กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อย่าให้ “รังแค” คอยรังควาน รวมวิธีรักษารังแคอย่างอยู่หมัด

อย่าให้ “รังแค” คอยรังควาน รวมวิธีรักษารังแคอย่างอยู่หมัด
เผยแพร่ครั้งแรก 26 เม.ย. 2024 อัปเดตล่าสุด 26 เม.ย. 2024 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
อย่าให้ “รังแค” คอยรังควาน รวมวิธีรักษารังแคอย่างอยู่หมัด

รังแค ปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง คาดว่ามีประชากรกว่า 20% ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหานี้เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แต่รังแคกลับเป็นปัญหาที่หลายคนเข้าใจว่าเกิดจากความสกปรก! ซึ่งความเข้าใจผิดๆ เหล่านี้เองที่ทำให้ใครหลายคนไม่หลุดพ้นจากวงจรของรังแคสักที หนำซ้ำยังทำให้มีรังแคเพิ่มขึ้นอีก

วันนี้ HDmall จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “รังแค” พร้อมเจาะลึกว่าแท้จริงแล้ว รังแคคืออะไร? เกิดจากอะไร? ต่างจากอาการหนังศีรษะลอกทั่วไปไหม? รวมถึงหากต้องการรักษารังแคด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง? จบ ครบ ในที่เดียว! อ่านจบ เตรียมต้อนรับสุขภาพหนังศีรษะที่แข็งแรงได้เลย!

รังแคคืออะไร?

รังแค (Dandruff) คือ ขุยหรือสะเก็ดสีขาวที่อยู่บนหนังศีรษะ เมื่อเป็นแล้วมักก่อให้เกิดอาการคัน มัน แดง และเป็นสะเก็ด โดยรังแคจะพบมากในบริเวณโคนผมและเส้นผมสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วทั้งศีรษะ เป็นผลมาจากการผลัดเซลล์ผิวบริเวณหนังศีรษะที่เกิดขึ้นเร็วผิดปกติจนมีเซลล์ผิวที่ตายแล้วหลุดออกมาเป็นจำนวนมาก

โดยสะเก็ดเหล่านี้อาจหลุดร่วงออกมาจากการหวีผม การเกาศีรษะ และหลุดออกมาเองโดยที่ยังไม่เกิดการสัมผัสได้อีกด้วย

รังแคเกิดจากสาเหตุอะไร?

รังแคเกิดจากการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะ โดยปกติแล้ววงจรเซลล์ผิวหนังของเราจะมีการแบ่งตัวผลัดเซลล์ผิวตามธรรมชาติในทุกๆ 28 วัน

แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหารังแค วงจรนี้จะเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติทำให้มีการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังออกมาในปริมาณมากจนสังเกตได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้วงจรเปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

  • เชื้อรายีสต์หรือเชื้อมาลาสซีเซีย (Malassezia) เป็นเชื้อที่อาศัยอยู่บนหนังศีรษะของเราอยู่แล้ว ทำหน้าที่ในการดูดซึมน้ำมันที่มาจากต่อมรากขนและต่อมไขมัน ส่วนมากไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่เชื้อนี้มีมากเกินไปจะส่งผลให้เซลล์ผิวผลัดตัวเร็วขึ้นและทำให้เกิดรังแค
  • เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือกลากบนหนังศีรษะ เป็นเชื้อราที่ทำให้เกิดแผลสะเก็ดหรือแห้งลอกเป็นขุย ก่อนที่จะมีอาการคัน ผมร่วงเป็นหย่อม และผิวหนังอักเสบตามมา โดยปัจจัยที่ทำให้มีเชื้อราชนิดนี้บนหนังศีรษะ คือ ได้รับเชื้อติดต่อจากคน สัตว์ หรือสิ่งของ ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อได้มากขึ้น
  • หนังศีรษะมันมากเกินไป ในผู้ที่มีหนังศีรษะมันอาจเกิดจากการที่ร่างกายเสียความสมดุลในการสร้างซีบัมมาให้ความชุ่มชื้นกับผิว และเนื่องจากน้ำมันเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อรายีสต์ การมีหนังศีรษะมันจึงเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เชื้อมาลาสซีเซียเจริญเติบโตและเกิดการผลัดเซลล์ผิวเร็วกว่าปกติ
  • สระผมน้อยเกินไป หากไม่ได้สระผมเป็นประจำ อาจทำให้น้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วไม่ได้รับการชำระออกจนก่อตัวและเกิดเป็นรังแคได้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี ทั้งแชมพู ครีมนวดผม รวมถึงผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมต่างๆ อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองกับหนังศีรษะ รวมถึงหากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะกับสภาพหนังศีรษะก็จะยิ่งทำให้ผิวเสียสมดุลความชุ่มชื้น ง่ายต่อการเกิดรังแคด้วย
  • การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น ขาดวิตามินบี ซิงก์(สังกะสี) หรือไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมถึงการรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหารังแคทรุดลงกว่าเดิม
  • สภาพอากาศ อากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อการเกิดรังแค โดยเฉพาะช่วงที่อากาศแห้งหรือหนาวจัด รังแคจะเกิดขึ้นได้ง่ายมาก รวมถึงมลภาวะในอากาศก็เป็นตัวการในการสะสมของสิ่งสกปรกบนหนังศีรษะด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อายุ ความสมดุลของฮอร์โมน ความเครียด และโรคบางชนิด ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสให้เชื้อราบนหนังศีรษะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ อีกทั้งยังพบว่าเพศชายมีโอกาสที่จะเกิดรังแคมากกว่าเพศหญิงด้วย

ลักษณะอาการของรังแคที่พบได้ทั่วไป

ลักษณะอาการของรังแคที่พบได้ทั่วไป มักมีลักษณะเป็นแผ่นหนาและมันวาว มีสีขาวหรือเหลืองอ่อน พบได้มากในบริเวณหนังศีรษะ โคนผม เส้นผม หรือสังเกตได้จากขุยเล็กๆ สีขาวที่ร่วงลงมาเกาะบริเวณปกเสื้อและหัวไหล่

โดยส่วนมากรังแคจะเกิดร่วมกับอาการคันหนังศีรษะ หนังศีรษะมันผิดปกติ มีรอยแดง และมีอาการอักเสบร่วมด้วยเล็กน้อย

ลักษณะอาการของรังแคที่ควรพบแพทย์

โดยปกติแล้วรังแคจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกายจึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากรักษารังแคด้วยตนเองมาเป็นระยะเวลานานแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงเริ่มมีผื่นแดงบริเวณศีรษะและบริเวณอื่นๆ เช่น ข้างจมูก คิ้ว หรือหลังหู อาการลักษณะนี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ได้

นอกจากนี้หากมีอาการคันร่วมกับมีสะเก็ดหลุดลอกออกมาคล้ายรังแคแต่รุนแรงกว่าปกติ ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ได้เช่นเดียวกัน หากมีความกังวลควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังเพื่อตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาต่อไป

รังแคกับหนังศีรษะลอกแตกต่างกันอย่างไร?

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ารังแคเกิดจากการผลัดเซลล์ผิวที่เกิดขึ้นเร็วผิดปกติ ทำให้มีผิวหนังที่ตายแล้วหลุดลอกออกมาในปริมาณมาก โดยรังแคจะมีลักษณะเป็นขุย แผ่นหนามันวาว มีสีขาว รวมถึงอาจมีอาการคัน หนังศีรษะแห้ง และมีหนังศีรษะแดงร่วมด้วย

ในขณะที่หนังศีรษะลอกเป็นผลกระทบจากโรคผิวหนังรวมถึงพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้หนังศีรษะแห้งจนลอกเป็นขุย เช่น การใช้สารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม และการสระผมด้วยน้ำอุณหภูมิสูง โดยมีลักษณะอาการหลุดลอกออกเป็นขุยหรือแผ่น แต่จะไม่เป็นแผ่นแข็งและหนาเท่ากับสะเก็ดรังแค

ข้อควรหลีกเลี่ยงเมื่อเกิดรังแค

เพื่อไม่ให้อาการรังแครุนแรงขึ้น ผู้ที่เป็นรังแคจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • เกาหนังศีรษะแรงๆ ถึงแม้รังแคจะก่อให้เกิดอาการคันบริเวณหนังศีรษะ แต่การเกาหรือแคะสะเก็ดหนังให้หลุดจากผิวอาจยิ่งกระตุ้นให้ผิวเกิดการระคายเคืองและทำให้อาการของรังแคแย่ลง
  • สระผมบ่อยเกินไป หลายคนมักเข้าใจว่ารังแคเกิดจากความสกปรกจึงพยายามสระผมบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดรังแค แต่นั่นอาจทำให้หนังศีรษะเสียสมดุลความชุ่มชื้นจนต้องเร่งผลิตซีบัมออกมาทดแทนน้ำมันที่สูญเสียไป หนังศีรษะจึงมีความมันมากขึ้นและกลายเป็นอาหารของเชื้อรายีสต์ ทำให้เชื้อมาลาสซีเซียมีจำนวนมากขึ้น
  • ใช้ความร้อนกับเส้นผม ความร้อนและความชื้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาสซีเซีย รวมถึงการใช้ความร้อนอาจทำให้หนังศีรษะเกิดการระคายเคือง อาการรังแคจึงรุนแรงมากขึ้น
  • ความเครียดและการพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้สมดุลฮอร์โมนของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงด้วย
  • สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ประกอบไปด้วยสารไม่พึงประสงค์มากมายที่กระตุ้นการอักเสบและก่อให้เกิดการระคายเคือง

วิธีรักษารังแค

รังแค สามารถทำการรักษาได้ด้วยตนเองโดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ระบุสรรพคุณว่ามีส่วนช่วยในการลดรังแคหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของตัวยาดังต่อไปนี้

แชมพูขจัดรังแค

แชมพูขจัดรังแค คือ แชมพูที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำความสะอาดหนังศีรษะและเส้นผมไปพร้อมๆ กับการขจัดรังแคที่มีอยู่รวมถึงป้องกันการเกิดรังแคใหม่

โดยทั่วไปแล้ว แชมพูขจัดรังแคมักมีส่วนผสมของตัวยาต้านเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดรังแค เช่น

ตัวยาซิงค์ ไพริไทออน (Zinc Pyrithione)

ซิงค์ ไพริไทออน เป็นยาต้านเชื้อราที่ออกฤทธิ์ได้ในบริเวณกว้าง มีคุณสมบัติสำคัญในการขัดขวางกระบวนการเติบโตของเชื้อรา สามารถนำมาใช้รักษารังแคและอาการที่เกิดจากการติดเชื้อราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • เพื่อให้การรักษารังแคมีประสิทธิภาพ ควรสระผมด้วยแชมพูที่มีส่วนประกอบของซิงค์ ไพริไทออนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • กรณีลืมใช้ผลิตภัณฑ์ซิงค์ ไพริไทออน ให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ห้ามเพิ่มขนาดการใช้ยาเป็น 2 เท่า ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในขนาดปกติ

ตัวยาซิลิเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide)

ซิลิเนียม ซัลไฟด์ เป็นยาต้านเชื้อราที่มักถูกนำมาใช้ในการรักษารังแค ลดอาการคันของผิวหนัง และรักษาโรคผิวหนังอักเสบ เพราะนอกจากที่จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราได้แล้ว ซิลิเนียม ซัลไฟด์ยังสามารถลดการอักเสบ ช่วยลดอาการแดง คัน และรอยที่เกิดจากการอักเสบได้อีกด้วย

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • เพื่อให้การรักษารังแคมีประสิทธิภาพ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาซิลิเนียม ซัลไฟด์เข้มข้น 2% โดยใช้ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ก่อนจะค่อยๆ ลดความถี่ลงตามคำแนะนำของแพทย์
  • การใช้ซิลิเนียม ซัลไฟด์ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น
  • การใช้ซิลิเนียม ซัลไฟด์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่างได้ เช่น ผมร่วง สีผมเปลี่ยน หนังศีรษะแห้งหรือมันผิดปกติ

สเปรย์ขจัดรังแค

สเปรย์ขจัดรังแคเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษารังแค โดยทั่วไปจะประกอบด้วยตัวยาที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อรา ช่วยลดรังแคเดิมที่เป็นอยู่พร้อมลดโอกาสการเกิดรังแคใหม่เช่นเดียวกันกับแชมพูขจัดรังแค

เพียงแต่สเปรย์ขจัดรังแคจะมาในรูปแบบที่ใช้งานง่ายและสะดวกสบายมากกว่า ครอบคลุมบริเวณที่เป็นและซึมเข้าสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นยาจากแชมพูยาขจัดรังแคอีกด้วย

ตัวยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)

เป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการติดเชื้อราสูง นอกจากรังแคยังสามารถรักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา เช่น กลาก(Tinea) เกลื้อน(Tinea versicolor) โรคเชื้อราแคนดิดา (Candidiasis) ที่ผิวหนังและเล็บ รักษาสิวผดที่เกิดจากเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา และใช้รักษาอาการโรคผิวหนังที่เกิดจากต่อมไขมันอักเสบหรือโรคเซบเดิร์ม (Seborrhoeic dematitis) สามารถรักษาอาการติดเชื้อได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ไปขัดขวางกระบวนการสังเคราะห์เออร์กอสเตอรอล (Ergosterol) ทำให้เชื้อราขาดสารอาหาร หยุดการเจริญเติบโต และลดจำนวนลง ซึ่งความเข้มข้น 2% เป็นความเข้มข้นที่นิยมใช้ในการรักษารังแคมากที่สุด

ข้อแนะนำในการใช้ยา

  • ฉีดสเปรย์ทิ้งไว้วันละ 1 ครั้ง โดยไม่ต้องล้างออก
  • ใช้สเปรย์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง และควรใช้ต่อเนื่องสูงสุดไม่เกิน 4 สัปดาห์
  • การใช้คีโตโคนาโซลจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยามากหรือน้อยกว่าที่แพทย์แนะนำ รวมถึงไม่ควรหยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้น

วิธีป้องกันการเกิดรังแค

ถึงแม้การรักษารังแคจะทำได้ง่าย แต่การป้องกันการเกิดรังแคไว้ก่อนอาจดีกว่า โดยการป้องกันการเกิดรังแคสามารถทำได้ดังนี้

  • หลังสระผมควรเช็ดผมให้แห้งทุกครั้ง ใช้ผ้าขนหนูซับเบาๆ หลีกเลี่ยงการขยี้ผมแรงๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฟื้นฟูผมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ สารฟอกขาว หรือน้ำหอม
  • ออกไปสัมผัสกับแสงแดดบ้าง เนื่องจากแสงแดดมีสรรพคุณในการควบคุมและลดโอกาสในการเกิดรังแคได้
  • หมั่นทำความสะอาดสิ่งของที่สัมผัสกับหนังศีรษะและเส้นผมโดยตรง เช่น ปลอกหมอน หมวกกันน็อก หวี เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการสะสมของเชื้อรา

ถึงแม้รังแคจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารังแคเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆ คนเสียความมั่นใจ

การเข้าใจถึงสาเหตุ วิธีการรักษา และวิธีป้องกันการเกิดรังแคอย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่จะช่วยให้รังแคลดลงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้หนังศีรษะอยู่ในภาวะสมดุล ลดอาการคัน ผมหลุดร่วง และช่วยให้มีสุขภาพผมที่แข็งแรงอีกด้วย


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
NSH, Ketoconazole (https://www.nhs.uk/medicines/ketoconazole/), 25 มีนาคม 2567. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, รังแค (Dandruff) (https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=555), 25 มีนาคม 2567.
Webmd, Selenium Sulfide Shampoo - Uses, Side Effects, and More (https://www.webmd.com/drugs/2/drug-8706/selenium-sulfide-topical/details), 25 มีนาคม 2567.
HDmall, รังแค สาเหตุ อาการ วิธีรักษาป้องกัน และการดูแลผมให้ห่างไกลจากรังแค (https://hdmall.co.th/c/dandruff-causes-symptoms), 25 มีนาคม 2567.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)