กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

รู้จักกับ “มะตูม” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ดับกระหายคลายร้อน

รู้หรือไม่ว่า มะตูมนอกจากจะเอามาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้แล้ว ส่วนอื่นๆ ของมะตูมก็สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรบำรุงร่างกายได้อีกด้วย!
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
รู้จักกับ “มะตูม” สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ดับกระหายคลายร้อน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • มะตูมเป็นสมุนไพรไทยที่หลายคนรู้จักกันดี นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มดับร้อน ดับกระหาย
  • มะตูมมีฤทธิ์เป็นยา ช่วยให้ฟื้นตัวจากอาการไข้ ท้องเสีย อ่อนเพลียได้ด้วย
  • ทุกส่วนของต้นมะตูมมีประโยชน์มากมาย เช่น ผลมะตูบดิบแห้ง ช่วยแก้ท้องเสีย ท้องบิด ใบมะตูมสด ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ
  • น้ำมะตูม ช่วยในการขับลม ลดอาการจุกเสียดท้อง เป็นยาระบายอ่อน ๆ อีกด้วย ได้ทั้งรสชาติอร่อยและมีประโยชน์
  • แม้ว่าน้ำมะตูมจะมีรสชาติหวานในตัวอยู่แล้ว แต่ปริมาณน้ำตาลในน้ำมะตูมเป็นสิ่งที่ระวัง ไม่เช่นนั้น อาจมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ดูแพ็กเกจตรวจเบาหวานได้ที่นี่

มะตูม หนึ่งในพืชสมุนไพรที่คนไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี และนิยมนำผลมาทำเป็นเครื่องดื่มตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำมะตูมนั้นมีรสชาติหวานหอม ช่วยแก้กระหายได้ดี และมีสรรพคุณค่าทางยาที่ช่วยบำรุงธาตุให้กับผู้สูงอายุอีกด้วย แต่ไม่เพียงแค่ส่วนของผลเท่านั้นที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนอื่นๆ ของมะตูม ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ หรือเปลือก ก็ล้วนสามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรที่มีประโยชน์ไม่แพ้กัน

ข้อควรรู้เกี่ยวกับมะตูม

  • มะตูม (Beal) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos (L.) Correa
  • คนไทยแต่ละภาคเรียกมะตูมด้วยชื่อที่แตกต่างกัน ได้แก่ มะปิน (ภาคเหนือ) หมากตูม (ภาคอีสาน) กันตาเถร ตุ่มตัง หรือตูม (ภาคใต้)
  • มะตูมเป็นไม้ผลยืนต้น เติบโตในแถบพื้นเมืองบริเวณป่าดิบและตามเนินเขา พบมากในที่ราบของอินเดียตอนกลาง อินเดียตอนใต้ ปากีสถาน บังกลาเทศ พม่า และเวียดนาม จนกระทั่งถูกนำมาเพาะปลูกที่ไทยในเวลาต่อมา และแพร่หลายไปทั่วทุกภาคในปัจจุบัน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะตูม

  • ไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 18 เมตร เปลือกด้านนอกจะเป็นสีเทา มีความเรียบ มองเห็นร่องตื้น จัดอยู่ในไม้เนื้อแข็ง เนื้อไม้ด้านในมีสีขาวแกมเหลือง มีกลิ่นหอม
  • โคนต้นและกิ่งก้านจะมีหนามที่ยาวแหลม มีความแข็ง แทงตัวออกมาในลักษณะหนามเดี่ยว หรือหนามคู่
  • ลักษณะของใบประกอบกันเหมือนขนนก มีขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ส่วนปลายใบแหลม
  • ดอกมะตูมมีสีขาว ขนาดเล็ก มักออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ดอกจะออกเป็นช่อชนิดสมบูรณ์เพศ พบได้ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง มีดอกย่อยสีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม
  • ผลมะตูมจะมีเปลือกแข็งหุ้มด้านนอก รูปทรงเหมือนไข่ หรือกลม ผลอ่อนจะมีเปลือกสีเขียวแข็ง เมื่อแก่จะเป็นสีเขียวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 5-15 เซนติเมตร บางผลเปลือกด้านนอกมีความแข็งมาก ไม่สามารถแกะออกด้วยมือหรือมีดได้ ต้องใช้ค้อนทุบเพื่อเอาเนื้อด้านในออกมา
    เนื้อด้านในมีสีส้มเหลือง นิ่ม รสชาติหวาน มีกลิ่นหอม และมีน้ำเหนียวข้นคล้ายยาง ภายในประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมากแทรกอยู่ตามเนื้อ เมล็ดมีขนปกคลุมหนา ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมของกระรอกและสัตว์ป่า

คุณค่าทางอาหารจากมะตูม

มะตูมมีสารสำคัญหลากหลายชนิดที่ให้คุณค่าทางด้านการรักษาและบำรุงสุขภาพ ในผลมะตูมพบสารที่มีลักษณะเป็นเมือก เคติน แทนนิน น้ำมันหอมระเหย และสารที่มีรสขม ส่วนในรากมะตูมพบสารสเตียรอยดัล-อัลกาลอยด์ และคูมริน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สารเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ช่วยต้านไวรัส เชื้อมาลาเรีย ช่วยฆ่าพยาธิ ยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้ ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านฮีสตามีน ลดและยับยั้งระดับน้ำตาลในเลือด กระตุ้นให้อินซูลินมีปริมาณเพิ่มขึ้น ลดไขมัน ลดภาวะอักเสบ และช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

สรรพคุณทางยาของมะตูมที่นิยมใช้

ตำรายาไทย: 

  • ผลดิบแห้งแก้ท้องเสีย แก้บิด
  • ผลสุก เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร  
  • ใบสด คั้นน้ำกินแก้หลอดลมอักเสบ 
  • เปลือกรากและต้น รักษาไข้มาลาเรีย 
  • มะตูมทั้ง 5 ส่วน (ราก ลำต้น ใบ ดอก และผล) รสฝาดปร่าซ่าขื่น ใช้แก้ปวดศีรษะ ตาลาย เจริญอาหาร ลดความดันโลหิตสูง ตำรายาไทยมีการใช้ ผลมะตูมใน ”พิกัดตรีผลสมุฎฐาน” คือการจำกัดจำนวนตัวยาที่มีผลเป็นที่ตั้ง 3 อย่าง มีผลมะตูม ผลยอ ผลผักชีลา สรรพคุณแก้สมุฎฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่างๆ แก้โรคไตพิการ

บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้ลูกมะตูมในตำรับ “ยาตรีเกสรมาศ” มีส่วนประกอบลูกมะตูมอ่อนร่วมกับเกสรบัวหลวง และเปลือกฝิ่นต้น มีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย

นอกจากนี้ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ของกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า พิกัดตรีเกสรมาศ คือ จำนวนตัวยาเกสรทอง 3 อย่าง ได้แก่ เปลือกฝิ่นต้น เกสรบัวหลวง และลูกมะตูมอ่อน มีสรรพคุณ เจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน

bael-herb-for-healthy-quench-thirst
รูปภาพ เครื่องดื่มน้ำมะตูม

เครื่องดื่มน้ำมะตูม

น้ำมะตูมจัดได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานอร่อย ทำให้รู้สึกชุ่มคอ เต็มไปด้วยประโยชน์หลากหลาย ช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดในช่องท้อง รักษาโรคกระเพาะ ลดอาการบิดของโรคลำไส้ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ที่สำคัญยังมีขั้นตอนการทำที่ง่ายมากๆ อีกด้วย

ขั้นตอนการทำเครื่องดื่มน้ำมะตูมแบบง่ายๆ

  • นำมะตูมแห้งที่ฝานเป็นแว่นประมาณ 5-8 แว่น ไปย่างไฟ หรือคั่วให้หอมในกระทะ
  • เติมน้ำเปล่าลงในหม้อ แล้วนำมะตูมที่เตรียมไว้ใส่ตามลงไป ต้มจนกระทั่งน้ำเดือด สังเกตว่าน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ให้เบาไฟลงและต้มต่อไปอีกประมาณ 15-20 นาที
  • ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายแดงตามชอบ คนจนน้ำตาลละลายจนหมด ให้เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำมีสีเข้มขึ้น และส่งกลิ่นหอม หลังจากนั้นยกลงจากเตา กรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อเอาเศษมะตูมออก ตั้งพักทิ้งไว้ โดยสามารถดื่มได้ทั้งแบบร้อนและเย็น ไม่ว่าจะแบบไหนก็อร่อยและมีประโยชน์ไม่แพ้กัน

ข้อควรระวังในการดื่มน้ำมะตูม

เนื่องจากมะตูมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากดื่มมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ และควรระมัดระวังปริมาณน้ำตาลที่ผสมในน้ำมะตูมด้วย เพราะหากมีปริมาณมากเกินไปอาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bael: Uses, Side Effects, Interactions, Dosage, and Warning. WebMD. (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-164/bael)
Bael Fruit Nutrition Facts and Health Benefits. Verywell Fit. (https://www.verywellfit.com/the-health-benefits-of-bael-fruit-89602)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป