กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

เวย์โปรตีน (Whey Protein)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 ม.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

เวย์โปรตีน (Whey protein) คือโปรตีนที่อยู่ในน้ำนม หรือส่วนของน้ำที่แยกตัวออกจากก้อนตะกอนโปรตีน มักถูกนำไปทำเป็นชีส แต่ในปัจจุบัน ผู้คนนิยมนำมาใช้เพิ่มศักยภาพทางกีฬา และเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกาย แต่ก็ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับประโยชน์ของเวย์โปรตีนจำกัดอยู่น้อยมาก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ขนมปัง "ไร้แป้ง ไร้น้ำตาล อิ่มนาน ไปรตีนสูง" อยากคุมน้ำหนัก แบบไม่อด ต้องลอง พร้อมโปร 5 ฟรี 1

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เวย์โปรตีนออกฤทธิ์อย่างไร

เวย์โปรตีนเป็นแหล่งของโปรตีนที่อาจเพิ่มปริมาณสารอาหารในอาหาร อีกทั้งยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

การใช้และประสิทธิภาพของเวย์โปรตีน

ภาวะที่อาจใช้เวย์โปรตีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ทารกที่บริโภคเวย์โปรตีนระหว่างช่วง 3-12 เดือนแรกหลังคลอด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิวหนังคัน และแดง ในช่วงอายุ 3 ปี
  • โรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic disease) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ทารกที่บริโภคเวย์โปรตีนระหว่างช่วง 3-12 เดือนแรกหลังคลอดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะภูมิแพ้น้อยลง เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผงตามปกติ อย่างไรก็ตาม การรับประทานเวย์โปรตีนก็อาจไม่ได้มีประสิทธิผลในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ที่กำลังเป็นอยู่ได้
  • ป้องกันน้ำหนักลดในผู้ป่วยเอชไอวี หรือเอดส์ (HIV/AIDS) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานเวย์โปรตีนสามารถลดอัตราการเสียน้ำหนักของผู้ป่วยโรคนี้ได้
  • โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา (Plaque psoriasis) มีหลักฐานบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานสารสกัดจากเวย์โปรตีนทุกวันนาน 8 สัปดาห์ สามารถลดอาการจากโรคสะเก็ดเงินได้

ภาวะที่เวย์โปรตีนอาจไม่สามารถรักษาได้

  • โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 6 สัปดาห์ สามารถลดอาการหายใจติดขัดได้ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มการทำงานของปอดหรือคุณภาพชีวิตผู้ป่วย COPD แต่ก็มีงานวิจัยที่แย้งว่า อาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ได้ช่วยเพิ่มการทำงานของปอด กล้ามเนื้อ หรือช่วยเรื่องการออกกำลังกายของผู้ป่วย COPD แต่อย่างใด
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 2 ปี ไม่ได้ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกในผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าใช้เวย์โปรตีนรักษาได้หรือไม่

  • สูญเสียกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ เวย์โปรตีนอาจช่วยเพิ่มมวลกระดูกของผู้สูงอายุได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะได้ผลเฉพาะเมื่อรับประทานร่วมกับสารอาหารอื่นๆ เช่น ครีเอทีน (Creatine) ไขมันบางประเภท หรือวิตามินกับเกลือแร่บางประเภท เช่น แคลเซียมกับวิตามินดี อีกทั้งยังไม่แน่ชัดว่า เวย์โปรตีนสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับผู้หญิง หรือช่วยเพิ่มความแข็งแรงหรือไม่
  • หอบหืด (Asthma) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 30 วัน ไม่ได้ช่วยเพิ่มการทำงานของปอดในเด็กที่ป่วยเป็นหอบหืดแต่อย่างใด
  • เพิ่มศักยภาพทางด้านกีฬา งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่า การรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับการออกกำลังกายสามารถเพิ่มมวลกล้ามเนื้อไร้ไขมัน เพิ่มความแข็งแรง และขนาดกล้ามเนื้อของผู้ใหญ่อายุน้อยที่มีสุขภาพดีได้
    นอกจากนี้ การรับประทานเวย์โปรตีนยังช่วยเพิ่มความเร็วในการวิ่ง และช่วยในการฟื้นร่างกายหลังออกกำลังกายในผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการฝึกเป็นประจำได้อีกด้วย แต่เวย์โปรตีนไม่อาจเพิ่มความเร็วในการวิ่ง หรือช่วยในเรื่องการฟื้นตัวของนักกีฬาอาชีพแต่อย่างใด อีกทั้งการรับประทานเวย์โปรตีนก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความแข็งแรง หรือมวลกล้ามเนื้อของผู้ชายที่มีน้ำหนักเกิน และมีคอเลสเตอรอลสูง
  • มะเร็ง มีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนอาจช่วยลดขนาดเนื้องอกของผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่อยู่ในระยะลุกลามได้
  • โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 28 วันจะเพิ่มการทำงานของปอดในเด็กที่เป็นโรคนี้ได้ แต่ไม่ใช่กับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเดียวกัน
  • เบาหวาน (Diabetes) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีเวย์โปรตีนก่อนรับประทานอาหารจะลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้
  • หอบหืดจากการออกกำลังกาย งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 10 วันจะเพิ่มการทำงานของปอดในผู้ที่มีภาวะหอบหืดจากการออกกำลังกายได้
  • โรคตับอักเสบ (Hepatitis) มีงานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนบางประเภททุกวันนาน 12 สัปดาห์สามารถเพิ่มการทำงานของปอดในผู้ป่วยโรคตับอักสบบีได้ แต่กลับไม่ส่งผลใดๆ ต่อผู้ป่วยโรคตับอักเสบซี
  • HIV/AIDS งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนนาน 4 เดือนไม่อาจเพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกันในเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้แต่อย่างใด
  • การติดเชื้อที่เกิดขึ้นระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานอาหารเสริมเวย์โปรตีนทุกวันนาน 28 วันจะให้ผลคล้ายกับการใช้สังกะสี, selenium, glutamine, และ metoclopramide ในการต่อสู้กับภาวะติดเชื้อระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล
  • คอเลสเตอรอลสูง งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันในขณะออกกำลังด้วยการยกน้ำหนัก ไม่อาจลดระดับคอเลสเตอรอล หรือไขมันร่างกาย ในผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินและมีคอเลสเตอรอลสูงได้
  • ความดันโลหิตสูง การรับประทานเวย์โปรตีน 28 กรัม ทุกวันนาน 6-8 สัปดาห์ สามารถลดความดันโลหิตของผู้ที่มีปัญหาความดันสูงได้ แต่การรับประทานในปริมาณที่ต่ำกว่านั้น เช่น 2.6 กรัมต่อวัน กลับไม่ส่งผลเช่นนี้
  • โรคในกลุ่มของกล้ามเนื้อเยื่อประสาทและกล้ามเนื้อ (Mitochondrial myopathies) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานอาหารเสริมเวย์โปรตีนทุกวันนาน 1 เดือน ไม่อาจเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ได้แต่อย่างใด
  • โรคตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (Nonalcoholic steatohepatitis: NASH) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนทุกวันนาน 12 สัปดาห์ สามารถเพิ่มการทำงานของตับผู้ป่วยโรค NASH ได้
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การรับประทานเวย์โปรตีนไม่อาจช่วยลดอาการจากโรคพาร์กินสันได้
  • โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome: PCOS) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยเวย์โปรตีนทุกวันนาน 2 เดือน สามารถลดน้ำหนักร่างกาย ลดมวลไขมัน และลดคอเลสเตอรอลของผู้ป่วยโรคถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ แต่การรับประทานเวย์โปรตีนไม่ได้ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด และอาจเข้าไปลดคอเลสเตอรอลดี (High Density Lipoprotein: HDL) ลงได้อีกด้วย
  • อาการปวดและแข็งที่เกิดจากการอักเสบ (Polymyalgia rheumatica) งานวิจัยกล่าวว่า การรับประทานเวย์โปรตีนจากผลิตภัณฑ์นม 2 ครั้งต่อวันนาน 8 สัปดาห์ไม่อาจเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ ความเร็วในการเดิน หรือเพิ่มผลจากการทดสอบการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของผู้ป่วยภาวะนี้แต่อย่างใด
  • ลดน้ำหนัก ผลของเวย์โปรตีนกับการลดน้ำหนักมีความผันแปรออกไปตามกรณี เช่น การรับประทานเพียงอย่างเดียว หรือรับประทานร่วมกับการออกกำลังกาย หรือควบคุมอาหาร เป็นต้น โดยมีรายละเอียดดังนี้
    • การรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับจำกัดอาหาร อาจป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อไม่มีไขมัน และเพิ่มการสูญเสียไขมันจากร่างกายของผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินได้ ซึ่งจะช่วยปรับรูปร่างโดยรวมของร่างกายคนๆ นั้น แต่การรับประทานเวย์โปรตีนระหว่างจำกัดอาหารนั้นไม่อาจเพิ่มน้ำหนักที่หายไปองค์รวมได้ อีกทั้งยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการรับประทานเวย์โปรตีนโดยไม่จำกัดอาหารสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้จริง
    • การรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับการออกกำลังกาย เวย์โปรตีนจะไม่สามารถเพิ่มน้ำหนักที่ลดลงได้เมื่อเทียบกับการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว สำหรับวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกิน การดื่มเครื่องดื่มเวย์โปรตีนนาน 12 สัปดาห์จะเพิ่มน้ำหนักและเพิ่มดัชนีมวลกายขึ้น (Body Mass Index: BMI)

ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของเวย์โปรตีน

เวย์โปรตีนถูกจัดว่า ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยการใช้ในปริมาณสูงกว่าปกติ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น มีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้นคลื่นไส้ กระหายน้ำ ท้องอืด  ตะคริว ความอยากอาหารลดลง เหน็ดเหนื่อย และปวดศีรษะ เป็นต้น

คำเตือนและข้อควรระวังเป็นพิเศษ

  • สตรีมีครรภ์และแม่ที่ต้องให้นมบุตร ปัจจุบันยังคงขาดแคลนข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้เวย์โปรตีนในกลุ่มผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตรกับหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นคนในกลุ่มดังกล่าว ควรเลี่ยงการใช้เวย์โปรตีนเพื่อความปลอดภัย
  • แพ้นม หากคุณมีภาวะแพ้นมวัว ควรเลี่ยงการดื่มเวย์โปรตีน เพราะเวย์โปรตีนส่วนใหญ่ทำมาจากนม

การใช้เวย์โปรตีนร่วมกับยาชนิดอื่น

ห้ามใช้เวย์โปรตีนร่วมกับยาเหล่านี้

ไม่ควรรับประทานยาเลโวโดปา (Levodopa) ร่วมกับเวย์โปรตีน เพราะอาจลดความสามารถในการดูดซับยาลง และลดประสิทธิภาพของยาอีกด้วย

ใช้เวย์โปรตีนร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง

  • การรับประทานเวย์โปรตีนกับยา Alendornate (Fosamax) พร้อมกัน จะลดความสามารถการดูดซับยาและประสิทธิภาพของยาลง จึงไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังใช้ยา Alendronate (Fosamax) อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Quinolone antibiotics กับเวย์โปรตีนพร้อมกัน จะลดปริมาณการดูดซับยาปฏิชีวนะของร่างกายลง ทำให้ลดประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ เพื่อเลี่ยงเหตุการณ์นี้ ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังรับประทานยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
    ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่มีปฏิกิริยากับเวย์โปรตีน เช่น Ciprofloxacin (Cipro), Enoxacin (Penetrex), Norfloxacin (Chibroxin, Noroxin), Sparfloxacin (Zagam), Trovafloxacin (Trovan) และ Grepafloxacin (Raxar)
  • ยาปฏิชีวนะกลุ่ม Tetracycline antibiotics กับเวย์โปรตีน เนื่องจากเวย์โปรตีนประกอบด้วยแคลเซียม และแคลเซียมสามารถเข้าไปยึดเกาะกับเตตราไซคลีนในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งนี่จะเป็นการลดปริมาณการดูดซับยาของร่างกาย และประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ยาได้ เพื่อเลี่ยงเหตุการณ์นี้ ควรรับประทานเวย์โปรตีนหลังรับประทานยากลุ่มเตตราไซคลีนไปแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
    ตัวอย่างยาปฏิชีวนะกลุ่มเตตราไซคลีน เช่น Demeclocycline (Declomycin), Minocycline (Minocin) และ Tetracycline (Achromycin)

ปริมาณยาที่ใช้

ปริมาณหรือขนาดยาที่ใช้ดังต่อไปนี้ได้ถูกศึกษาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

การรับประทานเวย์โปรตีนในผู้ใหญ่ สำหรับภาวะต่อไปนี้

  • ภาวะน้ำหนักลดที่เกี่ยวข้องกับ HIV/AIDS รับประทานเวย์โปรตีน 8.4-84 กรัมต่อวัน หรือนมผงแลเซียมสูง 2.4 กรัมต่อวัน หรือนมชงที่อุดมด้วยกลูทามิน (Glutamine) 42-84 กรัมต่อวัน
  • สำหรับโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา รับประทานสารสกัดเวย์โปรตีน 5 กรัมต่อวัน

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mayo Clinic Staff, Whey protein (https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-whey-protein/art-20363344), 19 October 2017.
Joseph Nordqvist, What are the benefits and risks of whey protein? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/263371.php), 27 November 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)