การเลือกเก้าอี้ล้อเข็นให้ผู้สูงอายุ และวิธีใช้งานอย่างปลอดภัย

เผยแพร่ครั้งแรก 29 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
การเลือกเก้าอี้ล้อเข็นให้ผู้สูงอายุ และวิธีใช้งานอย่างปลอดภัย

เก้าอี้ล้อเข็นผู้สูงอายุเรียกได้หลายอย่าง เช่น เก้าอี้รถเข็น, รถเข็นคนไข้หรือรถเข็นวีลแชร์ ซึ่งรถเข็นเหล่านี้ก็คือรถเข็นแบบนั่งที่ออกแบบมาเพื่อเป็นพาหนะของผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่ไม่สามารถยืนหรือเดินได้อย่างสะดวกรถเข็นดังกล่าวจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเดินอันเนื่องจากการชราภาพหรือเจ็บป่วยชนิดพิการ

ประเภทของเก้าอี้ล้อเข็นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. ประเภทที่ต้องใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน 

คือรถเข็นที่ต้องใช้แรงคนช่วยเข็นดันไปด้านหน้าจึงจะเคลื่อนไหวไปได้โดยมีด้วยกัน 2 แบบคือ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • แบบผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเข็นเอง เป็นรถเข็นแบบที่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยต้องใช้แขนทั้งสองข้างหมุนล้อเอง และในเวลาที่ต้องการหยุดรถเข็นจะต้องใช้แขนทั้งสองข้างจับล้อเพื่อหยุดหรือชะลอความเร็ว รถเข็นดังกล่าวมักมีล้อขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-24 นิ้วเหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ยังคงสามารถช่วยเหลือตนเองได้บ้างโดยยังคงใช้มือหมุนล้อหลังและสมองยังคงสั่งงานให้ใช้แขนบังคับเข็นไปในจุดที่ต้องการได้
  • แบบที่ต้องมีผู้อื่นเข็นให้เท่านั้น เป็นรถเข็นที่ผู้ป่วยไม่สามารถเอื้อมมือมาขยับล้อเข็นหมุนเองได้มักนิยมใช้ในโรงพยาบาล เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินได้เอง โดยมักจะมีล้อหลังขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 - 14 นิ้ว รถเข็นประเภทนี้จะมีน้ำหนักเบา ราคาถูก

สำหรับรถเข็นประเภทขับเคลื่อนด้วยกำลังคนจะมีให้เลือกใช้หลายขนาดทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ พับเก็บได้และพับเก็บไม่ได้ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักออกแบบให้เป็นแบบพับเก็บจะได้ประหยัดเนื้อที่ในการเก็บ มีทั้งใช้เหล็กหรืออลูมิเนียมในการทำเพื่อให้มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยทั้งนี้จะต้องดูให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้ป่วยและผู้ที่จะดูแลจึงจะได้ผลประโยชน์สูงในการใช้

2. ประเภทที่ใช้พลังงานภายนอก 

คือรถเข็นที่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน โดยลักษณะภายนอกของรถเข็นและลักษณะการใช้งานจะเหมือนกับแบบที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อนแต่จะถูกติดตั้งเพิ่มเติมด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทำให้ผู้ใช้งานสามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทางที่ต้องการได้ รถเข็นแบบนี้นิยมใช้กับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหนักเช่น มีอาการทางสมอง ซึ่งสมองไม่สามารถสั่งการร่างกายให้ทำงานได้หรือพิการ เป็นอัมพาตจนร่างกายขยับไม่ได้

ส่วนประกอบของเก้าอี้ล้อเข็นสำหรับผู้สูงอายุ

  • โครงสร้างของตัวรถเข็น มักทำจากเหล็กพ่นสีหรืออลูมิเนียม ในส่วนที่นั่งผู้ป่วยมักใช้ผ้าหรือหนังใยสังเคราะห์มีที่เท้าแขนสำหรับวางแขนผู้ป่วย มีที่พักเท้าซึ่งควรพับหรือถอดออกได้ พนักพิงศีรษะอาจมีหรือไม่มีเป็นบางรุ่น มีคันบังคับท้ายสำหรับผู้ดูแล
  • ล้อรถเข็น เป็นยางตัน ทนทานแต่ไม่นุ่มนวล ไม่เหมาะกับการใช้งานนอกสถานที่
  • ยางสูบลม อาจรั่วซึมลมอาจออกได้ง่ายแต่นุ่มนวล เหมาะกับการนำมาใช้งานนอกสถานที่
  • ล้อหน้า ทำหน้าที่รับน้ำหนัก มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่าล้อหลัง มีกรงล้อนอกสำหรับใช้มือหมุนให้ล้อเคลื่อนที่
  • ล้อหลังทำหน้าที่บังคับทิศทาง มีขนาดเล็กกว่าล้อหน้า หมุนได้รอบแกน

ข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อเก้าอี้ล้อเข็นสำหรับผู้สูงอายุ

  • หากเป็นผู้ป่วยหนักจำเป็นต้องใช้รถเข็นในระยะเวลาที่ยาวนาน ควรซื้อแบบชนิดทนทาน มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆได้โดยสะดวก หากต้องเดินทางเป็นประจำควรซื้อแบบที่ทำด้วยอลูมิเนียม
  • หากเป็นผู้ป่วยที่นั่งทรงตัวด้วยตนเองไม่ได้ควรเลือกรถเข็นแบบปรับเอนนอนได้
  • หากงบน้อยต้องการประหยัดควรเลือกเก้าอี้ล้อเข็นเป็นแบบเหล็กชุบโครเมียมซึ่งก็มีรุ่นที่สามารถนั่งถ่ายได้ด้วย
  • หากมีงบมากต้องการความสะดวกสบายก็สามารถเลือกประเภทขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้
  • รถเข็นที่ดีต้องมีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ต้องไม่เทอะทะ ความลึกของเบาะนั่งต้องพอดีกับร่างกายของผู้สูงอายุ เมื่อนั่งแล้ว สะโพกและข้อเข่าควรงอทำมุมฉากควรมีช่องว่างระหว่างขอบที่นั่งกับข้อพับเข่าของผู้ป่วยเล็กน้อย หากที่นั่งลึกเกินไปอาจเกิดการเสียดสีเป็นแผลที่ใต้เข่าหรือผู้ป่วยอาจเลื่อนไหลตัวไปด้านหน้าจนอาจตกจากรถเข็นก็ได้
  • ต้องมีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน โดยควรคำนึงถึงความสูงของพนักพิงว่าต้องพอดี หากผู้สูงอายุมีอาการที่ทรงตัวไม่ดี ควรใช้พนักพิงที่พอเหมาะพอดีกับตัวของผู้สูงอายุหากผู้สูงอายุทรงตัวดี ต้องการความคล่องตัวในการเข็นรถด้วยตนเองให้เลือกใช้พนักพิงแบบต่ำ
  • ที่วางเท้าต้องพอเหมาะในขณะที่ผู้สูงอายุนั่ง ข้อเข่าและข้อเท้าควรงอตั้งฉากกัน ไม่ควรงอหรือเหยียดจนเกินไป หรือหากที่วางเท้าสูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแรงกดไปที่ก้นจนมากเกินไปเมื่อใช้ไปนานเข้าอาจทำให้ปวดหลังหรือเกิดแผลกดทับที่ก้นขึ้นมาอีกได้ ดังนั้น ควรเลือกซื้อประเภทที่ทำให้เกิดความสบายต่อผู้สูงอายุให้มากที่สุด

วิธีใช้เก้าอี้ล้อเข็นสำหรับผู้สูงอายุอย่างถูกต้อง

1. เมื่อต้องการกางเก้าอี้ล้อเข็น ควรใช้มือ 2 ข้างกดลงบนขอบที่นั่งพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน จนทำให้รถเข็นกางออก

2. การหุบเก็บ ควรจับแผ่นที่รองนั่งตรงกลางระหว่างขอบหน้าและขอบหลังแล้วยกขึ้น ตัวรถเข็นก็จะหุบเข้า

3. การกระดกล้อเล็กของเก้าอี้ล้อเข็น ผู้ที่ต้องการเข็นรถ ให้ใช้เท้าเหยียบปลายแกนเหล็กที่อยู่ด้านข้างของล้อใหญ่ทางด้านในของล้อทั้ง2 ข้าง โดยเหยียบแล้วกดลงพร้อมกับจับรถเข็นให้หงายขึ้นเล็กน้อย เท่านี้การกระดกล้อเล็กก็จะทำได้โดยง่าย

4. การใส่ห้ามล้อ ตำแหน่งของห้ามล้อ จะอยู่บริเวณด้านข้างของรถเข็นใกล้กับล้อใหญ่ ให้ผลักคันโยกของห้ามล้อไปทางด้านหน้า การปล่อยห้ามล้อ ให้ดึงคันโยกของห้ามล้อกลับมาด้านหลัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

5. การเข็นเก้าอี้ล้อถอยหลัง - เดินหน้าลงพื้นต่างระดับ

  • เข็นรถถอยหลังลง โดยเข็นจนล้อใหญ่อยู่ที่ขอบทางต่างระดับที่จะลง เข็นถอยหลังโดยให้ล้อใหญ่ค่อยๆ ลงมาที่พื้นต่างระดับแบบช้า ๆ ต่อจากนั้นนำรถเข็นถอยหลังต่อไปพร้อมกับกระดกล้อเล็กขึ้นจนกว่าที่วางเท้าจะพ้นขอบทางต่างระดับ เมื่อพ้นให้ค่อย ๆ วางล้อเล็กลงอย่างช้า ๆ
  • เข็นรถเดินหน้าลง เข็นให้ล้อเล็กอยู่ใกล้ทางต่างระดับ แล้วกระดกล้อเล็กขึ้น จากนั้นเข็นรถเดินหน้าต่อไปด้วยล้อหลัง จนถึงขอบทางต่างระดับแล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยล้อหลังลงจากทางต่างระดับแบบช้า ๆ โดยต้องให้ล้อเล็กกระดกขึ้นตลอดเวลา แล้วจึงวางล้อหน้าลง

6. การเข็นเก้าอี้ล้อนั่งถอยหลัง - เดินหน้าขึ้นบนพื้นต่างระดับ

  • นำเก้าอี้เข็นถอยหลังมาอยู่ในตำแหน่งที่ล้อใหญ่อยู่ชิดกับขอบทางต่างระดับ แล้วกระดกล้อเล็กขึ้น ออกแรงดึงรถเข็นให้ถอยหลังขึ้นไปบนทางต่างระดับโดยต้องกระดกล้อเล็กขึ้นตลอดเวลา ค่อย ๆ วางล้อหน้าลงช้า
  • นำรถเข็นมาเดินหน้ามาอยู่ในตำแหน่งที่หันหน้าเข้าหาทางต่างระดับแล้วกระดกล้อเล็กขึ้น เข็นรถด้วยล้อใหญ่จนล้อใหญ่อยู่ชิดทางต่างระดับและล้อเล็กอยู่บนทางต่างระดับ ยกรถเข็นไปด้านหน้าเพื่อให้ล้อใหญ่อยู่บนทางต่างระดับ

7. การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลง - ขึ้นบันไดขณะใช้รถเข็น

  • การย้ายผู้ป่วยลงบันได ต้องใช้คน 2 คนยก โดยคนหนึ่งให้ยืนอยู่ด้านหลังรถเข็น ใช้มือทั้ง 2 จับที่มือจับของรถเข็น อีกคนหนึ่งให้อยู่ด้านหน้ารถ มือทั้ง 2 จับบริเวณเหนือที่วางเท้าของรถเข็น จากนั้นเข็นรถไปอยู่ชิดบันไดขั้นบนสุดเพื่อเตรียมยกลง กระดกให้ล้อเล็กเอียงทำมุม 45 องศาแล้วจึงค่อยๆผ่อนให้รถเข็นเลื่อนลงบันไดทีละขั้น ช้าๆ ผู้ที่อยู่ด้านบนต้องจับให้มั่นคง ส่วนคนด้านล่างต้องช่วยรับน้ำหนักไว้ โดยต้องทำด้วยจังหวะที่สอดคล้องกัน
  • การย้ายผู้ป่วยขึ้นบันได ต้องใช้คน 2 คนโดยคนหนึ่งให้ยืนอยู่ด้านหลังรถเข็นใช้มือทั้ง 2 จับที่มือจับของรถเข็น อีกคนหนึ่งให้อยู่ด้านหน้ารถ มือทั้ง 2 จับบริเวณเหนือที่วางเท้าของรถเข็น จากนั้นเข็นรถเข็นถอยหลังไปชิดบันได โดยให้ล้อใหญ่อยู่ติดกับบันไดชั้นล่างสุดเพื่อเตรียมสำหรับการยกขึ้นบันได กระดกรถเข็นให้ล้อเล็กยกขึ้นทำมุมประมาณ 45 องศา ทั้ง 2คนออกแรงยกในจังหวะที่พร้อมกัน ผู้ที่อยู่ด้านบนต้องจับให้แน่นโดยต้องช่วยดึงรถเข็นไว้ คนที่อยู่ข้างล่างต้องช่วยรับน้ำหนักไว้ไม่ให้รถเข็นเลื่อนลงบันได

รถเข็นหรือเก้าอี้ล้อเข็นสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย นับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก หากแต่ผู้ใช้งานหรือบุคคลใกล้ชิดจำเป็นจะต้องศึกษา ตั้งแต่วิธีการเลือกซื้อเก้าอี้ล้อเข็นและวิธีการใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุไปยังจุดหมายที่ต้องการเป็นไปอย่างปลอดภัย


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kinds of Manual Wheelchairs to Suit Every Need. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/types-of-wheelchairs-2318270)
Aspects of Manual Wheelchair Configuration Affecting Mobility: AReview. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3944313/)
Wheelchair Prescription | Definition and Patient Education. Healthline. (https://www.healthline.com/health/wheelchair-prescription)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป