ตะคริว

เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตะคริว

ตะคริวคือ การที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยทั่วไปตะคริวมักเป็นไม่เกิน 2 นาที แต่ในบางรายก็เป็นนานถึง 5 นาที หรือนานกว่านั้น บางรายอาจเป็นบ่อยจนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้

โดยทั่วไปตะคริวมักเกิดในผู้สูงอายุและเป็นในตอนกลางคืนแต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อยและเป็นได้ทุกเวลา อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าเกิดขึ้นในระหว่างว่ายน้ำหรือขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สาเหตุของตะคริว

สาเหตุการเกิดตะคริวยังไม่ทราบแน่ชัดและมีหลายทฤษฎี โดยอาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อย ๆ ทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่ายเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้ายอาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอ ซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน

สิ่งกระตุ้นของตะคริว

ส่วนใหญ่แล้วการเกิดตะคริวไม่ค่อยมีสาเหตุ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด นอกจากนี้โรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ โลหิตจาง น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพาร์คินสัน รวมถึงการที่ร่างกายขาดสารน้ำและมีความผิดปกติของเกลือแร่ ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม และโพแทสเซียม ยังทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ง่ายอีกด้วย

การรักษาตะคริว

ถ้าเป็นตะคริวบ่อยมากควรหาสาเหตุ ตรวจเช็คว่ายาที่กินอยู่เป็นสาเหตุของตะคริวได้หรือไม่ อาจต้องตรวจหาโรคทางกายดังที่ได้กล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบสาเหตุ

การรักษาที่ดีอย่างหนึ่งคือ ยืดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวนั้น ให้คลายออกอย่างช้า ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นตะคริวที่น่องจะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้น ก็ให้ทำการดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้า ๆ แต่ห้ามกระตุกหรือกระชากแรง ๆ อย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ในรายที่เป็นบ่อย ๆ จะมีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ควินินและยาคลายกล้ามเนื้อยางชนิดซึ่งอาจใช้ในระยะสั้น ๆ เช่น 4-6 สัปดาห์ และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนักและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ มีเสียงดังในหู เวียนศีรษะ ดังนั้นโดยทั่วไปจึงมักไม่ค่อยได้ใช้กัน

การป้องกันตะคริว

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ
  • ฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อาจลดโอกาสในการเกิดตะคริวได้ เช่น ที่น่องอาจทำได้โดยการกระดกเท้าขึ้นลง หรือเอามือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่าปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือยืนบนส้นเท้าห่างผนัง 1 ฟุตแล้วเอามือทาบผนัง แล้วค่อยๆ เหยียดแขนออกเพื่อยืดกล้ามเนื้อประมาณ 30 วินาที แล้วทำใหม่
  • ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำและเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ผู้สูงอายุควรค่อยๆ ขยับแขนขาช้าๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นจัด
  • สวมรองเท้าที่เหมาะกับเท้าและอาจใส่ถุงเท้าตอนนอน เพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
  • ในรายที่เป็นบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข

12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Muscle Cramps: Causes, Diagnosis and Treatments. Healthline. (https://www.healthline.com/health/muscle-cramps)
Take that, muscle cramps!. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/take-that-muscle-cramps)
Leg cramps. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/leg-cramps/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป