กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

โรคไข้สมองอักเสบ

โรคติดเชื้อที่สมองสุดอันตราย รักษาไม่ทันอาจเสียชีวิต บางรายแม้รักษาหายแต่ก็มีโอกาสพิการสูง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 มิ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
โรคไข้สมองอักเสบ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบมากในเด็กเล็กและพบได้ในผู้ใหญ่ สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่สมองมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส สำหรับทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส
  • โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี (Japanese encephalitis: JEV) เป็นการติดเชื้อเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงที่สุด บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้ บางรายแม้จะหายป่วยแต่ก็อาจมีความพิการทางสมอง หรือสติปัญญาลดลง 
  • บางรายที่ภูมิต้านทานดีก็อาจไม่ป่วยเลยก็ได้ หรือมีอาการป่วยเล็กน้อย แต่ในรายที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่จะมีอาการทางสมองเกิดขึ้น เช่น ไข้สูง ชักทั้งตัว ซึม หมดสติ ปอดบวม ติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ มีแผลกดทับ
  • ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ นอกจากการรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น ลดสมองบวม ให้น้ำเกลือในช่วงที่ผู้ป่วยรับประทานไม่ได้เอง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น หายใจเองไม่ได้ การสำลักอาหารและเสมหะเข้าปอด
  • วิธีป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีที่ดีที่สุด นอกจากป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำนหด ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนขึ้นไป 
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรค  

โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคติดเชื้ออันตราย ถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ บางรายแม้รักษาหายจริงแต่ก็อาจมีความพิการทางสมองตามมา เช่น ระดับสติปัญญาลดลง ระดับ IQ ต่ำลง

รู้จักโรคไข้สมองอักเสบ

ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบมากในเด็กเล็กและพบได้ในผู้ใหญ่ ปัจจุบันโรคนี้แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย อาการสำคัญเมื่อติดเชื้อได้แก่ กล้ามเนื้อลีบฝ่อ อ่อนแรง มีความรู้สึกตัวลดลง เกิดการอักเสบในเนื้อสมองทั่วไป หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุการเกิดโรคไข้สมองอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่สมองมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส รวมทั้งเกิดจากการอักเสบได้ สำหรับทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส 

แม้เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่สมองจะมีหลายชนิด แต่ชนิดที่มีความรุนแรงที่สุด อาจนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตได้คือ เชื้อไวรัสเจอี (Japanese encephalitis: JEV)

โรคไข้สมองอักเสบเจอี

โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี เชื้อนี้มักพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู วัว ควาย หากยุงไปกัดหมูตัวที่มีเชื้อไวรัสเข้าแล้วไปกัดคนต่อ คนๆ นั้นก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเจอีได้ ส่วนความรุนแรงของโรคก็ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันที่มีในแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม โรคไข้สมองอักเสบเจอีจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่จะติดต่อด้วยพาหะคือ “ยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus)" ดังนั้นจึงมักพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม)

โรคไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทยพบประปรายทั่วทุกภาค แต่พบมากสูงสุดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย อุตรดิตถ์ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุบลราชธานี 

ส่วนภาคกลางพบในหลายจังหวัด เช่น นครปฐม ราชบุรี ลพบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี รวมทั้งชานเมืองกรุงเทพมหานคร พบมากแถวพระโขนง บางกะปิ บางเขน หนองจอก ส่วนทางภาคใต้สามารถพบได้ประปรายเช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอีพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 1-25 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 5-9 ปี อายุ 1-4 ปี อายุ 10-14 ปี และอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ส่วนอายุเกิน 45 ปี หรือน้อยกว่า 1 ปี นั้นพบได้น้อย

อาการของโรคไข้สมองอักเสบเจอี

บางรายที่ภูมิต้านทานดี แม้จะถูกยุงที่เป็นพาหะนำโรคกัดแต่ก็อาจไม่ป่วยเลยก็ได้ หรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่ในบางรายที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่จะมีอาการทางสมองเกิดขึ้น 

อาการของโรคแบ่งเป็นระยะ 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะอาการนำ ระยะนี้กินเวลา 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีอาการคล้ายหวัด ไอ เบื้ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ชาตามมือ เท้า

ระยะที่ 2 ระยะสมองอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไข้สูง อาการชักทั้งตัว พบบ่อยในเด็ก และผู้ใหญ่ ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ระดับน้อยจนมากคือ แค่ซึม หลับ หรืออาจจะกระตุ้นไม่ฟื้น จนถึงระดับโคม่า ช่วงนี้จะกินเวลา 3-4 วัน 

ถ้ามาโรงพยาบาลอาจตรวจพบอาการสมองส่วนบน ได้แก่ เขี่ยหัวแม่เท้าจะกระดกขึ้น รีเฟล็กซ์ที่เคาะบริเวณเข่าและข้อพับ แขนจะเร็วกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของแขนขา 2 ข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากสมองบวมและอักเสบ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

มักพบอาการคอแข็ง จากการที่มีกาอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย หรืออาจมีการยิ้มปากเบี้ยว หรือกลอกตาไม่ได้เต็มที่ จากการอัมพาตของประสาทสมองคู่ต่างๆ บริเวณก้านสมอง

ถ้ามีการกดของสมองมากจะทำให้แขนขาอ่อนปวกเปียก การตรวจรีเฟล็กซ์ไม่ขึ้นตามปกติ และหยุดหายใจได้ ถือเป็นระยะรุนแรง

การเจาะน้ำไขสันหลัง ช่วงนี้จะพบมีความดันในน้ำไขสันหลังสูงและมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แต่จะมีระดับน้ำตาลปกติ และโปรตีนในน้ำไขสันหลังสูงขึ้นเล็กน้อย การตรวจเลือดอาจพบมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เช่น เดียวกันระยะนี้ถ้าอาการรุนแรงอาจมีระดับความรู้สึกตัวเลวลงเรื่อยๆ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 10 วัน

ระยะที่ 3 ระยะต่อจากระยะเฉียบพลันเป็นช่วง 7-10 วันต่อมา ความรุนแรงของโรคน้อยลง แต่จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดบวม ติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ มีแผลกดทับ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 4 ระยะพักฟื้น ช่วงนี้อยู่ในระยะเวลาเฉลี่ย 4-7 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่เหมือนเด็กหัดใหม่ เช่น การฝึกเดิน ฝึกพูด ความเข้าใจ ความสามารถในการกลืนจะค่อยๆ ดีขึ้นตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาจฟื้นจากการอัมพาตของแขนขา และสามารถเดินได้ พูดได้ แต่ความคิดอาจจะช้าลง 

การตอบสนองต่างๆ ไม่เหมือนปกติ หรือมีอาการรุนแรง อาจต้องให้อาหารทางสายยางเป็นเวลานานๆ หรือเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ มีอาการเกร็งตลอดเวลา มีความพิการทางสมองอย่างมากถึงขั้นระดับสติปัญญาลดลง ระดับ IQ ลดลง

การวินิจฉัยของโรคนี้กระทำได้โดยอาศัย

  • ประวัติและอาการดังกล่าวมาแล้ว มักต้องทราบถึงสิ่งแวดล้อมข้างเคียง เช่น บ้านอยู่ใกล้ทุ่งนา หรือเลี้ยงหมูในบริเวณบ้านหรือใกล้บ้าน รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ เช่น วัว ควาย ม้า
  • การตรวจน้ำไขสันหลังมักพบเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง ระดับน้ำตาลปกติ ระดับโปรตีนสูงกว่าปกติเล็กน้อย จนถึงสูงมาก
  • การตรวจเลือดมักพบเม็ดเลือดขาวสูง
  • การหาระดับแอนติบอดีในน้ำไขสันหลังในช่วงเฉียบพลันโดยวิธีพิเศษ และการทำแอนติบดีในเลือด 2 ครั้ง ห่างกัน 10-14 วัน วันแรกตอนระยะเฉียบพลัน
  • คนไข้ที่มีอาการทางสมอง จะมีการเจาะเอาน้ำช่วงเยื่อหุ้มสมองมาตรวจ

การวินิจฉัยแยกโรคควรแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อาจเกิดตามหลังเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นแดงตามตัว เช่น หัด อีสุก อีใส หรือตามหลังคางทูมและเชื้อไวรัสอื่น ๆ

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ

ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคดีจะสามารถหายขาดจากโรคนี้เองได้ เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถกำจัดได้ด้วยภูมิต้านทานโรคของตนเอง หากมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ นอกจากการรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น ลดสมองบวม ให้น้ำเกลือ ในช่วงทีรับประทานไม่ได้เอง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น 

ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น หายใจเองไม่ได้ การสำลักอาหารและเสมหะเข้าปอด แผลกดทับ แต่หากมีอาการรุนแรงมากอาจต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU

เมื่อสมองฟื้นกลับมา หายใจเองได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อ และการฝึกทักษะต่างๆ ให้กลับคืนมา

การพยากรณ์โรค

อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเจอีสูงถึง 17-38% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตนั้นพบความพิการทางสมอง 57-68.5% ซึ่งเป็นความพิการทางสมองรุนแรงถึง 18%

  • ความพิการทางสมองรุนแรง ได้แก่ การช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อัมพาตของแขนขา พูดไม่ได้ บางรายมีอัมพาตของประสาทสมอง ตาบอด บางรายมีอาการลมบ้าหมู
  • ความพิการทางสมองน้อย หรือปานกลาง อาจมีการอัมพาตของแขนขาอยู่ระยะหนึ่งแล้วดีขึ้น แต่อาจพูดไม่ได้ หรือความจำเสื่อม การเรียนเลวลง หรือเรียนช้า การเขียนหนังสืออาจจะทำไม่ได้ หรือไม่ดีเท่าที่ควรเป็น เพราะความสามารถในการใช้มือที่ละเอียดนั้นทำไม่ได้

ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมคือ มีอารมณ์รุนแรง โกรธง่าย ทุบตี ทำร้ายผู้อื่น พูดจาหยาบคาย หรือมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ

การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ

แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราการเกิดโรคต่ำกว่าโรคติดต่อชนิดอื่นที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาเลเรีย แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงและอัตราความพิการสูงมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจทำได้โดย

  • การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับวงจรการเกิดโรค อาการของโรค และวิธีป้องกันการเกิดโรค
  • กำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยการฉีดยากันยุง หรือกำจัดแหล่งน้ำขังใกล้ที่พักอาศัย
  • การป้องกันมิให้ยุงกัด โดยเฉพาะการใช้ยากันยุง นอนในมุ้งมิดชิด หลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานออกไปเล่นนอกบ้านตอนพลบค่ำ
  • การเลี้ยงหมู วัว ควาย ควรห่างจากบ้านพอควร หรือทำคอกเลี้ยงที่มีมุ้งกั้นป้องกันยุง
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานที่แนะนำให้ฉีดตั้งแต่เด็ก

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว และวัคซีนที่ทำจากเชื้อมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์)

วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี มีรายละเอียดดังนี้

  • วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ฉีด 2 เข็ม ในเด็กอายุ 1 ปี และอายุ 2 ปีครึ่ง โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (สามารถรับบริการได้โดย “ไม่มีค่าใช้จ่าย” จากศูนย์บริการทางสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง และการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีนั้นอยู่ในแผนการให้ภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย)
  • วัคซีนชนิดเชื้อตายให้ฉีดรวม 3 ครั้ง มีระยะห่างระหว่างเข็มคือ 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ตามลำดับ

สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ภายใน 28 วัน ภายหลังการฉีด 1 เข็ม หากต้องการผลการป้องกันในระยะยาวแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 1- 2 ปี หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็นรุ่นใหม่ เพียง 1 เข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อตายจำนวน 3 เข็ม โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 14 วัน
  • ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน แต่ยังไม่ครบสามารถฉีดต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้

โรคไข้สมองอักเสบเจอี แม้จะเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นโรคที่สามารถเฝ้าระวังและป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด

นอกจากการติดเชื้อไวรัสเจอีแล้ว โรคไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ไวรัสไข้เลือดออก เชื้อเริม เชื้อพิษสุนัขบ้า หรือ เชื้อไวรัสอื่นๆได้ ดังนั้นหากพบว่า คนใกล้ตัวของคุณมีความผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ซึมลง อ่อนแรง อาเจียนพุ่ง ให้พาไปพบแพทย์ทันที

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรค จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, ไข้สมองอักเสบเจอี (https://www.pidst.or.th/A302.html), 13 พฤษภาคม 2563.
อ.นพ.วินัย รัตนสุวรรณ, ไข้สมองอักเสบ (https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=2), 13 พฤษภาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การเบื่ออาหาร กับโรคไข้หวัด
การเบื่ออาหาร กับโรคไข้หวัด

ผู้ป่วยโรคไข้หวัดมักเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อย ทำให้ละเลยเรื่องสารอาหารที่ควรได้รับ ทั้งๆ ที่อาหารเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค

อ่านเพิ่ม
เตือนภัย 6 โรคยอดฮิต! ที่มากับหน้าหนาว
เตือนภัย 6 โรคยอดฮิต! ที่มากับหน้าหนาว

6 โรคพบบ่อยในหน้าหนาว ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อุจจาระร่วง ไข้สุกใส พร้อมวิธีดูแลรักษาและป้องกัน

อ่านเพิ่ม