6 สเตปเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวสำหรับวัย 60+

ผู้สูงอายุไปเที่ยวต้องเตรียมอะไรบ้าง ผู้สูงอายุเดินทางต้องระวังเรื่องอะไร Honestdocs รวบรวมมาไว้ให้แล้ว!
เผยแพร่ครั้งแรก 19 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
6 สเตปเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวสำหรับวัย 60+

อายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป จัดว่าเข้าสู่วัยสูงอายุ ตามหลักเกณฑ์ของสหประชาชาติ สมัยก่อนหลายคนอาจนึกภาพผู้สูงอายุเป็นคนแก่ อยู่ติดบ้าน ไปไหนมาไหนต้องพึ่งลูกหลาน แต่วัยปัจจุบันวัย 60+ เรียกได้อีกอย่างว่าเป็น “วัยเก๋า” มีเวลามาก เพื่อนฝูงรวมกลุ่มกันได้หลายคนด้วยเครือข่ายโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการรวมแก๊งเที่ยวเองของวัย 60+ จึงพบเห็นได้บ่อยขึ้น อย่างไรก็ตามจะเดินทางท่องเที่ยวไปไหนควรคำนึงถึงสุขภาพด้วย HonestDocs จึงรวบรวมคำแนะนำดีๆ มาให้ ผู้สูงอายุที่จะเดินทางจะเตรียมเอง หรือคนใกล้ชิดในบ้านจะช่วยดูก็ได้

6 สเตปเตรียมความพร้อมก่อนไปเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ

1. วางแผนการเที่ยว

เริ่มจากการวางแผนการเดินทางให้รอบคอบเสียก่อน โดยมีจุดที่ต้องคำนึงถึงหลักๆ 3 ประการ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  1. สถานที่ที่ต้องการไป
    โดยปกติแล้วส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักชอบไปพักผ่อนหย่อนใจสถานที่ที่สงบ ติดธรรมชาติ เข้าวัดทำบุญ แต่ด้วยสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ จึงควรคำนึงถึงสถานที่ที่ไปให้เหมาะแก่พวกท่านด้วย เช่นจากที่พักไปยังจุดชมวิวควรมีระยะไม่ไกลมาก สถานที่ควรปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางผิวหนังหรือระบบทางเดินหายใจ
  2. เส้นทางและจุดแวะพัก
    เนื่องจากระบบการขับถ่ายปัสสาวะของผู้สูงอายุเสื่อมถอยลง ท่อปัสสาวะหดรัดตัวได้ไม่ดี ต่อมลูกหมากโต ทำให้อั้นปัสสาวะได้ไม่นาน และปวดปัสสาวะบ่อย ดังนั้นจึงควรเลือกไปเที่ยวเส้นทางที่มีจุดแวะพักเข้าห้องน้ำได้สะดวก หรือก่อนไปเที่ยวอาจแนะนำผู้สูงอายุให้ลองผึกขมิบหูรูด ครั้งละ 5 วินาที (เช่นเดียวกับเวลากลั้นปัสสาวะ) ช่วงเช้า กลางวัน เย็น รอบละ 10 ครั้ง เพื่อให้ควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น และไม่ควรเบ่งปัสสาวะแรง นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะกระตุ้นการขับปัสสาวะ
  3. สภาพอากาศหรือฤดู
    ควรเลือกเดินทางช่วงที่สภาพอากาศไม่ร้อนจัด หนาวจัด หรือเปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะผู้สูงอายุมักมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่นๆ เมื่ออากาศแปรปรวนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น เป็นหวัด ได้

2. เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น

ร่างกายที่เสื่อมถอยลงของผู้สูงอายุอาจทำให้การเคลื่อนย้ายหรือเดินทางเป็นเรื่องลำบาก ฉะนั้นสิ่งที่ควรเตรียมคือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่จะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวสนุกยิ่งขึ้น เช่น ร่ม สำหรับกันแดดกันฝน แว่นตากรองแสง UV ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ สำหรับชุบน้ำแล้วประคบตามร่างกายให้ความชุ่มชื้นหากอากาศร้อน แก้วน้ำเก็บอุณหภูมิสำหรับช่วงอากาศหนาว เครื่องนุ่งห่มที่เหมาะกับสภาพอากาศ รองเท้าหุ้มส้นที่กระชับ เหมาะกับรูปเท้า และมีพื้นรองเท้าที่ยึดเกาะ ช่วยลดอุบัติเหตุจากการหกล้ม ไม้เท้าช่วยพยุงตัว เป็นต้น

3. จัดยาไว้ให้พร้อม

ระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่ค่อยเท่าสุขภาพใจ อาจทำให้วัย 60+ เจ็บป่วยง่าย ไม่การพกยาพื้นฐานช่วยได้ ตัวอย่างยาที่ควรพกติดไว้เวลาเดินทาง เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้หวัด ยากันยุง ยาแก้ปวด กับที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือยาสำหรับโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ

ถ้าจะให้พร้อมสุดๆ มีเหตุฉุกเฉินอะไรก็ไม่กลัว อาจพกใบรับรองแพทย์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เคยเป็น หรือโรคที่เป็นอยู่ไปเผื่อ หากเกิดใดๆ จะได้แจ้งแก่แพทย์หรือเภสัชกรได้ถูกต้อง ครบถ้วน

4. คำนึงถึงเรื่องอาหารการกิน

การจัดเตรียมหรือเลือกร้านอาหารให้เหมาะกับผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะระบบทางเดินอาหารของผู้สูงอายุไม่ได้ดีอย่างแต่ก่อน คำแนะนำมีดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเกินไป
    เนื่องจากจะทำให้ร่างกายทำงานหนัก นอกจากนี้การรับประทานอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด ยังสามารถส่งผลต่อโรคประจำตัวของผู้สูงอายุได้ เช่น ความดัน เป็นต้น ทางที่ดีควรเลือกอาหารที่อ่อนหรือจืดเป็นหลัก 
  • เลือกอาหารเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย
    เนื่องจากผู้สูงอายุมีแรงในการบดเคี้ยวอาหารในช่องปากลดลง บางรายอาจมีฟันและเหงือกที่ไม่แข็งแรง การเคี้ยวอาหารแข็งจึงอาจส่งผลให้มีอาหารไปติดอยู่ในช่องปาก เป็นเหตุให้เกิดเชื้อโรคได้
  • ในกลุ่มที่มีอาการสำลักบ่อยๆ ให้ลองเปลี่ยนจากช้อนธรรมดาเป็นช้อนขนาดเล็กตักอาหาร
    เพราะเมื่ออายุมากขึ้นจนเข้าวัยสูงอายุ หูรูดในคอหอยจะเปิดช้าลง อาหารจึงอยู่ในคอหอยนานขึ้น และเสี่ยงต่อการสำลักอาหารยิ่งขึ้น ยิ่งกรณีที่มีเชื้อโรคในช่องปาก การสำลักอาจนำไปสู่อาการติดเชื้อในปอด การเลือกช้อนที่มีขนาดเล็ก หลุมเล็กลง ทำให้จำนวนอาหารและของเหลวที่ได้รับในแต่ละคำมีน้อยลง ลดโอกาสในการสำลัก 
  • พยายามกินอาหารหลากหลาย
    แม้ผู้สูงอายุหลายคนมักมีร้านอาหารหรือเมนูที่ถูกใจและกินเป็นประจำ หลายคนกินซ้ำๆ ติดๆ กันหลายครั้ง แต่ก็ควรพยายามเลี่ยงพฤติกรรมอย่างนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่หลากหลาย นำไปสู่การขาดสารอาหาร ผอมไป อ้วนไป ทางที่ดีคนใกล้ชิดจึงควรแนะนำให้ผู้สูงอายุรับประทานหลากหลายขึ้น พยายามสังเกตว่าในบรรดาอาหาร 5 หมู่ ผู้สูงอายุใกล้ตัวขาดหมู่ไหน แล้วชักชวนให้ท่านได้กินอาหารหมู่นั้น โดยเน้นที่ผักและผลไม้ที่มีวิตามิน
  • กินมื้อละน้อย แต่กินบ่อยมื้อ
    เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายผู้สูงอายุทำงานหนักจนเกินไป เช่น ย่อยอาหารมื้อหนึ่ง มาเป็นมื้อย่อยๆ สัก 2 มื้อ 

5. สำรวจสภาพอากาศล่วงหน้า

ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันและร่างกายที่อ่อนแอกว่าคนวัยอ่อนกว่า ทำให้ไวต่อสภาพอากาศมากกว่า โรคและอาการที่พบได้บ่อยในแต่สภาพอากาศ พร้อมคำแนะนำเพื่อการเที่ยวให้สนุก ไม่ต้องพบกับปัญหาสุขภาพ มีดังนี้

  • อากาศร้อน ไม่ว่าจะในฤดูร้อนหรือในพื้นที่ที่โล่งแจ้ง แดดแรง อาจทำให้เกิดภาวะต่างๆ ได้ เช่น
    • ลมแดด (Heat stroke) เกิดจากการได้รับความร้อนมากไป การทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและสมองจึงผิดปกติ ซึ่งกรณีร้ายแรงอาจถึงขั้นชักและเสียชีวิต อาการของโรคลมแดดสังเกตได้จาก ตัวร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อไหล หน้าแดง หายใจรัว เร็ว ป้องกันได้ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำประคบตามตัวไว้เพื่อป้องกันอุณหภูมิสูง ใช้ร่มกันแดด ใส่แว่นกรองแสงหรือแว่นกันแดด รวมทั้งคอยจิบน้ำบ่อยๆ
    • ท้องเสีย เมื่ออากาศร้อน ทำให้อาหารเน่าบูด เสียได้ง่าย ทำให้เมื่อรับประทานเข้าไป อาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหารได้ ป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารร้อน อาหารปรุงสุก และใช้ช้อนกลาง
    • โรคผิวหนังแสบ เมื่อเหงื่อออกเยอะ อาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดเป็นผื่นแดงคันได้ ฉะนั้นควรแก้โดยการใส่เสื้อผ้าที่่โปร่งสบาย ระบายอากาศได้ดี และทาครีมกันแดดก่อนออกแดดเสมอ  
  • อากาศหนาว เป็นสภาพอากาศที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบผิวหนังได้ ดังนี้
    • ระบบทางเดินหายใจ เมื่ออากาศหนาวอาจทำให้เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดติดเชื้อ ควรล้างมือให้บ่อย หรือใช้เจลล้างมือฆ่าเชื้อ ไม่หยิบจับสิ่งสกปรก งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคทางเดินหายใจ และควรสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นให้เหมาะสมกับระดับความหนาวเย็น
    • ระบบทางไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันได้โดยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายจากเครื่องนุ่งห่ม และห้ามรับประทานอาหารที่มีรสจัด โดยเฉพาะของหวาน อาหารมัน อาหารเค็ม 
    • ผิวหนังแห้ง เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวน้อยกว่าวัยหนุ่มสาว ทำให้เมื่ออากาศหนาว จะแห้ง แตกได้ง่ายกว่า ดังนั้นหากอยู่ในพื้นที่อากาศหนาว ไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป และทาโลชั่นทุกครั้งหลังอาบน้ำ นอกจากนี้อาจจิบน้ำอุ่นเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างาย 
  • อากาศเปลี่ยนบ่อย ช่วงปลายฝนต้นหนาว มักมีการเปลี่ยนแปลงของอากาศบ่อย และเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการป่วยได้มากที่สุด ทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอย่างหอบหืด ปอดบวม ระบบทางเดินอาหารอย่างอุจจาระร่วง หรือแม้แต่เป็นหวัด การแก้ไขและป้องกันนั้นทำได้โดยการรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย รวมถึงงดสุราและบุหรี่ในผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้ภูมิต้านทานยิ่งต่ำลง

6. เตรียมพร้อมสำหรับการนอนที่ดี

ผู้สูงอายุมักนอนน้อย หรืองีบระยะสั้นๆ บ่อยๆ ยิ่งหากเดินทางไปต่างที่ก็ยิ่งอาจเกิดปัญหาการนอนได้มากขึ้น ฉะนั้นก่อนวันเดินทางจึงควรฝึกนอนและตื่นเป็นเวลาไว้ก่อนสักระยะ เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้แก่ร่างกาย

วิธีที่จะช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ได้แก่ ไม่ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์บนเตียง หรืออาจการออกกำลังกายเบาๆ ช่วงเช้าและบ่าย ก็จะทำให้การนอนหลับในช่วงกลางคืนดียิ่งขึ้น

หากผู้สูงอายุนอนไม่ค่อยหลับ สิ่งที่บุคคลใกล้ชิดควรสังเกตก็คือ สาเหตุของการนอนไม่หลับนั้นมาจากอะไร เช่น แสงสว่างจ้าเกินไปหรือไม่ มีกลิ่นรบกวนในห้องนอนหรือเตียงนอนหรือเปล่า เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาได้ที่ต้นเหตุ แต่หากทำทุกวิถีทางแล้วผู้สูงอายุก็ยังนอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม

นอกจากวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางด้านอื่นๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การเตรียมความแข็งแรงของร่างกายให้พร้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน ผู้สูงอายุอาจออกกำลังโดยทำงานบ้านที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น กวาดพื้น รดน้ำต้นไม้ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือฝึกท่ากายบริหารง่ายๆ เช่น รำไทเก๊ก เต้นออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดัน หรือโรคที่เสี่ยงต่อสุขภาพ อาจะเริ่มจากการยืดเหยียดร่างกายก่อนก็ได้ แล้วค่อยออกกำลังกายที่หนักขึ้นภายหลัง


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา,กรมการแพทย์เตือนอากาศแปรปรวนทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย ชี้เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีโอกาสเสี่ยงสูง แนะควรดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ (http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/prnews/pr0126012559.pdf), 26 มกราคม 2559.
นพ.สกานต์ บุนนาค,กรมการแพทย์แนะเทคนิคการนอนในผู้สูงอายุ (http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/prnews/prnews18122018011249.doc), 18 ธันวาคม 2561.
นพ.สกานต์ บุนนาค,กรมการแพทย์แนะผู้สูงอายุหมั่นออกกำลังกาย (http://www.dms.moph.go.th/dmsweb/prnews/prnews21012019020148.doc), 21 มกราคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป