ตาแห้ง (Dry Eyes)

ตาแห้ง เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาที่สามารถพบได้บ่อย เนื่องจากสามารถเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ น้ำตามีคุณภาพต่ำ และการใช้ยาบางชนิด
เผยแพร่ครั้งแรก 23 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ตาแห้ง (Dry Eyes)

ตาแห้ง เป็นอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาที่สามารถพบได้บ่อย เนื่องจากสามารถเกิดได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ น้ำตามีคุณภาพต่ำ และการใช้ยาบางชนิด

อาการตาแห้ง (Dry Eyes) เกิดจากดวงตาไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ หรือผลิตน้ำตาที่ไม่สามารถทำให้ดวงตาชุ่มชื้นได้ อาการนี้มักมาพร้อมกับการแสบและระคายเคืองดวงตา อาจเกิดขึ้นตลอดเวลา หรือเกิดในช่วงใดช่วงหนึ่งก็ได้ เช่น บางคนอาจตาแห้งหลังจากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือเมื่อตาโดนลม โดยทั่วไปแล้วมักเกิดกับตาทั้งสองข้างพร้อมกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากอาการตาแห้งไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและนำไปสู่การติดเชื้อ รวมถึงอาจทำให้เกิดบาดแผลบนกระจกตา และในบางคนอาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น (แต่พบได้น้อยมาก)

สาเหตุของอาการตาแห้ง

อาการตาแห้งเกิดได้จากสาเหตุที่หลากหลาย แต่สาเหตุที่พบได้มากที่สุด คือ

  • การผลิตน้ำตาได้ไม่เพียงพอ (Keratoconjunctivitis Sicca) : คนส่วนมากที่มีอาการตาแห้งมักเกิดจากดวงตาผลิตน้ำตาได้น้อย ซึ่งอาจเกิดจาก
    • อายุมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน ความเสี่ยงต่ออาการตาแห้งจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    • ขาดวิตามิน เอ ภาวะนี้พบได้ค่อนข้างน้อย
    • ความผิดปกติด้านสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคลูปัส โรคโจเกร็น ซินโดรม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
    • ต่อมน้ำตาเกิดการบาดเจ็บเสียหาย จากบาดแผล การอักเสบ การสัมผัสสารเคมี การสัมผัสความร้อน และการสัมผัสรังสี
    • การผ่าตัดตาโดยใช้เลเซอร์ เช่น การทำเลสิก อาจเกิดอาการตาแห้งชั่วคราวได้
  • น้ำตามีคุณภาพต่ำ : ผู้ที่มีอาการตาแห้ง อาจเกิดจากน้ำตามีองค์ประกอบของสารต่างๆ ไม่สมดุล เช่น ต่อมมัยโบเมียน (Meibomian gland) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตน้ำมันสำหรับดวงตาเกิดการอุดตัน ทำให้น้ำตาในส่วนที่เป็นน้ำมันน้อยลง ส่งผลให้น้ำตาเหือดแห้งเร็วขึ้น จึงทำให้น้ำตามีคุณภาพต่ำ
  • การใช้ยาบางชนิด : ยาหลายชนิดอาจส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งได้ เช่น
    • ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
    • ยาหดหลอดเลือด
    • ยาต้านฮิสตามีน
    • ยาต้านโรคซึมเศร้า
    • ยาคุมกำเนิด
    • การบำบัดโดยใช้ฮอร์โมน
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม : บางครั้งสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็อาจส่งผลให้เกิดอาการตาแห้งได้ เช่น
    • การสัมผัสลมแรง และฝุ่นควัน
    • อากาศแห้ง
    • การใช้คอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ และการขับรถเป็นเวลานาน
  • ปัจจัยอื่นๆ : ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ได้แก่
    • การจ้องมองนานๆ โดยไม่กระพริบตา
    • การอักเสบที่ผิวเปลือกตา (Blepharitis)
    • การพลิกเปลือกตาเข้าหรือออก
    • การใช้คอนแทคเลนส์เป็นเวลานาน

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อมีอาการคัน แดง แสบ ระคายเคืองที่ดวงตาเป็นเวลานาน รวมถึงมองเห็นไม่ชัดเจน ทัศนวิสัยแย่ลงกะทันหัน ควรรีบไปพบจักษุแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และทำการตรวจด้วยวิธีต่างๆ เช่น การวัดปริมาณน้ำตา หรือวัดว่าน้ำตาระเหยจากพื้นผิวลูกตาได้เร็วผิดปกติหรือไม่

การรักษาอาการตาแห้ง

อาการตาแห้ง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา หรือน้ำตาเทียม ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปในร้านขายยา อาจบอกได้ยากว่ายาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมแบบไหนที่เหมาะกับดวงตาของคุณ ดังนั้น คุณอาจลองใช้ผลิตภัณฑ์หลายๆ ยี่ห้อเปรียบเทียบกันดู เพื่อหาตัวที่ชอบที่สุด นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นสำหรับดวงตา หรือการประคบร้อนที่ดวงตา ก็อาจช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้เช่นกัน

หากมีอาการรุนแรง โดยที่ยาหยอดตาและน้ำตาเทียมไม่ได้ช่วยให้อาการทุเลาลง แพทย์อาจสั่งยาบางชนิดให้ เช่น ยาหยอดตาไซโคลสปอรีน (Restatis) หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับใช้เฉพาะที่

แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงมาก จักษุแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่ออุดท่อน้ำตาที่บริเวณมุมเปลือกตา และใส่วัสดุที่เรียกว่า Lacrimal plugs เพื่อชะลอการไหลของน้ำตา ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวด หรืออาจไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตาเลยก็ได้

การป้องกันอาการตาแห้ง

อาการตาแห้งอาจไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยบางอย่างในสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลให้เกิดอาการได้ เช่น

  • กระพริบตา หรือหลับตาเป็นช่วงๆ เมื่อต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ลมจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเป่าตาเป็นเวลานาน
  • สวมแว่นกันแดดเมื่อออกไปข้างนอก
  • หลีกเลี่ยงฝุ่นและควันบุหรี่
ที่มาของข้อมูล

Jacquelyn, What Causes Dry Eyes? (https://www.healthline.com/symptom/dry-eyes), March 2016


25 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป