มาเตรียมอุปกรณ์ในห้องนอนลูกดีกว่าค่ะ

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 14 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
มาเตรียมอุปกรณ์ในห้องนอนลูกดีกว่าค่ะ

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนร่างกายที่ดีที่สุด ซึ่งเด็กทารกแรกเกิดนั้นจะ นอนหลับเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจจะตื่นขึ้นมาเพื่อกินนม เล่นนิดหน่อย และก็หลับ ดังนั้นช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับ (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของวัน) เราจึงควรเตรียมที่นอน เตียง และอุปกรณ์อื่นๆ ให้เหมาะสมกับลูก ของเรามากที่สุด เรามีคำแนะนำการเลือกใช้ เลือกซื้อ หรือการจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ มาฝาก

เตียงนอนของลูก

ในปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำแบบเจาะจงว่า เราจะต้องให้ลูกไปนอนบนเตียงของเขา (ซื้อเตียงให้ลูกเลยทันที) แต่ผู้รู้หลายๆ ท่านก็แนะนำว่า การให้ลูกนอนแยกจากเตียงของพ่อแม่มีข้อดีหลายๆ อย่าง เช่น

  1. ป้องกันการนอนทับของตัวพ่อแม่เอง
  2. การขยับตัวหรือพลิกตัวของพ่อแม่ (เวลานอนหลับบนเตียงเดียวกับลูก) อาจจะทำให้ลูกตื่นกลางดึก
  3. ต้องการฝึกให้ลูกชินกับที่เตียงของตัวเอง

หากพ่อแม่ท่านไหนคิดว่า อยากจะให้ลูกนอนแยกเตียงกับตัวพ่อแม่ ก็มีอุปกรณ์ให้เลือกมากมาย เช่น

ตะกร้าเด็กใช้ได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3-4 เดือน ข้อดีคือสามารถพาไปไหนมาไหนได้ง่าย แต่เมื่อลูกโตขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี เพราะว่าลูกจะตัวใหญ่เกินกว่าจะให้นอนในตระกร้าได้

เปล เหมาะสำหรับเด็กทารกแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน ซึ่งเปลนี้อาจจะดัดแปลงจากอุปกรณ์หลากหลายได้ หลายๆ ท่านอาจจะเคยเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านแบบสมัยก่อนที่เอาผ้ามาดัดแปลงเป็นเปลไกวเด็ก แต่เมื่อ เด็กอายุมากขึ้น ก็ต้องเปลี่ยนเปลอีกเช่นกัน

เตียงสำหรับเด็ก เตียงสำหรับเด็กมีทั้งแบบที่มีราวกั้นกันตกด้านข้างของเตียง (ราวกั้นถาวร) หรือแบบที่สามารถถอดราวกั้นออกได้ ซึ่งแต่ละแบบนั้นก็มีหลากหลายวัสดุแตกต่างกันไปอีก ซึ่งสามารถใช้ได้กับทารกแรกเกิด จนถึงอายุ 5-6 ขวบ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการลงทุนซื้อที่ค่อนข้างใช้ได้นานพอสมควร แต่ต้องเลือกวัสดุประกอบที่ดีหน่อย เช่น สีที่ใช้ทาอุปกรณ์ของเตียงต้องไม่มีสารตะกั่ว, มีพลาสติกหุ้มราวกั้นด้านข้างเตียง (เผื่อลูกเรากัดเวลา ที่ลูกเราคันเหงือก) เป็นต้น

เตียงผู้ใหญ่ที่ดัดแปลงสำหรับเด็ก เตียงแบบนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิดจนโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเราสามารถนำเตียงผู้ใหญ่ (ขนาดนอน 1 คน) มาดัดแปลงให้เป็นเตียงของลูกได้ โดยติดตั้งราวกั้นกันตก ซึ่งตรงจุดนี้อาจจะ ต้องจ้างช่างเฟอร์นิเจอร์มาทำเพิ่ม เตียงแบบนี้จะคุ้มค่าที่สุดในระยะยาวเพราะเราสามารถถอดราวกั้นเตียงออกเมื่อลูกโต

ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเลือกเตียงแบบใดก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์ของแต่ละครอบครัวด้วย เพราะบางครอบครัวอาจจะไม่มีพื้นที่พอจะให้ลูกนอนบนเตียงขนาดใหญ่ ดังนั้นก็ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกันแต่ละครอบครัวอีกครั้ง

ที่นอนของลูก บางครอบครัวก็เลือกที่จะให้ลูกนอนบนเบาะ (ซึ่งโดยมากจะทำจากฟองน้ำ หรือวัสดุอื่นที่มีความอ่อนนิ่มมากๆ) ซึ่งจะมีความนุ่ม และอาจจะเกิดอันตรายหากลูกของเรายังเล็ก เพราะหากลูกของเรานอนดิ้น แล้วหน้าไปกดกับที่นอน ที่นอนจะบุ๋มและทำให้หน้าของลูกจมลงไป ทำให้หายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้

เราควรจะเลือกที่นอนของลูกให้มีความแข็งสักหน่อย ซึ่งจะนิยมวัสดุอยู่ 2 แบบสำหรับที่นอนของลูก คือ โฟมและสปริง ซึ่งโฟมจะมีน้ำหนักเบากว่าและราคาถูกกว่าที่นอนแบบสปริงค่อนข้างมาก แต่ข้อเสียของที่นอน แบบโฟมคือมักจะเป็นที่นอนที่นิ่ม (ซึ่งก็อาจจะทำให้ลูกหายใจไม่ออก หากลูกเผลอนอนหน้าคว่ำลงไปบนที่นอน)

ส่วนที่นอนแบบสปริงนั้น หากเราเลือกแบบที่มีขดสปริง 150 เกลียวขึ้นไป ก็จะสามารถป้องกันอุบัติเหตุเวลาลูกเผลอนอนแล้วเอาหน้าคว่ำลงไปบนที่นอนได้ เพราะที่นอนสปริงที่มีขด 150 เกลียวขึ้นไปจะมีความแข็ง มากพอ และยังมีอายุการใช้งานได้นานกว่าที่นอนแบบโฟม (ซื้อครั้งเดียว ใช้ได้หลายปี) แต่สิ่งที่เราจะต้องคำนึงเพิ่มเติมด้วยคือ ที่นอนที่เราจะซื้อนั้นจะต้องทำความสะอาดได้ง่าย ไม่อับ และหากสามารถใส่ (หรือมี) ผ้าหุ้ม กันปัสสาวะซึมเข้าที่ตัวที่นอนได้ก็จะดีมาก เพราะเวลาลูกนอน (ทั้งนอนเล่นและนอนหลับบนเตียง) ก็อาจจะปัสสาวะรดที่นอนได้

ผ้าปูที่นอน

กรณีที่เราเลือกให้ลูกนอนบนที่นอน ก็ควรจะหาผ้าปูที่นอนที่ทอจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ซึ่งจะมีคุณสมบัตินุ่มและไม่ระคายเคืองต่อผิวของลูก และยังทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

ผ้ายาง

มีประโยชน์มาก เพราะสามารถกันน้ำได้ หลายครอบครัวจะนำผ้ายางมาปูบนผ้าปูที่นอนก่อน แล้วหาผ้าบางๆ มาปูทับผ้ายาง แล้วค่อยให้ลูกนอนอีกทีเพื่อป้องกันปัสสาวะหรือน้ำอื่นๆ ที่อาจจะเปื้อนลงที่นอน แต่ข้อเสีย ของผ้ายางคือ มันอาจจะทำให้ลูกร้อน เพราะว่าผ้ายางจะดูดซับความร้อนได้ดี

ดังนั้นหากกังวลกลัวว่าลูกจะร้อน ก็ใช้เป็นผ้ากำมะหยี่แบบซับน้ำทดแทนผ้ายางก็ได้เช่นกัน เพราะเนื้อกำมะหยี่จะนุ่ม มีรูระบายอากาศ ทำให้ไม่ร้อนและไม่อับ ลูกจะนอนหลับสบายตัวมากกว่านอนบนผ้ายาง (หากจะเลือก ใช้ผ้ากำมะหยี่แบบซับน้ำ ควรเลือกขนาดผ้าให้ใหญ่หน่อยเผื่อลูกนอนดิ้น)

ผ้าห่ม

เนื่องจากว่าลูกของเรายังเล็ก ยิ่งถ้าเป็นทารกแรกเกิด การจะห่มผ้าให้ลูกนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าห่มแบบผู้ใหญ่ แต่ควรจะหาผ้าชนิดบาง เพราะหากเป็นผ้าที่หนาเวลาลูกนอนหลับอาจจะทำให้ผ้ามา ปิดหน้าลูกจนหายใจไม่ออก

นอกจากนั้นพ่อแม่ก็ควรที่จะเตรียมห้องนอน (หรือสถานที่ที่จะให้ลูกนอน) ให้เหมาะสมทั้งอุณหภูมิ และแสงสว่าง โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับสบายก็คือ 25 องศาเซลเซียส และควรจะมีแสงสว่างเล็ก น้อย โดยอาจจะใช้ไฟสีส้ม หรือหลอดไฟขนาดเล็กที่มีกำลังไฟ (โวลต์ต่ำๆ) ไม่มาก เพื่อให้ลูกนอนหลับสบาย ซึ่งแสงสว่างนั้นแค่พอมองเห็นตอนกลางคืนนิดหน่อยสำหรับการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือให้นมลูกตอนดึกๆ ก็เพียงพอแล้ว


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป