ประโยชน์ของนิทาน

เผยแพร่ครั้งแรก 14 ก.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ประโยชน์ของนิทาน

ประโยชน์ของนิทาน

วัยเด็กเป็นวัยที่มีจินตนาการสูง เด็กๆทุกคนจึงชื่นชอบการฟังนิทาน นิทานจะทำให้เด็กนิ่งมีใจจดจ่อกับการฟังเรื่องราวอันแสนสนุกสนานและตื่นเต้น นิทานถือเป็นสื่อที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็ก หากคุณพ่อ-คุณแม่คิดไม่ตกว่าจะเลี้ยงดูลูกให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร

นิทานเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถจุดประกายและพัฒนาลูกได้ค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียวซึ่งประโยชน์ของนิทานมีมากมายดังนี้

  1. นิทานช่วยกระตุ้นจินตนาการ การฟังจากเสียงที่เล่าออกมาทำให้เด็กได้ใช้จินตนาการโดยสร้างเรื่องราวให้เห็นเป็นรูปภาพ การเชื่อมโยงในการใช้จินตนาการจากเสียงเป็นภาพจะช่วยพัฒนาความฉลาดของเด็กได้มาก
  2. ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความมั่นใจ กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เหมาะสมและสร้างสรรค์
  3. นิทานช่วยส่งเสริมด้านภาษา การที่เด็กได้ฟังได้ยินเสียงจะทำให้เขารู้จักคำหรือประโยคตลอดจนรู้จักความหมายของคำหรือประโยคนั้นๆ และนำไปสู่การเข้าใจภาษาและสื่อสารได้เหมาะสม อีกทั้งเป็นการปูพื้นฐานทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนต่อไป
  4. นิทานช่วยเสริมสร้างสมาธิ สมาธิเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กหรือผู้ใหญ่ได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเสร็จและสำเร็จได้ง่าย
  5. เนื้อหาในนิทานส่วนใหญ่มักสอดแทรกทักษะชีวิต และข้อคิดดีๆไว้ในตอนท้ายเรื่องเสมอ ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็กใช้เป็นตัวบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรม ทำให้เด็กได้ตระหนักถึงคุณงามความดีและสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาเป็นบุคลิกภาพติดตัวไปจนตลอดชีวิต
  6. นิทานช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้แก่พ่อแม่และเด็กได้เป็นอย่างดี นิทานเป็นสื่อกลางที่ส่งความอบอุ่นความเอาใจใส่จากพ่อแม่ไปสู่ลูกทำให้เด็กไม่รู้สึกว้าเหว่ เด็กมีสภาพจิตใจที่มั่นคงมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และความคิดเหมาะสมตามวัย

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงประโยชน์ของนิทานแล้วเชื่อว่าทุกท่านต้องการที่จะนำนิทานดีๆ ไปใช้กับลูกอย่างแน่นอน แต่อาจมีปัญหาเมื่อเล่าไปแล้วอาจไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีจากลูกจนอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกท้อแท้และคิดว่านิทานใช้ไม่ได้ผล แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นของปัญหาการที่เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายขาดความสนใจในการฟังนิทานจากที่พ่อแม่เล่าให้ฟังนั้นมีสาเหตุมาจากคุณพ่อ-คุณแม่ขาดเทคนิคในการเล่านิทานนั่นเอง

เทคนิคการเล่านิทานให้น่าฟังและเป็นที่สนใจของเด็กๆ ทำให้เด็กๆ ตั้งใจฟังได้ต่อเนื่องจนจบเรื่อง มีดังนี้

  1. ขึ้นต้นเรื่องให้ดึงดูดและมีความน่าสนใจโดยการใช้น้ำเสียง เช่น เสียงดัง และชัดเจน
  2. ใช้ลีลาการเล่าเริ่มต้นด้วยจังหวะช้าๆ และเร็วขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจ จากนั้นก็ปรับเป็นจังหวะปกติ
  3. ควรเล่าให้จบเป็นเรื่องๆ ไม่คั่นจังหวะระหว่างเรื่อง ไม่ควรถามคำถามหรือพูดเรื่องอื่นจนเด็กหมดความสนใจและเกิดความเบื่อหน่าย
  4. นอกจากน้ำเสียงแล้วการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางที่สอดคล้องกับตัวละครในนิทาน จะช่วยกระตุ้นความสนใจ ทำให้เด็กรู้สึกตื่นเต้นอยากติดตามฟังจนจบ
  5. ควรเลือกนิทานที่มีเนื้อหาสั้น ไม่เกิน 3-5 นาที เนื่องจากความสนใจและสมาธิของวัยเด็กเล็กยังอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ หากคุณพ่อคุณแม่เลือกนิทานที่มีความยาวเกินไปจะทำให้เด็กขาดความสนใจ เบื่อหน่าย และจะไม่ต้องการฟังนิทานอีกในครั้งต่อไป
  6. เมื่อเล่าจบเรื่องควรเปิดโอกาสให้เด็กถามในสิ่งที่เขาสงสัย หรือตั้งคำถามสะท้อนกลับให้เด็กได้คิด เช่น “ถ้าหนูเป็นตัวละคนในนิทานหนูคิดว่าควรทำอย่างไร” คำถามแบบสะท้อนกลับนี้ทำให้เด็กได้สำรวจความรู้สึกของตัวเองตลอดจนได้คิดหาวิธีแก้ปัญหาในสถานการณ์นั้นๆ หากคำตอบของเด็กถูกต้องและเหมาะสม คุณพ่อ-คุณแม่ควรให้คำชมเชยเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้เด็กกระตุ้นให้เขาต้องการฟังนิทานอีกในครั้งต่อๆไป แต่หากคำตอบของเด็กไม่เหมาะสมคุณพ่อคุณแม่อาจเสริมความคิดเห็นที่เหมาะสมลงไป เช่น“การที่ลูกคิดแบบนี้แม่คิดว่ามันอาจทำให้ลูกบาดเจ็บได้นะคะแม่คิดว่าลูกควรจะ......(ตามวิธีที่เหมาะสม) ลูกคิดว่าดีไหมค่ะ” การถามต่อว่า“ลูกคิดว่าดีไหมค่ะ” เป็นการสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของเด็กให้เด็กยอมรับความคิดของผู้อื่นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ยัดเยียดให้เด็กยอมรับวิธีที่พ่อแม่คิดว่าถูกโดยที่เขายังมีคำถามค้างคาอยู่ในใจซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านอยู่ลึกๆและอาจทำให้เขาขาดความมั่นใจซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพของเด็กตลอดจนถึงวัยผู้ใหญ่.

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)