กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

รู้จักมะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

มะเร็งมดลูก มักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 12 พ.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
รู้จักมะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคมะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งระบบสืบพันธ์ุสตรีที่พบเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งรังไข่ โดยมักพบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกแน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น อายุที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ที่ไม่เคยมีบุตร โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือการใช้ยา Tamoxifen ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ
  • อาการที่พบบ่อยของมะเร็งมดลูกคือ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน โดยเลือดที่ออกทางช่องคลอดอาจเริ่มจากเลือดออกปริมาณเล็กน้อยร่วมกับตกขาว ซึ่งอาจเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
  • หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยแนวทางการรักษาหลักคือ การผ่าตัดมดลูกออกร่วมกับการฉายรังสี หรือใช้ยาเคมีบำบัด
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจผ่าตัดมดลูก

โรคมะเร็งมดลูก หรือเรียกอีกชื่อว่า มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นมะเร็งระบบสืบพันธ์ุสตรีที่พบเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งรังไข่

มะเร็งมดลูกมักพบในผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยอาการในระยะเริ่มต้นคือ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน หากมีอาการดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุของมะเร็งมดลูก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเกิดมะเร็งมดลูก แต่โรคมะเร็งทั่วไปนั้นเกิดจากมีการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่า การกลายพันธุ์ของโครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์

การกลายพันธุ์ของเซลล์ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนแบบควบคุมไม่ได้จนเกิดเป็นก้อนเนื้องอก (tumour)

หากมะเร็งที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการรักษา มะเร็งจะเจริญเติบโต และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ โดยแพร่กระจายโดยตรง หรือแพร่กระจายผ่านระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งมดลูก แต่ก็พบปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งมดลูก ซึ่งการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูกเป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งมดลูกได้

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งมดลูกมีหลายประการ มีทั้งที่หลีกเลี่ยงได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

อายุ

ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมดลูกจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยมะเร็งมดลูกส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงอายุ 40-74 ปี มีเพียง 1% เท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen)

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดมะเร็งมดลูกคือ การที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไม่สมดุล โดยเฉพาะในผู้ที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดสูง

ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นหนึ่งในสองฮอร์โมนที่ควบคุมระบบสืบพันธ์ุของเพศหญิง มีหน้าที่กระตุ้นการตกไข่จากรังไข่ และทำให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกแบ่งตัว ในขณะที่โปรเจสเตอโรน (Progesterone) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมรองรับการฝังตัวของไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว

ปกติแล้ว ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดจะมีระดับสมดุลกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะหยุดผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน แต่ยังคงมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่เล็กน้อย ทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง (Unopposed estrogen)

ภาวะดังกล่าว ส่งผลให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้น ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมดลูกนั่นเอง

การบำบัดทดแทนด้วยฮอร์โมน (Hormone replacement therapy: HRT)

เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลต่อการเกิดมะเร็งมดลูก การใช้ฮอร์โมนทดแทนชนิดเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว (Estrogen-only hormone replacement therapy) จึงควรใช้ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกออกแล้ว

ในผู้ที่ยังไม่ผ่าตัดมดลูกออก แต่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนด้วยฮอร์โมน ควรใช้ฮอร์โมนทดแทนทั้ง 2 ชนิดร่วมกัน (Combination HRT) เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมดลูก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน

ฮอร์โมนเอสโตรเจนสามารถสร้างจากเนื้อเยื่อไขมันได้ ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย จึงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมดลูกได้มากกว่าคนทั่วไปนั่นเอง

โดยผู้ที่มีน้ำหนักเกินจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ 3 เท่า ในขณะที่ผู้ที่อ้วนมากจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูก 6 เท่า

ประวัติการมีบุตร

ผู้ที่ไม่เคยมีบุตรจะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกมากกว่า อาจเป็นเพราะในระหว่างตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูงขึ้น และระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำลง ทำให้เกิดผลงในเชิงป้องกัน (Protective effect) กับเยื่อบุโพรงมดลูก

การใช้ยา Tamoxifen ในการรักษามะเร็งเต้านม

ในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยยา Tamoxifen (ทาม็อกซิเฟน) ในการรักษามะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ได้รับจากยา Tamoxifen มีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

สิ่งสำคัญคือ หากได้รับยา Tamoxifen และมีการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกสูงเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากการมีระดับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ในร่างกายสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในไต

นอกจากนี้ผู้หญิงหลายรายที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกด้วย

ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome: PCOS)

ผู้ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกสูงขึ้น เพราะร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น สังเกตได้จากการมีประจำเดือนมาไม่ปกติ มาน้อยกว่าปกติ หรือไม่มีประจำเดือนเลย มีบุตรยาก น้ำหนักตัวขึ้น เป็นสิว หรือขนดก (Hirsutism)

เยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติ (Endometrial hyperplasia)

ในผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกเพิ่มมากขึ้น

การวินิจฉัยภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนา อาจสังเกตได้จากการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจแปบเสมียร์ (Pap smear) หรืออัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก

อาการของมะเร็งมดลูก

อาการที่พบบ่อยของมะเร็งมดลูกคือ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน โดยเลือดที่ออกทางช่องคลอดอาจเริ่มจากเลือดออกปริมาณเล็กน้อยร่วมกับตกขาว ซึ่งอาจเป็นมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ที่มีอาการเลือดออกผิดปกติไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แต่ก็ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการอยู่ดี

ในผู้หญิงที่ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน อาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดอาจมีลักษณะเป็นเลือดประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ช่วงมีประจำเดือน

อาการอื่นๆ ที่พบได้น้อย ได้แก่ อาการปวดท้องน้อย และอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ 

หากยังไม่สะดวกในการเดินทางไปพบแพทย์แต่มีความกังวลใจสูง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับมะเร็งนรีเวชแล้ว นอกจากคำแนะนำเบื้องต้นจากแพทย์จะช่วยให้คลายความกังวลได้แล้ว แพทย์ยังสามารถแนะนำประเภทการตรวจคัดกรองที่เหมาะสมต่อไปได้

อาการของมะเร็งมดลูกในระยะลุกลาม 

  • ปวดหลัง ปวดขา หรือปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย เหนื่อย
  • คลื่นไส้

การวินิจฉัยมะเร็งมดลูก

แพทย์ซักประวัติสุขภาพทั่วไป สอบถามเกี่ยวกับอาการที่เป็นและตรวจร่างกายบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ ช่องคลอด มดลูก รังไข่ และกระเพาะปัสสาวะ หากสงสัยว่า เป็นมะเร็งมดลูก แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound: TVU)

แพทย์จะใช้หัวตรวจอัลตราซาวด์สอดเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อให้ได้ภาพของเนื้อเยื่อภายในมดลูก ระหว่างการตรวจอาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อย แต่ไม่มีอาการเจ็บ

การตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอด ตรวจเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากเซลล์มะเร็งได้

การตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy)

หากตรวจพบเยื่อบุโพรงมดลูกหนา แพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อเยื่อเพื่อยืนยันการวินิจฉัย โดยวิธีการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อเยื่อออกมามีหลายวิธี เช่น

  • การดูดชิ้นเนื้อ (Aspiration biopsy) เป็นการสอดท่อขนาดเล็กที่ยืดหยุ่นได้ผ่านทางช่องคลอดเข้าไปในมดลูก เพื่อดูดตัวอย่างเซลล์จำนวนเล็กน้อยออกมาตรวจ
  • การใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ใช้กล้องขนาดเล็กสอดผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูก เพื่อตรวจดูเยื่อบุโพรงมดลูก และนำตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมา
  • การขูดมดลูก (Curettage) ใช้ในผู้ที่ไม่สามารถทำการดูดชิ้นเนื้อได้ หรือการดูดชิ้นเนื้อไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย หรือผู้ที่มีปากมดลูกตีบ

การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในเลือด

ก้อนเนื้องอกมะเร็งบางชนิดสามารถหลั่งสารเคมีบางอย่างเข้ามาในเลือดได้ เรียกว่า "สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumour markers)" ซึ่งสามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในเลือดอาจไม่สามารถยืนยันการเป็นมะเร็งมดลูกได้ จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

การวินิจฉัยระยะมะเร็งมดลูก

หากได้รับการวินิจฉัยมะเร็งมดลูก แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรคมะเร็ง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม ดังนี้

  • เอกซเรย์ปอด เพื่อดูว่า มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอด หรือไม่
  • การสแกนภาพถ่ายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายในร่างกาย หรือไม่
  • การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การใช้รังสีเอกซ์ช่วยในการสแกนภาพของเนื้อเยื่อภายในร่างกายเพื่อดูว่า มะเร็งมีการแพร่กระจายหรือไม่
  • การตรวจเลือดเพิ่มเติม มักทำเพื่อตรวจภาวะทางสุขภาพโดยรวม และดูหน้าที่การทำงานของอวัยวะในร่างกายบางอวัยวะ

ระยะของโรคมะเร็งมดลูก

มะเร็งมดลูก แบ่งเป็น 4 ระยะ เหมือนโรคมะเร็งทั่วไป ดังนี้

  • ระยะที่ 1 มะเร็งยังอยู่ภายในมดลูก
  • ระยะที่ 2 มะเร็งแพร่กระจายไปที่ปากมดลูก
  • ระยะที่ 3 มะเร็งแพร่กระจายออกไปนอกมดลูก เข้าสู่เนื้อเยื่อข้างเคียงในอุ้งเชิงกราน หรือที่ต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปที่เนื้อเยื่ออ่อนของช่องท้อง หรือเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ หรือปอด

การรักษามะเร็งมดลูก

วิธีการรักษาหลักของมะเร็งมดลูกคือ การผ่าตัดเอามดลูก (Hysterectomy) ปากมดลูก และปีกมดลูก (รังไข่และท่อนำไข่) ออกร่วมกับการล้างน้ำในช่องท้อง และสุ่มตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานและช่องท้องไปตรวจเพื่อดูว่า มีการแพร่กระจายของมะเร็งหรือไม่

หากไม่พบการลุกลาม การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอต่อการรักษาแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากพบว่า มะเร็งมีการลุกลามลึกขึ้น หรือกระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง หลังการผ่าตัดจะต้องเข้ารับการฉายรังสี หรือยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ

การรักษามะเร็งมดลูกในผู้ที่ยังไม่หมดประจำเดือน

การผ่าตัดมดลูกอาจทำให้ไม่สามารถมีบุตรได้อีกต่อไป ในผู้ที่ยังอยู่ในวัยมีประจำเดือนและยังต้องการมีบุตรอยู่ แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัดแทน

การติดตามหลังการรักษา

หลังการรักษาเสร็จสิ้น แพทย์จะนัดหมายให้กลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามอาการเป็นประจำ

The National Comprehensive Cancer Network (NCCN) แนะนำให้ตรวจติดตามทุกๆ 3-6 เดือน ในช่วง 2-3 ปีแรกหลังสิ้นสุดการรักษา เนื่องจากมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำของโรคสูง หลังจากนั้นให้ห่างขึ้นเป็นทุกๆ 6-12 เดือนในช่วง 2 ปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย ไอ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงนัดหมาย

ผลกระทบจากรักษามะเร็งมดลูก

การผ่าตัดมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ออก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนทางร่างกาย เช่น

  • หมดประจำเดือนก่อนวัย การผ่าตัดรังไข่ออกไปจะทำให้เข้าสู่การหมดประจำเดือน และอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ช่องคลอดแห้ง หรือไม่มีความต้องการทางเพศ
  • การเปลี่ยนแปลงที่ช่องคลอด การฉายรังสีสำหรับมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกจะทำให้ช่องคลอดตีบแคบและยืดหยุ่นลดลง อาจทำให้การมีเพศสัมพันธ์ยากลำบากขึ้น สามารถแก้ไขได้โดยการใช้อุปกรณ์ขยายช่องคลอด หรือยืดขยายช่องคลอดด้วยการมีเพศสัมพันธ์ การใช้นิ้วมือ หรือการใช้อุปกรณ์สั่น (vibrator)
  • ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะไม่อยากมีเพศสัมพันธ์ภายหลังการรักษามะเร็งมดลูก
  • ส่งผลต่อจิตใจ การรักษาอาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมาก ตกใจ สับสน หรือซึมเศร้าเมื่อรู้ว่า กำลังเป็นมะเร็ง หรือสียใจที่ไม่สามารถมีบุตรได้อีก

คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรับมือต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังการรักษามะเร็งมดลูก โดยอาจพาครอบครัว หรือคู่ของคุณไปพบแพทย์ด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเครียด หรือกังวล การไปปรึกษาจิตแพทย์นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยคุณได้

มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มักพบในผู้ที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว และสังเกตอาการได้จากการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 

ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูก รวมถึงมะเร็งสำหรับผู้หญิงอื่นๆ จะช่วยให้รู้เท่าทันโรคได้

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งมดลูก จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งมดลูก


13 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Endometrial (Uterine) Cancer: Overview, Risk Factors, Prevention (https://www.webmd.com/cancer/understanding-endometrial-cancer-basics), 25 October 2020.
Uterine neoplasms, Plymouth Meeting, Pa.: National Comprehensive Cancer Network (https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/default.aspx), 24 October 2020.
Palliative care, Plymouth Meeting, Pa.: National Comprehensive Cancer Network (https://www.nccn.org/professionals/physician_gls/default.aspx), 24 October 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)