กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปวดท้องข้างซ้าย เกิดจากอะไรได้บ้าง มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร

ปวดท้องข้างซ้ายเกิดได้จากหลายสาเหตุ เรียนรู้ลักษณะอาการปวด เพื่อหาวิธีรักษาอย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ปวดท้องข้างซ้าย เกิดจากอะไรได้บ้าง มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดท้องด้านซ้าย สามารถแบ่งออกได้ 2 ส่วน คือ บริเวณด้านซ้ายส่วนบน ซึ่งครอบคลุมในส่วนของใต้หัวใจ ตับ ตับอ่อน ลำไส้บางส่วน ม้าม ไขข้างซ้าย ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่าง เช่น ม้ามโต อาหารเป็นพิษ กรด และแก๊สเกินในกระเพาะอาหาร
  • อาการปวดท้องด้านซ้ายส่วนที่ 2 คือ บริเวณด้านซ้ายส่วนล่าง ซึ่งเป็นที่อยู่ของไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูก และรังไข่ ส่วนตัวอย่างความผิดปกติ และโรคที่น่าจะเป็นสาเหตุของอาการปวด คือ โรคไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซีสต์ในรังไข่ ไส้เลื่อน
  • ยังมีอาการปวดอื่นๆ เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยอาจปวดแค่บริเวณท้องด้านซ้ายเท่านั้น หรือบริเวณอื่นๆ ด้วย เช่น งูสวัด ภาวะลำไส้แปรปรวน การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ภาวะแท้งนอกมดลูก
  • อาการปวดท้องด้ายซ้ายอาจมีสาเหตุมาจากกรดในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งสาเหตุนี้สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา แต่หากอาการรุนแรงกว่านั้น หรือคุณไม่มั่นใจ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • อาการปวดท้องมีตั้งแต่สาเหตุเล็กๆ ไปจนถึงสาเหตุร้ายแรงที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน คุณจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ เพื่อลดโอกาสการเกิดความผิดปกติภายในร่างกาย (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

เมื่อมีอาการปวดท้อง คนส่วนใหญ่มักไม่รู้จะอธิบายอาการอย่างไรให้ชัดเจน เพราะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เนื่องจากภายในช่องท้อง เต็มไปด้วยอวัยวะหลายส่วน เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นครั้งหนึ่ง จะแสดงอาการปวดที่แตกต่างกันไป บางครั้งอาจจะปวดเยื้องไปทางด้านหลัง หรือจะปวดไปทางด้านหน้าก็ได้

ความจริงแล้ว อาการปวดท้องสามารถแบ่งออกเป็นปวดท้องด้านซ้าย และปวดท้องด้านขวา ซึ่งแต่ละด้านจะมีสาเหตุ วิธีการรักษา และบรรเทาที่แตกต่างกัน

ปวดท้องบริเวณด้านซ้ายส่วนบน

บริเวณด้านซ้ายส่วนบน หรือบริเวณด้านซ้ายใต้หัวใจและซี่โครงนั้น เป็นที่อยู่ของกระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ลำไส้บางส่วน ม้าม และไตข้างซ้าย หากเกิดความผิดปกติกับอวัยวะเหล่านี้จะรู้สึกปวดแตกต่างกันไป โดยแบ่งอาการปวดออกไปตามอวัยวะต่างๆ ได้ ดังนี้

  • ม้ามโต ม้ามเป็นอวัยวะสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ หากม้ามมีความผิดปกติจากการติดเชื้อ จนทำให้มีขนาดใหญ่มากกว่าเดิม และเริ่มไปเบียดอวัยวะส่วนอื่นๆ ก็จะทำให้มีการปวดท้องซ้ายด้านบน ร่วมกับรู้สึกแน่นท้อง หายใจไม่ค่อยออก เหนื่อยง่าย และอ่อนแรง หากพบอาการเช่นนี้ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาต่อไป
  • อาหารเป็นพิษ อาหารเป็นพิษนั้นมีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะกระเพาะอาหาร จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องบริเวณส่วนบนด้านซ้าย ร่วมกับอาการอาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้สูง รับประทานอาหารไม่ได้ แนะนำให้ทานน้ำเกลือ แต่ไม่ควรรับประทานทานยาอื่นด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้มีอาการรุนแรงกว่าเดิม วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
  • ปอดบวม ถึงแม้ว่าปอดจะไม่ได้อยู่รวมในส่วนนี้ แต่หากมีการติดเชื้อจนทำให้ปอดบวมขยายใหญ่ขึ้น ปอดก็จะไปเบียดอวัยวะส่วนอื่นให้ทำงานยากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ทั้งนี้หากเกิดร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก หนาวสั่น หายใจไม่ออก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • กรดและแก๊สเกินในกระเพาะอาหาร เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากเรื่องของการรับประทานอาหารบางชนิด หรือเมื่อหิวมากจนเกินไป ย่อมทำให้ร่างกายมีกรดและแก๊สในปริมาณมาก เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดจุกบริเวณท้องซ้ายด้านบนจนรู้สึกอึดอัด หายใจได้ไม่เต็มปอด สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาลดกรด ยาธาตุน้ำขาว-น้ำแดง เพื่อขับลมและแก๊สออกจากกระเพาะ
  • ตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก รวมไปถึงการรับประทานยาบางชนิด ซึ่งเป็นเหตุให้ตับอ่อนเกิดการอักเสบได้ จึงเป็นเหตุให้รู้สึกปวดท้องในบริเวณนี้ ร่วมกับอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน คล้ายกับอาการลำไส้อักเสบ หากมีอาการ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการให้แน่ชัด เพื่อที่จะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

ปวดท้องบริเวณด้านซ้ายส่วนล่าง

ช่องท้องบริเวณด้านซ้ายส่วนล่าง เป็นที่อยู่ของลำไส้ ไต กระเพาะปัสสาวะ มดลูกและรังไข่ผู้หญิง เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น ย่อมทำให้เกิดอาการปวดจากตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ ดังนี้

  • ภาวะไส้เลื่อน อาการไส้เลื่อนนั้นมีความรุนแรงและน่ากลัวพอสมควร เพราะลำไส้จะเลื่อนไหลลงไปกองอยู่บริเวณขาหนีบใกล้กับอวัยวะเพศ เกิดปัญหาช่องท้องมีความอ่อนแอผิดปกติ ภาวะนี้เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อไส้เลื่อนไหลลงมาก็จะรู้สึกปวดท้องบริเวณด้านซ้ายล่างขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือสวนด้วยแป้ง
  • โรคไต เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับไต ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ เกิดนิ่วในไต หรือแม้กระทั่งกรวยไตอักเสบ จะทำให้เกิดอาการปวดท้องในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น ร่วมกับการปัสสาวะไม่ออก หรือปวดแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ หากมีอาการรุนแรงจะพบว่า มีไข้สูง และอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคไตไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการปวดท้องเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรนิ่งนอนใจอย่างเด็ดขาด
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นอีกโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ค่อยใส่ใจดูแลสุขอนามัยในขณะเข้าห้องน้ำ จนทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กระทั่งส่งผลให้เกิดการปวดท้อง ปัสสาวะขัด หากทิ้งไว้โดยไม่ไปพบแพทย์ จะทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณไตเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรปล่อยไว้เช่นกัน
  • ซีสต์ในรังไข่ นับเป็นโรคที่พบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มากขึ้น โดยซีสต์เป็นก้อนเนื้องอกที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่เมื่อเกิดในรังไข่แล้ว จะทำให้ปวดท้องด้านซ้ายล่างอย่างหนักในช่วงเป็นประจำเดือน บางรายถึงขั้นเป็นลม วิธีรักษาที่ดีที่สุด คือ ต้องผ่าตัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก อาจวินิจฉัยการรักษาด้วยวิธีอื่นโดยที่ยังไม่ต้องผ่าตัดได้

อาการปวดท้องด้านซ้ายตามตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ยังมีสาเหตุ ปัจจัย และโรคอื่นๆ ที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่า อาการปวดท้องบริเวณนี้ไม่ได้เป็นเพียงกรดเกินในกระเพาะอาหารที่สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วจะดีที่สุด

นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท้องซึ่งปรากฏในตำแหน่งอื่นใดก็ได้ และ/หรือมีอาการปวดเฉพาะตำแหน่งท้องด้านซ้าย เช่น

  • การปวดท้องที่เกิดจากภาวะทางสูตินรีเวชอื่นๆ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เนื้องอก การบิดของรังไข่ ภาวะแท้งนอกมดลูก ภาวะแท้งคุกคาม เป็นต้น
  • การปวดบริเวณผนังหน้าท้อง เช่น งูสวัด กล้ามเนื้อหน้าท้องอักเสบ
  • การปวดจากโรคทางหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ถูกเซาะ
  • การปวดจากระบบประสาทที่มีพยาธิสภาพที่ตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้มีพยาธิสภาพบริเวณนั้นๆ
  • การปวดจากโรคทางเมตาบอลิก เช่น ภาวะกรดคีโตนสูงในเบาหวาน การได้รับสารพิษบางชนิด
  • การปวดที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น ภาวะลำไส้แปรปรวน
  • การปวดที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ภาวะหลอดเลือดอักเสบ

Q&A

คำถาม: มีอาการปวดท้องข้างซ้ายช่วงเอว ยกของหนักไม่ได้ บางครั้งก็มีอาการท้องเสีย แพทย์เอ็กซเรย์พบว่าเป็นซีสต์ที่ไต และให้แต่ยามาบรรเทาอาการปวด แต่ไม่ได้แนะนำให้เข้ารับการรักษาให้หายขาด เพียงแต่บอกว่าไม่สามารถผ่าตัดได้ เพราะจะทำงานไม่ได้เลย จะต้องทำอย่างไรให้อาการปวดหายไปนานๆ โดยที่ไม่ต้องกินยาในระยะยาว

คำตอบ: ส่วนมากซีสต์ที่ไตอาจจะไม่ต้องผ่าตัด ถ้าไตยังทำงานได้ปกติ วิธีการรักษา คือ ติดตามขนาดของซีสต์ว่า ใหญ่มากขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาการปวดท้องข้างซ้าย ท้องเสีย อาจจะไม่เกี่ยวกับซีสต์ก็ได้ แนะนำให้ไปตรวจอีกครั้งเกี่ยวกับอาการที่เป็นอยู่ 

ตอบโดย สุเทพ สุขนพกิจ

คำถาม: เป็นคนที่ขับถ่ายยากมากๆ บางครั้ง 3-4 วัน หรือเป็นอาทิตย์ถึงจะถ่ายครั้งหนึ่ง เคยรู้สึกเหมือนปวดอุจจาระ แต่ขับถ่ายไม่ออก จึงเอานิ้วล้วงเข้าไปดูพบว่า

  • มีลักษณะคล้ายหนองเป็นเมือกเขียวเป็นก้อน และมีกลิ่นคาว
  • หลายครั้งจะมีเลือดออกเยอะ เหมือนประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อยบริเวณข้างซ้าย

แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นอาการท้องผูก และธาตุหนัก แต่รักษาไม่หายสักที จึงอยากทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

คำตอบ: สาเหตุอาจเกิดจากเมือกของผนังลำไส้ ส่วนอาการที่มีเลือดสีแดงสดออกมานั้น อาจบ่งถึงความผิดปกติในลำไส้ ซึ่งอาจเกิดบาดแผลฉีกขาดจากอุจาระที่แข็งครูดผนังลำไส้ หรืออาจเกิดจากริดสีดวงทวาร หากมีเลือดออกเยอะๆ บ่อยๆ ควรไปตรวจทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้เลือดออกมาแบบนี้ เพราะการที่เลือดออกปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายเสียเลือดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม 

ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

คำถาม: เพศหญิง อายุ 29 ปี อาชีพครู มีอาการปวดท้องข้างซ้ายใต้ชายโครง เวลาปัสสาวะจะรู้สึกว่า อาการปวดท้องข้างซ้ายดีขึ้น แต่พอปัสสาวะเสร็จแล้วก็ปวดเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังปัสสาวะบ่อยและแสบอีกด้วย

แพทย์ตรวจปัสสาวะเจอเชื้อ จึงให้ยามากิน 7 วัน หลังจากกินยาแล้ว อาการดีขึ้น ตรวจไม่พบเชื้อในปัสสาวะ แต่ยังปวดท้องอยู่  นัดตรวจอีกครั้ง 1 เดือน กลับพบเชื้อในปัสสาวะอีก จึงตรวจเช็คที่บริเวณท้องอย่างละเอียด ผลปรากฏว่า ไม่พบความผิกปกติใด แต่รักษาไม่หายขาด อยากทราบว่าเพราะอะไรคะ

คำตอบ: หากอาการปวดท้องไม่ดีขึ้น อาจจะต้องระวังว่า อาการปวดที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะหรือไม่ การตรวจปัสสาวะอย่างเดียว หรือการตรวจร่างกายทางหน้าท้องอาจไม่เพียงพอในการวินิจฉัย อาจจะต้องทำ CT scan หรือเอกซเรย์เพิ่มเติม  

หากยังสงสัยว่า อาการปวดนั้นเกี่ยวข้องกับโรคระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วทางเดินปัสสาวะ อาจจะตรวจไม่พบจากการตรวจปัสสาวะได้เช่นกัน ส่วนอาการปวดท้องใต้ชายโครง หากสัมพันธ์กับมื้ออาหาร ลักษณะอาการปวดเป็นลักษณะ ปวดแสบปวดจี๊ด หรือมีถ่ายท้อง หรือท้องเสีย อาจจะต้องระวังโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพราะ โรคท้องผูก

นอกจากนี้ หากมีอาการอื่นๆ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด อาการปวดสัมพันธ์กับประจำเดือน อาจจะต้องระวังโรคเกี่ยวกับมดลูก หรือรังไข่ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยอาจจำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียด เพื่อดูว่ามีอาการเพิ่มเติมอย่างอื่นหรือไม่ จำเป็นต้องตรวจผลเลือดเพิ่มเติม หรือทำ CT scan หรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลนะคะ 

ตอบโดย พิสุทธิกานต์ รังคกูลนุวัฒน์ (พญ.)

คำตอบ: อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ซึ่งมีอาการปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น ในบางรายหากเป็นมาก อาจมีอาการปวดบั้นเอวและมีไข้ร่วมได้ การรักษาอาจต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ และควรปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การดื่มน้ำเยอะๆ เข้าห้องน้ำบ่อยๆ ไม่ควรอั้นปัสสาวะ รู้สึกปวดให้เข้าห้องน้ำทันที การทำความสะอาดหลังขับถ่ายหรือหลังปัสสาวะควรล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วซับให้แห้ง ซับจากอวัยวะเพศลงไปถึงก้น จะป้องกันการเกิดอาการซ้ำได้ค่ะ 

ตอบโดย ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก)

คำถาม: พึ่งคลอดลูกได้ 2 อาทิตย์กว่าๆ ค่ะ ก่อนหน้านี้ไม่ปวด 2 วันที่แล้วรู้สึกปวดท้องข้างซ้ายมาก ยิ่งเวลาขยับตัว ยิ่งเจ็บมาก แพทย์ตวรวจก็บอกว่า มดลูกปกติเข้าอู่ ไม่อักเสบอะไร แล้วก็ให้กลับบ้าน แต่กลับมาบ้านก็ยังปวดเหมือนเดิม เพิ่มเติมเวลานอนแล้วขยับตัวลุกนั่งก็ปวด อยากรู้ว่าต้องทำยังไงบ้าง และอาการแบบนี้น่าจะเป็นอะไรคะ

คำตอบ: อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นต้องคิดถึงว่าเกี่ยวกับการคลอดลูกหรือไม่ หากคลอดลูกตามธรรมชาติ ผ่านไปแล้วสองอาทิตย์ แล้วเกิดอาการปวดท้องเกิดขึ้น อาจจะต้องเฝ้าระวังว่ามีการติดเชื้ออะไรหรือไม่ แต่หากไปพบแพทย์แล้วตรวจภายในแล้วคิดว่าไม่ใช่สาเหตุ อาจจะต้องดูว่าเป็นจากสาเหตุอื่นหรือไม่

หากก่อนหน้านี้มีประวัติยกของหนัก ออกกำลังกายหนัก อาจจะต้องระวังโรคกล้ามเนื้ออักเสบ ขยับแล้วเจ็บมาก ขยับไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาการปวดมักจะปวด แสบ ปวดตื้อๆ บริเวณแถวสะดือ สัมพันธ์กับเวลาใกล้มื้อทานอาหาร หรือเป็นโรคอื่นเลย เช่น นิ่วทางเดินปัสสาวะ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือท้องผูก

แต่หากปวดมากจนขยับไม่ได้อาจต้องระวังภาวะเร่งด่วนที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ขั้วรังไข่บิดพัน มีแผลที่กระเพาะอาหาร เกิดกระเพาะอาหารทะลุ เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพิ่มเติ่ม เพื่อหาสาเหตุของการปวดท้องครั้งนี้อย่างถูกต้องค่ะ 

ตอบโดย พิสุทธิกานต์ รังคกูลนุวัฒน์ (พญ.)

คำตอบ: คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอดคะ ถ้าคลอดธรรมชาติ 2 สัปดาห์หลังคลอด น่าจะหายปวดแผลแล้วค่ะ ที่ต้องระวัง คือการติดเชื้อของมดลูกหลังคลอดค่ะ จะเกิดในช่วงนี้ได้ ทำให้ปวดท้องน้อย เลือดออก น้ำคาวปลาผิดปกติ และอาจมีไข้ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าไปพบแพทย์ตรวจมดลูกแล้วปกติ สาเหตุอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ 

โดยเฉพาะถ้าอาการปวดเป็นมากเวลาขยับตัวแบบนี้ คือ การปวดอักเสบของผนังหน้าท้องค่ะ อาจเกิดจากการยกของหนัก หรือนอนนั่งผิดท่า ซึ่งอาการมักจะดีขึ้นภายใน 4-5 วัน รับประทานยาแก้ปวด ลดอาการได้ค่ะ ถ้ามีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย ปัสสาวะแสบขัด หรืออาการปวดเป็นมากขึ้น ควรไปพบแพทย์นะคะ เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุที่ชัดเจนค่ะ 

ตอบโดย พิมพกา ชวนะเวสน์ (สูตินรีแพทย์)

คำถาม: แสบอวัยวะเพศ รู้สึกปวดขาหนีบข้างซ้าย และปวดท้องข้างซ้าย บริเวณข้างๆ สะดือ ไม่แน่ใจว่าเป็นโรคกระเพาะหรือเปล่า แต่ปกติไม่เคยเป็น รวมๆ แล้ววิเคราะห์ว่าผมเป็นอะไรครับ ขอบคุณครับ

คำตอบ: อาการปวดบริเวณท้อง เกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ ถ้าเป็นบริเวณท้องน้อย จะเกิดได้จากลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ และปวดกล้ามเนื้อหน้าท้อง การจะแยกว่าเกิดจากอะไรนั้น ต้องดูจากลักษณะที่ปวด เช่น ถ้าปวดเป็นพักๆ ปวดมาก สลับปวดน้อย หายปวดภายไม่กี่นาที และกลับมาปวดใหม่ ลักษณะแบบนี้ เหมือนอาการของลำไส้ มักมีการขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย

ถ้าปวดร่วมกับปัสสาวะผิดปกติ เช่น แสบขัด มักเกิดจากทางเดินปัสสาวะ แต่ถ้าปวด และปวดมากขึ้นเวลาขยับ มักเป็นอาการปวดของกล้ามเนื้อค่ะ อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการปวดไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไร ควรไปพบแพทย์ค่ะ เพราะส่วนใหญ่ต้องการตรวจร่างกายอย่างอื่นร่วมด้วย

ตอบโดย พิมพกา ชวนะเวสน์ (สูตินรีแพทย์)

คำถาม: ถ่ายเป็นเลือดสีแดงสดและปวดท้องข้างซ้ายด้านล่างเป็นอะไรไหมคะ

คำตอบ: ถ่ายเป็นเลือดคิดถึงได้หลายโรคค่ะ ตั้งแต่โรคริดสีดวงทวาร โดยจะมีประวัติท้องผูกเป็นประจำ คุณมีท้องผูกเพียง 1-2วัน ต้องย้อนถามกลับไปก่อนว่าเคยท้องผูกมาก่อนหน้านี้ไหม หรือถ่ายเป็นเลือดจากติดเชื้อโรคบิด มักถ่ายเหลว มีกลิ่นเหม็น หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่

สุดท้ายที่ร้ายแรงคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ค่ะ โดยมักเกิดกับคนสูงอายุ อาจมีอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดด้วยค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโดยแพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย และอาจตรวจพิเศษเพิ่มค่ะ 

ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Viniol A et al., Studies of the symptom abdominal pain--a systematic review and meta-analysis (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24987023), October 2014
John W. Patterson and Elvita Dominique, Acute Abdomen (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK459328/), 14 November 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)