กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

5 ข้อดีของการกอดลูกอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ อย่าง "การกอด" มีผลดีต่อเด็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ
เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
5 ข้อดีของการกอดลูกอย่างสม่ำเสมอ

หลายครอบครัวมักจะไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักด้วยการโอบกอดกันสักเท่าไรนัก เพราะอาจรู้สึกเขินอาย แต่รู้หรือไม่ว่า การโอบกอดลูกหรือแสดงความรักอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลดีต่อเด็กในแง่การเจริญเติบโตและวุฒิภาวะทางอารมณ์ด้วย บทความนี้มีข้อดีเกี่ยวกับการกอดลูกมาฝากกัน

5 ข้อดีของการกอดลูก

การกอดลูกในแต่ละช่วงวัยมีข้อดีแตกต่างกัน ดังนี้

1. กอดลูกตั้งแต่วินาทีแรกที่เขาลืมตาดูโลก

นับตั้งแต่เจ้าตัวน้อยลืมตาดูโลก เขาต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งอุณหภูมิที่ไม่คงที่ ร้อนหรือเย็นเกินไป แสงสว่างที่ดวงตาไม่คุ้นชิน ทำให้ทารกรู้สึกกังวลและไม่ปลอดภัย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมทารกแรกเกิดจึงร้องไห้เสียงดังและจะเงียบลงเมื่อได้รับความอบอุ่นและการโอบกอดของแม่

การกอดทารกและสัมผัสตั้งแต่แรกเกิด แม้เขาจะยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนกอด แต่สัมผัสนั้นจะช่วยให้ทารกรู้สึกอุ่นสบายและมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น หลังจากต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขณะคลอด

2. การโอบกอดลูกในช่วง 6 เดือนแรก

ในช่วงเดือนแรกๆ สายสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่จะเริ่มมีมากขึ้น เป็นความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างแม่กับลูก หรือพ่อกับลูก ซึ่งหากเด็กที่ได้รับความผูกพันทางอารมณ์อย่างดีตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเขาเติบโตขึ้น พัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กจะดีมาก จะเป็นเด็กร่าเริง และมีภาวะทางอารมณ์ที่ดีกว่าปกติด้วย

การโอบกอดลูกในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรกนั้น คุณแม่ควรโอบกอดลูกทุกวัน วันละหลายๆ ครั้งผ่านการให้นมลูก โปรดจำไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่ทารกน้อยกำลังดูดนมจากอกของคุณนั้น หากคุณแม่พูดคุยและสัมผัสตัวเขา แสดงออกว่าถึงความรัก ทารกน้อยจะสามารถรับรู้และสัมผัสกับสิ่งเหล่านั้นได้ และสายสัมพันธ์ของคุณแม่กับลูกจะทวีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และส่งผลให้พัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกจะดีขึ้นด้วย

3. การโอบกอดลูกในช่วง 7 เดือน ถึง 1 ขวบครึ่ง

ในช่วงที่ลูกอายุ 7 เดือนเป็นต้นไป สิ่งรอบตัวจะเป็นตัวกระตุ้นความสนใจของเขาได้เป็นอย่างดี เด็กจะพยายามหยิบจับ คว้า ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็กจะเริ่มเล่น ยิ้ม หัวเราะกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น 

ยิ่งพอถึงวัยที่เขาเริ่มนั่ง ลุกขึ้นเดิน ในทุกย่างก้าวของพัฒนาการ หากมีคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ข้างๆ สัมผัสและโอบกอดเขาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งคอยให้กำลังใจและชื่นชมในความก้าวหน้าและความสำเร็จเล็กๆ ของเขา เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ มองโลกในแง่ดี และเป็นเด็กที่มีภาวะอารมณ์ที่ดีเช่นกัน

เด็กที่ได้รับความรักอย่างสม่ำเสมอ จะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายและภาวะทางด้านอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูโดยคนอื่น เช่น พี่เลี้ยง ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นว่า เด็กที่เลี้ยงโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มักจะมีภาวะทางอารมณ์ไม่ดีนัก

4. การโอบกอดลูกหลัง 1 ขวบครึ่ง - 3 ขวบ

หากคุณกอดลูกอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่แรก เมื่อลูกเข้าสู่วัยนี้ เขาก็ยังคงอยากให้คุณกอดเหมือนเดิม แต่หากตลอดเวลาคุณแทบจะไม่เคยโอบกอดเขาเลย แล้วเพิ่งเริ่มโอบกอดเขา เขาอาจจะไม่ยอมให้คุณโอบกอดเขาแล้ว เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะเริ่มสนใจโลกภายนอกมากขึ้น และเมื่อเขาไม่คุ้นชินกับสัมผัสอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่มาก่อน เขาจะเลือกสนใจสิ่งรอบตัวมากกว่า

แต่ถ้าลูกเติบโตมาพร้อมกับความผูกพันและการโอบกอดด้วยความรัก เด็กจะเติบโตเป็นเด็กที่มีทัศนคติที่ดี อารมณ์ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้างเขาตลอด

5. เมื่อลูกอายุ 3 ขวบเป็นต้นไป

หลังจาก 3 ขวบเป็นต้นไป โลกของเขาจะไม่ได้มีเพียงคุณพ่อคุณแม่เพียงอย่างเดียวแล้ว แต่เขาจะพบกับสิ่งใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ ซึ่งหลายคนจะพบว่า เวลาที่เด็กจากหลายๆ บ้านมารวมกลุ่มกันนั้น เด็กบางคนจะขี้อายและเก็บตัว เด็กบางคนจะร่าเริงและกล้าแสดงออก และในขณะที่เด็กบางคนจะดื้อ ก้าวร้าว หรือมีภาวะทางอารมณ์ที่ฉุนเฉียวตลอดเวลา ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลี้ยงดูความอบอุ่นในครอบครัว

เมื่อเด็กโตขึ้น การจะเข้าไปโอบกอดเขาภายหลังทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราไม่เคยกอดเขาเลย ก็ถือเป็นเรื่องยาก เพราะเด็กจะรู้สึกแปลกหรือเขินเมื่อถูกพ่อแม่กอด แต่ถ้าเรากอดเขาตั้งแต่เด็กๆ เขาจะไม่รู้สึกเขินเมื่อพ่อแม่แสดงความรัก 

ดังนั้น หากเราไม่ได้กอดเขาในช่วง 3 ปีแรก นอกจากจะทำให้เขาเติบโตมาเป็นเด็กที่มีพัฒนาการด้านอารมณ์ไม่ดีแล้ว การจะเริ่มต้นกอดเขาภายหลัง จะค่อนข้างยากด้วย

แล้วถ้าเราไม่ได้กอดเขาตั้งแต่แรก...กอดลูกวันนี้จะทันไหม?

ไม่ว่าอย่างไรการโอบกอดลูก ตั้งแต่แรกเกิดหรือตอนเติบโต ก็คือการแสดงออกถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก ดังนั้นอย่าเพิ่งหมดกำลังใจไป หากคุณไม่ได้ดูแลเขา หรือไม่ได้กอดเขาตั้งแต่แรกเกิดแล้ววันนี้เขากลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ดื้อและเอาแต่ใจ คุณควรเริ่มจากการพูดคุย สัมผัสตัวลูก โอบกอด เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าพวกคุณรักและห่วงใยเขามากแค่ไหน เพราะไม่ว่าอย่างไรจิตใจของลูกก็ต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ แม้ว่าการโอบกอดลูกเมื่อเขาเติบโตแล้ว อาจจะขัดเขินในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อคุณทำอย่างต่อเนื่อง ลูกจะรับรู้และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงมีภาวะด้านอารมณ์ดีขึ้นด้วย


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How to Hold Your Child during Vaccinations. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/vaccines/parents/visit/holds-factsheet.html)
Benefits of breastfeeding. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/pregnancy-and-baby/benefits-breastfeeding/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป