โรคเกาต์เกิดขึ้นได้อย่างไร อาหารอะไรที่ควรงด

รู้จักโรคที่มาพร้อมกับความเจ็บปวดและการอักเสบตามข้อ เพียงปรับพฤติกรรมการรับประทานและการใช้ชีวิตก็ห่างไกลจากโรคนี้ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
โรคเกาต์เกิดขึ้นได้อย่างไร อาหารอะไรที่ควรงด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่ง เกิดจากร่างกายขจัดกรดยูริก (Uric acid) ออกไม่หมด จึงมีกรดยูริกอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ
  • กรดยูนิกสามารถสะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้หลายจุด แต่ละจุดส่งผลต่อร่างกายต่างกัน ดังนี้ หากสะสมที่ข้อทำให้เกิดอาการข้อต่ออักเสบ ปวด บวมแดง หากสะสมที่ผิวหนังทำให้เกิดปุ่มนูนที่ผิวหนัง และหากสะสมที่ไตทำให้เกิดนิ่วในไต 
  • สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ เช่น พันธุกรรม น้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนมากเกินไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก   
  • การตรวจไม่พบว่า "กรดยูริกสูงก็ไม่ได้ยืนยันว่า ปลอดภัยจากโรคเกาต์" ในทางกลับกันการที่กรดยูริกสูงก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโรคเกาต์เสมอไป
  • โรคเกาต์สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำสะอาด (ดูแพ็กเกจตรวจกระดูกและข้อได้ที่นี่)

โรคเกาต์ (Gout) เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชาย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อฉับพลัน ข้อแข็ง และบวม ส่วนมากมักเป็นบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า 

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการของโรคเกาต์ก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออื่นๆ ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของโรคเกาต์

โรคเกาต์เกิดจากร่างกายขจัดกรดยูริก (Uric acid) ออกไม่หมด จึงมีกรดยูริกอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ เรียกว่า "ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia)" 

เมื่อระยะเวลาผ่านไป กรดยูริกจะเกิดการตกตะกอน สะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการอักเสบได้

ตัวอย่างผลกระทบเมื่อกรดยูริกสะสมในอวัยวะต่างๆ มากเกินไป

กรดยูนิกอาจสะสมอยู่ในจุดที่ต่างกันและจะส่งผลต่อร่างกายต่างกัน ดังต่อไปนี้

  • ถ้ากรดยูริกสะสมมากที่ข้อต่อ จะทำให้เกิดอาการข้อต่ออักเสบ ปวด แดง และร้อนบริเวณข้อต่อ
  • ถ้ากรดยูริกสะสมอยู่ตามผิวหนัง จะส่งผลให้เกิดปุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง
  • ถ้ากรดยูริกสะสมที่ไต จะทำให้เกิดโรคนิ่วในใตและเกิดอาการไตเสื่อม

ปัจจุบันสาเหตุของภาวะกรดยูริกในเลือดสูงยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรม นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของกรดยูริกโดยตรง ได้แก่

  • น้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน
  • รับประทานอาหารที่มีสารพิวรีน (Purine) สูง เช่น เนื้อสัตว์ปีก อาหารทะเล เนื่องจากเมื่อร่างกายรับสารพิวรีนเข้าไปสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • ยาบางชนิดที่อาจเพิ่มระดับของกรดยูริก เช่น แอสไพริน (Aspirin) ไนอาซิน (Niacin) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
  • ความเจ็บป่วย หรือสภาวะทางการแพทย์บางประการ เช่น การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว โรคความดันโลหิตสูง

กรดยูริกคืออะไร?

กรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากร่างกาย โดยร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองถึง 80% ส่วนอีก 20% ที่เหลือ ได้มาจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนเข้าไป โดยสารพิวรีนสามารถพบได้ในอาหารจำพวกสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง

กรณีที่ร่างกายมีกรดยูริกมากเกินไป

ร่างกายจะขับกรดยูริกที่เกินความจำเป็นทางปัสสาวะ แต่ในร่างกายของบางคนไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมดจึงเกิดการสะสมกรดยูริก โดยเฉพาะบริเวณกระดูก ผนังหลอดเลือด และไต

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกไปได้หมด เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะเกิดการตกตะกอนของกรดยูริกเป็นจำนวนมาก และทำให้กลายเป็นโรคเกาต์นั่นเอง

อาการของโรคเกาต์

  • อาการปวดแดงเฉียบพลัน โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุดและไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า
  • จุดที่จะแสดงอาการก่อนส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ได้แก่ นิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า และข้อเข่า
  • หลังจากเวลาผ่านไปในวันที่สอง อาการปวดก็จะเบาบางลง
  • ปกติแล้วจะหายปวดภายใน 5-7 วัน หลังเกิดอาการ

อาการที่เด่นชัดของโรคเกาต์

“โพดากร้า (Podagra)” คือ อาการอักเสบของข้อที่นิ้วหัวแม่เท้า ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดรวมถึงสังเกตได้ว่า ข้อเท้ามีอาการบวมแดง และร้อน อาการปวดมักจะเริ่มต้นในช่วงกลางคืน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของโรคเกาต์ 

ผลข้างเคียงที่ส่งผลกระทบกับอวัยวะภายในได้แก่

  • โรคเกาต์เรื้อรัง
  • โรคนิ่วในไต เกิดจากการตกผลึกของกรดยูริก
  • โรคไตวาย เนื่องจากผลึกกรดยูริกฉุดกั้นการกรองปัสสาวะ

การวินิจฉัยโรคเกาต์

โรคเกาต์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก เนื่องจากอาการปวดข้อของโรคเกาต์มีลักษณะคล้ายกับหลายๆ โรค หากอยู่ดีๆ เกิดการปวดกำเริบขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยโรคเกาต์ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

1. การตรวจน้ำไขข้อ 

ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคเกาต์ แพทย์จะฉีดยาชาเข้าสู่บริเวณที่ต้องการตรวจ ก่อนแทงเข็มเข้าไปที่ช่องว่างภายในข้อเพื่อดูดน้ำไขข้อบางส่วนออกมา (น้ำไขข้อมีลักษณะข้น สีใส) 

จากนั้นจะนำตัวอย่างที่ได้ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งนักเทคนิคการแพทย์จะตรวจสอบน้ำไขข้อเพื่อหาสัญญาณของโรค เช่น ตรวจว่ามีระดับกรดยูริกสูงหรือไม่ ตรวจว่ามีกรดยูริกตกผลึกอยู่หรือไม่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. การตรวจกรดยูริกในเลือด 

เนื่องจากกรดยูริกเป็นสารเคมีที่พบได้ในกระแสเลือด ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ส่วนมากมักมีกรดยูริกในกระแสเลือดมากกว่าปกติ

แม้การตรวจระดับกรดยูริกในเลือดจะเป็นการวินิจฉัยโรคเกาต์ที่ดี แต่การที่ตรวจไม่พบว่า "กรดยูริกสูงก็ไม่ได้ยืนยันว่า ปลอดภัยจากโรคเกาต์" ในทางกลับกันการที่กรดยูริกสูงก็ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นโรคเกาต์เสมอไป 

อย่างไรก็ตาม หากตรวจแล้วพบว่า "มีกรดยูริกต่ำก็ขอให้สบายใจได้ เนื่องจากโดยส่วนมากแล้วหมายความว่า คุณไม่ได้เป็นโรคเกาต์"

3. การตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ 

หากได้รับการวินิจฉัยว่า "เป็นโรคเกาต์" แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจกรดยูริกในปัสสาวะ เพื่อติดตามการเกิดนิ่วในไต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเก๊าต์ในผู้ป่วยบางราย

การรักษาโรคเกาต์

เป้าหมายของการรักษาโรคเกาต์ คือ การบรรเทาอาการปวดให้หายไปอย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ รวมถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสียหายของข้อต่อและไต 

ส่วนวิธีการรักษา จะรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงการใช้ยาเพื่อป้องกันการกำเริบของโรคเกาต์ในอนาคต

การรักษาโรคเกาต์ในระยะแรก

การรักษาโรคเกาต์ในระยะแรกสามารถทำได้หลายวิธี แต่ควรทำวิธีต่างๆ ร่วมกันเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ
  • งดรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดกรดยูริกปริมาณสูงในกระแสเลือด
  • งดดื่มแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้มากขึ้น
  • การดื่มนมสดสามารถช่วยลดระดับกรดยูริกในร่างกายได้

กรณีที่ผู้ป่วยรักษาและดูแลตัวเองในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังมีอาการกำเริบมากกว่า 2-3 ครั้งต่อปี อาจต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับยาลดกรดยูริกเป็นกรณีพิเศษ

การรักษาโรคเกาต์แบบเฉียบพลัน

  • พักการใช้ข้อที่มีภาวะอักเสบ
  • ใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม
  • ใช้ยาแก้ปวดทันทีที่อาการของโรคเกาต์กำเริบ ได้แก่ 
    • ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs: NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพร็อกเซน (Naproxen) และแอสไพริน (Aspirin
    • ยาโคลชิซีน (Colchicine
    • ยาสเตียรอยด์แบบรับประทาน (Oral corticosteroids)

อาหารที่คนเป็นโรคเกาต์ควรงด

อาหารที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีสารพิวรีนสูง ได้แก่

  • เห็ด
  • เนื้อสัตว์ปีกทุกชนิด
  • เครื่องในสัตว์ทุกชนิด
  • ไข่ปลา
  • ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน
  • กุ้ง
  • ผักชะอม ผักกระถิน ผักสะเดา
  • กะปิ
  • น้ำต้มกระดูก
  • ซุปก้อน

ยาที่ใช้รักษาโรคเกาต์ 

มียาหลายชนิดที่สามารถใช้รักษาโรคเกาต์เมื่ออาการกำเริบ ส่วนมากมักเป็นยาแก้อักเสบซึ่งจะช่วยลดอาการปวด บวม และลดการอักเสบ ชนิดของยาแก้อักเสบที่ใช้บ่อยคือ ยาในกลุ่ม NSAIDs ซึ่งบางตัวจำเป็นต้องใช้ใบสั่งยา ไม่สามารถซื้อได้ด้วยตัวเอง

ยารักษาโรคเกาต์ที่สามารถซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์ (Steroids)

ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้ทั้งในรูปแบบกิน หรือใช้ฉีดเข้าข้อ ประกอบด้วย

ยารักษาโรคเกาต์บางตัวสามารถลดระดับกรดยูริกในกระแสเลือดได้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มต่อไปนี้ในระยะยาวหากโรคเกาต์กำเริบ 

ยาที่สามารถลดระดับกรดยูริกได้

ยาที่สามารถลดระดับกรดยูริกได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนรับยา รายชื่อยามีดังต่อไปนี้

  • Probalan (Probenecid)
  • Cozaar (losartan)
  • Aloprim หรือ Zyloprim (allopurinol)
  • Uloric (Febuxostat)
  • Zurampic (lesinurad)
  • Krystexxa (Pegloticase)

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

โรคเกาต์สามารถกลับมาเป็นซ้ำ หรือกำเริบได้ ฉะนั้นควรปฏิบัติตนให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการกำเริบของโรค ดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน โดยเฉพาะยาที่ช่วยลดระดับกรดยูริก
  • ดูแล รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง
  • หลีกเลี่ยง หรือจำกัดอาหารที่มีสารพิวรีน หรือกรดยูริกสูง
    ตัวอย่างอาหารที่มีสารพิวรีน หรือกรดยูริกน้อย เช่น ธัญพืชชนิดเต็มเมล็ด ซีเรียล นม (ควรดื่มนมพร่องมันเนยเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไขมันในเลือดสูง) ไข่ขาว และปลาน้ำจืด
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อขับกรดยูริกออกจากร่างกาย และช่วยไม่ให้กรดยูริกตกตะกอนจนเกิดเป็นนิ่วในไต
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • เมื่อปวดข้อมาก ให้ประคบเย็นในตำแหน่งที่ปวดร่วมกับรับประทานยาบรรเทาปวด
  • หลีกเลี่ยงการใช้งานและการลงน้ำหนักข้อที่เกิดโรค
  • ระมัดระวังการกินยาต่างๆ โดยควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรก่อน
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆ แย่ลง ผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลเกี่ยวกับอาการ
  • ปัจจุบันยังไม่มีการรองรับทางการแพทย์ว่า สมุนไพรสามารถใช้รักษาโรคเกาต์ให้หายขาดได้

โรคเกาต์เทียม (Pseudogout) แตกต่างจากโรคเกาต์อย่างไร?

โรคเกาต์เทียมเป็นโรคที่มักทำให้เกิดความสับสนกับโรคเกาต์ และโรคข้ออื่นๆ ดังนั้นการวินิจฉัยโรคที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมที่ไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดการเสื่อมของข้ออย่างรุนแรง มีการอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่ความพิการได้

10 ประเด็นสำคัญของโรคเกาต์เทียมที่ควรรู้ 

1. โรคเกาต์เทียมมีความคล้ายคลึงกับโรคเกาต์ เกิดขึ้นจากการสะสมผลึกที่ต่างกัน 

โรคเกาต์เทียม คือ ภาวะที่เกิดจากการที่มีผลึกเกลือชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า "แคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรต (Calcium pyrophosphate dihydrate: CPPD)" สะสมภายในข้อและเนื้อเยื่อรอบข้อ ในขณะที่โรคเกาต์เกิดจากการสะสมของผลึกยูริกภายในข้อ

2. โรคเกาต์เทียมอาจมีอาการเหมือนโรคข้อเสื่อมและข้ออักเสบรูห์มาติก เช่นเดียวกับโรคเกาต์

ผู้ป่วยที่มีการสะสมของผลึกแคลเซียมไพโรฟอสเฟตไดไฮเดรตประมาณ 25% จะเกิดโรคที่เรียกว่า "โรคเกาต์เทียม" แต่ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาการเหมือนโรคข้ออื่นๆ

มีผู้ป่วยประมาณ 5% ที่อาจมีอาการคล้ายกับที่เกิดในโรคข้ออักเสบรูห์มาติก และอีกประมาณ 50% อาจมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคข้อเสื่อมได้

3. โรคเกาต์เทียมมักเกิดขึ้นที่ข้อเดียว โดยเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง 

ถึงแม้ว่าเวลาที่โรคเกาต์เทียมกำเริบอาจมีอาการรุนแรงคล้ายกับโรคเกาต์ แต่ก็มักจะปวดน้อยกว่า โดยมีอาการดังนี้ 

  • ปวดได้นานตั้งแต่หลายวันจนถึง 2 สัปดาห์
  • อาจมีไข้ตามมาได้
  • มักเกิดขึ้นได้เอง หรืออาจเกิดตามหลังการเจ็บป่วยรุนแรง การผ่าตัด หรือการได้รับอุบัติเหตุ
  • ทำให้กระดูกอ่อนและข้อต่อถูกทำลายและแย่ลงเรื่อย ๆ หลังจากมีอาการกำเริบได้หลายปี

4. เกือบครึ่งของโรคเกาต์เทียมเกิดขึ้นที่ข้อเข่า

โรคเกาต์เทียมมักจะเกิดที่เข่า ในขณะที่โรคเกาต์มักจะเกิดที่นิ้วโป้งเท้า อย่างไรก็ตาม โรคเก๊าต์เทียมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกข้อ รวมถึงนิ้วโป้งเท้าด้วยเช่นกัน

5. ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเกาต์เทียม แต่ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น

การเกิดผลึกสะสมในข้อที่ทำให้เกิดโรคเกาต์เทียมนี้เกิดขึ้นในประชากรประมาณ 3% ของผู้ที่มีอายุประมาณ 60 ปี โดยสัดส่วนของจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 50% ในผู้ที่มีอายุ 90 ปี และโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้เท่ากันทั้งผู้ชายและผู้หญิง

6. ผู้ป่วยโรคเกาต์เทียมบางส่วนมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมาก่อน

นอกจากปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมแล้ว ปัจจัยอื่นที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคประกอบด้วย

  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากไป (Hyperparathyroidism)
  • ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis)
  • ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานน้อยไป (Hypothyroidism)
  • ภาวะแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis)
  • ภาวะพร่องแมกนีเซียมในเลือด  (Hypomagnesemia)
  • ภาวะฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatasia)

7. การส่งตรวจที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเกาต์เทียมคือ การส่งตรวจน้ำในข้อ

ทำได้โดยการดูดน้ำจากข้อที่มีอาการและนำมาส่องหาผลึกลักษณะรูปแท่ง หรือรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ซึ่งจะทำให้สามารถยืนยันการวินิจฉัยโรคได้ 

หรือหากตรวจพบด้วยการเอกซเรย์ว่า มีแคลเซียมสะสมที่กระดูกอ่อน และภายในข้อ (Chondrocalcinosis) ก็สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้เช่นกัน 

นอกจากนี้อาจพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นโรคข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น

8. ยังไม่มีการรักษาโรคเกาต์เทียมให้หายขาด แต่มีวิธีการรักษาที่สามารถควบคุมอาการได้

  • โรคเกาต์เทียมสามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา 
  • แพทย์มักจ่ายยาแก้อักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อควบคุมอาการปวดและการอักเสบเมื่อโรคเกาต์เทียมกำเริบ 
  • บางครั้ง แพทย์อาจใช้ยาโคลชิซีนร่วมกับ NSAID ปริมาณน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้กำเริบในครั้งหน้า 
  • สามารถฉีดคอร์ติโซน (Cortisone) เข้าในข้อที่อักเสบเพื่อควบคุมอาการปวดและการอักเสบได้เช่นกัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นได้ 
  • การผ่าตัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาของผู้ป่วยที่มีการทำลายของข้ออย่างรุนแรง

9. เนื่องจากคนส่วนมากมักสับสนระหว่างโรคเกาต์เทียมกับโรคข้ออักเสบอื่นๆ ดังนั้นจึงควรเข้ารับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ

เนื่องจากลักษณะของโรคเกาต์เทียมมีความคล้ายคลึงกับโรคข้ออักเสบชนิดอื่น ดังนั้นจึงควรพบผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อ (Rheumatologist) เพื่อวินิจฉัย เพราะการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว จะทำให้มีโอกาสในการป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายข้ออย่างรุนแรงได้

10. อาหารไม่มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคเกาต์เทียมและการเปลี่ยนอาหารก็ไม่ได้ช่วยควบคุมอาการของโรค

ถึงแม้ว่า ผลึกที่มีการสะสมในโรคเกาต์เทียมจะมีส่วนประกอบของแคลเซียม แต่การรับประทารอาหารที่มีแคลเซียมจำนวนมากก็ไม่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นให้เกิดโรคเกาต์เทียม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเกาต์

นอกจากข้อมูลข้างต้นแล้ว เรายังได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเกาต์และได้รับการตอบโดยแพทย์มาฝากกัน ดังต่อไปนี้

คำถาม: อาการปวดเข่าเวลาเดิน หรือนั่งพับเพียบแล้วเจ็บจี๊ดๆ เหมือนกระดูกจะลั่น เป็นอาการของโรคเกาต์หรือไม่?

คำตอบ: จากอาการที่เล่ามาลักษณะคล้ายกับโรคเข่าเสื่อมมากกว่า โรคเข่าเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณข้อต่อ ทำให้ผิวข้อต่อขรุขระ เวลาเดินจึงรู้สึกปวด ร่างกายจึงสร้างกระดูกข้อมาใหม่ เกิดเป็นกระดูกงอก ทำให้เวลาเดินจะรู้สึกขัดๆ ปวดๆ หรือมีเสียงดังลั่นในเข่า 

ในระยะแรก ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดตื้อ หรือตุ๊บๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเริ่มขยับใช้งานข้อ โดยเฉพาะข้อที่ต้องรับน้ำหนักตัว 

ต่อมาในระยะท้ายๆ ของการดำเนินโรค อาการปวดจะคงอยู่แม้ในขณะพัก อาจมีข้อบวมเป็นพักๆ และรู้สึกว่า กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง หรือมีอาการเข่าทรุด หรือเข่าผิดรูปได้ แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์ศัลยกรรมกระดูกเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่นๆ (ตอบโดย พญ. Witchuda Onmee) 

คำถาม:อยากทราบว่า ผู้ป่วยโรคเกาต์ซื้อยาจากร้านขายยามากินเอง โดยที่ไม่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเลย เมื่อถึงเวลาที่โรคมีความรุนแรงขึ้น จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างไร?

คำตอบ: ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเกาต์ และไปซื้อยามารับประทานเองจะมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากคุณจะไม่ได้รับการตรวจติดตามอาการ เช่น ระดับกรดยูริกในเลือด ข้ออักเสบที่กำเริบหลายๆ ครั้ง และจะทำให้มีการเสื่อมของข้อตามมาได้ในที่สุด (ตอบโดย นพ. กิตติศัพท์ สินน้อย)

คำถาม: อาการปวดบริเวณข้อที่นิ้วเท้าเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเกาต์ใช่ไหม?

คำตอบ: โรคเกาต์มีอาการปวดบริเวณข้อที่เท้าได้ เป็นอาการที่พบบ่อย แต่จะเป็นอาการปวดมาก มีบวม แดง ร้อนบริเวณข้อที่เป็นเกาต์ อย่างไรก็ตาม อาการปวดบริเวณที่ข้อนิ้วเท้าไม่ได้บ่งบอกแน่ชัดว่าเป็นเกาต์

สาเหตุที่พบได้บ่อยกว่า คือ อาการปวดจากข้อเสื่อม หรืออาการปวดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดมากตลอด รับประทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมจะดีกว่า (ตอบโดย Dr. Rattapon Amampai)

คำถาม: เจ็บที่ข้อเท้า เป็นเพราะเส้นเอ็นอักเสบ หรือโรคเกาต์คะ?

คำตอบ: ถ้ามีอาการปวด บวม แดง ร้อนรอบๆ ข้อ อาจเกิดจากข้ออักเสบ ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง (ตอบโดย นพ. กิตติศัพท์ สินน้อย)

โรคเกาต์สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีพิวรีนให้น้อยลง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

นอกจากนี้ควรใช้ยาทุกชนิดภายใต้การดูแลของแพทย์ พักผ่อนใ้หเพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

ดูแพ็กเกจตรวจกระดูกและข้อ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
MedlinePlus (https://medlineplus.gov/gout.html), 30 March 2019.
Chan E, House ME, Petrie KJ, et al. Complementary and Alternative Medicine Use in Patients With Gout: A Longitudinal Observational Study. Journal of Clinical Rheumatology, 30 March 2019.(https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24356480), 30 March 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
10 ข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์เทียม (Pseudogout)
10 ข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์เทียม (Pseudogout)

โรคเกาต์เทียมแตกต่างจากโรคเกาต์อย่างไร เกิดจากสาเหตุเดียวกันใช่หรือไม่

อ่านเพิ่ม