"พริก" ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดอาการหวัดได้

คนกินเผ็ดเตรียมเฮ คนกินจืดอาจต้องเริ่มสนใจรสเผ็ดร้อนของพริกกันดูบ้าง หากได้รู้จักพริกมากยิ่งขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
"พริก" ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดอาการหวัดได้

พริก เป็นสมุนไพรที่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์มานาน ผลของพริกมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ทําให้เกิดความเผ็ดร้อน และสามารถนําไปใช้ประโยชน์ทางยา เช่น ยาทาภายนอกระงับปวด พนิกยังมีฤทธิ์ช่วยในการเผาผลาญพลังงานของสารอาหารในร่างกาย กระตุ้นการเคลื่อนตัวของทางเดินอาหาร ลดการอักเสบ และเชื่อกันว่า สารสําคัญดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย

ประโยชน์ทางอาหาร

พริกจะแตกยอดงามในช่วงฤดูฝน และก่อนติดผล เมื่อมีผลแล้วจะมียอดน้อยลง ผลจะมีตลอดทั้งปี ยอดอ่อนของพริกสามารถนำมารับประทานได้ด้วยการลวกเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร ส่วนผลนิยมนำมาเป็นเครื่องปรุงรสให้เผ็ดร้อน หรือรับประทานเคียงกับอาหารบางชนิด เช่น ไส้กรอกอีสาน ไส่อั่ว แหนม เพื่อลดความเลี่ยน ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันยังเกิดเทรนด์การรับประทานพริกขี้หนูอบกรอบเป็นของว่างอีกด้วย   

รสและประโยชน์ต่อสุขภาพ

ยอดพริกมีรสเผ็ดร้อน ส่วนผลของพริกมีรสเผ็ดจัด หากรับประทานเป็นผักจะช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับลม และทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น 

ประโยชน์ของพริกใช้รับประทานเป็นยาขับเสมหะ ยารสร้อนช่วยในการย่อยอาหาร เพิ่มความอบอุ่นในร่างกาย และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้อีกด้วย

นอกจากนั้นพริกยังใช้ป้องกันหวัดอาจเป็นเพราะว่า พริกอุดมไปด้วยวิตามินซีและยังถูกดูดซึมได้ดี การรับประทานพริกก่อนอาหาร หรือพร้อมอาหาร จะช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ 

พริกยังใช้เป็นพืชสมุนไพรในทางการแพทย์ เนื่องจากภายในผลพริกซึ่งมีเมล็ดติดอยู่จะมีสารแคปไซซินที่ก่อให้เกิดความเผ็ด ความเผ็ดร้อนนี้จะทำให้ร่างกายขับเหงื่อและขจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ โดยจะนำสารแคปไซซินที่สกัดได้จากผลพริกมาใช้เป็นส่วนผสมของยาต่างๆ ทั้งชนิดรับประทานและทาภายนอก เช่น ยาช่วยเจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น

พริกช่วยแก้อาการไอได้จริง หรือไม่ 

หากมีอาการไอ สามารถแก้ด้วยการรับประทานพริกเพราะ สารแคปไซซิน ที่มีอยู่ในพริกจะไปกระตุ้นให้ต่อมในหลอดลมหลั่งน้ำเมือก (mucin) ออกมา ช่วยลดความเหนียวของเสมหะที่เกาะภายในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการไอขับเสมหะได้ง่าย 

จะสังเกตได้ว่า เวลารับประทานพริกเผ็ดก็จะมีน้ำมูก น้ำตาไหล ต้องสั่งน้ำมูกทำให้รู้สึกโล่งและเมื่อไอจะมีเสมหะหลุดออกได้ง่าย หากใครเป็นหวัด มื้อเย็น หรือก่อนนอนแนะนำให้ลองรับประทานอาหารรสเผ็ดร้อนดู ตื่นเช้ามาอาการหวัดจะทุเลา และหากติดใจจะรับประทานอาหารรสเผ็ดเพื่อรักษาหวัดไปทุกมื้อจนกว่าจะหายก็ได้

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า สารแคปไซซินที่มีอยู่ในพริกนั้น ออกฤทธิ์เหมือนกับกรดซิสทีน ในยาแก้หวัด หากเป็นหวัดแล้วและมีอาการไอร่วมด้วยพบว่า การรับประทานพริกจะสามารถแก้ไอได้ดีกว่ายาแก้ไอที่ผสมเมนทอล เนื่องจากยาแก้ไอที่ผสมเมนทอล นอกจากจะทำให้คอแห้งแล้วยังไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ในกรณีที่มีอาการคออักเสบ แพทย์หลายคนก็ให้ยารักษาที่ผสมสารแคปไซซินเพื่อลดอาการเจ็บคอและฆ่าเชื้อไปด้วย

วิธีรับประทานพริกให้ได้รับประโยชน์เป็นอย่างไร

การรับประทานอาหารใส่พริก หรืออาหารที่มีรสเผ็ด ไม่จำเป็นต้องบริโภคอย่างเคร่งครัดทุกมื้อ ควรรับประทานวันละ 1 - 2 มื้อ หรือวันเว้นวันได้ โดยในช่วงแรกในการรับประทานพริก หรืออาหารรสเผ็ด ควรรับประทานแต่น้อย และค่อยๆ เพิ่มขนาด เพราะจะทำให้ทางเดินอาหารค่อยๆ ปรับตัวรับความเผ็ดร้อนและความระคายเคืองของพริก โดยการเพิ่มการหลั่งสารเมือก มีการสร้างเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารและลำไส้เพิ่มขึ้น พริกจะช่วยลดการเกิดแก๊สที่เกิดจากการย่อยอาหารและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อท้องที่เกิดจากอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Monica R. L., Alessandro P., Marco B., Francesco M. & Rosa T. (2015). Evaluation of chemical profile and antioxidant activity of twenty cultivars from Capsicum annuum, Capsicum baccatum, Capsicum chacoense and Capsicum chinense: A comparison between fresh and processed peppers. LWT - Food Science and Technology, 64(2): 623-631.
สำนักงานคณบดี คณะวิทยาศาสตร์, เม็ดพริกเป็นยา (http://www.uniserv.buu.ac.th)
รศ.สุพีชา วิทยเลิศปัญญา ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และคณะผู้วิจัย, เภสัชจลนศาสตร์ของสาร Capsaicin ในพริกขี้หนูสด และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพริกขี้หนูสดต่อน้ำตาลในเลือดในอาสาสมัครสุขภาพดี ( http://www.cuar.chula.ac.th/data/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป