สิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับเลือดกำเดา

เผยแพร่ครั้งแรก 21 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
สิ่งที่คุณควรทราบเกี่ยวกับเลือดกำเดา

หากคุณเลือดกำเดาออก ลองหาสาเหตุของมันให้เจอ เพื่อที่ว่าจะได้ทำการรักษาและป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก

ทุกครั้งที่คุณเลือดกำเดาออก มันมักจะน่ากลัวเสมอ แต่กระนั้น ก็ไม่มีอะไรที่คุณต้องกลัวจนเกินเหตุหรอก เลือดกำเดานั้นเป็นอาการที่พบได้มากในช่วงฤดูหนาว เนื่องมาจากความผันผวนอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ ซึ่งมักไม่ได้ส่งผลต่อชีวิตอย่างร้ายแรงเท่าไร หากเกิดอาการนี้ขึ้น คุณสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นง่าย ๆ ได้แม้แต่ที่บ้านของคุณเอง แต่ก่อนที่จะศึกษาถึงวิธีการจัดการกับมัน เราลองมาทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาออก และความรุนแรงของมันกันก่อน

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้จมูกมีเลือดออก?

จมูกเป็นอวัยวะที่มีท่อนำเมือกและหลอดเลือดมากมายภายใน ซึ่งนำส่งเลือดไปยังเนื้อเยื่อทั่วจมูก และด้วยธรรมชาติความเปราะบางของหลอดเลือดเหล่านี้ หากถูกเกาเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดเลือดกำเดาออกมาได้ ยิ่งกว่านั้น ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของจมูกทำให้หลอดเลือดเหล่านี้มักได้รับผลกระทบจากสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เลือดกำเดาสามารถเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่ส่วนด้านหน้าของจมูก ไปจนถึงส่วนที่เป็นทางแยกไปสู่รูจมูก หรือแม้แต่ตำแหน่งใดก็ตามบริเวณรูจมูกเอง แต่ก็มีบ้างที่มันเกิดขึ้นในจมูกส่วนหลัง ซึ่งมาจากการบาดเจ็บที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ที่อยู่ลึกลงไปในโพรงจมูก ในกรณีนี้มักจะทำให้เลือดที่ออกไหลลงคอแทน

อะไรทำให้เกิดเลือดกำเดา?

เลือดกำเดาส่วนมากมักเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกอย่างการแคะจมูก แต่ก็มีหลายปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสดังกล่าวเช่น

  • อากาศแห้ง: เช่นเดียวกับผิวหนังของคนเราที่จะแตกในช่วงอากาศหนาว เนื้อเยื่อโพรงจมูกภายในก็เช่นเดียวกัน ทั้งอากาศเย็น อากาศแห้ง และการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสภาพอากาศอย่างการเดินจากห้องเย็นไปยังพื้นที่เปิดโล่งที่อบอุ่นจะส่งผลต่อหลอดเลือดขนาดเล็กในจมูก ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเกิดเลือดกำเดา
  • การติดเชื้อ: การติดเชื้อทางระบบหายใจทั่วไปส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบของหลอดเลือดในจมูกได้ ซึ่งส่งผลไปสู่การเกิดเลือดกำเดาออก และยิ่งภายในสภาพแวดล้อมที่เย็นมักทำให้มนุษย์เกิดอาการจมูกตันและมีการสั่งจมูกบ่อยครั้ง ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บในหลอดเลือดในโพรงจมูก
  • การสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอก: อาการแพ้ฝุ่นละออง และการได้รับควันบุหรี่มือสองก็ส่งผลต่อการเกิดเลือดกำเดาเช่นกัน
  • สภาพร่างกาย: สภาวะทางการแพทย์หลายประการอย่างความดันโลหิตสูง ปัญหาไต ภาวะเลือดออกง่าย และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเกิดเลือดกำเดาขึ้น
  • การบริโภคแอลกอฮอล์: แอลกอฮอล์มีผลต่อกิจกรรมการเกาะตัวกันของเลือด โดยมันเพิ่มระยะเวลาเลือดจับลิ่ม และยังขยายหลอดเลือด ทำให้มันเกิดการบาดเจ็บได้ง่ายดายยิ่งขึ้น
  • การใช้ยา: มียาบางตัวที่ไปรบกวนกระบวนการจับลิ่มเลือด ซึ่งรวมไปถึงยาแก้อักเสบอย่างไอบูโพรเฟน
  • การคดงอของผนังกั้นช่องจมูก: แม้จะพบไม่บ่อยนักที่ผนังช่องจมูกจะเกิดการบิดเอียงเล็กน้อยไปข้างหนึ่ง ซึ่งทำให้การไหลผ่านของอากาศในขณะหายใจเปลี่ยนแปลงไป และด้วยทิศทางที่ไม่สมมาตรเช่นนี้ รูจมูกข้างที่มีขนาดกว้างจึงมักจะแห้งและแตกได้ง่ายดายกว่า

วิธีดูแลตนเองหากมีเลือดกำเดาออก

  • ค่อย ๆ พ่นลมหายใจออกทางจมูกเบา ๆ เพื่อขจัดลิ่มเลือดออกจากรูจมูก แม้ว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เลือดยิ่งออกมากขึ้น แต่ก็ออกเพียงแค่ระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น
  • นั่งลงหรือยืนโดยเอนตัวไปข้างหน้า อย่างเงยหน้าขึ้น เพราะจะทำให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และเปลี่ยนมาหายใจผ่านช่องปากแทน
  • บีบจมูกในส่วนอ่อนที่อยู่ใต้กระดูกแข็งด้วยนิ้วชี้และหัวแม่มือ โดยคงอยู่เช่นนี้ไม่กี่วินาทีไปพร้อมกับหายใจผ่านช่องปากแล้วจึงปล่อยมือ ทำเช่นนี้ซ้ำอีก 4 – 5 ครั้ง
  • หากเลือดยังคงไหลไม่หยุดแม้จะผ่านกระบวนการข้างต้นไปแล้ว ให้ประคบเย็นภายนอกบนดั้งจมูกเพื่อลดปริมาณการไหลของเลือด
  • หากยังคงมีเลือดกำเดาออกอยู่อีก ให้ไปพบแพทย์ทันที

หากเลือดกำเดาไหลเนื่องมาจากปัญหาที่ร้ายแรงมากกว่าที่กล่าวไป แพทย์ของคุณอาจทำการหยอดจมูกเพื่อหยุดเลือด ซึ่งถ้าหลอดเลือดขนาดใหญ่เกิดเสียหายจนทำให้เกิดเลือดกำเดาไม่หยุดเช่นนี้ ทางแพทย์อาจทำการปิดหลอดเลือดด้วยการยัดสำลีหรือผ้าปิดแผลชุบยาในรูจมูก หรือบางกรณีก็มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างการบำบัดด้วยเลเซอร์ที่ถูกประดิษฐ์มาเพื่อการปิดปากแผลภายในจมูกโดยเฉพาะ สำหรับการเกิดเลือดกำเดาออกซ้ำซากอันเนื่องมาจากการบิดงอของผนังกั้นจมูกนั้นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อปรับทิศทางผนังกั้นจมูกเท่านั้น

คุณสามารถป้องกันการเกิดเลือดกำเดาออกได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • สั่งจมูกอย่างพอดีและนุ่มนวล
  • ให้พื้นที่ในอาคารมีอากาศอบอุ่นในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนไหวต่อความหนาวเย็น
  • คุณสามารถใช้สเปรย์น้ำเกลือล้างจมูกหรือเจลทาโพรงจมูกเพื่อป้องกันเนื้อเยื่อจมูกจากอากาศแห้งได้ แต่กระนั้นก็ควรทำการปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาดังกล่าว
  • ทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างระมัดระวังเพื่อป้องกันการบาดเจ็บบนใบหน้า อย่างการเล่นฟุตบอล หรือการขับรถ เป็นต้น
  • ปิดจมูกด้วยหน้ากากหากคุณเป็นภูมิแพ้สารเคมีหรือฝุ่นควัน
  • หยุดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง

ฉันควรรีบพบแพทย์ในกรณีไหนบ้าง?

ส่วนใหญ่ เลือดกำเดามักจะหยุดหลังจากผ่านไปไม่กี่นาที แต่หลังจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วยังไม่หยุดไหล และยังคงเกิดขึ้นมาซ้ำอีก คุณควรรีบไปพบแพทย์ในทันที เนื่องจากมันยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงอันตรายนอกเหนือจากนี้ได้อีกอย่างเช่นก็ติดเชื้อในโพรงจมูก อีกทั้งอาการเจ็บปวดในขณะที่มีเลือดกำเดาออกนี้ก็ยังแสดงถึงความผิดปรกติอีกด้วย

แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ สอบถามยาที่คุณกำลังใช้อยู่ และจะมีการเช็คจมูกเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบจุดที่มีเลือดออก ถ้าเลือดมาจากจมูกส่วนหลัง แพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กส่องเข้าไปแทน แพทย์อาจจะให้คุณทำการตรวจเลือดที่ออกเพื่อทำการนับเกล็ดเลือด และมองหาตัวกระตุ้นอื่นที่ทำให้เลือดกำเดาออกไม่หยุด


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
When Should I Call the Doctor About Nosebleeds?. WebMD. (https://www.webmd.com/first-aid/call-doctor-nosebleeds)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)