กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

สรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
สรีรวิทยาระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงประกอบด้วยอวัยวะ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เห็นได้จากภายนอกและส่วนที่อยู่ภายในร่างกาย แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนี้

  1. ส่วนที่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ได้แก่ แคมเล็ก แคมใหญ่และคลิทอริส เต้านมและต่อมน้ำนม ช่องคลอดและเยื่อพรหมจารี
  2. ส่วนที่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ได้แก่ รังไข่ ปีกมดลูก 2 ข้าง มดลูก ปากมดลูก

ในบทความนี้จะกล่าวถึงหน้าที่และการทำงานเฉพาะอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของเพศหญิงเท่านั้น เพื่อเป็นการปูพื้นไปสู่เรื่องการคุมกำเนิดและยาเม็ดคุมกำเนิด

อวัยวะที่จัดเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของเพศหญิง ได้แก่ รังไข่ ปีกมดลูก มดลูก และปากมดลูก

รังไข่

ผู้หญิงมีรังไข่ 1 คู่ แขวนอยู่ในช่องท้องกึ่งกลางระหว่างกระดูกเชิงกรานซ้ายและขวาข้างละ 1 อัน ยึดกับมดลูกและปีกมดลูกด้วยเนื้อเยื่อที่มาจากมดลูก รังไข่มีรูปร่างรีแบนขนาดยาว 2.5-5 เซนติเมตร กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร และหนาประมาณ 0.6-1.5 เซนติเมตร

รังไข่ทำหน้าที่สำคัญ 2 อย่างคือ

  1. สร้างไข่อ่อน
  2. ผลิตฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน

ถ้าผ่ารังไข่ออกตามขวางจะพบว่าภายในรังไข่ประกอบด้วยถุงไข่หรือเรียกอีกอย่างว่าฟอลลิเคิลจำนวนมาก ในถุงไข่แต่ละใบประกอบด้วยเซลล์ไข่อ่อนหนึ่งฟองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 มิลลิเมตร เมื่อแรกคลอดในรังไข่ทั้ง 2 ข้าง จะมีถุงไข่ประมาณ 2 ล้านใบ แต่เมื่อโตขึ้น ถุงไข่ส่วนหนึ่งจะฝ่อไปเรื่อย ๆ จนเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะเหลือถุงไข่ประมาณ 4 แสนใบ โดยในจำนวน 4 แสนใบนี้จะมีประมาณ 400-500 ใบนั้น ที่มีไข่อ่อนที่สามารถเจริญเติบโตเต็มที่จนเกิดการตกไข่ได้ และในแต่ละเดือนจะมีไข่อ่อนที่โตเต็มที่และเกิดการตกไข่เพียง 1 ฟองจากรังไข่แต่ละข้าง โดยสลับข้างกันเกิดการตกไข่ในแต่ละเดือน

ปีกมดลูก

  • ปีกมดลูก เรียกอีกอย่างว่า “ท่อนำไข่” เป็นกล้ามเนื้อเรียบมีลักษะเป็นท่อ ภายในกลวงมีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ปลายข้างหนึ่งจะต่อกับมดลูก ส่วนปลายอีกข้างหนึ่งจะเปิดเข้าสู่ช่องเชิงกรานและบานออกเป็นปากแตรเรียกว่า “ฟิมเบรีย” ทำหน้าที่โบกพัดไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่เข้าสู่ปีกมดลูกหรือท่อนำไข่
  • การที่ปลายท่อนำไข่หรือฟิมเบรียโบกพัดเข้าสู่ช่องเชิงกรานมีข้อเสียคือ กรณีมีเชื้อโรคอยู่ในช้องท้องหรืออุ้งเชิงกราน จะทำให้เชื้อโรคต่างๆ จากบริเวณนี้เข้าสู่ปีกมดลูกได้ง่าย ทำให้อาจเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อของปีกมดลูกได้

หน้าที่ของปีกมดลูก คือ

  • เป็นบริเวณที่เกิดการปฏิสนธิ โดยเมื่อฟิมเบรียพัดไข่อ่อนเข้าไปที่ท่อนำไข่ ถ้ามีอสุจิอยู่บริเวณนั้นด้วยก็จะเกิดการผสมกันระหว่างไข่อ่อนและตัวอสุจิ ซึ่งเรียกว่า “การปฏิสนธิ” หลังจากนั้น ท่อนำไข่ก็จะบีบรัดเพื่อให้ไข่อ่อนที่ได้รับการผสมแล้วเคลื่อนมาฝังตัวที่มดลูกต่อไป
  • อนึ่งไข่อ่อนที่ตกจากถุงไข่แล้วจะมารออยู่ที่ท่อนำไข่ได้ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ในขณะที่อสุจิเมื่อเข้ามาในมดลูกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 2 วันเท่านั้น กรณีที่ไม่ได้รับการผสมในระยะเวลานั้นทั้งไข่อ่อนและอสุจิก็จะสลายไป
  • มดลูกมีขนาดกว้าง 7.5 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตร และหนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร ตัวมดลูกมีรูปร่างเหมือนลูกแพร์คว่ำแขวนอยู่กลางช่องท้อง ด้านหน้าของมดลูกเป็นกระเพาะปัสสาวะ ด้านหลังเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่เป็นไส้ตรง หรือที่เรียกว่า “เรกตั่ม” ตัวมดลูกเป็นกล้ามเนื้อเรียบ 3 ชั้น ภายในเป็นโพรง ทำหน้าที่เป็นที่อยู่และให้อาหารแก่ทารกขณะอยู่ในครรภ์
  • มดลูกประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 3 ชั้น ชั้นนอกสุดเรียกว่าชั้น “เพอริมีเทียม” เป็นชั้นที่ติดกับเยื่อบุช่องท้อง ทำหน้าที่ยืดมดลูกให้อยู่ในช่องท้องติดกับอวัยวะอื่น ๆ
  • ชั้นที่สองเรียกว่า “ไมโอมีเทียม” มีความหนาประมาณ 12-15 มิลลิเมตร เป็นชั้นที่หนาที่สุด สามารถขยายและหดตัวได้ตามสภาวะ เช่น ขณะตั้งครรภ์กล้ามเนื้อเรียบชั้นนี้จะขยายใหญ่และยาวมากขึ้น และขณะมีการคลอดกล้ามเนื้อชั้นนี้จะเกิดการหดตัวอย่างมากเพื่อดันทารกให้ออกมา
  • ส่วนชั้นในสุดของมดลูกเป็นผนังเยื่อบุโพรงมดลูกเรียกว่า “เอนโดมีเทียม” เป็นชั้นที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละรอบเดือน โดยจะหนาขึ้นเนื่องจากเกิดการสร้างเซลล์ใหม่ มีอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการให้ไข่อ่อนที่เกิดการปฏิสนธิแล้วมาฝังตัว กรณีที่ไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนหรือไม่มีการตั้งครรภ์ ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียมที่หนาตัวนี้จะหลุดลอกออกมาทางช่องคลอดกลายเป็นเลือดที่เรียกว่า “ประจำเดือน”
  • ดังนั้นเลือดประจำเดือนก็คือผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาในทุกรอบเดือนนั่นเอง หลังจากมีการหลดุลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลุกแล้วก็จะเกิดการสร้างเซลล์ขึ้นใหม่ มีอาหารและออกซิเจนมาที่บริเวณนี้มากขึ้น ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนผนังเยื่อบุนี้ก็จะหลุดลอกเป็นเลือดประจำเดือนรอบใหม่ แต่ถ้ามีการฝังตัวของตัวอ่อนเกิดขึ้นก็จะไม่มีการหลุดลอกของผนังชั้นนี้ ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จะเกิดเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ปากมดลูกและช่องคลอด

  • ปากมดลูกเป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดของมดลูกตอนที่ต่อกับช่องคลอด ระยะทางจากปากมดลูกจนถึงปลายสุดของช่องคลอดที่เปิดออกสู่ภายนอกร่างกายยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ทั้งปากมดลูกและช่องคลอดทำหน้าที่เป็นทางผ่านของน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก เป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือนและเป็นทางที่ทารกคลอดออกมา
  • ปากมดลูกเป็นบริเวณที่ไม่มีเส้นประสาท ดังนั้นกรณีที่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เป็นแผลหรือมีเนื้องอก เราจะไม่ทราบจนกว่าอาการจะลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนั่นหมายถึงพยาธิสภาพของโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจึงควรตรวจมะเร็งและสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นบริเวณนี้ทุกๆ 6 เดือน เพื่อจะได้ทราบถึงความผิดปกตินั้นและแก้ไขได้ทันท่วงที
  • ถัดจากปากมดลูกออกมา คือ ช่องคลอด ซึ่งบริเวณผนังเยื่อบุช่องคลอดจะมีการสร้างน้ำเมือกออกมาตลอดเวลาเพื่อทำให้ช่องคลอดชุ่มชื้น เราเรียกน้ำเมือกนี้ว่า ตกขาว ลักษณะของตกขาวจะขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนที่หลั่งออกมากรังไข่ในแต่ละระยะของรอบเดือน โดยถ้าเป็นช่วงระยะที่ถุงไข่กำลังจะเกิดการตกไข่ รังไข่จะสร้างเอสโตรเจนสูง อิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนจะทำให้ช่องคลอดหลั่งตกขาวออกมาจำนวนมาก และมีลักษณะใสเพื่อช่วยในการเคลื่อนตัวของอสุจิให้สะดวกขึ้น แต่ถ้าเป็นช่วงระยะที่ถุงไข่มีการตกไข่ผ่านไปแล้ว รังไข่จะมีการสร้างและหลั่งโปรเจนเตอโรนมาก อิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนจะทำให้ช่องคลอดมีปริมาณตกขาวน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย และตกขาวที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะข้นเหนียว ทำให้อสุจิผ่านเข้าสู่โพรงมดลูกได้ยาก ซึ่งลักษณะตกขาวที่กล่าวนี้สามารถนำไปเป็นข้อหนึ่งของการคุมกำเนิดตามธรรมชาติได้ คือ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระยะที่มีตกขาวจำนวนมากและใสจะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงเพราะเป็นช่วงที่ไข่ตกมารออยู่แล้วที่ปีกมดลูก แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ไม่มีตกขาวเลยหรือมีน้อยมาก และตกขาวเป็นมูกข้น เหนียว โอกาสตั้งครรภ์จะต่ำ เพราะไข่ตกและสลายไปแล้ว

รอบเดือนคืออะไร ทำงานอย่างไร?

อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงจะมีการทำงานและมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซ้ำๆเป็นวัฏจักรซึ่งเราเรียกการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดในแต่ละครั้งว่า “รอบเดือน”

กล่าวอีกนัยหนึ่งเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ คือ รอบเดือน หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันสุดท้ายก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งถัดไป เช่น นางสาว ก. มีประจำเดือนวันแรก คือ วันที่ 1 เมษายน และคาดว่าจะมีประจำเดือนครั้งถัดไปในวันที่ 1 พฤษภาคม ดังนั้น นางสาว ก. มีรอบเดือนห่างกัน 30 วัน โดยคิดจากระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของการมีประจำเดือนจนถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการที่จะมีประจำเดือนครั้งถัดไป

การคิดรอบเดือนนั้นเราจะไม่คำนึงถึงว่าหญิงคนนั้นจะมีประจำเดือนจำนวนกี่วันหรือประจำเดือนที่มานั้นหมดวันไหน และเราจะนับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน

หญิงไทยโดยทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยของรอบเดือนประมาณ 28 วัน

ในแต่ละรอบเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นวัฏจักร และจะเกิดพร้อมกันหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงของรังไข่
  2. การเปลี่ยนแปลงของผนังชั้นในหรือเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมิเทียม
  3. การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ
  4. การเปลี่ยนแปลงของรังไข่

การเปลี่ยนแปลงของรอบเดือน 3 ระยะ

ในแต่ละรอบเดือน รังไข่จะมีการเปลี่ยนแปลง 3 ระยะ ได้แก่

ระยะแรก การเปลี่ยนแปลงก่อนการตกไข่

  • เป็นช่วงที่ถุงไข่และไข่อ่อนภายในถุงไข่จะเจริญเติบโตขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆ จนมีความสมบูรณ์มากพอ มีไข่อ่อนที่พร้อมจะผสมกับอสุจิได้ ซึ่งเราเรียกถุงไข่ในระยะนี้ว่า “ถุงไข่ขั้นกราเฟียน”
  • การเจริญเติบโตของถุงไข่และไข่อ่อนจากที่มีขนาดเล็กจนโตเต็มที่พร้อมจะเกิดการตกไข่ได้นั้น ได้รับอิทธิพลจากฮอร์โมนชื่อ เอฟเอสเอช (FSH-Follicle Stimulating Hormone)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ฮอร์โมนเอฟเอสเอชจะกระตุ้นทำให้ถุงไข่และไข่อ่อนเกิดการเจริญเติบโตจนเป็นถุงไข่ขั้นกราเฟียน

ระยะที่สอง การเปลี่ยนแปลงระยะตกไข่

  • เมื่อถุงไข่อยู่ในขั้นกราเฟียน ไข่อ่อนมีความสมบูรณ์เต็มที่แล้ว หลังจากนั้นต่อใต้สมองส่วนหน้าจะหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า แอลเอช (LG-Lutening Hormone)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มีการตกไข่เกิดขึ้น โดยแอลเอชจะกระตุ้นในถุงไข่ขั้นกราเฟียนแตกและดันไข่อ่อนออกมาที่เรียกว่า “การตกไข่”
  • ไข่ที่ตกออกมาจะถูกฟิมเบรียที่เป็นส่วนปลายขอท่อนำไข่ พัดโบกไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่นั้นเข้าไปยังบริเวณส่วนกลางของท่อนำไข่ เพื่อรออสุจิ ถ้ามีอสุจิอยู่บริเวณนั้นก็จะเกิดการผสมกัน เราเรียกว่าเกิด “การปฏิสนธิ” ซึ่งไข่ที่ตกมารอนั้นจะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนอสุจิที่เข้ามาในโพรงมดลูกจะมีอายุประมาณ 2 วันเท่านั้น หลังจากนั้นหากไม่มีการผสมกันในช่วงเวลาที่เหมาะสมดังกล่าว ทั้งไข่และอสุจิก็จะสลายไป กรณีที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนไปฝังตัวที่ผนังชั้นในของมดลูกหรือเอนโดมีเทียมต่อไป

ระยะที่สาม การเปลี่ยนแปลงระยะหลังตกไข่

  • หลังจากที่ถุงไข่เกิดการตกไข่แล้ว จะไม่มีไข่อ่อนในถุงไข่อีก และถุงไข่นั้นจะกลายเป็นเนื้อเยื่อสีเหลืองเรียกว่า “คอร์ปัสลูเทียม” ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอยู่ประมาณ 8-10 วัน โปรเจสเตอโรนที่สร้างขึ้นนี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกให้มีความหนามากขึ้น มีการสร้างเซลล์ใหม่ มีเลือด มีออกซิเจนและสารอาหารมาหล่อเลี้ยงผนังมดลูกมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้ไข่อ่อนที่ผสมกับอสุจิแล้วมาฝังตัว ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนเกิดขึ้น คอร์ปัสลูเทียมจะเริ่มเสื่อมลงกลายเป็นเนื้อเยื่อสีขาวเรียกว่า “คอร์ปัสอัลบิแคน” ซึ่งไม่มีบทบาทหน้าที่อะไรอีกต่อไป และระดับของโปรเจสเตอโรนที่สร้างจากคอร์ปัสลูเทียมจะลดลงไปด้วยทำให้เกิดการหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียมกลายเป็นเลือดที่ออกมาทางช่องคลอดเรียกว่า “ประจำเดือน” ดังนั้น เลือดประเดือนก็คือ เลือดที่เกิดจากกรหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียมที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบเดือนนั่นเอง
  • แต่กรณีที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น และมีการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ก็จะมีการสร้างรกเชื่อมระหว่างตัวอ่อนและผนังมดลูก หลังจากนั้นรกจากตัวอ่อนจะสร้างฮอร์โมนชื่อ ฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้คอร์ปัสลูเทียม คงสภาพอยู่ได้และยังคงสร้างโปรเจนเตอโรนขึ้นมาอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก โปรเจสเตอโรนที่สร้างขึ้นนี้มีผลทำให้ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียมคงสภาพเดิมไม่หลุดลอกออกมา มีออกซิเจน มีเลือดและอาหารมาหล่อเลี้ยงตัวอ่อนและพัฒนาไปเป็นทารกต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นแล้ว ในระยะนี้จะไม่มีการหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูก จึงไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์
  • หลังจากที่ถุงไข่เดิมกลายเป็นคอร์ปัสอัลบิแคนแล้ว ถัดจากนั้นจะมีถุงไข่ใบใหม่จากรังไข่อีกข้างเกิดการโต เพิ่มขนาดและเกิดการตกไข่ต่อไปเป็นวัฏจักรซ้ำเช่นเดิมไปเรื่อยๆ ในแต่ละรอบเดือน
  • โดยปกติหญิงแต่ละรายจะเกิดการตกไข่รอบเดือนละ 1 ฟอง โดยสลับข้างกันเกิดการตกไข่ระหว่างรังไข่ข้างซ้ายและรังไข่ข้างขวา
  • การเปลี่ยนแปลงของถุงไข่ตั้งแต่เกิดการตกไข่จนถุงไข่กลายเป็นเนื้อเยื่อสีขาวที่เรียกว่าคอร์ปัสอัลบิแคนใช้เวลาประมาณ 14 วัน คงที่เท่ากันในหญิงทุกคน ไม่ว่าหญิงแต่ละคนจะมีรอบเดือนห่างกันเท่าไรก็ตาม อาจมีหญิงบางรายที่มีระยะเวลาหลังจากเกิดการตกไข่จนถุงไข่กลายเป็นคอร์ปัสอัลบิแคน น้อยกว่าหรือมากกว่า 14 วัน แต่มักจะอยู่ในระยะ 12-16 วัน ไม่ต่างจากนี้มากนัก
  • จากข้อมูลข้างต้น เราสามารถคำนวณหาวันไข่ตกในแต่ละรอบเดือนได้โดยนับย้อนหลังจากวันสุดท้ายที่คาดว่าจะมีประจำเดือนครั้งถัดไปเข้ามา 14 วัน จะเป็นวันที่คาดว่าจะมีไข่ตกเกิดขึ้นในระหว่างรอบเดือนนั้น

ตัวอย่างการคำนวณหาวันไข่ตก

หญิงรายหนึ่งมีประจำเดือนวันแรกของครั้งล่าสุด คือ วันที่ 1 เมษายน และคาดว่าจะมีประจำเดือนวันแรกของครั้งถัดไป คือวันที่ 1 พฤษภาคม จงคำนวณหาวันที่คาดว่าจะมีไข่ตกในระหว่างรอบเดือนนั้นของหญิงรายนี้

  1. วันที่คาดว่าจะมีประจำเดือนครั้งถัดไป คือ วันที่ 1 พฤษภาคม ดังนั้นวันสุดท้ายของรอบเดือนครั้งถัดไป คือ วันที่ 30 เมษายน
  2. นับจากวันที่ 30 เมษายน ย้อนหลังเข้ามา 14 วัน จะตรงกับวันที่ 17 เมษายน
  3. วันที่คาดกว่าจะมีไข่ตกในระหว่างรอบเดือนนั้นของหญิงรายนี้ คือ วันที่ 17 เมษายน

หาวันไข่ตกไปทำไม?

  1. เพื่อหาระยะปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ไงหล่ะ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระยะที่มีไข่ตก โอกาสตั้งครรภ์สูง เพราะมีไข่มารออยู่แล้วที่บริเวณปีกมดลูก ดังนั้นถ้าไม่อยากตั้งครรภ์ จึงไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ในระยะนี้ จัดเป็นการคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติวิธีหนึ่ง
  2. เพื่อใช้คำนวณหาวันที่ในการเปลี่ยนชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด โดยในกรณีที่จะเปลี่ยนชนิดของยาเม็ดคุมกำเนิด เราควรรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดิมจนถึงวันไข่ตกก่อนจึงหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดเดิม และรอจนมีประจำเดือนครั้งใหม่ จึงเริ่มยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดใหม่ ในวันแรกของประจำเดือน
  3. การเปลี่ยนแปลงของผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียม

ในแต่ละรอบเดือนผนังเยื่อบุโพรงมดลูกหรือเอนโดมีเทียมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของถุงไข่ในรังไข่ดังนี้

  • ในขณะที่ถุงไข่และไข่อ่อนในรังไข่กำลังเจริญเติบโต ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกจะอยู่ในระยะที่มีการเสื่อมสลายหลุดลอก หลอดเลือดฝอยจะแตกออกมีเลือดออกมาปนกับเอนโดมีเทียมที่หลุดลอกนั้นที่เรียกว่า “ประจำเดือน” ขณะที่ถุงไข่และไข่อ่อนยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการหลุดลอกออกไปก็จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนอย่างรวดเร็ว
  • เมื่อการตกไข่ผ่านไปแล้ว ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะไม่เพิ่มจำนวนอีกแต่จะเป็นการเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น มีอาหารออกซิเจนและเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมให้ตัวอ่อนมาฝังตัว แต่กรณีไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นผนังเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะฝ่อและหลุดลอกออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ถัดจากนั้นก็จะเข้าสู่วัฏจักรเดิมซ้ำอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไปในแต่ละรอบเดือน

การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดผนังไข่และผนังเยื่อบุโพรงมดลูกแล้ว แต่ละรอบเดือนยังมีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ของร่างกายอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่

1. ลักษณะของน้ำเมือกหรือตกขาวบริเวณช่องคลอด

  • บริเวณผนังช่องคลอดจะมีการสร้างและหลั่งน้ำเมือกออกมาปกคลุมผนังช่องคลอดตลอดเวลาเพื่อให้ผนังช่องคลอดมีความชุ่มชื้น เราเรียกน้ำเมือกนี้ว่า “ตกขาว” ซึ่งลักษณะตกขาวในหนึ่งรอบเดือนจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนที่หลั่งออกมาในแต่ละช่วง ดังนี้
  • ช่วงก่อนไข่ตก ระยะนี้เป็นช่วงที่ร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง อิทธิพลของเอสโตรเจนจะทำให้ตกขาวมีลักษณะใสและมีปริมาณมากเพื่อทำให้อสุจิผ่านเข้าไปในช่องคลอดได้ง่าย
  • ช่วงหลังจากไข่ตก ระยะนี้ถุงไข่ในรังไข่จะกลายเป็นคอร์ปัสลูเทียม ทำหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมา อิทธิพลของโปรเจนเตอโรนจะทำให้ตกขาวมีลักษณะข้นเหนียวและมีปริมาณน้อย ทำให้อสุจิผ่านเข้าไปในมดลูกได้ยาก
  • เราสามารถใช้การสังเกตลักษณะของน้ำเมือกหรือตกขาวในการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติได้ โดยดูลักษณะของน้ำเมือกที่หลั่งออกมา ดังนี้ ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระยะที่น้ำเมือกมีปริมาณมาก มีลักษณะใส่ ไม่หนืดขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังมีไข่ตก โอกาสตั้งครรภ์จะสูง แต่ถ้ามีเพศสัมพันธ์ในระยะที่ไม่มีน้ำเมือกหรือมีน้อยและน้ำเมือกที่ออกมามีลักษณะเหนียวข้นเป็นก้อน โอกาสตั้งครรภ์จะต่ำ เนื่องจากการตกไข่ผ่านไปแล้ว

2. ต่อมน้ำนม

ระยะก่อนมีประจำเดือนเป็นระยะที่ต่อมน้ำนมถูกกระตุ้นทำให้มีอาการเจ็บคัดเต้านม อาการดังกล่าวจะหายไปหลังจากประจำเดือนมาแล้ว


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Female Reproductive System (for Teens). Nemours KidsHealth. (https://kidshealth.org/en/teens/female-repro.html)
Physiology, Female Reproduction. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK537132/)
Female Reproductive System: Diagram, Functions, Anatomy. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/female_reproductive_system/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป