กินอาหารแบบรักไต...ให้ลดโซเดียม

แนะนำอาหารควรเลี่ยง ดูตัวเลขปริมาณโซเดียมจากเครื่องปรุงแต่ละชนิด เพื่อเลือกรับประทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพไต
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
กินอาหารแบบรักไต...ให้ลดโซเดียม

ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ  ทำหน้าที่กรองของเสียออกทางปัสสาวะ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ และควบคุมความดันโลหิต สร้างฮอร์โมนสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด และสร้างวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ไตสุขภาพดี ก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำให้ไตทำงานหนัก ซึ่งหากไตทำงานหนักจนเกิดความผิดปกติหรือที่เรียกว่าไตเสื่อมนั้น จะส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อร่างกายได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งเค็ม มัน หรือหวานจัด การรับประทานโปรตีน หรือยาแก้ปวดบางชนิดมากเกินไป การดื่มน้ำน้อย รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้แนะนำเรื่องการป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต ดังนี้

  1. ลดอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
  3. เลิกสูบบุหรี่
  4. งดดื่มแอลกอฮอล์
  5. หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ปวดหรือยาชุดมารับประทานเอง
  6. ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว
  7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
  8. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  9. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรควบคุมความดันให้อยู่ที่ 130/80 mmHg และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 110 mg/dL และระดับน้ำตาลสะสมในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (HbA1C) ควรมีค่าต่ำกว่า 6.5 mg% รวมถึงระดับไขมันในเลือด ระดับแอลดีแอล (LDL) น้อยกว่า 100 mg/dL

หลายท่านอาจจะทราบว่า อาหารรสเค็มถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ดีต่อไต เหตุที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจาก อาหารรสเค็มถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินความต้องการจากการรับประทานอาหาร เพราะอาหารตามธรรมชาติก็มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว ประกอบกับการปรุงอาหารที่มีการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม โดยเฉพาะในอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูป  ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอาหารบางประเภทที่นิยมใส่เครื่องปรุงเพิ่ม เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง เพราะเหตุนี้ร่างกายจึงมีการสะสมโซเดียมในปริมาณที่เกินพอดี ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ไตเริ่มเสื่อม อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งการลดปริมาณการรับประทานรสเค็มจะทำให้อาการของโรคนั้นๆ ดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้

ความต้องการโซเดียมของร่างกาย

ข้อมูลจากการรายงานของ สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ความต้องการโซเดียมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นกับเพศ อายุ และสภาวะของร่างกาย แต่ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายรับได้และไม่ก่อให้เกิดอันตราย ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน แต่ความจริงแล้วคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 4,352 มิลลิกรัม/วัน หรือเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 2 เท่า

ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในเครื่องปรุง

ชนิดเครื่องปรุง ปริมาณ ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม)
เกลือป่น 1 ช้อนชา 2,000
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ 1,350
ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ 1,190
ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ 1,187
น้้ำจิ้มไก่ 1 ช้อนโต๊ะ 518
ซอสพริก 1 ช้อนโต๊ะ 231
ซอสมะเขือเทศ 1 ช้อนโต๊ะ 149

ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อแนะนำในการลดการบริโภคโซเดียม

  1. เลือกรับประทานอาหารสดตามธรรมชาติ และควรปรุงอาหารโดยเครื่องปรุงรสต่างๆ ให้น้อยที่สุด
  2. ลดการเติมผงชูรสในการปรุงอาหาร
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดองหรือแช่อิ่ม อาหารกระป๋อง และเบเกอรีต่างๆ
  4. ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ เป็นต้น
  5. ปรับนิสัยให้เลือกรับประทานอาหารที่มีรสชาติจืดลง ไม่เติมเครื่องปรุงรสเพิ่มในอาหารที่ผ่านการปรุงแล้ว
  6. อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง และสังเกตปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ  เพื่อจะได้บริโภคแต่พอดี (คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ดังกล่าวไปข้างต้น)

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, สุนาฏ เตชางาม, และ ชนิดา ปโชติการ. กินอย่างไรเมื่อไตเริ่มเสื่อม, มปป.
ดนยา สุเวทเวทิน. (2562). ทำไมต้องห้ามกินเค็ม?, สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2562, จาก: https://www.thaihealth.or.th/C...
เครือข่ายลดการบริโภคเค็มโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย, สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2562, จาก: https://www.lowsaltthai.com/คว...

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
10 เห็ดชนิดที่เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์
10 เห็ดชนิดที่เปี่ยมด้วยคุณประโยชน์

ไม่ใช่แค่มีโปรตีนสูง ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ แต่เห็ดยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมายที่คุณอาจยังไม่รู้

อ่านเพิ่ม