กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

“พยาธิ” ภัยเงียบใกล้ตัว ป้องกันและรักษาอย่างไรได้บ้าง?

“พยาธิ” ภัยเงียบใกล้ตัว ป้องกันและรักษาอย่างไรได้บ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 26 เม.ย. 2024 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2024 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
“พยาธิ” ภัยเงียบใกล้ตัว ป้องกันและรักษาอย่างไรได้บ้าง?

พยาธิ นับเป็นหนึ่งสิ่งที่หลายคนแค่เพียงได้ยินก็อยากจะเบือนหน้าหนี เพราะเป็นที่รู้จักกันดีว่าพยาธินั้นมีความน่าสยดสยองและส่งผลเสียต่อร่างกายมากเพียงใด แต่การหันหน้าหนีตลอดไปอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี การหาข้อมูลเพื่อเรียนรู้และหาวิธีรักษาที่ตรงจุดย่อมดีกว่า!

HDmall จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “พยาธิ” ปรสิตที่มาอาศัยและมุ่งทำลายร่างกายของเรา ว่าแท้จริงแล้วพยาธิคืออะไร? อาการใดที่บ่งบอกว่าเรามีพยาธิอยู่ในร่างกาย? รวมถึงเราสามารถป้องกันและรักษาการติดเชื้อพยาธิได้อย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ!

พยาธิคืออะไร?

พยาธิ คือ ปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยและเจริญเติบโตอยู่ภายในร่างกายของมนุษย์ผ่านการแย่งสารอาหารต่างๆ จนทำให้ผู้ติดเชื้อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ พยาธิบางชนิดยังเป็นพาหะนำโรค เมื่อเคลื่อนที่จึงแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ และทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นถูกทำลายหรือเกิดการอุดตันขึ้น

โดยพยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ การโดนพยาธิไชเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง และการถูกยุงหรือแมลงที่มีเชื้อพยาธิกัด

พยาธิมีกี่ชนิด?

พยาธิมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่พยาธิที่มักก่อให้เกิดโรคในมนุษย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มตามลักษณะและรูปร่าง ดังนี้

1. พยาธิตัวกลม

พยาธิตัวกลม (Nematodes) มีลักษณะลำตัวเป็นทรงกระบอก บริเวณหัวและท้ายเรียวแหลม มักอาศัยและวางไข่ในลำไส้ของมนุษย์

พยาธิตัวกลมจะสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้จากการปนเปื้อนกับอาหารและน้ำดื่มเป็นหลัก โดยพยาธิตัวกลมที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิตัวจี๊ด และพยาธิเท้าช้าง

2. พยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืด (Cestodes หรือ Tapeworm) มีลักษณะลำตัวแบนและเป็นปล้อง พบได้มากในสัตว์รวมถึงสามารถชอนไขเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้โดยตรง

ในบางกรณี อาจได้รับพยาธิจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของพยาธิชนิดนี้ โดยพยาธิตัวตืดที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู และพยาธิตัวตืดวัว

3. พยาธิใบไม้

พยาธิใบไม้ (Trematodes หรือ Fluke) มีลักษณะลำตัวลีบแบน แต่ไม่เป็นปล้อง สามารถรับเชื้อได้จากการรับประทานสัตว์น้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีตัวอ่อนของพยาธิเจือปนอยู่ โดยพยาธิใบไม้ที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิใบไม้ในเลือด พยาธิใบไม้ในตับ และพยาธิใบไม้ในปอด

อาการที่บ่งชี้ว่ามีพยาธิอยู่ในร่างกาย

เนื่องจากพยาธิมีอยู่หลากหลายชนิด รวมถึงพยาธิแต่ละชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปฝังตัวอยู่ในอวัยวะคนละส่วนกัน ทำให้อาการที่บ่งชี้ว่ามีพยาธิอยู่ในร่างกายจึงแตกต่างกันออกไปตามชนิดของพยาธินั้นๆ เช่น

1. พยาธิไส้เดือน

พยาธิไส้เดือน พบได้มากในเด็กเนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่ทราบถึงความสำคัญของสุขอนามัยและมักนำนิ้วเข้าปากหลังสัมผัสกับพื้นดิน

ช่วงแรก หากมีพยาธิในลำไส้จำนวนไม่มากก็อาจจะยังไม่แสดงให้เห็นถึงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด แต่เมื่อใดก็ตามที่พยาธิมีจำนวนมากขึ้นแล้ว พยาธิจะเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือด ไปสู่ปอด ส่วนตัวที่โตเต็มวัยจะเคลื่อนตัวไปที่ลำคอ

อาการบ่งชี้ของผู้ที่มีพยาธิไส้เดือนอยู่ในร่างกาย จึงจะมีอาการไออย่างหนัก ปวดท้อง และอาเจียนเรื้อรัง โดยอาการเหล่านี้มักเกิดหลังรับประทานอาหารเพียงครึ่งชั่วโมง การติดเชื้อพยาธิอย่างรุนแรงอาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กช้าลงได้

2. พยาธิเส้นด้าย

พยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิเข็มหมุด มีอาการบ่งชี้ที่เป็นลักษณะเฉพาะ คือ เมื่อได้รับเชื้อพยาธิแล้ว ผู้ป่วยมักคันก้นมากในช่วงกลางคืน เกิดจากพยาธิตัวเมียเคลื่อนตัวมาวางไข่และขยายพันธุ์ที่ก้นผู้รับเชื้อ

ในผู้หญิงบางคนอาจมีอาการคันปากช่องคลอดร่วมด้วย ซึ่งปกติแล้วพยาธิเส้นด้ายจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมากนัก เพียงแต่จะก่อให้เกิดความรำคาญ รวมถึงยังสามารถหายได้เองหากดูแลและรักษาความสะอาดอย่างถูกวิธี

3. พยาธิตัวจี๊ด

พยาธิตัวจี๊ด พบได้มากในผู้ที่ชอบรับประทานกุ้ง ปลา และเนื้อสัตว์ที่ปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดเข้าสู่ร่างกาย พยาธิจะชอนไชไปตามส่วนต่างๆ และแสดงอาการให้เห็นภายใน 24-48 ชั่วโมง

โดยอาการที่สังเกตได้ คือ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกไม่สบายตัว เบื่ออาหาร และมีผิวหนังบวมแดง ซึ่งส่วนมากพยาธิตัวจี๊ดมักจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่พยาธิเข้าไปชอนไชบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น ไชขึ้นสมอง จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ และไชเข้าดวงตา อาจทำให้ตาอักเสบ บวม หรือตาบอดได้

4. พยาธิตัวตืดต่างๆ

พยาธิตัวตืดที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิตัวตืดหมู และพยาธิตัวตืดวัว โดยพยาธิตัวตืดจะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในกระแสเลือดแล้วสร้างถุงหุ้มตัวอ่อนตามอวัยวะต่างๆ

ซึ่งอาการจากการได้รับเชื้อพยาธิตัวตืดจะไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก แต่การแพร่กระจายและสร้างถุงหุ้มอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

อาการทั่วไปที่พบหากมีการติดเชื้อพยาธิตัวตืด คือ หิวบ่อย กินจุแต่ผอม คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ท้องเสีย ปวดท้อง และขาดสารอาหาร

5. พยาธิใบไม้

ในระยะแรกที่เพิ่งได้รับพยาธิหรือพยาธิยังมีจำนวนไม่เยอะ ผู้ป่วยมักจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ก่อนจะค่อยๆ แสดงอาการเมื่อพยาธิมีการวางไข่และขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น

โดยอาการของพยาธิใบไม้จะแตกต่างกันตามบริเวณที่พยาธิเข้าไปวางไข่ เช่น อาการบ่งชี้ของพยาธิใบไม้ในลำไส้ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องผูก อุจจาระเป็นสีเขียว และมีกลิ่นเหม็น อาการบ่งชี้ของพยาธิในปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน เจ็บหน้า และหนาวสั่น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดพยาธิ

พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี โดยปัจจัยดังต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิได้มากขึ้น

  • รักษาสุขอนามัยไม่ดี เช่น การสัมผัสกับดินหรือปุ๋ยที่มีการปนเปื้อนของพยาธิ การไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การใช้ห้องน้ำสาธารณะ
  • รับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัย เช่น การรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ และการไม่ล้างผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
  • เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของพยาธิ เช่น ประเทศแถบแอฟริกา อเมริกาใต้ รวมถึงพื้นที่ชนบท ชุมชนแออัด

ผลกระทบจากการมีพยาธิอยู่ในร่างกาย

การมีพยาธิอยู่ในร่างกายจะส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิและบริเวณที่พยาธิชอนไช

ส่วนมากการมีพยาธิอยู่ในร่างกายมักจะทำให้ผู้ป่วยขาดสารอาหาร เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และถึงแม้จะรับประทานเข้าไปเท่าไหร่ก็จะมีพยาธิเข้ามาแย่งสารอาหารตลอด

นอกจากนี้การมีพยาธิอยู่ในร่างกายยังส่งผลกระทบไปถึงการเจริญเติบโตอีกด้วย โดยพบว่าเด็กที่มีการติดเชื้อพยาธิจะมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในช่วงวัยเดียวกัน รวมถึงอาจทำให้มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงจนเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย

การป้องกันโรคพยาธิ

การป้องกันโรคพยาธิที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาด ทั้งในด้านสุขอนามัย และการสร้างพฤติกรรมที่ดีในการรับประทานอาหาร เช่น

  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • สวมรองเท้าเมื่อต้องเดินบนพื้นดิน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ ดิน สัตว์ ที่คาดว่ามีการปนเปื้อนของพยาธิ
  • ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ควรรับประทานอาหารที่ถูกปรุงให้สุกด้วยความร้อนเสมอ

การรักษาโรคพยาธิ

วิธีรักษาพยาธิจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิที่ติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะรักษาด้วยการใช้ยากำจัดพยาธิ หรือ “ยาถ่ายพยาธิ” ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดและจับพยาธิออกจากทางเดินอาหารรวมถึงอวัยวะอื่นๆ ตามร่างกายได้ โดยตัวยาที่นิยมใช้ในการรักษาโรคพยาธิมีดังนี้

1. อัลเบนดาโซล

อัลเบนดาโซล (Albendazole) เป็นตัวยาที่นิยมนำมาใช้มากกว่าตัวยาชนิดอื่นๆ เพราะมีสรรพคุณในการออกฤทธิ์กว้าง ทำให้อัลเบนดาโซลสามารถกำจัดพยาธิได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลมหรือตัวแบน ออกฤทธิ์ด้วยการขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลของพยาธิ จนพยาธิไม่มีพลังงานและตายลงในที่สุด

นอกจากนี้อัลเบนดาโซลยังสามารถออกฤทธิ์ได้กับทุกระยะของวงจรชีวิตพยาธิ ทำให้สามารถกำจัดพยาธิได้หมดจดตั้งแต่ระยะตัวเต็มวัย ตัวอ่อน ไปจนถึงไข่พยาธิ

ข้อแนะนำการใช้ยา

  • ผู้ใหญ่และเด็กรับประทานยาในขนาดที่เท่ากัน คือ 400 มิลลิกรัม และใช้ยาเพียงครั้งเดียว (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพิ่มเติม)
  • ผู้ป่วยโรคตับหรือเคยมีประวัติเป็นโรคตับ โรคจอประสาทตา มีภาวะไขกระดูกทำงานผิดปกติ เกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาวต่ำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนมีบุตรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา

2. มีเบนดาโซล

มีเบนดาโซล (Mebendazole) เป็นยารักษาโรคพยาธิที่ติดเชื้อมาจากพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิแส้ม้า พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ ออกฤทธิ์โดยการขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลของพยาธิ จนพยาธิตายลงเช่นเดียวกับอัลเบนดาโซล อีกทั้งตัวยานี้ยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายต่อสู้กับพยาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อแนะนำการใช้ยา

  • พยาธิเข็มหมุด รับประทานยาขนาด 100 มก. ครั้งเดียวและอาจให้ซ้ำอีกครั้งในเวลา 1-2 สัปดาห์ถัดไป
  • พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิสตรองจิลอยด์ รับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 3 วัน หรือรับประทานยาขนาด 500 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง
  • ไม่ควรใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
  • การใช้มีเบนดาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม แต่มักเกิดขึ้นได้น้อย

3. พราซิควันเทล

พราซิควันเทล (Praziquantel) เป็นยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อจากพยาธิใบไม้และพยาธิตัวตืดต่างๆ โดยยาจะออกฤทธิ์ด้วยการทำให้พยาธิเป็นอัมพาตและตายไป ก่อนจะขับพยาธิที่ตายแล้วออกทางอุจจาระ

พราซิควันเทล สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย โดยแพทย์มักจะแนะนำให้ใช้ยาตัวนี้เป็นตัวแรกในการรักษาพยาธิใบไม้ บางตำรับยาอาจมีการใช้ร่วมกับยาไพแรนเทล (Pyrantel)

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  • ห้ามให้นมบุตรระหว่างที่ใช้ยา และเว้นระยะอย่างน้อย 3 วันหลังใช้ยาครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มให้นมบุตรอีกครั้ง
  • ก่อนใช้ยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์

4. นิโคลซาไมด์

นิโคลซาไมด์ (Niclosamide) เป็นยารักษาการติดเชื้อพยาธิตัวตืด ออกฤทธิ์โดยการเข้าไปขัดขวางกระบวนการสร้างพลังงานและดูดซึมน้ำตาล ทำให้พยาธิขาดอาหารและตาย ก่อนที่จะถูกขับออกมาผ่านการอุจจาระในที่สุด

โดยนิโคลซาไมด์สามารถรักษาได้เพียงพยาธิตัวตืดเท่านั้น ไม่สามารถรักษาพยาธิชนิดอื่นๆ ได้

ข้อควรระวังในการใช้ยา

  • ควรใช้ยาป้องกันการอาเจียนก่อนใช้ยาถ่ายพยาธิ 1-2 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาระบายหลังใช้ยานิโคลซาไมด์ เพื่อถ่ายตัวพยาธิและไข่พยาธิออกไป

ถึงแม้ยาถ่ายพยาธิจะดูเป็นยาที่สามารถหาซื้อใช้ได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วยาถ่ายพยาธิจำเป็นที่จะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงและแนะนำตัวยาที่เหมาะสมให้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, โรคพยาธิตัวจี๊ด(https://www.tm.mahidol.ac.th/th/tropical-medicine-knowledge/new/Gnathostoma.html), 30 มีนาคม 2567.
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, พยาธิตัวตืด (Tapeworm) (https://www.tropmedhospital.com/knowledge/tapeworm.html#), 30 มีนาคม 2567.
HDmall, ยาถ่ายพยาธิ (https://hd.co.th/anthelmintic-drugs), 30 มีนาคม 2567.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)