กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Memory Loss (ภาวะสูญเสียความทรงจำ)

เผยแพร่ครั้งแรก 15 มิ.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไม่รุนแรง มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุและไม่นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่การสูญเสียความทรงจำจากโรคภัยอย่างอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) ถือเป็นโรคร้ายแรง

เมื่ออายุมากขึ้น บางคนอาจรู้สึกว่าตนเองมีความทรงจำขาดหายไปเป็นครั้งเป็นคราว บางคนอาจลืมชื่อของคนที่เพิ่งรู้จัก หรืออาจลืมว่าสิ่งของบางอย่างอยู่ที่ไหน ขณะที่บางคนอาจสังเกตอาการหลงลืมของตนเองได้จากการจดบันทึกเพื่อจำวันนัดหมายมากขึ้น ภาวะสูญเสียความทรงจำที่เกิดจากอายุถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุการเกิดภาวะสูญเสียความทรงจำ

มีปัจจัยมากมายที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียความทรงจำ เช่น

  • ภาวะขาดวิตามิน B12 (Vitamin B12 deficiency)
  • การใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ และยาที่แพทย์จ่ายให้บางตัว
  • การระงับประสาทจากการผ่าตัด
  • การรักษามะเร็ง เช่น เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการปลูกถ่ายไขกระดูก
  • การบาดเจ็บหรือกระทบกระแทกที่ศีรษะ
  • สมองขาดออกซิเจน
  • อาการชักบางประเภท
  • เนื้องอกหรือการอักเสบที่สมอง
  • ภาวะผิดปกติทางจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) จิตเภท (Schizophrenia) และโรคหลายบุคลิก (Dissociative disorder)
  • การประสบเหตุร้ายแรงทางจิตใจ
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  • การบำบัดด้วยการกระตุ้นไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy)
  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack (TIA))
  • โรคที่ทำให้ประสาทเสื่อมลง เช่น โรคฮันทิงตัน (Huntington’s disease) โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis (MS)) หรือโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
  • โรคไมเกรน (Migraine)
  • การนอนหลับไม่เพียงพอ

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?

ควรปรึกษาแพทย์ทันทีที่ภาวะสูญเสียความทรงจำเริ่มส่งผลต่อกิจกรรมประจำวัน ความปลอดภัยในชีวิต และเริ่มเกิดร่วมกับอาการทางร่างกายอื่นๆ เพราะภาวะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้โรคและภาวะต่างๆ ทำให้อาการนี้ทรุดลง

การวินิจฉัยภาวะสูญเสียความทรงจำโดยแพทย์

แพทย์อาจใช้คำถามทดสอบความจำพร้อมกับตรวจร่างกายทั้งหมด รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับอาการทางร่างกายต่างๆ เมื่อได้รับผลการทดสอบแล้ว แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยต่อไปยังนักประสาทวิทยา อายุรแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติมตามสาเหตุของโรค เช่น

  • การวัดความสามารถในการคิด
  • การตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบภาวะต่างๆ เช่น ภาวะขาดวิตามิน B12 และโรคไทรอยด์
  • การถ่ายภาพ เช่น การถ่ายภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging (MRI)) หรือการสแกนคอมพิวเตอร์ (Computed Tomography (CT) Scan)
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram (EEG)) เพื่อวัดกิจกรรมทางไฟฟ้าของสมอง
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal Tap)
  • การฉีดสีหลอดเลือดสมอง (Cerebral Angiography) เป็นการเอกซเรย์การไหลเวียนของเลือดผ่านสมอง

การวินิจฉัยภาวะสูญเสียความทรงจำ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญอันดับแรก เพราะภาวะทางการแพทย์หลายชนิดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียความทรงจำขึ้น ขณะเดียวกันภาวะทางการแพทย์หลายชนิดก็สามารถรักษาให้หายได้หากมีการตรวจพบเร็ว

การรับมือกับภาวะสูญเสียความทรงจำ

การรับมือกับภาวะสูญเสียความทรงจำ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. การรับมือกับภาวะสูญเสียความทรงจำของตนเอง หากคุณมีภาวะสูญเสียความทรงจำมากกว่าที่เคยเป็น การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตง่ายๆ เพียงเล็กน้อยก็สามารถช่วยให้ดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เช่น
    • จดบันทึกงานบ้าน และงานอื่นๆ ที่ต้องทำ
    • ใช้รายการเช็คลิสต์เกี่ยวกับยาที่คุณต้องรับประทานพร้อมกับเวลาที่ต้องใช้ บางคนอาจเปลี่ยนไปใช้กล่องใส่ยาตามวันเพื่อช่วยให้จำได้ว่าวันหนึ่งต้องใช้ยาอะไรบ้าง
    • จัดบ้านให้ง่ายต่อการดูแล
    • เข้าร่วมสังคมให้มากขึ้นและทำงานอดิเรกที่คุณสนุกและชื่นชอบที่สุด
    • หากภาวะสูญเสียความจำของคุณรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์และขอให้บุคคลที่คุณไว้ใจไปด้วย
  2. การรับมือกับภาวะสูญเสียความทรงจำของบุคคลอันเป็นที่รัก การที่ต้องเห็นคนที่คุณรักทรมานกับภาวะสูญเสียความทรงจำเป็นเรื่องที่ลำบากมาก แต่คุณก็สามารถช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะสูญเสียความทรงจำที่เกิดขึ้น เช่น
    • แนะนำให้บุคคลดังกล่าวไปพบแพทย์ หากภาวะสูญเสียความจำเริ่มรบกวนการทำงานในชีวิตประจำวันมากขึ้น และคุณก็ควรไปพบแพทย์พร้อมกับผู้ป่วย
    • คอยติดตามการใช้ยาให้ผู้ป่วย
    • คอยตรวจสอบสิ่งที่บุคคลดังกล่าวต้องทำในสมุดบันทึก และตรวจสอบเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่เสมอ
    • คอยจัดให้สิ่งของสำคัญอยู่ในสายตาของผู้ป่วย
    • ติดโน้ตรอบบ้านเป็นตัวช่วยจำสิ่งต่างๆ
    • ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมให้มากขึ้น
    • ใช้ภาพถ่ายหรือของสำคัญของครอบครัวกระตุ้นความจำ
    • จัดให้มีคนอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่บ้าน หากภาวะสูญเสียความทรงจำของบุคคลดังกล่าวมีความรุนแรงมาก ควรเลือกใช้บริการผู้ดูแลตามบ้านหรือศูนย์ดูแล
    • ใช้ความอดทนให้มาก และอย่าคิดมากกับผู้ที่มีภาวะสูญเสียความทรงจำ พึงจำไว้เสมอว่าพวกเขาเองก็ไม่ต้องการให้ตนเองอยู่ในสถานการณ์นี้เช่นกัน

7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
mayoclinic, Memory loss: 7 tips to improve your memory (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/healthy-aging/in-depth/memory-loss/art-20046518), 16 Jan 2019.
Erica Hersh, Short Term Memory Loss: Symptoms, Diagnosis, Treatment, and More (https://www.healthline.com/health/short-term-memory-loss), 30 November 2018.
Ann Pietrangelo, Memory Loss (https://www.healthline.com/health/memory-loss#1), 25 February 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)