"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ทำอย่างไรเมื่อลูกมี "ผื่นผ้าอ้อม"

วิธีสังเกตอาการ ลักษณะผื่น รวมถึงแนวทางการรักษาและป้องกัน “ผื่นผ้าอ้อม” อาการทางผิวหนังของทารกที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากความระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะ
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ทำอย่างไรเมื่อลูกมี "ผื่นผ้าอ้อม"

ปัญหากวนใจคุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนคือผื่นแดงบริเวณผ้าอ้อมของลูกน้อย หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า "ผื่นผ้าอ้อม" ผื่นผ้าอ้อมอาจเป็นผลมากจากหลายสาเหตุ และหนึ่งในนั้นคือผื่นจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะ การเกิดผื่นผ้าอ้อมยังมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ ลักษณะผื่นเป็นอย่างไร ทารกกลุ่มใดมีความเสี่ยง การวินิจฉัยและรักษาทำได้อย่างไรบ้าง มีคำตอบข้างล่างนี้

ผื่นผ้าอ้อม เกิดขึ้นได้อย่างไร?

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่าลูกมีผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะได้อย่างไร ทั้งที่ได้ดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี เช็ดล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังทารกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระแล้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ทางการแพทย์เรียกผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะว่า Diaper Irritant Contact Dermatitis ผื่นดังกล่าวมักเกิดในวัยทารก เนื่องจากตามสรีระและการทำงานของระบบขับถ่ายของเสียของทารกจะมีการขับของเสียบ่อยมาก และเมื่ออุจจาระและปัสสาวะที่ปนเปื้อนออกมาได้สัมผัสกับผิวหนังเป็นเวลานาน ความชื้นที่ผิวหนังก็จะสูงขึ้น อีกทั้งเอนไซม์ (Enzymes) ที่อยู่ในอุจจาระและปัสสาวะยังสามารถย่อยโปรตีนและไขมันที่เคลือบป้องกันผิวหนังได้ เมื่อร่วมกับสภาพความเป็นด่างของอุจจาระและปัสสาวะ ก็จะทำให้เอนไซม์ทำงานดีขึ้นอีก ผิวหนังจึงถูกทำลายและเกิดความระคายเคืองในที่สุด

ผื่นผ้าอ้อม มีลักษณะอย่างไร?

โดยทั่วไป ผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะจะมีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง อาจเป็นตุ่มแดงเล็กๆ รวมตัวเป็นปื้นใหญ่ได้ บางครั้งสามารถพบขุยขาวๆ ในผื่น หากผื่นลุกลามมากขึ้นอาจกลายเป็นแผลเปิดถลอกถึงชั้นหนังแท้ ทำให้เด็กมีอาการเจ็บ แสบ และไม่สบายตัวตามมา ส่วนใหญ่ผื่นมักกระจายตัวในบริเวณที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม ได้แก่ บริเวณผิวหนังอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ยังสามารถลามไปยังหัวหน่าว ฝีเย็บ รอบรูทวาร ด้านในของขาส่วนต้น และแก้มก้นทั้ง 2 ข้าง ข้อสังเกตของผื่นชนิดนี้คือจะไม่พบผื่นในตำแหน่งซอกพักต่างๆ เช่น ซอกพับบริเวณขาหนีบ บริเวณถุงอัณฑะ หรือตามบริเวณผิวหนังที่ถูกคลุมด้วยรอบพับของผ้าอ้อม

เด็กทารกคนใดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดผื่นผ้าอ้อมบ้าง?

ทารกทุกคนมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดผื่นจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะบริเวณผ้าอ้อม เนื่องจากการขับถ่ายบ่อยๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว แต่มีสิ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผื่นจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะบริเวณผ้าอ้อมด้วยเช่นกัน เช่น

  • ภาวะน้ำหนักเกิน ในเด็กที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน จะมีเนื้อส่วนเกินปิดคลุมตามรอยพับมากขึ้น ทำให้มีการระบายของอากาศบริเวณดังกล่าวลดลง มีการเก็บสะสมความชื้นมากขึ้น ร่วมกับการมีพื้นผิวสัมผัสอุจจาระและปัสสาวะที่มากกว่า ทำให้มีความระคายเคืองรุนแรงกว่า
  • การทำความสะอาดบริเวณผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมด้วยสบู่ทำความสะอาดบ่อยเกินไป (นอกจากสบู่ที่ใช้ทำความสะอาดจะมีฤทธิ์เป็นด่างทำให้เสียสมดุลกรด-ด่างที่ผิวหนังแล้ว สบู่ยังชะล้างสารให้ความชุ่มชื้นบริเวณผิวหนังที่ช่วยให้แผลสมานเร็วขึ้นออกไปอีกด้วย)

หากปล่อยผื่นผ้าอ้อมทิ้งไว้จะเกิดผลเสียอย่างไร?

หากผื่นผ้าอ้อมจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะได้รับการรักษาล่าช้าหรือไม่เหมาะสม ผื่นอาจขยายขนาดออกและกลายเป็นแผลเปิดถลอกลุกลามเข้าชั้นหนังแท้ ทำให้มีอาการเจ็บ ระคายเคืองมากขึ้น จนมีอาการไม่สบายได้ นอกจากนี้ยังพบว่าผิวหนังที่ถลอกจะสูญเสียความสามารถในการป้องกันเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ทำให้ติดเชื้อต่างๆ แทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น อีกทั้งหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงที่ผิวหนัง เชื้อยังอาจเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เด็กมีไข้สูงตามมาได้

วิธีวินิจฉัยผื่นผ้าอ้อม

โดยทั่วไปแล้ว การวินิจฉัยภาวะผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากความระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะสามารถทำได้โดยตรวจสอบดูลักษณะของผื่นที่ได้กล่าวไปข้างต้น ร่วมกับซักประวัติจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่มีความจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ยังมีผื่นผ้าอ้อมที่เกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นลักษณะคล้ายๆ กัน เช่น ผื่นเชื้อราบริเวณผ้าอ้อม (Diaper Candidiasis) ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic Contact Dermatitis) จากสารก่อการแพ้ เช่น น้ำหอมน้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือสารในผงซักฟอก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผื่นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Perianal Streptococcal Dermatitis) ผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) โรคสะเก็ดเงินบริเวณที่ห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม (Diaper Psoriasis) ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) และผื่นอักเสบที่เกิดจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณข้อพับ (Intertrigo) เป็นต้น ผื่นเหล่านี้มีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย และอาจจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม

ผื่นผ้าอ้อมจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะบริเวณผ้าอ้อมสามารถรักษาและป้องกันได้อย่างไร?

การรักษาผื่นจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะบริเวณผ้าอ้อม ควรเริ่มต้นจากการทำให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดการอักเสบระคายเคืองแข็งแรงก่อน โดยเริ่มจากการกำจัดสาเหตุของสิ่งที่ทำลายผิวหนัง ได้แก่ การรักษาภาวะถ่ายเหลว การเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผ้าอ้อมจากผ้าที่ใช้กันทั่วไป ไม่ควรปล่อยให้ผิวหนังสัมผัสอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเวลานาน หากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ควรใช้ชนิดที่ซึมซับได้ดี มีสาร Superabsorbent Polymers เป็นองค์ประกอบ ส่วนผ้าอ้อมจากผ้าควรทำมาจากผ้าฝ้ายโปร่ง มีเนื้อสัมผัสนุ่ม ไม่ระคายผิว และดูดซึมน้ำได้ดี หากมีคราบอุจจาระหรือปัสสาวะเปื้อนบริเวณผิวหนัง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดอย่างแรงหรือขัดออก เนื่องจากผิวจะได้รับความระคายเคืองเป็นแผลถลอก ทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิห้องเปิดผ่านชำระคราบอุจจาระหรือปัสสาวะออกไป หรือใช้ผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำสะอาดหรือน้ำมันมะกอกเช็ดออกเบาๆ

นอกจากนี้ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สบู่ทำความสะอาดทุกครั้ง เนื่องจากสบู่เองมีฤทธิ์เป็นด่าง จะยิ่งทำให้ผิวหนังได้รับความระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หากจำเป็นต้องใช้สบู่ให้ใช้สบู่เหลวสำหรับเด็กที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอมและแอลกอฮอล์ มีการปรับค่าความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมกับสภาพผิวแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้กระดาษชำระแบบเปียกทำความสะอาด เนื่องจากมีส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด ทำให้ผิวหนังระคายเคืองและแพ้ได้ง่ายขึ้น ในส่วนของยา ควรทายาที่มีสารเคลือบผิวเพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองทับอีกชั้น เช่น ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบของ Zinc Oxide เป็นต้น บางผลิตภัณฑ์จะผสมสารที่ให้แผลสมานเร็วขึ้น หรือสารลดการอักเสบของผิวหนัง แต่อาจมีราคาที่สูงขึ้นตามส่วนประกอบที่ผสมในตัวยา

หากอาการเป็นรุนแรงมากอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ โดยต้องเป็นชนิดอ่อนที่สุด และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยาทาสเตียรอยด์มาใช้เอง เนื่องจากสารสเตียรอยด์จะไปยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้ติดเชื้อแทรกซ้อนบนผิวหนังที่อักเสบ นอกจากนี้บริเวณผิวหนังที่ห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อมสามารถดูดซึมยาสเตียรอยด์เข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับผิวหนังส่วนอื่น ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายต่อการเจริญเติบโตของเด็กตามมาได้ โดยทั่วไปหากดูแลรักษาผิวอย่างถูกวิธี ผื่นจะดีขึ้นและหายภายในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์

โดยสรุป ผื่นจากการระคายเคืองอุจจาระและปัสสาวะบริเวณผ้าอ้อมเป็นผื่นผ้าอ้อมชนิดหนึ่งและเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารก ซึ่งมักทำให้ทารกงอแงเนื่องจากการะคายเคืองบริเวณผิวหนัง มีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือการสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระที่นานเกินไป การดูแลรักษาที่เหมาะสม ได้แก่ การดูแลผิวที่ถูกวิธี การทายาที่มีสารเคลือบผิว และการใช้ยาทาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้นเนื่องจากยาทาดังกล่าวทำให้ผิวหนังที่อักเสบเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนและได้รับผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cohen B. Differential diagnosis of diaper dermatitis. Clin Pediatr (Phila). 2017;56(5):16-22.
Rippke F, et al. pH and Microbial infections. Curr Probl Dermatol. 2018;54:87-94.
Folster_Holst R. Differential diagonoses of diaper dermatitis. Pediatr Dermatol. 2018;35:s10-s18.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)