สิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

เสียงแตกหนุ่ม? เสื้อผ้าคับแน่น? การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อาจทำให้เกิดความรู้สึกสับสนได้ แต่การเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะช่วยให้คุณเข้าใจมากขึ้นได้
เผยแพร่ครั้งแรก 19 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
สิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

มันอาจฟังดูน่าขันหากคุณกำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ แต่คุณรู้จักภาวะนี้จริงๆ แล้วหรือ? การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็คือ การที่ร่างกายของคุณเริ่มมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนั่นเอง ในช่วงที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ร่างกายของคุณจะเจริญเติบโตเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นในชีวิต ยกเว้นตอนที่เป็นทารกอยู่ 

เป็นเรื่องที่ดีที่คุณจะได้ทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงกับคุณ และมันก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพราะไม่ว่าใครก็ต้องผ่านพ้นช่วงเวลานี้มากันทั้งนั้น 

ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงช่วงวัยเจริญพันธ์ุเป็นอย่างไร?

เมื่อร่างกายของคุณถึงวัยที่เหมาะสม สมองของคุณจะปล่อยฮอร์โมนพิเศษออกมาเพื่อเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงในช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เรียกว่า gonadotropin-releasing hormone หรือ GnRH เมื่อ GnRH ถูกส่งไปยังต่อมใต้สมอง นอกจากนี้ ต่อมดังกล่าวจะปล่อยฮอร์โมนอีก 2 ตัวสู่กระแสเลือด นั่นก็คือ luteinizing hormone (LH) และ follicle-stimulating hormone (FSH) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ต่างก็ต้องมีฮอร์โมน 2 ตัวนี้ แต่การทำงานของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อร่างกายแต่ละส่วนนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นหญิงหรือชายอีกที

  • สำหรับเด็กผู้ชาย ฮอร์โมนเหล่านี้จะเดินทางผ่านกระแสเลือดสู่อัณฑะและกระตุ้นอัณฑะให้ผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและอสุจิ ซึ่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางร่างกายของเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ส่วนเซลล์อสุจิจะถูกผลิตขึ้นในร่างกายของชายทุกคนเพื่อการสืบพันธุ์
  • สำหรับเด็กผู้หญิง ฮอร์โมน FSH และ LH จะถูกส่งไปยังรังไข่ซึ่งมีไข่ที่เด็กผู้หญิงทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด ฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นรังไข่ให้มีการผลิตฮอร์โมนอื่นอีก คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมน FSH และฮอร์โมน LH จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กผู้หญิงโตเป็นสาวและพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยมีฮอร์โมนและสารเคมีต่างๆ เคลื่อนที่ไปมาภายในร่างกาย ส่งผลให้คุณเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ต่อไป

วัยเจริญพันธุ์เริ่มตั้งแต่อายุเท่าไร?

การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์มักเริ่มต้นที่อายุระหว่าง 7-13 ปีสำหรับเด็กผู้หญิง และระหว่าง 9-15 ปีสำหรับเด็กผู้ชาย พบว่าบางคนอาจมีการเริ่มต้นเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติหรือช้ากว่าปกติได้ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้น ทุกคนจะผ่านช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ตามความเหมาะสมของร่างกาย และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเพื่อนของคุณบางคนยังคงดูเหมือนเด็ก ในขณะที่บางคนดูเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้ใหญ่เร็วมาก

ลักษณะภายนอกที่เปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์

ร่างกายของคุณมีการเจริญเติบโตและมันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 ปี 

สูงขึ้นสำหรับบางคนที่อยู่ในช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตเร็วที่สุด เขาอาจสูงได้มากถึง 4 นิ้วภายใน 1 ปีเลยทีเดียว โดยการเจริญเติบโตในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นี้ จะเป็นการเติบโตครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ความสูงของคุณจะเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากนี้คุณจะมีความสูงที่คงที่ตลอดวัยผู้ใหญ่ของคุณ

  • ผู้ชายมีกล้ามเนื้อเยอะขึ้น ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน คุณจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและเมื่อคุณตัวหนักขึ้น คุณจะสังเกตเห็นว่ารูปร่างคุณก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างผู้ชาย ไหล่ของพวกเขาจะกว้างขึ้นและจะมีกล้ามเนื้อมากขึ้น เสียงของพวกเขาก็จะทุ้มลึกลง สำหรับเด็กผู้ชายบางคนหน้าอกอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะภาวะนี้จะหายไปเมื่อสิ้นสุดช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว
  • อวัยวะเพศเกิดการเปลี่ยนแปลง หนุ่มๆ จะสังเกตได้ว่า อวัยวะเพศจะมีขนาดใหญ่และยาวขึ้น รวมทั้งอัณฑะก็จะมีขนาดโตขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
  • ผู้หญิงมีทรวดทรงมากขึ้น พวกเธอจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น สะโพกขยาย หน้าอกมีขนาดใหญ่ และเริ่มมีก้อนบวมบริเวณใต้หัวนม บางครั้งพบว่า หน้าอกข้างหนึ่งอาจขยายใหญ่ขึ้นเร็วกว่าอีกข้างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเต้าทั้งสองข้างจะมีขนาดเท่ากันเอง จากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น สาวๆ อาจสังเกตได้ว่าพวกเธออวบอั๋นมากขึ้น ทั้งยังรู้สึกเจ็บบริเวณใต้หัวนมด้วย นั่นเพราะหน้าอกของพวกเธอกำลังขยายใหญ่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงทุกคน การที่สาวๆ มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตกลายเป็นหญิงสาวอย่างเต็มตัว และมันจะเป็นเรื่องที่แย่ต่อสุขภาพมากหากคุณพยายามลดน้ำหนักในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามหากคุณมีข้อสงสัยหรือความกังวลใจเกี่ยวกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์จึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
  • ผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือน โดยปกติแล้ว ประมาณ 2 ถึง 2 ปีครึ่งหลังจากที่สาวๆ เริ่มมีหน้าอกแล้ว พวกเธอก็จะเริ่มมีประจำเดือนด้วย และนี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งสัญญาณให้พวกเธอรู้ว่ากำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว และฮอร์โมนในร่างกายของพวกเธอกำลังสูบฉีดและทำงาน หญิงสาวจะมีรังไข่ 2 รังที่มีไข่อยู่นับพันในนั้น และระหว่างที่มีประจำเดือน ไข่ฟองหนึ่งก็จะเดินทางออกมาจากรังไข่ ผ่านท่อนำไข่ และไปสู่มดลูกในที่สุด ก่อนที่ไข่จะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ มดลูกได้มีการสร้างเยื่อบุมดลูกซึ่งมีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อพิเศษ เมื่อไข่ปฏิสนธิกับเซลล์อสุจิ มันจะถูกฝังอยู่ในโพรงมดลูกเพื่อรอการเติบโตเป็นทารกต่อไป โดยใช้เลือดและเนื้อเยื่อในการป้องกันและล่อเลี้ยงตัวอ่อนในขณะที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนา
  • โดยปกติแล้ว ไข่จะตกมาที่มดลูกและร่างกายก็จะมีการสร้างเลือดและเนื้อเยื่อบุตามธรรมชาติ หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เลือดและเนื้อเยื่อเหล่านี้จะถูกขับออกจากร่างกายเป็นประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งประจำเดือนจะเกิดขึ้นเดือนละครั้งๆ ละประมาณ 5-7 วัน และ 2 สัปดาห์หลังจากการมีประจำเดือน ไข่ก็จะตกอีกครั้งซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณช่วงกลางรอบเดือนนั่นเอง
  • อวัยวะบางส่วนเริ่มมีขนขึ้น จริงๆ แล้วขนอาจไม่ได้ขึ้นทุกที่หรอก แต่สัญญาณหนึ่งของการเข้าสู่วัยเจริญพันธื คือ การที่มีขนขึ้นในที่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิงจะเริ่มมีขนขึ้นใต้วงแขนและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยขนที่ขึ้นมาจะค่อยๆ ขึ้นเป็นขนบางๆ แต่เมื่อคุณผ่านพ้นช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว ขนพวกนี้จะแข็ง หนา และดกดำขึ้น นอกจากนี้หนุ่มๆ ก็จะเริ่มมีขนขึ้นบนใบหน้าหรือที่เรียกว่า “เครา” ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นกับใบหน้าบ้าง?

อีกสิ่งหนึ่งที่จะมาพร้อมกับช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็คือ “สิว” โดยสิวนั้นถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยฮอร์โมนเพศ ซึ่งเด็กๆ จะเริ่มมีสิวในช่วงเริ่มต้นการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และจะมีอยู่เรื่อยๆ ในช่วงที่เป็นวัยรุ่น อาจสังเกตได้ว่าสิวมักขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า แผ่นหลัง หรือหน้าอก การดูแลรักษาความสะอาดจะช่วยให้มีสิวลดลง หรือปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาความสะอาด แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวล เพราะสิวจะเริ่มหายไปเองเมื่อผ่านพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว

จัดการปัญหากลิ่นกายในวัยรุ่น

คุณอาจเริ่มสังเกตว่ากลิ่นตัวของคุณเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะบริเวณใต้วงแขนหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งมันเป็นกลิ่นที่ไม่น่าหลงใหลสักเท่าไหร่ นั่นเพราะมันเป็นกลิ่นที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติและทุกคนจะมีกลิ่นกายเช่นนี้ สาเหตุของกลิ่นดังกล่าวเกิดจากฮอร์โมนที่มีผลต่อต่อมใต้ผิวหนัง โดยต่อมจะมีการผลิตสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้นมา แล้วคุณจะทำอย่างไรให้มีกลิ่นตัวน้อยลงได้? คำตอบง่ายๆ คือ ต้องพยายามรักษาความสะอาด คุณจำเป็นต้องอาบน้ำเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละครั้ง ตอนเช้าก่อนไปโรงเรียนหรือตอนค่ำก่อนเข้านอน การใช้โรลออนหรือสเปรย์ระงับกลิ่นกายเป็นประจำทุกวันก็จะช่วยลดกลิ่นตัวที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

มีอะไรมากกว่านี้อีกไหม?

นอกจากการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เด็กผู้หญิงอาจสังเกตว่ามีเมือกขาวไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเรียกว่า ตกขาว และมันไม่ได้หมายความว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ทว่าเป็นเพียงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและฮอร์โมนเท่านั้นเอง

ส่วนเด็กผู้ชายจะสังเกตได้ว่าอวัยวะเพศมีลักษณะแข็งตัว ซึ่งอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อคุณมีอารมณ์ความรู้สึก หรือมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรืออยู่ๆ อาการก็เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ และหนุ่มๆ อาจมีประสบการณ์เกี่ยวกับการฝันเปียก โดยเป็นอาการที่อวัยวะเพศแข็งตัวและหลั่งอสุจิออกมาในขณะที่กำลังนอนหลับ ซึ่งคุณมักจะตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนนั้นเปียกแฉะ โดยอาการดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปเองเมื่อผ่านพ้นช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว นอกจากนี้ หนุ่มๆ อาจเริ่มสังเกตได้ว่า เสียงของพวกเขาจะเริ่มแตกและมีลักษณะทุ้มต่ำลงด้วย

อาจรู้สึกแปลกๆ ไปบ้างกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายที่เราสังเกตได้นั้นมาจากฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายด้วย ในขณะที่ร่างกายของคุณกำลังปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง จิตใจของคุณก็ต้องมีการปรับเช่นกัน ในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์คุณอาจรู้สึกสับสนและมีอารมณ์แปรปรวนอย่างที่คุณไม่เคยเป็นมาก่อน คุณอาจรู้สึกวิตกกังวลและรู้สึกผิดหวังง่ายๆ กับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น และบางรายอาจมีอารมณ์ก้าวร้าวฉุนเฉียวง่ายขึ้นด้วย ซึ่งบางครั้งคุณพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับภาวะทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น และบางครั้งคนรอบข้างของคุณก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้คุณโกรธหรือโมโห มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย – แต่นั่นเป็นเพราะ สมองกำลังสั่งการให้คุณพยายามปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คุณอาจรู้สึกว่ามันยากมากแต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง การพูดคุยหรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูที่ปรึกษา ผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจ หรือเพื่อนที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว และเล่าในสิ่งที่คุณกำลังประสบอยู่ให้พวกเขาฟังก็สามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้

ไม่เพียงเท่านี้ คุณอาจเริ่มมีความรู้สึกสับสนเกี่ยวกับเรื่องเพศและมีคำถามมากมายเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนที่กำลังส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าร่างกายของคุณพร้อมแล้วสำหรับการสืบพันธุ์และการมีลูก ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คำถามของคุณควรมีคำตอบ

การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศอาจทำให้คุณรู้สึกอึดอัดและเขินอายอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่คุณต้องแน่ใจว่าสิ่งที่คุณรู้นั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้วจริงๆ หรือไม่ ลองปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามของคุณ แต่หากคุณไม่กล้าจะถามพ่อแม่ ยังมีหลายคนที่คุณจะสามารถขอคำปรึกษาได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลประจำโรงเรียน ครูที่ปรึกษา หรือผู้ใหญ่ที่คุณไว้ใจ เป็นต้น

ร่างกายเจริญเติบโตและพัฒนาแตกต่างไปจากคนอื่นๆ หรือเปล่า

เนื่องจากเราทุกคนมีความแตกต่างกัน แน่นอนที่คุณจะมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันไป คุณอาจสังเกตว่าเพื่อนของคุณบางคนเริ่มมีทรวดทรงองเอว ในขณะที่คุณยังไม่มี หรือเพื่อนของคุณบางคนเริ่มมีเสียงแตกทุ้มเป็นหนุ่ม ในขณะที่เสียงของคุณยังเป็นเหมือนเด็กที่เสียงสูงและแหบ หรือบางทีคุณก็รู้สึกอายที่ตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงที่สูงที่สุดในชั้น หรือเป็นเด็กผู้ชายคนเดียวในห้องที่ต้องโกนหนวด

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนจะต้องผ่านช่วงการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว มันจะช่วยได้มากหากเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติ แต่เป็นเรื่องที่ธรรมชาติสร้างมา และเราทุกคนมีความแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้เราต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกร่างกาย

ที่มาของข้อมูล http://kidshealth.org/en/teens/puberty.html


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Stages of puberty: what happens to boys and girls. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/live-well/sexual-health/stages-of-puberty-what-happens-to-boys-and-girls/)
Stages of Puberty: A Guide for Girls and Boys. Healthline. (https://www.healthline.com/health/parenting/stages-of-puberty)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)