข่ มิฉะนั้นประจำเดือนในรอบนี้อาจมาซ้ำสองรอบนะคะ

พิจารณาข้อมูลรอบประจำเดือน(ซึ่งแจ้งไว้แค่ 1 รอบเดือน) เกรงว่าจะมีการตกไข่ไปแล้วค่ะ แม้ว่าประจำเดือนอาจถูกเร่งให้มาก่อนวันเดินทางได้ แต่ไม่แน่ว่าช่วงที่กำลังท่องเที่ยวอยู่ อาจมีประจำเดือนมาอีกรอบนะคะ

ในกรณีนี้ ใช้ยาเลื่อนประจำเดือนให้ช้าออกไปจะแน่นอนกว่าการเร่งให้มาเร็วขึ้นค่ะ ซึ่งมีทางเลือกให้ใช้ทั้งการรับประทาน Norethisterone หรือคุณจะใช้เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดก็ได้ 

สำหรับความเหมาะสมว่า คุณควรจะเลือกใช้ทางใด และควรเริ่มใช้เมื่อไร คุณต้องพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระยะเวลาที่ต้องการใช้ ความสม่ำเสมอของรอบประจำเดือน และข้อจำกัดในการใช้ยาค่ะ จึงต้องมีการซักถามข้อมูลเพิ่มเติมอีก

ดังนั้น แนะนำให้คุณ ไปร้านยาใกล้บ้าน แล้วปรึกษากับเภสัชกรประจำร้านนะคะ จะได้ทราบทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และสามารถซื้อยาเลื่อนประจำเดือนจากที่ร้านนั้นได้เลยค่ะ 

2. หนูเพิ่งรู้ว่า ตัวเองท้องค่ะ ก่อนหน้านี้ลองตรวจครรภ์แล้วผลออกมาว่า ไม่ท้อง หนูเลยสั่งยาเร่งประจำเดือนมากิน แต่ประจำเดือนก็ยังไม่มาซักที หนูเลยตัดสินใจไปหาหมอ พอตรวจแล้วผลออกมาคือ หนูท้อง หนูอยากทราบว่า ตอนนี้ลูกที่อยู่ในท้องจะพิการ หรือได้รับผลกระทบจากยาเร่งประจำเดือนมั้ยคะ?

คำตอบ:  เด็กอาจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบหัวใจ และหลอดเลือด และการพัฒนาของอวัยวะเพศหญิงของทารกในครรภ์นะคะ 

และหากมีการใช้ยา Norethisterone ในช่วงที่มีการพัฒนาระบบดังกล่าว ขอแนะนำให้ปรึกษาสูตินรีแพทย์นะคะ คุณหมอจะพิจารณาว่า “ช่วงเวลาที่ใช้ยา” มีความสัมพันธ์กับ “ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยง” หรือเปล่า 

เพราะระยะเวลาที่คุณใช้กับพัฒนาการของเด็กในท้องอาจไม่สัมพันธ์กันอย่างที่กังวลก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ คุณหมอก็จะมีการตรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังตามจำเป็นค่ะ

3. พอดีต้องไปต่างประเทศวันที่ 20 สิงหาคมนี้ แล้วอยากเลื่อนให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้นค่ะ เพราะว่าใช้ App track วันที่ประจำเดือนน่าจะมา มันตรงกับวันที่ 20 พอดีเลย ซึ่งเดือนที่แล้ว ประจำเดือนเรามาวันที่ 17-20 ไม่ทราบว่าจะเริ่มกิน Norethisterone วันไหนดีคะ แล้วจะหาซื้อยานี้ได้จากที่ไหนบ้าง แล้วถ้าหากประจำเดือนมา เราสามารถเริ่มแปะแผ่นยาคุมกำเนิดได้เลยใช่มั้ยคะ?

คำตอบ: ค่ะ เริ่มแปะภายในวันที่ 1 - 5 ของรอบเดือนนะคะ (วันที่ 1 คือ วันที่ประจำเดือนมาวันแรก) กรณีที่ใช้ในเวลาตามนี้ เมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ร่วมด้วยค่ะ 

4. เราไม่ได้กินยาคุมเป็นประจำค่ะ เพราะแฟนไปทำงานต่างประเทศ นานๆ จะมาที ประมาณวันที่ 15 เดือนกันยายนนี้แฟนกลับมาค่ะ เดือนที่แล้วเป็นประจำเดือนวันที่ 20 ต้องการเลื่อนประจำเดือนออกไปค่ะ ต้องทำยังไง ถ้ากินยาคุมต้องกินตอนนี้เลยไหมคะ เพื่อเลื่อนประจำเดือนออกไป ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

คำตอบ:  หากต้องการผลในการคุมกำเนิดด้วย แนะนำให้ใช้ยาคุมแบบแผงรายเดือนเพื่อเลื่อนประจำเดือนค่ะ โดยเริ่มกินก่อนวันที่คาดว่าประจำเดือนจะมาอย่างน้อย 7 วัน ในกรณีนี้ ผลในการคุมกำเนิดจะเกิดขึ้นหลังทานยาครบ 7 วันนะคะ ดังนั้น หากเริ่มรับประทานคืนนี้ เมื่อแฟนกลับมาวันที่ 15 ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ต้องใส่ถุงยางได้ค่ะ และประจำเดือนจะถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังกินยาคุมอยู่

เมื่อต้องการให้ประจำเดือนมา ก็หยุดกินยาคุม (หรือจะกินไปจนหมดแผงเลยก็ได้) ประจำเดือนจะมาภายใน 2-3 วันหลังหยุดยาค่ะ สามารถปรึกษาเภสัชกรที่ร้านยาใกล้บ้านเพื่อเลือกยาคุมที่เหมาะสม และรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้นะคะ 

5. สวัสดีค่ะ พอดีมีแผนไปเที่ยวช่วงปีใหม่พอดี แล้วรอบเดือนตามปกติต้องมาวันเสาร์ที่ 16 ธค. แล้วแต่ก็ยังไม่มาเลย (มั่นใจว่า ไม่ได้ท้องชัวร์ค่ะ เพราะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์) ถ้ากินยาเลื่อนประจำเดือนวันเสาร์ที่ 23 เป็นเวลา 3 วัน ภายใน 2-3 วัน ประจำเดือนจะมาไหมคะ เพราะอยากให้ประจำเดือนหมดก่อนวันที่ 3 ปกติมีประจำเดือน 6-7 วันค่ะ

คำตอบ: ตามปกติ คุณมักจะมีอาการก่อนมีประจำเดือน เช่น คัดตึงเต้านม ตกขาว มั้ยคะ หากมี… ช่วงนี้มีอาการดังกล่าวบ้างหรือยัง ถ้ามีอาการก่อนมีประจำเดือนแล้ว อาจรอดูไปก่อน เพราะประจำเดือนน่าจะใกล้มาแล้วล่ะค่ะ แต่ถ้ายังไม่มีอาการดังกล่าว จะเริ่มใช้ยาเลื่อนประจำเดือนเลยก็ได้นะคะ เมื่อใช้ต่อเนื่องกันนาน 3 - 7 วัน ประจำเดือนมักจะมาหลังหยุดยา 2-3 วันค่ะ

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ตรวจภายใน มะเร็งปากมดลูก และรังไข่ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
การเลื่อนประจำเดือน โดย นศภ.พิษณุ แตระกุล และ ผศ.ศรีรัตน์ กสิวงศ์ (http://drug.pharmacy.psu.ac.th...), 13 มกราคม 2552
การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน [สมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ©2013] (http://thaipharmacies.org/know...)
Primolut N® Norethisterone 5 mg tablets. (http://www.medsafe.govt.nz/pro...), 25 March 2012

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป