"อาหารแมคโครไบโอติกส์" ปรับสมดุลชีวิตเพื่อสุขภาพ

รู้จักการรักษาสุขภาพแนวทางเลือก แมคโครไบโอติกส์ ที่ใช้วิธีรักษาสมดุลการรับประทานอาหาร ร่างกาย จิตใจ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
"อาหารแมคโครไบโอติกส์" ปรับสมดุลชีวิตเพื่อสุขภาพ

การสร้างสมดุลให้แก่ร่างกายเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดและช่วยรักษาโรคได้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็เป็นวิธีที่จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล ส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายและสภาพจิตใจที่ดี ตามวิถีการดำเนินชีวิตแบบแมคโครไบโอติกส์ (Macrobiotics)

อาหารแมคโครไบโอติกส์คืออะไร?

คำว่า "แมคโครไบโอติกส์" (Macrobiotics) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก สามารถแยกได้เป็นสองคำคือคำว่า Macro มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่ ยืนนาน หรือยืนนาน กับอีกคำคือ Biotic มีความหมายเกี่ยวกับการดำรงชีวิต วิถีชีวิต ดังนั้นเมื่อนำคำศัพท์สองคำมารวมกัน จึงหมายความว่า “การดำรงชีวิตหรือวิถีชีวิตที่ยืนยาว” นั่นเอง จริงๆ แล้ววิถีแมคโครไบโอติกส์มีประโยชน์ในเรื่องการปรับสมดุลของร่างกายให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติรอบตัว ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน เพื่อสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุข

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แมคโครไบโอติกส์มีหลายมิติ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการเคลื่อนไหวหรือการออกกำลังกาย สภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต เรียกง่ายๆ ว่าเป็นวิถีการดูแลตัวเองแบบองค์รวม

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการรักษาสมดุลตามหลักแมคโครไบโอติกส์ เป็นหลักการเพื่อการรักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วการใช้ชีวิตรวมไปถึงการรรับประทานอาหารแนวทางนี้ สามารถส่งเสริมสุขภาพได้สำหรับทุกคน

หลักปฏิบัติของแมคโครไบโอติกส์

หลักของแมคโครไบโอติกส์แบ่งออกเป็นหลายด้านดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ละด้านมีรายละเอียดดังนี้

  1. ด้านการรับประทานอาหาร

    • จากอาหารทั้งหมด ควรแบ่งสัดส่วนการบริโภคดังนี้ ประมาณ 40-60% ของอาหารที่ได้รับในแต่ละวัน ควรเป็นอาหารประเภทธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาเล่ย์ ลูกเดือย ข้าวโพด และที่สำคัญต้องปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีด้วย 20-30% ในจานจะต้องเป็นผักและผลไม้ ควรเป็นผักที่ปลูกรับประทานเองหรือปลูกในท้องถิ่น ปลอดยาฆ่าแมลง ส่วนอีก 10% สุดท้ายควรเป็นอาหารที่มาจากถั่ว เช่น เต้าหู้ เทมเป้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ มีส่วนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังรวมถึงผักที่มาจากทะเลได้ด้วย เช่น สาหร่าย
    • การรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ แต่ต้องเป็นปลาเท่านั้น
    • ควรปรุงอาหารโดยใส่เครื่อปรุงต่างๆ ให้น้อยที่สุด และต้องเลือกใช้เครื่องปรุงจากแหล่งธรรมชาติ เช่น เกลือทะเล น้ำตาลไม่ฟอกสี ไม่มีสารกันเสีย สารแต่งกลิ่น ไม่ใส่ผงชูรส  นอกจากนี้ควรใช้วิธีการประกอบอาหารแบบ หุง ต้ม นึ่ง หลีกเลี่ยงการใช้เตาไฟฟ้า เตาอบ และไมโครเวฟ เนื่องจากมีรังสีอินฟราเรด (Infrared) และเพื่อคงคุณค่าของอาหารไว้ให้มากที่สุด ควรใช้อุปกรณ์ทำอาหารและภาชนะเก็บอาหาร จากวัสดุธรรมชาติ เช่น แก้ว ไม้ หรือใช้เครื่องครัวสเตนเลสหรือกระเบื้องเคลือบ
    •  ควรเคี้ยวอาหารอย่างน้อย 50 ครั้ง/คำ จนกระทั่งอาหารเหลวเป็นน้ำก่อนที่จะกลืน ช่วยในการย่อยอาหารและช่วยทำให้อื่มนาน ไม่รับประทานของว่างจุกจิกระหว่างวัน
    • ควรดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหายเท่านั้น และควรทำน้ำให้บริสุทธิ์ คือต้มน้ำและกรองน้ำก่อนดื่ม ก่อนนำไปปรุงอาหาร งดการดื่มชา กาแฟ โซดา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ด้านจิตใจ

    • พยายามมองโลกในแง่บวก และยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เสมอ
    • มีจิตใจเอื้อเฟื้อ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับที่ดี
    • ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท สามารถแนะนำชี้หนทางสุขภาพให้แก่ผู้อื่นได้
    • ใช้ชีวิตด้วยความอยากรู้ พัฒนาความอยากรู้อยากเห็นเพื่อช่วยให้สำรวจชีวิตให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
  3. ด้านร่างกาย

    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 
    • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

สิ่งที่หลายคนสงสัย การใช้ชีวิตแบบแมคโครไบโอติกส์สามารถใช้รักษาโรคได้หรือไม่?

แมคโครไบโอติกส์ถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการทางเลือกของรักษาและการดูแลแบบประคับประคอง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง จากการรายงานผลทางงานวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ทำให้ความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลดลง โดยเฉพาะในผู้หญิง การรับประทานอาหารประเภทนี้มีส่วนช่วยในการลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ไม่เพียงแต่ใช้รักษาโรคมะเร็งเท่านั้น การรักษาสมดุลแบบแมคโครไบโอติกส์ยังสามารถรักษาโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคภูมิแพ้อากาศ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเส้นเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการกินและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เรียกได้ว่า หากคุณปรับให้ปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคอยู่ในภาวะสมดุล ก็จะห่างไกลจากสภาวะเจ็บป่วย อาหารประเภทแมคโครไบโอติกส์มีการใช้วัตถุดิบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและมีการปรุงอาหารที่ไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้คุณค่าของอาหารลดลง อีกทั้งยังมีใยอาหารสูง ไขมันต่ำ จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อดีและข้อเสียจากการรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์

  • ข้อดี

    หากกำลังหาวิธีลดน้ำหนัก การรับประทานอาหารและการปรุงอาหารด้วยวิธีนี้จะช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากการลดอาหารประเภทแป้ง คาร์โบไฮเดรต ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 คงที่ การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ช่วยในการย่อย และการปรุงอาหารโดยใช้น้ำมันจากธรรมชาติยังช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดได้ ยิ่งไปกว่านั้นการรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ยังมีประโยชน์ในเรื่องการขับสารพิษออกจากร่างกาย การนอนหลับ ทำให้หลับลึกเป็นผลดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ได้เต็มที่อีกด้วย
  • ข้อเสีย

    การรับประทานอาหารแบบแมคโครไบโอติกส์ในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยบางโรค อาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหารตามมาได้

สำหรับในประเทศไทย หากต้องการปรับสมดุลชีวิตและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพตามแนวทางนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์อาหารแมคโครไบโอติกส์ (มา-ปี) ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.สอบถามรายละเอียดต่างๆได้ที่ 0-2849-6600 ต่อ 1051


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
George Ohsawa Macrobiotic Foundation, What is Macrobiotics? (https://ohsawamacrobiotics.com/gomf-home/what-is-macrobiotics), 2019.
Kerry Torrens and Sarah Lienard, What is the macrobiotic diet? (https://www.bbcgoodfood.com/howto/guide/what-macrobiotic-diet), 28 September 2018.
Monica Kass Rogers, Macrobiotic Diet (https://www.webmd.com/diet/a-z/macrobiotic-diet), 9 February 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)