กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

อาการไอแต่ละรูปแบบ สามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง

อาการไอแต่ละแบบบ่งบอกอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีการรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 7 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการไอแต่ละรูปแบบ สามารถบอกโรคอะไรได้บ้าง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการไอแต่ละแบบสามารถบอกสาเหตุและวิธีรักษาได้ต่างกัน สิ่งที่ผู้ป่วยและผู้อยู่ใกล้ชิดต้องทำคือ สังเกตว่าอาการไอที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร เช่น ไอแบบแห้งๆ ไอติดกันบ่อยเป็นจังหวะรัวเร็ว ไอหนักๆ และมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย
  • สาเหตุของอาการไอมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ไรฝุ่น เชื้อไวรัส ไปจนถึงโรคบางชนิด เช่น โรคหอบหืด โรคกรดไหลย้อน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่คือ สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ไม่ยอมหายเสียที วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ควรเลิกสูบบุหรี่
  • วิธีรักษาอาการไอส่วนมากจะรักษาไปตามอาการ ยาที่นิยมใช้บรรเทาอาการ เช่น ยาแก้แพ้ ยาขยายหลอดลม ยาลดกรด ยากลุ่มสเตียรอยด์
  • อย่านิ่งนอนใจหากคุณมีอาการไอเกิดขึ้น แม้ว่ามันอาจเป็นอาการป่วยทั่วไปที่ใครๆ ก็เป็นกัน แต่อาการไอก็เป็นสัญญาณของโรคบางอย่างที่คุณอาจไม่รู้ได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตรวจภูมิแพ้ได้ที่นี่

ไม่ว่าคุณจะมีอาการไอเพราะเป็นหวัด ไอเพราะภูมิแพ้ ไอเพราะเจอฝุ่นควัน หรือด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม อาการไอสามารถบ่งบอกโรค หรืออาการผิดปกติที่คุณเป็นอยู่ได้ 

ถ้าสังเกตให้ดี คุณจะเห็นความแตกต่างของอาการไอแต่ละแบบ เช่น ลักษณะการไอ ความรุนแรง ความเรื้อรังของอาการไอว่า ยาวนานขนาดไหน และเพื่อจะได้หาวิธีรักษาได้ถูกต้อง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รู้จักกลไกการไอ

กลไกการไอเป็นการตอบสนองของร่างกายแบบหนึ่งซึ่งป้องกันสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ โดยเมื่อมีอะไรก็ตามมากระตุ้นเส้นประสาทบริเวณทางเดินหายใจ จะมีการส้งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมการไอ (Cough center) ที่สมอง 

ร่างกายจะตอบสนองโดยทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อควบคุมการหายใจออก ส่งผลให้ให้เพิ่มความดันช่องอกและเกิดเป็นการไอออกมา ทั้งนี้ลักษณะการไอที่แตกต่างกันเกิดจากสิ่งกระตุ้นที่แตกต่างกัน

เรามาดูกันว่า อาการไอแต่ละแบบ มีรายละเอียดลักษณะอาการ ปัจจัยที่ทำให้เกิด และวิธีรักษาอย่างไร

1. ไอแบบแห้งๆ เหมือนคันคอ

ลักษณะอาการ: ไอโดยมีลักษณะเหมือนคอแห้ง ไม่มีน้ำลาย แต่อาจมีเสมหะด้วย และจะรุนแรงขึ้นในเวลากลางคืน หรือไอในลักษณะเหมือนมีบางอย่างข้นเหนียวติดที่ลำคอ รวมถึงเกิดอาการคันยุบยิบที่ตา และจามเป็นระยะๆ
สาเหตุ: เกิดจากสิ่งแปลกปลอม เช่น ไรฝุ่น หรืออาจเป็นเชื้อไวรัสจากไข้หวัดลงคอจนทำให้ระคายเคือง และไปกระตุ้นให้ร่างกายแสดงออกผ่านอาการไอ หรือเป็นอาการจากโรคภูมิแพ้
วิธีรักษา: ขั้นแรกให้รับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการไปก่อน หากอาการไอยังไม่หาย ก็อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอีกครั้ง 

แต่หากผู้ป่วยมีอาการไอร่วมกับมีเสมหะธรรมดา การรับประทานยาแก้ไอ และหลีกเลี่ยงไม่ดื่มน้ำเย็นก็อาจช่วยได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และยังคงไอเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคไซนัสอักเสบ

2. ไอติดๆ กันบ่อยๆ

ลักษณะอาการ: ไอแบบแห้งๆ ติดต่อกันเป็นจังหวะรัวเร็ว พร้อมกับอาการหายใจไม่ค่อยสะดวก
สาเหตุ: อาจมาจากโรคหอบหืด เพราะการไอพร้อมกับหายใจติดขัด อาจมีสาเหตุมาจากระบบทางเดินหายใจอักเสบ หรือติดเชื้อ วิธีดูอาการให้ชัดเจนที่สุดคือ ให้สังเกตช่วงเวลากลางคืน หากดึกแล้วผู้ป่วยไอถี่ขึ้น หรือไอพร้อมหอบและเจ็บหน้าอกทุกครั้ง โดยเฉพาะเวลาออกแรงไอมากๆ หรือยิ่งไอและหอบพร้อมกับอาการเหนื่อยล้ามากเป็นพิเศษ แสดงว่า ร่างกายอยู่ใกล้โรคหืดหอบมากขึ้นทุกขณะแล้ว
วิธีรักษา: แนะนำให้พบแพทย์ โดยแพทย์อาจจะทดสอบสมรรถภาพของปอด (Lung function test) เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาต่อไปนี้

  • ยาขยายหลอดลม
  • ยาระงับอาการอักเสบสำหรับบรรเทาสาเหตุของการไอ
  • ยาในกลุ่มที่ช่วยระงับการหลั่งสารลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ซึ่งเป็นสารตัวกลางที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว และนำเซลล์อักเสบมารวมตัวกันอยู่ในหลอดลมร่วมด้วย

3. ไอหนักๆ แต่เป็นช่วงสั้นๆ

ลักษณะอาการ: ไอรุนแรงเป็นพักๆ โดยเฉพาะช่วงรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ หรืออาจไอทุกครั้งที่นอน รู้สึกระคายคอแล้วเปลี่ยนเป็นอาการไอหนักๆ แต่แค่ช่วงสั้นๆ ประมาณ 2-3 วินาทีเท่านั้น บางรายอาจมีแสบร้อนกลางอก และเสียงแหบทุกครั้งเมื่อไอเสร็จ
สาเหตุ: อาจเป็นสัญญาณบอกถึงโรคกรดไหลย้อน หรือสาเหตุมาจากกรดในกระเพาะอาหารตีกันขึ้นมาทางหลอดลม
วิธีรักษา: ก่อนอื่นต้องเอกซเรย์ลำไส้ก่อน แล้วรักษาด้วยยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton Pump Inhibitors: PPIs) ซึ่งจะช่วยป้องกันอาการกรดไหลย้อน และเสริมด้วยตัวยากลุ่มที่ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารอย่างเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการไม่นอนทันทีหลังรับประทานอาหาร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

4. ไอเรื้อรัง อาการไม่ทุเลาลง

ลักษณะอาการ: ไอเรื้อรังและมีเสมหะปนมาด้วย จะเกิดขึ้นถี่ในตอนเช้า อาจรู้สึกแน่นหน้าอกขณะไอ หรือหายใจติดขัดร่วมด้วย
สาเหตุ: อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีความเสี่ยงของโรคถุงลมโป่งพอง โรคปอดอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่
วิธีรักษา: หากตรวจสภาพปอดโดยละเอียดและพบว่า เข้าข่ายโรคที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงแรกแพทย์อาจสั่งยาขยายหลอดลมเพื่อช่วยระบบทางเดินหายใจให้ทำงานได้ดีขึ้น 

แต่หากอาการไอยังคงรุนแรง ผู้ป่วยก็อาจได้รับกลุ่มยาสเตียรอยด์ (Steroid) ช่วยบรรเทาการอักเสบของปอดด้วย แต่ทางรักษาที่ดีที่สุดคือ ควรหยุดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด

อาการไออาจเป็นอาการป่วยทั่วๆ ไปที่ทุกคนต้องเคยพบในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรนิ่งนอนใจ และมองว่าเป็นเพียงอาการเล็กน้อยที่ไม่จำเป็นต้องรักษาจริงจังก็ได้ เพราะอาการไอ อาจเป็นสัญญาณเตือนจากร่างกายที่กำลังบอกว่า "โรคภัยบางอย่างกำลังคุกคาม" ก็เป็นได้

ดังนั้นหากมีอาการไอ คุณควรหมั่นสังเกตตนเองว่า อาการไอมีลักษณะอย่างไร หากมีอาการไอผิดปกติ หรือเรื้อรัง มีเสมหะ หรือมีอาการป่วยอย่างอื่นร่วมด้วย คุณควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาก่อนที่จะสายเกินไป

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ ตรวจภูมิแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The Healthline Editorial Team and Sarah L. Coppola, RYT, CIHC, Cough pattern indicators (https://www.healthline.com/health/cancer-warning-signs), 7 April 2020.
Rachel Nall, MSN, CRNA, Cough pattern indicators (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324645.php), 7 April 2020.
NHK.UK, Cough patten indicators (https://www.nhs.uk/conditions/heart-attack/symptoms/), 7 April 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)