"หนอนแมลงวัน" กับประโยชน์ในการช่วยรักษาแผล

รู้หรือไม่ หนอนแมลงวันสามารถรักษาแผลได้
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
"หนอนแมลงวัน" กับประโยชน์ในการช่วยรักษาแผล

คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงหนอนแมลงวัน ภาพแรกในหัวก็คงจะเป็นภาพของตัวหนอนขยุกขยิกอยู่ในอาหารเน่าที่น่าขยะแขยง แต่การรักษาแผลด้วยหนอนแมลงวันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในฐานะวิธีที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเร่งการเจริญของเนื้อเยื่อใหม่ให้เปลี่ยนเป็นแผลเป็นแทน

ทำความรู้จักหนอนแมลงวัน

หนอนแมลงวัน (Maggot) เป็นตัวอ่อนของแมลงวันที่อยู่ในระยะที่ 2 ของวงจรชีวิตแมลงวันซึ่งมีทั้งหมด 4 ระยะ โดยหนอนแมลงวันจะมีระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ข้างนอกก่อนเข้าดักแด้ประมาณ 6-7 วัน และอาหารของโปรดสำหรับหนอนแมลงวันก็คือ ของเน่าเหม็น ซึ่งเป็นแหล่งที่เรามักจะพบเจอหนอนแมลงวันนั่นเอง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การกำจัดเนื้อตายจากแผลด้วยหนอนแมลงวัน

การกำจัดเนื้อตายจากแผล คือกระบวนการที่แพทย์ หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์เอาเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกจากแผล ทำให้ก้นแผลสะอาดขึ้น โดยกระบวนการดังกล่าวทำได้ 4 วิธี

  • การผ่าตัด เนื้อเยื่อที่ตายแล้วจะถูกศัลยแพทย์นำออกไปในห้องผ่าตัด
  • การใช้สารเคมี ใช้สารเคมีในการละลายเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว
  • การนำออกด้วยมือ เป็นการใช้ผ้าก๊อซแห้งขัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก
  • การใช้หนอนแมลงวัน เป็นการใช้ตัวอ่อนแมลงวันมากินเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว

การกำจัดเนื้อตายด้วยหนอนแมลงวันเป็นทางเลือกในการรักษาที่น่าสนใจ เนื่องจากหนอนแมลงวันที่ใช้ในการรักษาจะกินแต่เนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และเหลือเนื้อดีเอาไว้ ต่างจากวิธีกำจัดเนื้อตายอื่นๆ ที่จะมีการทำลายเนื้อดีไปบางส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเนื้อเยื่อดีเป็นสิ่งจำเป็นในการหายของแผล ยิ่งไปกว่านั้น วิธีกำจัดเนื้อเยื่อตายอื่นๆ อาจต้องมีการผ่าตัดซึ่งจำเป็นจะต้องดมยาสลบ ทำให้มีความเสี่ยงอย่างอื่นตามมาด้วย

หนอนแมลงวันที่ใช้สำหรับกำจัดเนื้อตายจะต้องกินเพียงแค่เนื้อตายเท่านั้น (แต่บางสายพันธุ์จะกินทั้งเนื้อตายและเนื้อดี ซึ่งไม่เหมาะสมในการใช้ทางการแพทย์) และเป็นหนอนแมลงวันที่เลี้ยงด้วยวิธีปลอดเชื้อเท่านั้น ตัวอย่างเช่น แมลงวันหัวเขียว (green bottle blowfly) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใช้ในทางการแพทย์กันโดยทั่วไป  อย่างไรก็ตาม ห้ามนำหนอนแมลงวันมาใช้ทำการรักษากันเอง การใช้หนอนแมลงวันในการรักษาควรทำโดยแพทย์เท่านั้น

นอกเหนือไปจากการกำจัดเนื้อตายแล้ว สารคัดหลั่งจากหนอนแมลงวันยังอาจช่วยบรรเทาการอักเสบและการทำลายเนื้อดีออกไป รวมถึงยังป้องกันก้นแผลที่บอบบางได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกระบวนการหายของแผลอีกด้วย

ประวัติของการใช้หนอนแมลงวันในการรักษาทางการแพทย์

การรักษาด้วยหนอนแมลงวันไม่ใช่การรักษาแบบใหม่ แต่เป็นการรักษาที่ใช้มาหลายศตวรรษแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายและรู้จักในวงกว้างเท่านั้น โดยในอดีต แพทย์ในสนามรบได้สังเกตว่า ทหารที่ได้รับบาดเจ็บและมีหนอนแมลงวันในแผลจะหายได้ดีกว่า 

ในช่วงปี 1920 วิลเลียม แบร์ (William Baer) ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ใช้หนอนแมลงวันที่เลี้ยงขึ้นมาในห้องปฏิบัติการรักษาเด็กที่มีภาวะกระดูกติดเชื้อ (Osteomyelitis) และการติดเชื้อของเนื้อเยื่ออ่อน หลังจากนั้น การรักษาด้วยวิธีนี้ก็กลายเป็นที่นิยมในช่วงปี 1930 แต่อย่างไรก็ตาม เพราะการเกิดขึ้นของยาปฏิชีวนะ และความก้าวหน้าของการผ่าตัดจึงทำให้การรักษาด้วยหนอนแมลงวันลดลงไป จนต่อมาก็กลายเป็นเพียงทางเลือกการรักษาทางสุดท้ายเท่านั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จนกระทั่งในช่วงปี 1990 ความสนใจในการรักษาด้วยหนอนแมลงวันก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และทำให้การรักษาแผลด้วยวิธีนี้เป็นการรักษาในอันดับต้นๆ ของการดูแลแผล และในปี 2004 ทางองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ก็ได้ยอมรับการรักษาโดยใช้หนอนแมลงวันที่ปราศจากเชื้อ ในการให้บริการทางสาธารณสุข

ในปี 2008 มีผู้คนราว 50,000 คนจากทั่วโลกที่ได้รับการรักษาแผลด้วยหนอนแมลงวัน

ทั้งนี้ การศึกษาทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักรพบว่าการใช้หนอนแมลงวันกับการใช้ไฮโดรเจล (hydrogel) มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเรื้อรังไม่ต่างกัน และหนอนแมลงวันสามารถลดจำนวนวันในการทำแผลได้ แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยหนอนแมลงวันจะมีอาการปวดแผลมากกว่า

เจาะลึกเกี่ยวกับการรักษาแผลด้วยหนอนแมลงวัน

การกำจัดเนื้อตายด้วยหนอนแมลงวันสามารถใช้รักษาแผลหลายประเภทได้ รวมถึง

  • แผลเรื้อรัง
  • กระดูกติดเชื้อเรื้อรัง
  • แผลจากโรคของหลอดเลือดดำ (Venous ulcer)
  • แผลกดทับ (พบในคนที่ต้องนอนนิ่งๆ อยู่หลายวันหรือหลายสัปดาห์ หรือคนที่อยู่ในสถานที่พักฟื้นระยะยาว)
  • แผลเบาหวานที่เท้า
  • แผลผ่าตัด หรือแผลจากการบาดเจ็บที่ไม่หาย

ข้อห้ามสำหรับการกำจัดเนื้อตายด้วยหนอนแมลงวัน

ถึงแม้การรักษาแผลด้วยหนอนแมลงวันจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ และได้รับความนิยมมากขึ้น แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับแผลบางประเภท เช่น

  • แผลจากการขาดเลือด (แผลดังกล่าวมีขอบแผลที่มีเลือด หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงน้อย ซึ่งหนอนอาจกินและทำให้แผลใหญ่ขึ้นได้)
  • แผลที่เปิดเข้าสู่ช่องหรืออวัยวะภายใน
  • แผลที่เกิดจากการติดเชื้อรุนแรง
  • ผู้ที่แพ้ยีสต์ โปรตีนถั่วเหลือง หรือตัวหนอนเอง (เพราะยีสต์และโปรตีนถั่วเหลืองถูกใช้ในการเลี้ยงหนอน)

ที่สำคัญคือ ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation therapy) ควรระมัดระวังในการเลือกใช้การรักษาด้วยหนอนแมลงวัน เนื่องจากหนอนสามารถทำให้เลือดออกได้

วิธีการกำจัดเนื้อตายด้วยหนอนแมลงวัน

หนอนที่เลี้ยงเพื่อใช้ในทางการแพทย์ระหว่าง 50-1,000 ตัว หรือตามปริมาณที่แนะนำจากบริษัท จะถูกนำมาใส่ในแผล ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของแผลด้วย และจะถูกพันผ้าไว้ในแผลเป็นเวลา 2-3 วัน คนส่วนใหญ่ต้องใช้การรักษานี้ 2-3 ครั้ง แต่ในผู้ที่มีแผลรุนแรงกว่าอาจต้องรักษาถึง 5-6 ครั้ง การรักษาจะสิ้นสุดลงเมื่อเห็นก้นแผลที่สะอาดแล้ว 

ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการรักษาด้วยหนอนแมลงวันนั้นมักเป็นอาการในระดับที่ทนได้ รวมถึงอาการเจ็บ ไม่สบาย และเลือดออกเล็กน้อย ซึ่งจะมีการให้ยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

หากคุณ หรือคนใกล้ชิดทรมานจากแผลเรื้อรังหรือแผลอื่นๆ ที่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ก็ควรลองพิจารณาทางเลือกนี้ดู ไม่มีใครปฏิเสธว่าหนอนแมลงวันที่เจอในถังขยะนั้นน่ารังเกียจ แต่หนอนแมลงวันที่เลี้ยงในห้องปฏิบัติการนั้นเป็นเหมือนเครื่องมือผ่าตัดเล็กๆ ที่เคลื่อนที่ได้ มีความยืดหยุ่น แม่นยำ และช่วยเร่งการฟื้นตัวแผลอีกด้วย 


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Wilasrusmee C et al., Maggot therapy for chronic ulcer: a retrospective cohort and a meta-analysis (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24382296), July 2014
Stadler F, The maggot therapy supply chain: a review of the literature and practice (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/31350920), 27 July 2019
Mumcuoglu KY, Clinical applications for maggots in wound care (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/11705249), 2001

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป