ทำอย่างไรเมื่อโรคเบาหวานส่งผลต่อความสัมพันธ์?

เผยแพร่ครั้งแรก 8 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ทำอย่างไรเมื่อโรคเบาหวานส่งผลต่อความสัมพันธ์?

การรับมือกับโรคเบาหวานประเภท 2 ถือเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตก็ว่าได้ หากคุณมีคนรักหรือคู่ชีวิต โรคเบาหวานก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาเช่นกัน ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า การมีคนรักที่พร้อมช่วยเหลือสามารถทำให้คุณจัดการกับโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ซึ่งหมายความว่าคุณและคนรักจะได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นตามไปด้วย

โรคเบาหวานส่งผลต่อคนรักได้อย่างไร?

การเป็นโรคเบาหวานสามารถส่งผลกระทบทางลบต่ออารมณ์และร่างกายของคนรัก หรือทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนรักของคุณจะกังวลเกี่ยวกับ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • การเป็นโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างตาบอดหรือการต้องตัดแขนหรือขา
  • การช่วยเหลือผู้ป่วยควบคุมเบาหวานทุกวัน และการรับมือกับภาวะฉุกเฉินของน้ำตาลในเลือด
  • การต้องดูแลครอบครัวและรับผิดชอบเรื่องอื่นๆ
  • เงินและขอบเขตความคุ้มครองของประกันชีวิต

หากคุณไม่พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ การสะสมความเครียดเป็นเวลานานสามารถนำไปสู่ความขัดแย้ง สำหรับวิธีที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ยังคงแข็งแรงแม้ว่าคุณกำลังเผชิญกับโรคเบาหวานมีดังนี้

1. ให้ความรู้แก่คนรัก

ยิ่งคุณเข้าใจโรคเบาหวานได้ดีเท่าไร คุณก็จะจัดการกับมันได้ดีมากขึ้นเท่านั้น โดยหมายความรวมถึงคนรักเช่นกัน คุณทั้งคู่ควรเรียนรู้เกี่ยวกับอันตรายของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและต่ำ อินซูลิน ยาชนิดอื่นๆ ประโยชน์ของการออกกำลังกาย และอาหารที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด ทั้งนี้คุณและคนรักอาจไปพบแพทย์เมื่อถึงวันนัดด้วยกัน

2. รู้บทบาทของตัวเอง

คู่รักทุกคู่มีความแตกต่างกัน คุณอาจรู้สึกตื้นตันใจถ้าคนรักคอยเช็กว่าคุณฉีดอินซูลิน หรือทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือคุณอาจหมดความอดทนกับนิสัยจู้จี้และชอบบงการของเขา สิ่งสำคัญคือ การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนเกี่ยวกับการช่วยแก้ปัญหาร่วมกัน อย่างไรก็ดี คุณอย่าเพิ่งคาดเดาว่าอีกฝ่ายรู้สึกว่าคุณเป็นภาระ และอย่าคาดหวังว่าเขาจะต้องคอยช่วยเหลือคุณตลอดเวลา คุณอาจลองถามอีกฝ่ายว่าเขาอยากช่วยในส่วนใด การคาดหวังและการมีขอบเขตที่ชัดเจนจะช่วยให้คุณไม่เครียดเมื่อเขาช่วยเหลือคุณน้อยหรือมากเกินไป

3. เปลี่ยนแปลงร่วมกัน

การรับมือกับโรคเบาหวานสามารถทำให้ไลฟ์สไตล์ของคุณเปลี่ยนไป การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกาย และการลดความเครียด ล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญของการรักษาตัว ซึ่งหมายความว่าคุณอาจต้องทำอาหารเองที่บ้าน หรือไปออกกำลังกายบ่อยขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สามารถส่งผลต่อกิจวัตรของคนรักมากทีเดียว ซึ่งมันจะเป็นเรื่องยากที่คุณจะนำนิสัยใหม่มาใช้ได้ตลอดรอดฝั่งเว้นเสียแต่ว่าคุณร่วมมือกับคนรัก ทั้งนี้คุณอาจเลือกทานอาหารที่ทั้งคุณและคนรักเพลิดเพลิน และออกกำลังกายชนิดที่คุณสามารถทำร่วมกันได้อย่างการเดินหลังทานอาหารวันละ 30 นาที

4. ขอความช่วยเหลือจากคนนอก

หากคุณและคนรักรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการกับโรคเบาหวานร่วมกันได้ Couples Counseling อาจช่วยได้ ไม่ว่าคุณจะเพิ่งตรวจพบว่าเป็นโรค หรือเป็นโรคนี้มาสักพักแล้ว ที่ปรึกษาสามารถช่วยให้การสื่อสารระหว่างคุณและคนรักง่ายขึ้น ดังนั้นสุขภาพของคุณก็จะกลายเป็นเป้าหมายที่ต้องทำร่วมกัน นอกจากนี้คุณสามารถเข้าร่วมในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานเช่นกัน พวกเขาสามารถทำให้คุณรู้สึกไม่โดดเดี่ยวหรือแตกต่าง และให้คำแนะนำหรือเคล็ดลับต่างๆ

การเป็นโรคเบาหวานไม่เพียงแต่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเท่านั้น แต่มันยังส่งผลต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะคู่สมรสหรือคนรัก นอกจากการได้รับกำลังใจจากคนใกล้ชิดจะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว การหาวิธีรับมือที่เหมาะสม และการหาทางออกร่วมกันก็จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดกับความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและคนรักได้

ที่มา: https://www.webmd.com/diabetes...


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How Type 2 Diabetes Affects Relationships. Everyday Health. (https://www.everydayhealth.com/type-2-diabetes/living-with/type-2-diabetes-and-relationships/)
Diabetes and mood swings: Effects on relationships and lifestyle tips. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/317458)
Personal and Relationship Challenges of Adults With Type 1 Diabetes. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3747936/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)