กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โกโก้คืออะไร? เรื่องที่มนุษย์สายกิน (และรักสุขภาพ) ควรรู้

เรื่องโกโก้ ที่คนรักโกโก้ต้องอ่าน
เผยแพร่ครั้งแรก 16 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 28 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โกโก้คืออะไร? เรื่องที่มนุษย์สายกิน (และรักสุขภาพ) ควรรู้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โกโก้ เป็นของหวานที่มีแหล่งกำเนิดมาจากต้นโกโก้ ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ โดยส่วนที่นำมาสกัดเป็นโกโก้ให้ทุกคนได้รับประทานกัน คือ เมล็ดในผลโกโก้
  • ผลิตภัณฑ์จากโกโก้มีทั้งแบบผงโกโก้ ผงช็อกโกแลต ช็อกโกแลตแท่ง นมช็อกโกแลต
  • โกโก้มีสรรพคุณดีๆ หลายอย่าง เช่น มีสารต้านอนุมูลอิสระทำให้เซลล์ในร่างกายไม่ถูกทำลาย กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ลดความเครียด เริ่มความรู้สึกสดชื่น ช่วยขับปัสสาวะ บรรเทาอาการโรคหอบหืด
  • ถึงแม้โกโก้จะมีสรรพคุณดีๆ เยอะ แต่ก็มีไขมันสูง ยิ่งหากรับประทานโกโก้ที่ถูกเติมนม หรือน้ำตาลเข้าไปอีก ก็อาจเสี่ยงเกิดเป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวานได้ อีกทั้งในโกโก้ยังมีคาเฟอีนอ่อนๆ ที่อาจทำให้เกิดอากรมือสั่น เวียนหัว หรือนอนไม่หลับได้
  • คุณสามารถรับประทานโกโก้บ้างเป็นครั้งคราวได้เพื่อให้ร่างกายได้รับของหวานบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อื่นๆ ให้ร่างกายได้รับสารอาหาร 5 หมู่ รวมถึงหมั่นออกกำลังกาย และไปตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัยได้ที่นี่)

คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อ “โกโก้” หรือ “ช็อกโกแลต” ที่เป็นของหวานสุดโปรดของใครหลายๆ คน แต่จะมีใครรู้บ้างว่า แหล่งกำเนิดของโกโก้นั้นมาจากไหน และนอกจากความอร่อยแล้ว การรับประทานโกโก้มีประโยชน์ หรือโทษต่อร่างกายอย่างไรบ้าง ไปติดตามอ่านกันเลย

แหล่งกำเนิดของโกโก้

แหล่งกำเนิดโกโก้นั้น มาจากต้นโกโก้ (Cocoa tree) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Theobroma cacao" ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ต้นโกโก้สามารถปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน รวมถึงทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมีความชื้นสูง และฝนตกชุก มีอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Forastero, Criollo และ Trinitario 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนของต้นโกโก้ที่นำมาสกัดเป็นโกโก้ให้เรารับประทานนั้น คือ เมล็ดซึ่งอยู่ในผลโกโก้ โดยเมล็ดจะต้องถูกนำไปหมักให้มีกลิ่นหอม แล้วนำไปตากแห้งเพื่อให้ความชื้นลดลง จากนั้นจะถูกนำไปคั่ว จนได้สิ่งที่เรียกว่า "คาเคา นิบส์ (Cocoa nib)" ซึ่งเป็นเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นหอม รสชาติขมเป็นเอกลักษณ์ 

Cocoa nib สามารถนำมารับประทานได้เลย โดยใช้โรยหน้าขนม เครื่องดื่ม หรือจะนำไปแปรรูปเป็นผงโกโก้ เครื่องดื่มสำเร็จรูป หรือช็อกโกแลตแท่งก็ได้

คุณค่าทางโภชนาการ

ผงโกโก้ 100 กรัม ให้พลังงาน 228 กิโลแคลอรี่ โดบประกอบไปด้วย โปรตีน 19.60 กรัม ไขมัน 13.70 กรัม คาร์โบไฮเดรต 57.90 กรัม ไฟเบอร์ 37 กรัม และ น้ำตาล 1.75 กรัม

บริโภคโกโก้ในรูปแบบไหนได้บ้าง?

  • ผงโกโก้ และผงช็อกโกแลต เมื่อ Cocoa nib ผ่านกระบวนการบด และให้ความร้อน จะกลายเป็นของเหลวเหนียวหนืด ซึ่งเรียกว่า "Cocoa liquor"

    Cocoa liquor จะะมีไขมันโกโก้ผสมอยู่ ทำให้มีรสหอม มัน แต่ราคาค่อนข้างแพง หาก Cocoa liquor ถูกแปรรูปเป็นผงโดยไม่ได้รีดไขมันโกโก้ออก เราจะเรียกว่า "ผงช็อกโกแลต"

    แต่หากรีดไขมันออกจนเหลือเพียง 0-25% แล้วค่อยทำเป็นผง เราจะเรียกว่า "ผงโกโก้" ซึ่งผงแปรรูปทั้ง 2 ชนิด สามารถนำมาชงเป็นเครื่องดื่มร้อน-เย็น ใช้ทำขนม เช่น เค้ก คุกกี้ ให้รสชาติเข้มข้นหอมอร่อย
  • ช็อกโกแลตแท่ง เกิดจากการนำ Cocoa liquor ไปขึ้นรูป ซึ่งหากไม่มีการเติมส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาล หรือเม็ดผลไม้ ก็จะกลายเป็นดาร์กช็อกโกแลต 100% ที่มีรสชาติขม และมักใช้ทำขนมมากกว่านำมารับประทานเปล่าๆ

    แต่หากมีการเติมนม หรือน้ำตาลลงไป ก็จะได้ช็อกโกแลตแท่งที่มีรสชาติหวานอมขม และหอมมันอร่อย
  • นมช็อกโกแลต เป็นการนำ Cocoa liquor ไปผสมกับนมสดและน้ำตาล จนได้นมรสช็อกโกแลตรสชาติหวานมัน ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน

ประโยชน์ของโกโก้ต่อสุขภาพ

  • โกโก้อุดมด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย หรือเกิดความบาดเจ็บเสียหาย และช่วยลดการอักเสบได้ดี

  • ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแข็งแรง ยืดหยุ่น และป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน

    เพราะโกโก้สามารถเพิ่มไขมันชนิดดี (High Density Lipoprotein: HDL) และลดปริมาณไขมันชนิดไม่ดี (Low Density Lipoprotein: LDL) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองได้

  • ในโกโก้ และช็อกโกแลต อุดมไปด้วยกรดอะมิโน tryptophan ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่ง serotonin ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และไม่เครียด

  • โกโก้มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายกับคาเฟอีน ชื่อว่า "ทีโอโบรมีน (Theobromine) และ "ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)" จึงช่วยกระตุ้นหัวใจ ขยายหลอดเลือด ทำให้เรารู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า อีกทั้งมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการหอบหืด

    ผู้ที่ไวต่อสารคาเฟอีนก็ไม่ต้องตกใจ เพราะส่วนประกอบที่เป็นสารคาเฟอีนในโกโก้นั้นมีอยู่ในปริมาณน้อยมาก

  • ผงโกโก้ที่ไม่ผสมน้ำตาลนั้นมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สูง แต่ส่วนมากจะอยู่ในรูปไฟเบอร์มากกว่าน้ำตาล ดังนั้นจึงทำให้อยากอาหารน้อยลง เหมาะแก่การควบคุมน้ำหนัก

โทษของโกโก้ต่อสุขภาพ

  • การรับประทานช็อกโกแลต หรือโกโก้ซึ่งอุดมด้วยไขมันปริมาณมาก แล้วหากเพิ่มนม หรือน้ำตาลเข้าไปอีก ก็จะส่งผลให้ระดับไขมัน และน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจได้ 
  • ในโกโก้มีสารทีโอโบรมีนสูง ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายกับคาเฟอีนอ่อนๆ การรับประทานโกโก้มากๆ จึงอาจทำให้เกิดอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมากกว่าปกติ นอนไม่หลับ และเวียนหัวได้

หากคำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก ควรเลือกรับประทานโกโก้ในรูปแบบดาร์กช็อกโกแลต ซึ่งมีปริมาณเนื้อโกโก้สูง และมีไขมันจากนมกับน้ำตาลต่ำ แม้รสชาติจะขมไปบ้าง แต่ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าช็อกโกแลตนม และไวท์ช็อกโกแลตอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ควรเลือกเครื่องดื่มที่ชงจากผงโกโก้ เช่น โกโก้ร้อน โกโก้เย็น ก็ควรเลือกสูตรที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบดีกว่าชงจากผงช็อกโกแลต เนื่องจากผงโกโก้มีปริมาณไขมันน้อยกว่า เราจึงสามารถดื่มด่ำกับรสและกลิ่นที่โปรดปรานได้ โดยไม่ต้องกลัวอ้วน หรือไขมันส่วนเกิน

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bodil Ohlsson, et al., High Fiber Fat and Protein Contents Lead to Increased Satiety Reduced Sweet Cravings and Decreased Gastrointestinal Symptoms Independently of Anthropometric Hormonal and Metabolic Factors (https://www.omicsonline.org/open-access/high-fiber-fat-and-protein-contents-lead-to-increased-satiety-reducedsweet-cravings-and-decreased-gastrointestinal-symptoms-indepe-2155-6156-1000733.php?aid=86753), 27 March 2017
United States Department of Agriculture Agricultural Research Service. (2018). Cocoa, dry powder, unsweetened (https://ndb.nal.usda.gov)
Gao S. (2017). Can J Cardiol. 2017 Dec;33(12):1624-1632. doi: 10.1016/j.cjca.2017.07.015. Epub 2017 Jul 29.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป