กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน และอาหารประเภทไหนที่ควรกิน ข้อควรปฎิบัติสำหรับคนเป็นโรคไต
เผยแพร่ครั้งแรก 3 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไต ทำหน้าที่คัดกรองของเสีย หรือสิ่งตกค้างในกระแสเลือดซึ่งมาจากการอาหารที่รับประทานเข้าไป ผู้ป่วยโรคไตจึงควรใส่ใจอาหารการกิน เพื่อช่วยให้ไตไม่ทำงานหนักจนเกินไป
  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีโพแตสเซียมสูง โปรตีนสูง ไขมันสูง โซเดียมสูง ฟอสฟอรัสสูง และพิวรีนสูง
  • หากผู้ป่วยโรคไตมีอาการบวมน้ำ ไม่ควรดื่มน้ำเกินวันละ 750-1,000 มิลลิลิตร หรือ 3-4 แก้วต่อวัน
  • อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตรับประทานได้ เช่น อาหารคลีนที่ทำโดยการต้ม หรือนึ่ง ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สด และเลือกใช้แหล่งโปรตีนจากปลา หรือแป้งปลอดโปรตีน
  • ผู้ป่วยโรคไตควรแบ่งย่อยมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไป และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการ เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเองให้แข็งแรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ผู้ป่วยโรคไตมักต้องระวังอาหารการกินหลายประเภท เนื่องจากไตที่ทำหน้าที่รักษาสมดุลแร่ธาตุในเลือดมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้มีของเสียตกค้างในกระแสเลือดได้ ฉะนั้น ผู้ป่วยโรคไตจึงควรรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่เพิ่มภาระให้ไตทำงานหนักมากจนเกินไป

อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง

ปกติแล้ว ร่างกายจะดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ เข้าสู่กระแสเลือดจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยไตจะคอยกรองของเสียในเลือดออก แต่เมื่อไตทำงานได้แย่ลง การกรองของเสียในเลือดออกก็ทำได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพื่อช่วยไตควบคุมแร่ธาตุ และสารอาหาร ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • อาหารที่มีโพแตสเซียมสูง เพราะโพแตสเซียมเป็นเกลือแร่ในเลือดชนิดหนึ่ง มีหน้าที่เกี่ยวกับการหดและคลายตัวของกลามเนื้อ หากมีโพแตสเซียมสูงเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ใจสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นช้าลง หรือจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้

    อาหารที่มีโพแตสเซียมสูงมาจากพืชผักผลไม้ที่มีสีเข้ม เช่น คะน้า แครอท ผักโขม ชะอม มะเขือเทศ เห็ดโคน หน่อไม้ ฟักทอง ทุเรียน กล้วยหอม ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ ลูกเกด และขนุน

    นอกจากผักผลไม้แล้วยังรวมถึงสมุนไพรในรูปแบบแคปซูล ยาน้ำ ยาชง ยาโบราณ และยาจีนอีกด้วย เพราะมีส่วนทำให้โพแตสเซียมในเลือดสูงเช่นกัน

  • จำกัดอาหารที่มีโปรตีนสูง เพราะเมื่อร่างกายเผาผลาญโปรตีนจะเกิดของเสียที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ร่างกายก็ยังต้องการโปรตีนเพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออยู่

    ฉะนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนสูง หรือการกินเนื้อสัตว์มากเกินไป เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูปซึ่งเพิ่มปริมาณกรดในไต ทำให้เกิดการผลิตแอมโมเนียที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในไตมากขึ้น

  • ควบคุมคาร์โบไฮเดรต หากผู้ป่วยต้องจำกัดโปรตีนต่ำมากๆ อาจต้องควบคุมคาร์โบไฮเดรตจากข้าวบางชนิดที่มีโปรตีนอยู่ด้วย เช่น ข้าวเจ้า มีโปรตีน 7% หรือข้าวสาลี มีโปรตีน 14%

  • อาหารที่มีไขมันสูง เพราะไขมันมีส่วนสัมพันธ์ต่อการทำงานของไตที่แย่ลง ดังนั้น ไม่ควรกินไขมันที่ให้พลังงานมากกว่า 30% ของแต่ละวัน และควรหลีกเลี่ยงไขมันจำพวกไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ ไขมันสัตว์ เช่น หมูสามชั้น ไข่ทอดฟู หนังไก่ หนังเป็ด ปาท่องโก๋ เค้ก พาย คุกกี้

  • อาหารที่มีโซเดียมสูง ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่อาหารหลายชนิดในปัจจุบันมีโซเดียมปริมาณมาก ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง

    ส่วนมากพบในอาหารแปรรูปจำพวกเนื้อสัตว์ ไส้กรอก แฮม ไส้อั่ว กุนเชียง และอาหารดองเค็ม เช่น ไข่เค็ม ปูเค็ม ผลไม้ดองเค็ม รวมถึงเครื่องปรุงรสที่มีรสเค็มด้วย เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เกลือ

  • อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงไข่แดง นมทุกรูปแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง งดทานเครื่องในสัตว์ ปลาทั้งกระดูก ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ รวมถึงเมล็ดพืช ถั่วต่างๆ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน

    รวมถึงงดอาหารที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปัง แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เพราะยีสต์มีฟอสเฟตอยู่มาก

  • อาหารที่มีพิวรีนสูง ผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงควรลดอาหารที่มีพิวรีน เนื่องจากพิวรีนจะทำให้เกิดกรดยูริกในร่างกาย

    ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารพิวรีนสูง เช่น ปลาซาดีน ปลากะตัก ปีกไก่ เป็ด ตับ ไต ยอดผักอ่อนๆ เช่น ยอดตำลึง ยอดฟักทอง

  • อย่ากินน้ำเปล่าเยอะเกินไป ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังบางรายจะมีอาการบวมน้ำ เนื่องจากไตขับปัสสาวะได้น้อยลง และมีความดันโลหิตสูง ให้ดื่มน้ำไม่เกินวันละ 750-1,000 มิลลิลิตร (3-4 แก้วต่อวัน) แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการบวมน้ำก็สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ

ตัวอย่างเมนูที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง

ตัวอย่างเมนูอาหารในชีวิตประจำวัน ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง เช่น 

  • เมนูผัดที่ใช้น้ำมันเยอะ เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง

  • เมนูทอดน้ำมันเยอะ เช่น ไข่เจียวทอดฟู ปลาดุกฟู

  • อาหารจำพวกซุป เช่น ซุปครีมข้าวโพด ซุปครีมเห็ด

  • อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น โจ๊กซอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ข้อควรปฎิบัติในการกินอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป เราจึงควรรับประทานอาหารตามวิธีต่อไปนี้ 

  • เลือกโปรตีนจากปลาเป็นหลัก โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาซาบะ ปลาโอ เพราะมีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ดี และไม่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มมากขึ้น

  • ใช้แป้งปลอดโปรตีน ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญ เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ เพิ่มเติมจากข้าวได้ หรือรับประทานขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีน เช่น ซาหริ่ม สาคูเปียก เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ แต่หากผู้ป่วยเป็นเบาหวานด้วยก็ควรใช้น้ำตาลเทียม หรือน้ำตาลจากหญ้าหวานแทน

  • เลือกอาหารที่ไม่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ หรือมีไขมันน้อย โดยการทำอาหารอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเยอะ เช่น แกงส้ม ยำผักกระเฉด ยำผักบุ้ง หรือหากรับประทานอาหารทอดก็ควรใช้นำมันรำข้าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

  • ประกอบอาหารด้วยตัวเอง คนที่เป็นโรคไตมีความเสี่ยงที่จะรับแร่ธาตุเกินความจำเป็นจากการรับประทานอาหารตามสั่งนอกบ้าน เพราะมีรสชาติเค็มจัด หวานจัด หรือมันจัด ฉะนั้นควรประกอบอาหารด้วยตัวเอง โดยใช้วิธีนึ่ง อบ ต้ม แทน และปรุงรสไม่จัดจนเกินไป

  • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ หลายๆ มื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารทีเดียวเป็นมื้อใหญ่ๆ เพราะจะทำให้ไตทำงานหนักเกินไป

ตัวอย่างเมนูที่ผู้ป่วยโรคไตกินได้

ผู้ป่วยโรคไตหลายคน เมื่อรู้ถึงข้อจำกัดของการกินอาหารแล้วก็อาจคิดไม่ออกว่าจะปรุงอาหารแบบไหนดี สัดส่วนมากน้อยเพียงใด สามารถดูตัวอย่างอาหารทั่วไปที่สัดส่วนการปรุงต่างจากคนอื่นเล็กน้อยได้ ดังนี้  

  • ข้าวไก่กะเพรา ประกอบด้วย ข้าวสุก 3 ทัพพี เนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ กะเพราหยิบมือ น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะ กับอีก 1 ช้อนชา

  • ผัดวุ้นเส้น ประกอบด้วย วุ้นเส้น 40 กรัม ไข่ขาว 1 ฟอง (ไม่ใส่ไข่แดง) ผัก 1 ส่วน ประกอบด้วย ผักกาด คื่นไช่ แครอท น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะ กับอีก 1 ช้อนชา

  • แกงส้มไข่เจียว ประกอบด้วย ข้าวสุก 3 ทัพพี เนื้อปลา 1 ช้อนโต๊ะ ไข่ขาว 2 ฟอง (ไม่ใส่ไข่แดง) ผัก 1 ส่วนสำหรับใส่ในแกงส้ม ประกอบด้วย ดอกแค มะละกอดิบ ฟักทอง สำหรับใส่ไข่เจียว น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะ กับอีก 1 ช้อนชา

ถึงแม้ผู้ป่วยโรคไตจะมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารมากกว่าคนทั่วไป แต่ข้อดีของการที่เราหันมาใส่ใจอาหารที่รับประทานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบไปจนถึงกรรมวิธีการทำ ก็จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น 

แต่หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารการกิน หรือวิธีการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนการเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

บทความที่เกี่ยวข้องกับโรคไต


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ, (https://www.thaihealth.or.th/Content/22126-อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะก่อนล้างไต.html), 03 มีนาคม 2557.
โรงพยาบาลราชวิถี, อาหารสำหรับโรคไตเรื้อรังระยะก่อนล้างไต, (http://110.164.68.234/nutrition/index.php?option=com_content&view=article&id=12:2012-06-23-10-53-09&catid=10:-1).
รศ. ดร. ภญ. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/141/ผักผลไม้ที่ควรระวังในผู้ป่วยเรื้อรัง), 05 พฤษภาคม 2556.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป