วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

วัดสายตา วัดอย่างไร มีกี่วิธี

รวมรายละเอียดการวัดสายตา วัดวิธีไหนแม่นยำที่สุด
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มิ.ย. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 30 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
วัดสายตา วัดอย่างไร มีกี่วิธี

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ค่าสายตาที่ผิดปกติ เป็นปัจจัยทำให้การมองเห็นของคนเราไม่ชัดเจน โดยสายตาผิดปกติที่พบได้มากคือ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาไม่เท่ากัน
  • วิธีการวัดสายตามีอยู่หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้คือ การทดสอบโดยให้ผู้เข้าตรวจยืนอยู่ในระยะไกล กับ ใกล้กับป้ายทดสอบตามที่กำหนด แล้วอ่านตัวเลข หรือตัวอักษรบนแผ่นป้ายนั้นว่า ผิดถูกมากน้อยแค่ไหน จากนั้นจะได้ค่าสายตาทั้ง 2 ข้างออกมา
  • แผ่นทดสอบแบบ Snellen ยังมีแบบเป็นตัวอักษร E อยู่บนป้าย สำหรับใช้ตรวจสายตาผู้ที่ไม่รู้ตัวอักษร หรือตัวเลข รวมถึงแบบรูปภาพ การ์ตูน สำหรับตรวจสายตาในเด็กเล็ก
  • วิธีวัดสายตาที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบันคือ การวัดสายตาด้วยเครื่องเรติโนสโคป ซึ่งเป็นการวัดสายตาจากการสังเกตการตอบสนองเลนส์ตาของผู้เข้าตรวจ แต่ต้องอาศัยความชำนาญจากผู้ตรวจด้วย
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจตา

ค่าสายตา เป็นปัจจัยที่ทำให้การมองเห็นของคนเราชัดไม่เท่ากัน และยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกคนจึงต้องหมั่นตรวจสุขภาพดวงตา รวมทั้งการวัดสายตา เพื่อตรวจว่า ประสิทธิภาพการมองเห็น ณ เวลานั้นๆ เป็นอย่างไร

ความผิดปกติของสายตา

โดยสายตาที่ผิดปกติซึ่งพบได้ทั่วไป ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • สายตาสั้น (Nearsightedness) เป็นภาวะที่แสงสะท้อนจากวัตถุที่มอง มีการโฟกัสตกลงไปก่อนจะถึงจอรับภาพ (Retina) ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจน
  • สายตายาว (Farsightedness) เป็นภาวะที่แสงสะท้อนจากวัตถุที่มองมีการโฟกัสตกเลยไปด้านหลังจอรับภาพ ทำให้มองเห็นภาพระยะไกลได้ชัดเจนมาก แต่กลับมองภาพระยะใกล้ไม่ชัด หรือมัว
  • สายตาเอียง (Astigmatism) เป็นภาวะที่แสงสะท้อนจากวัตถุที่มองมีการโฟกัสมากกว่า 1 จุด ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล ภาพที่เห็นเบี้ยวไปจากปกติและจำเป็นต้องเอียงคอเพื่อให้การมองเห็นชัดขึ้น
  • สายตาไม่เท่ากัน (Anisometropia) เป็นภาวะที่ค่าสายตาของตาทั้ง 2 ข้างมีไม่เท่ากัน เช่น ตาข้างซ้ายมีสายตาสั้น ตาข้างขวามีสายตายาว

ทั้งนี้เพื่อให้รู้ความผิดปกติของสายตาได้ทันก่อนที่ค่าสายตาจะเปลี่ยนไปมากขึ้น คุณจึงจำเป็นต้องวัดสายตาเพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็นทั้งระยะใกล้ และไกล

หลักการในการวัดสายคาคือ วัดความสามารถของดวงตาในการแยกวัตถุสองชิ้นออกจากกัน เพื่อให้แพทย์สามารถประเมินปัญหาสายตาได้อย่างถูกต้อง

คำศัพท์และตัวเลขในการวัดค่าสายตา

1.ระดับสายตา (Visual Acuity: VA) หมายถึง ความสามารถในการมองเห็น รวมถึงระดับความคมชัดของสายตาผู้เข้าตรวจ

2. การวัดระดับสายตา (Visual Measurement) หมายถึง การทดสอบการมองเห็นตรงกลาง โดยจะแบ่งระยะที่ให้ผู้เข้าตรวจยืนเพื่ออ่านตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะไกล 20 ฟุต (6 เมตร) และระยะใกล้ 33 เซนติเมตร (14 นิ้ว) 

ในการวัดค่าสายตา จะมีการจดบันทึกออกมาเป็น 2 สองส่วนด้วยกัน คือ

  • ตัวเลขเศษ หมายถึง ระยะห่างที่ผู้อ่านยืนห่างจากแผ่นป้ายทดสอบ
  • ตัวเลขส่วน หมายถึง ระยะห่างจากแผ่นป้ายทดสอบที่คนสายตาปกติสามารถอ่านสิ่งที่อยู่บนป้ายได้ เช่น
    ค่าสายตาออกมาเป็นตัวเลข “VA 6/6 และ 6/18” หมายถึง
    VA 6/6 คือ สายตาข้างขวามีค่าปกติดี
    VA 6/18 คือ สายตาข้างซ้ายผิดปกติ เพราะผู้ถูกตรวจต้องยืนอยู่ที่ระยะห่าง 6 เมตรจึงจะสามารถอ่านสิ่งที่อยู่บนป้ายซึ่งคนสายตาปกติยืนอยู่ในระยะ 18 เมตรก็สามารถอ่านได้

การวัดค่าสายตาระยะไกล (Distance)

วิธีวัดสายตาระยะไกลที่นิยมใช้กัน และเป็นมาตรฐาน คือ “การตรวจสายตาด้วยแผ่นทดสอบแบบสเนลเลน ชาร์ต (Snellen Visual Acuity)”

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

การวัดสายตาด้วยแผ่นทดสอบ Snellen chart

การวัดสายตาด้วยวิธีนี้ นิยมใช้ในการทดสอบสายตาสั้น หรือสำหรับตรวจสุขภาพตาปกติ

โดยแผ่นทดสอบ Snellen chart คือ แผ่นทดสอบสายตาสีขาวซึ่งติดตั้งไว้กับผนัง และมีไฟส่องอยู่ด้านหลังเพื่อให้ความคมชัดยิ่งขึ้น แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

  • แผ่น Snellen chart แบบเป็นตัวเลข ลักษณะแผ่นทดสอบจะมีตัวเลขที่ไม่เหมือนกันวางคละกันเป็นบรรทัดเรียงตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปถึงเล็ก
  • แผ่น Snellen chart แบบเป็นตัวอักษร E เรียกได้อีกชื่อว่า “E chart” เป็นแผ่นทดสอบที่จะมีแต่ตัวอักษร “E” ในลักษณะถูกหมุนกลับหัว ชี้ขึ้น หันซ้าย และหันขวา เป็นแผ่นป้ายสำหรับผู้ที่ไม่รู้หนังสือ และตัวเลข รวมถึงเพื่อตรวจสายตาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน
  • แผ่นทดสอบแบบเป็นรูปภาพ หรือการ์ตูน (Allen picture or cards) สำหรับตรวจสายตาเด็กเล็กโดยใช้รูปภาพเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจให้เด็กยอมร่วมมือวัดสายตาได้ง่ายขึ้น

การเตรียมอุปกรณ์สำหรับวัดสายตา

  • สถานที่สำหรับวัดสายตา ต้องมีความยาวอย่างน้อย 20 ฟุต มีแสงสว่างมากพอ และไม่ควรมีไฟสะท้อนที่รบกวนสายตาผู้เข้าตรวจด้วย
  • แผ่นทดสอบ และผนังสำหรับติดตั้งซึ่งควรอยู่ในระดับเดียวกับสายตาผู้เข้าตรวจ
  • อุปกรณ์บังตา มีลักษณะเป็นแท่งพลาสติกลักษณะคล้ายช้อนสำหรับปิดที่ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งขณะตรวจ
  • อุปกรณ์บังตาแบบมีรู
  • เทปติดพื้น เพื่อบอกตำแหน่งการยืนให้กับผู้เข้าตรวจ

1. ขั้นตอนการวัดสายตาด้วย Snellen chart แบบตัวเลข

  • ผู้เข้าตรวจยืน หรือนั่งโดยลำตัวห่างจากแผ่นทดสอบเป็นระยะ 20 ฟุต
  • ผู้เข้าตรวจนำอุปกรณ์บังตาขึ้นมาบังตาข้างหนึ่ง เริ่มที่บังข้างซ้ายก่อน เพื่อให้วัดสายตาข้างขวา
  • ผู้เข้าตรวจอ่านตัวอักษร หรือตรวจเลขบนแผ่นทดสอบเรียงจากซ้ายไปขวา จากบรรทัดบนสุดลงล่างเท่าที่จะอ่านได้ หากไม่แน่ใจตัวอักษรตัวไหน ให้พยายามเดาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่านต่อไม่ได้อีก เกณฑ์การคัดกรองแถวตัวอักษรที่ผู้เข้าตรวจอ่านได้คือ เป็นแถวที่อ่านแล้วถูกครึ่งหนึ่งขึ้นไป จากนั้นผู้ตรวจจะบันทึกค่าสายตาไว้ ซึ่งเลขค่าสายตาจะปรากฎอยู่ที่ปลายแถวของตัวอักษรบนป้ายทุกแถว
  • หากผู้เข้าตรวจอ่านตัวอักษรได้น้อยกว่าแถวที่ 7 ผู้ตรวจอาจให้วัดสายตาใหม่โดยการใช้อุปกรณ์บังตาแบบมีรู หรือ pinhole ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ผู้มีสายตาสั้น ยาว เอียง ใช้แล้วมักจะอ่านตัวอักษรได้มากขึ้น ซึ่งหากอ่านได้มากขึ้นก็จะมีการบันทึกว่า "สายตาผิดปกติ"

ส่วนผู้วัดสายตาที่ใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์อยู่แล้ว ให้วัดสายตาโดยสวมแว่น หรือใส่คอนแทคเลนส์ได้เลย แต่หากยังอ่านได้น้อยกว่า 7 แถว ให้ลองอ่านแผ่นป้ายอีกครั้งโดยใช้อุปกรณ์บังตาแบบมีรู

2. ขั้นตอนการวัดสายตาด้วย E chart

ขั้นตอนการวัดสายตาด้วย E chart จะมีขั้นตอนง่ายกว่าการวัดสายตาแบบ Snellen chart เป็นวิธีวัดสายตาที่เหมาะกับการตรวจสุขภาพตาในชุมชน หรือสถานที่ตรวจเป็นพื้นที่กลางแจ้ง หรือภาคสนาม

อุปกรณ์ในการวัดสายตาแบบนี้จะแตกต่างจากแบบแรก คือ มีแผ่นทดสอบตัวอักษร E ขนาดเล็ก 60 ฟุตของแผ่นทดสอบ Snellen chart และแผ่นทดสอบขนาดใหญ่ 200 ฟุต กับเชือกยาว 6 เมตร ซึ่งมีการทำสัญลักษณ์ระยะห่าง 1, 3 และ 6 เมตรไว้แล้ว

ขั้นตอนการวัดสายตา มีดังต่อไปนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ผู้เข้าตรวจเอาอุปกรณ์บังตาข้างซ้าย เพื่อวัดสายตาข้างขวาก่อน
  • ผู้ตรวจแสดงแผ่นป้ายตัวอักษร E ขนาดเล็ก ในระยะ 6 ฟุต ซึ่งจะมีลักษณะตัวอักษรแตกต่างกัน หากสามารถตอบได้ถูกเกิน 4 ใน 5 ตัวอักษร ผู้ตรวจจะบันทึกค่าสายตาว่า VA = 20/60 คือ สายตาปกติ
  • หากผู้เข้าตรวจมีค่าสายตาแย่กว่า 20/60 ก็จะให้ใช้อุปกรณ์บังตาแบบเจาะรู ซึ่งส่วนมากผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียง จะอ่านได้มากขึ้น รวมถึงผู้ที่ใส่แว่นตา แต่ไม่ใช่แว่นตาที่ไม่ได้มีค่าสายตาถูกต้อง
  • หากผู้เข้าตรวจซึ่งค่าสายตาแย่กว่า 20/60 อ่านตัวอักษร E ขนาดใหญ่ในระยะ 6 เมตรผ่านอุปกรณ์บังตาแบบมีรูได้ถูกต้อง ผู้ตรวจจะบันทึกค่าสายตาว่า VA = 20/200
  • หากผู้เข้าตรวจยังไม่สามารถเห็นตัวอักษร E ขนาดใหญ่ ในระระห่าง 6 เมตรได้ ผู้ตรวจจะย่นระยะห่างเหลือ 3 เมตร หากอ่านได้ จะบันทึกค่าสายตาว่า VA = 20/400
  • หากต้องย่นระยะห่างมาเหลือแค่ 1 เมตร จึงจะอ่านตัวอักษร E ขนาดใหญ่ได้ ผู้ตรวจจะบันทึกสายตาว่า VA = 20/100

การตรวจสายตาระยะใกล้

การวัดค่าสายตาระยะใกล้คือ การทดสอบสายตาในระยะใกล้ประมาณ 33-35 เซนติเมตร มักใช้ทดสอบผู้ที่มีสายตายาว ส่วนแผ่นทดสอบ (Near card) ที่เป็นมาตรฐานใช้กันทั่วไป คือ แผ่นทดสอบเจเกอร์ ชาร์ต (Jaeger Chart)

แผ่นทดสอบ Jaeger จะแตกต่างจากแบบ Snellen ตรงที่จะเป็นคำ หรือประโยคตัวหนังสือให้อ่านมากกว่าเป็นตัวเลขเดี่ยวๆ ส่วนลักษณะการอ่านยังเหมือนกัน นั่นคือ ให้อ่านตั้งแต่บรรทัดบนสุดไปถึงบรรทัดล่าง 

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีปัญหาการอ่านหนังสือ จะใช้ near card ที่มีรูปแบบเหมือน Snellen chart

ผู้ที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรมาเข้ารับการตรวจสายตาระยะใกล้ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่ค่าสายตามักมีปัญหามองใกล้ไม่ชัด เป็นผลมาจากเลนส์ตาซึ่งถูกใช้งานมาเป็นเวลายาวนาน รวมถึงกล้ามเนื่อตาที่ไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน

การวัดสายตาด้วยวิธีอื่นๆ

นอกจากการวัดสายตาด้วยแผ่นป้ายด้านบน ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถวัดค่าสายตาได้อีก เช่น

1. การวัดสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ (Auto-refractometer)

เป็นเครื่องวัดสายตาผ่านการเปลี่ยนเลนส์สายตาไปเรื่อยๆ และให้ผู้เข้าตรวจเป็นคนตอบคำถามว่า เลนส์ไหนชัดน้อย หรือมากกว่ากัน

คุณสามารถพบการวัดสายตาแบบนี้ได้ในร้านขายแว่นทั่วไป ส่วนความแม่นยำในการตรวจวิธีนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากในขณะที่ผู้ป่วยเพ่งสายตามองภาพ หรือตรวจอักษร เลนส์ตาอาจมีการเบลอ หรือเผลอเพ่งจนทำให้บอกค่าสายตาผิดพลาดได้

2. การวัดสายตาด้วยเครื่องเรติโนสโคป (Retinoscope)

เป็นการวัดสายตาที่ให้ค่าตัวเลขค่อนข้างแม่นยำที่สุด เพราะเป็นการตรวจที่ไม่ได้อาศัยคำตอบเกี่ยวกับภาพ หรือตัวอักษรที่เห็นจากผู้เข้าตรวจซึ่งอาจบิดเบือนไปจากความจริง

แต่การวัดสายตาวิธีนี้ เป็นการวัดสายตาผ่านการสังเกตการตอบสนองของเลนส์ตาผู้เข้าตรวจเอง โดยใช้การกระตุ้นของแสงจากตัวเครื่องเรติโนสโคปซึ่งสะท้อนเข้าไปในรูม่านตา

ข้อเสียของการตรวจวิธีนี้คือ ผู้ตรวจจะต้องเป็นแพทย์ที่ถูกฝึกใช้เครื่องเรติโนสโคปมาอย่างชำนาญแล้วเท่านั้น

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนวัดสายตา

  • นำแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์สายตาที่ใช้อยู่ติดตัวไปด้วย เพื่อให้แพทย์ทราบว่า คุณมีภาวะทางสายตาใดๆ อยู่ก่อนแล้ว
  • นำประวัติการใช้ยาติดตัวไปด้วย โดยเฉพาะยาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น
  • เตรียมคำถาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาดวงตาของตนเอง
  • หากต้องมีการใช้ยาหยอดทำให้รูม่านตาขยาย ควรให้ญาติ หรือคนใกล้ชิดไปพบแพทย์ด้วยกัน เพราะหลังจากรูม่านตาขยาย คุณจะไม่สามารถใช้สายตาได้ชัดเจนดังเดิมจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากการเดินทางได้ง่าย

การวัดสายตาด้วยตนเอง

สามารถเข้ารับการทดสอบเพื่อวัดสายตาออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องไปพบจักษุแพทย์ นอกจากนี้ยังมีแบบทดสอบเกี่ยวกับการรับรู้สีตาในผู้ที่เสี่ยงตาบอดสี รวมถึงการตรวจภาวะตาโค้งอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในการตรวจวัดสายตาด้วยตนเองนั้นไม่ดีเท่ากับการไปพบแพทย์เพื่อขอตรวจสุขภาพตาโดยเฉพาะ

หรือหากคุณอยากวัดสายตาด้วยตนเองจริงๆ ก็สามารถหาซื้ออุปกรณ์แผ่นทดสอบ Snellen Chart มาทดสอบด้วยตนเองได้ แต่ทางที่ดีควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา รวมถึงดูแลสุขภาพดวงตาให้ดี เพื่อให้ดวงตาอยู่กับเราได้ยาวนาน

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจตา จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อ.ดร. เฉลิมสิริ เทพพิทักษ์, สรีรวิทยาการมองเห็น และการประเมินสมรรถภาพการมองเห็น (http://iph.sut.ac.th/wp-content/uploads/2019/08/สรีรวิทยาการมองเห็น-Wk5-1-2562.pdf) 15 มิถุนายน 2563.
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, คู่มือคัดกรองความผิดปกติทางสายตา (http://kolokhospital.com/wp-content/uploads/2015/12/manual-eyes.pdf), 15 มิถุนายน 2563.
รศ.พญ.นภาพร ตนานุรัตน์, การวัดสายตา และการตรวจจอตา (https://w1.med.cmu.ac.th/eye/files/pdf/lecture301.pdf), 15 มิถุนายน 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)