Learning Disorder (LD) คือ โรคบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นโรคที่เกิดในเด็กวัยเรียน ที่มีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือสูงกว่า
ซึ่งคุณครูหรือผู้ปกครองหลายท่านมักเข้าใจผิดคิดว่าเด็ก LD คือเด็กเรียนช้าหรือมีเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ แต่จริงๆ แล้ว LD เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อการเรียนทำให้ผลการเรียนลดต่ำลง ส่งผลต่อพฤติกรรมการปรับตัวในชั้นเรียน เป็นภาวะบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งมักแสดงออกมาในรูปของปัญหา ด้านการอ่าน การเขียน การคำนวณ การใช้เหตุผล รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมือและทักษะอื่นๆ ร่วมด้วย
LD แยกตามอาการสำคัญ 3 ด้านดังนี้
- ด้านคำนวณหรือคณิตศาสตร์ (Arithmetic) : ไม่เข้าใจค่าของตัวเลขและจำนวน เช่น ไม่รู้ค่าของเลขหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย ฯลฯ นับเลขไปข้างหน้าหรือถอยหลังไม่ได้ จำสูตรคูณไม่ได้ ไม่สามารถทำตามขั้นตอนคูณ หารได้ โดยเฉพาะเลขหลายหลัก
- ด้านการอ่าน (Reading) : มีความยากลำบากในการอ่าน เช่น อ่านช้า อ่านคำต่อคำ อ่านข้ามคำ อ่านออกเสียงไม่ชัด ผันวรรณยุกต์ไม่ได้ ต้องสะกดคำจึงจะอ่านได้ อ่านแล้วจับประเด็นหรือเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่องที่อ่านไม่ได้
- ด้านการเขียนสะกดคำ (Spelling) : เด็กมักเขียนตัวอักษรหรือตัวเลขสลับกลับกัน เช่น ม เป็น น , ค เป็น ด , p เป็น q , d เป็น b , 6 เป็น 9 และไม่สามารถเขียนพยัญชนะ ก ถึง ฮ ได้ แต่สามารถบอกให้เขียนเป็นตัวๆ ได้
LD เกิดจากอะไร
จริงๆ แล้วสาเหตุการเกิดโรค LD ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่จากงานวิจัยที่ผ่านมาสามารถสรุปสาเหตุ ได้ 3 ปัจจัยดังนี้
- ความผิดปกติของสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการแสดงออกทางด้านภาษา เด็กปกติสมองซีกซ้ายจะมีขนาดโตกว่าสมองซีกขวา แต่ในเด็ก LD จะมีสมองสองซีกเท่ากัน จากการศึกษายังพบว่าเด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ เด็กที่มีไข้สูงหรือภาวะสมองขาดออกซิเจน มีภาวะเสี่ยงต่อโรค LD
- พันธุกรรม จากการศึกษาพบว่าเด็ก LD มีความความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 15 และสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับอาการ LD แต่อาจไม่ส่งผลต่อการเรียน การทำงาน และพฤติกรรมการปรับตัวที่เด่นชัดนัก
- สิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับพิษตะกั่วปนเปื้อนในอาหาร อากาศ น้ำ ซึ่งพิษตะกั่วจะทำลายเซลล์สมองบางส่วน หรือจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอทำให้พัฒนาการทางสมองไม่สมบูรณ์
จะช่วยเด็ก LD ได้อย่างไร
ผู้ปกครอง คุณครู ครูการศึกษาพิเศษ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ มีบทบาทในการช่วยเหลือเด็ก LD ร่วมกัน ดังนี้
- ฝึกให้เด็กอ่าน เขียนพยัญชนะควบคู่ไปกับการดูภาพประกอบ ซึ่งเป็นวิธีฝึกจำแบบเชื่อมโยง เด็กจะสามารถจดจำคำซึ่งสอดคล้องกับภาพและเสียงได้ง่ายขึ้น
- สร้างแรงจูงใจให้เด็กสนุกกับการอ่าน โดยเริ่มจากหนังสือนิทาน การ์ตูน ข่าว สารคดี แล้วค่อยๆ พัฒนาสู่เนื้อหาที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อฝึกให้เด็กได้จับใจความสำคัญของเรื่องได้ง่ายขึ้น
- ฝึกการคิดเชิงเหตุผลบ่อยๆ โดยใช้ศิลปะหรือเกมช่วยให้เกิดการเรียนรู้
- สร้างกำลังใจในการเรียน โดยการให้รางวัล เช่น คำชมเชยเมื่อเด็กทำได้สำเร็จ หรือเด็กได้พยายามทำในสิ่งนั้นอย่างเต็มความสามารถ
- การจัดระบบชั้นเรียนที่เหมาะสมซึ่งจำเป็นมากที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือเฉพาะทาง เช่น
- การเข้าชั้นเรียนร่วมในโรงเรียนปกติ
- การเข้าชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ
- เข้าคอร์สปรับพฤติกรรมกับนักจิตวิทยาหรือนักการศึกษาพิเศษ