กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

อินนูลินคืออะไร? มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
อินนูลินคืออะไร? มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

ใครที่กำลังสนใจการลดน้ำหนัก ลดความอ้วน กระชับสัดส่วน คงเคยได้ยินชื่อ อินนูลิน กันมาบ้างไม่มากก็น้อย ว่าเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่มักใช้ใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารลดน้ำหนักต่างๆ เช่น กาแฟผสมอินนูลิน ซึ่งเชื่อว่าดีต่อสุขภาพมากกว่า เพราะกินแล้วไม่อ้วน แถมน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้น แต่มีใครรู้บ้างว่าแท้จริงแล้ว อินนูลิน คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วทำไมถึงมักใช้แทนน้ำตาลสำหรับคนอยากลดความอ้วน

อินนูลินคืออะไร?

อินนูลิน (Inulin) เป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเกิดจากน้ำตาลฟรุคโทสมาเรียงต่อกันเป็นสายสั้นๆ เรียกว่า ฟรุคแทน (fructans) และด้านปลายเป็นน้ำตาลกลูโคส พบได้ในรากและหัวพืชบางชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ กระเทียม และในผลไม้ อินนูลินนั้นมีรสหวานแต่น้อยกว่าน้ำตาลทั่วไป อีกทั้งจัดเป็นเส้นใยอาหารที่สามารถละลายในน้ำได้ ร่างกายเราจึงไม่สามารถย่อยและดูดซึมมาใช้เป็นพลังงานได้ แต่จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ อินนูลินจึงถือเป็นพรีไบโอติกส์ที่ช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียชนิดดี และเนื่องจากอินนูลินจะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงไม่ไปเพิ่มระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด

ประโยชน์ของอินนูลินมีอะไรบ้าง?

  • ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากอินนูลินเป็นใยอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ก็มีรสหวานและดูดน้ำได้ดี เมื่อทานเข้าไปจึงช่วยให้รู้สึกอิ่ม และได้รสชาติหวานตามต้องการ นักวิจัยพบว่าการทานอาหารที่มีอินนูลิน 8-20 กรัมต่อวัน จะช่วยควบคุมพลังงานที่ร่างกายได้รับ จึงเป็นการควบคุมน้ำหนักไปในตัว
  • ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่าย อินนูลินเป็นใยอาหารที่มีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ดี จึงช่วยเพิ่มความชื้นให้อุจจาระ และกระตุ้นให้การขับถ่ายเราเป็นปกติ การทานอินนูลินต่อเนื่องกันจึงมีส่วนช่วยลดอาการท้องผูก รวมถึงป้องกันโรคริดสีดวงทวารและโรคมะเร็งลำไส้ด้วย
  • ช่วยป้องกันโรคท้องร่วง อินนูลินถือเป็นพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เนื่องจากแบคทีเรียชนิดดี หรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ในลำไส้จะย่อยและใช้เป็นอาหาร การที่แบคทีเรียประจำถิ่นเจริญเติบโตได้ดี จะช่วยป้องกันแบคทีเรียก่อโรคชนิดอื่นๆ ไม่ให้มารุกรานร่างกายเราได้
  • ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลจากอาหาร อินนูลินเป็นสารให้ความหวานที่ร่างกายย่อยและดูดซึมไม่ได้ จึงไม่มีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น นักวิจัยพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับอินนูลินปริมาณ 8 กรัมเป็นประจำ จะมีระดับน้ำตาลหลังทานอาหารลดลง นอกจากนี้ อินนูลินยังช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานได้อีกด้วย
  • ช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกาย เมื่อร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้น้อยลง ปริมาณน้ำตาลที่เปลี่ยนเป็นไขมันและเก็บสะสมในร่างกายจึงน้อยลงด้วย การทานอินนูลินจึงช่วยควบคุมระดับไขมันในเลือดและไขมันสะสมในเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ อินนูลินยังสามารถใช้แทนไขมันในอาหารไขมันต่ำได้ เช่น ในไอศกรีม ลูกอม เนื่องจากอินนูลินจะช่วยให้อาหารมีความหนืด และมีสัมผัสเหมือนครีม

อินนูลินมีข้อเสียหรือไม่?

แม้จะยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการทานอินนูลินให้ผลเสียใดๆ ต่อสุขภาพ แต่เชื่อว่าหากทานมากเกินไป อาจทำให้แบคทีเรียโปรไบโอติกส์ในลำไส้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เรารู้สึกปวดท้อง จุกเสียด แน่น ไม่สบายท้องได้เช่นกัน

จะรับอินนูลินได้จากไหน?

อินนูลินนั้นพบในพืชและผลไม้หลายชนิด เช่น หอมหัวใหญ่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง แก่นตะวัน หัวชิคอรี และกล้วยหอม ซึ่งหากนำพืชเหล่านี้มาปรุงอาหารหรือทานสด เราก็จะได้รับอินนูลินไปด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีอาหารหลายอย่างที่ผสมอินนูลินหรือใช้เพื่อให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น กาแฟลดน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ซึ่งเราควรดูส่วนประกอบให้ดีก่อนทาน ว่ามีอินนูลินอยู่มากน้อยแค่ไหน และมีสารอื่นๆ ที่อาจเป็นโทษต่อร่างกายหรือไม่


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Inulin: Uses, Side Effects, Interactions, Dosage, and Warning. WebMD. (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1048/inulin)
Inulin: Benefits, Dosage, Side Effects, Preparation, and Storage. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/the-health-benefits-of-inulin-4587258)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป