กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

ไข้หนาวสั่น อาการที่พบได้ในหลายๆ โรค

ทำความรู้จักโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่นได้ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 8 ก.พ. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 12 มี.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ไข้หนาวสั่น อาการที่พบได้ในหลายๆ โรค

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • “ไข้หนาวสั่น” เป็นอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อการติดเชื้อ การรับสารพิษ หรือสารก่อภูมิแพ้ แต่ยังไม่ใช่อาการที่สามารถใช้วินิจฉัยร่างกายได้ 
  • อาการไข้หนาวสั่นแบ่งออกได้ 2 ช่วงวัย ช่วงวัยแรก คือ อาการไข้หนาวสั่นในเด็ก ตัวอย่างโรคที่มักทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่น ได้แก่ ท้องร่วง หัด อีสุกอีใส และมือ เท้า ปาก
  • ช่วงวัยที่ 2 คือ อาการไข้หนาวสั่นในผู้ใหญ่ ตัวอย่างโรคที่มักทำให้เกิดอาการ ได้แก่ อาหารเป็นพิษ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มาลาเรีย ฉี่หนู และการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • การรักษาอาการไข้หนาวสั่นมีหลายวิธี แต่เบื้องต้นต้องแน่ใจเสียก่อนว่า ตนป่วยเป็นโรคอะไร แล้วรักษาตามสาเหตุของโรคนั้น เช่น รับประทานยาลดไข้ การเช็ดตัวลดอุณหภูมิร่างกาย การรับประทานอาหารย่อยง่าย 
  • การป้องกันอาการไข้หนาวสั่นที่ดีที่สุดคือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจะได้ปราศจากโรคภัย ฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน หรือหากคุณมีอาการเจ็บป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ (ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่นี่)

"ไข้หนาวสั่น" เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน และเกิดการอักเสบ อาการไข้หนาวสั่นจึงสามารถเกิดขึ้นได้กับสารพัดโรค เช่น การติดเชื้อ การได้รับสารพิษ สารกระตุ้นอาการแพ้ หรือมีสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

อาการไข้หนาวสั่นเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ และไม่สามารถใช้วินิจฉัยโรคโดยลำพังได้ อย่างไรก็ตาม การมีไข้สูง และมีอาการหนาวสั่น ถือเป็นภาวะที่อันตรายซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อกตามมาได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ดังนั้นหากมีอาการไข้หนาวสั่นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ และรักษาอย่างทันท่วงที

สาเหตุของอาการไข้หนาวสั่น

สาเหตุของอาการไข้หนาวสั่นแบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย คือ อาการไข้หนาวสั่นในเด็ก อาการไข้หนาวสั่นในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มีรายละเอียดดังนี้

1. โรคที่ทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่นในเด็ก

ในเด็กเล็กๆ มักพบอาการมีไข้สูงได้บ่อย โดยโรคที่พบมากในเด็ก และทำให้มีอาการไข้หนาวสั่นได้ ได้แก่

1.1 โรคหัด

โรคหัดเป็นโรคที่พบมากในเด็กทารก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สาเหตุมาจากไวรัสกลุ่ม "พารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus)"

อาการ คือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร และมีผื่นขึ้นบริเวณชายผม รอบปาก และใบหู ก่อนที่จะกระจายลงมาที่คอ ลำตัว แขน และขา โดยจะมีอาการประมาณ 7-14 วัน หากไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น สมองอักเสบ

การป้องกัน: ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามที่กำหนด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1.2 โรคอีสุกอีใส

เกิดจากเชื้อไวรัส "วาริเซลลาซอสเตอร์" (Varicella zoster) เป็นโรคที่มักแพร่กระจายในเด็ก โดยเฉพาะในโรงเรียน จะพบการระบาด และติดต่อกันได้บ่อย

อาการที่เด่นชัดคือ ผิวหนังมีตุ่มนูนแดง ตุ่มใส และตกสะเก็ด อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันทั่วร่างกาย มักพบที่ลำตัวมากกว่าแขน ขา และใบหน้า ร่วมกับมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซึ่งอาการในเด็กมักไม่รุนแรง และหายเองได้ภายใน 1 สัปดาห์

การป้องกัน: ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยสามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป 

1.3 โรคท้องร่วง

สาเหตุของท้องร่วงในเด็กมักเกิดจากเชื้อ "โรตาไวรัส (Rotavirus)" โดยเด็กส่วนมากจะมีอาการท้องเสีย มีไข้ ประมาณ 3-8 วัน ระหว่างมีอาการผู้ปกครองจะต้องระวังภาวะขาดน้ำจากการถ่ายเหลวด้วย

นอกจากนี้การติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ และโปรโตซัว ก็เป็นสาเหตุของท้องร่วงที่พบบ่อยเช่นกัน

การป้องกัน: การเลือกรับประทานอาหาร น้ำที่สะอาด ล้างมือบ่อยๆ และรักษาสุขอนามัย รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1.4 โรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อว่า "เด็งกี (Dengue)" ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เป็นโรคที่ระบาดในหน้าฝน โรคนี้จะมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อนหลัง ดังนี้

  1. ไข้สูงลอย 2-7 วัน 
  2. มีตับโต กดเจ็บ
  3. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง อุจจาระเป็นสีดำ
  4. มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว/ภาวะช็อก

ระยะการดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออก

แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

การป้องกัน: ระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด และเข้ารับการวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยจะออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ ทำให้ยากต่อการเป็นโรคนี้ 

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโรคไข้เลือดออกยังมีข้อจำกัดในการใช้ เนื่องจากตัววัคซีนก็อาจทำให้ผู้ป่วยบางกลุ่มเสี่ยงเกิดไข้เลือดออกรุนแรงขึ้นได้คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกก่อนว่า ควรฉีดอย่างไรจึงจะเหมาะสมต่อร่างกาย และป้องกันโรคได้ 

1.5 โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ชนิด เอ บี และซี (Influenza A, B และ C) เป็นโรคที่พบบ่อยในทุกวัย อาการของไข้หวัดใหญ่คือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ไอ อาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และคลื่นไส้อาเจียนได้บ้างเช่นกัน

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะหายดีเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งหากไม่รีบรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือช็อกได้

วิธีป้องกัน: เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่คลุกคลี่กับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันละอองน้ำมูกรวมถึงเสมหะ รักษาสุขอนามัยร่างกายให้ดีอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อนส้อม ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า

1.6 โรคมือ เท้า ปาก

เป็นโรคที่พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อคอกซากีไวรัสเอ16 (Coxsackievirus A16)

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการสัมผัส หรือการหายใจ อาการที่พบคือ มีไข้ เจ็บคอ เกิดผื่นหรือแผลพุพองขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เมื่อมือที่เป็นแผลไปสัมผัสสิ่งของต่างๆ ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้

วิธีป้องกัน: รักษาความสะอาดมือ เท้า และปากอยู่เสมอ ไม่ใช้ช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก

โรคที่ทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่นในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

ในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ ก็สามารถพบอาการไข้หนาวสั่นได้เช่นกัน โดยโรคที่พบบ่อย และทำให้เกิดอาการดังกล่าว ได้แก่

2.1 โรคไข้มาลาเรีย

เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) ซึ่งมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ มักพบการระบาดในแถบที่อยู่ใกล้ป่าร้อนชื้น เช่น ภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศไทย

อากา รและอาการแสดงของมาลาเรียไม่มีลักษณะพิเศษบ่งเฉพาะ โดยมากจะมีอาการนำคล้ายกับเป็นหวัดคือ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว และกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ หรือเบื่ออาหารร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อ

หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูงลอย และมีอาการไข้หนาวสั่นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง มีโลหิตจาง จนถึงขั้นหมดสติ และโคม่าได้

วิธีป้องกัน: เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันได้โดยตรง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คอ สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดเมื่อต้องอยู่ในที่ที่มียุงชุกชุม ระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน เช่น ในอ่างน้ำ กระถางต้นไม้ แจกันดอกไม้

2.2 โรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรืออาจไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการสูดดมสารพิษ หรือเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

อาการไข้หนาวสั่นมักมาพร้อมกับอาการไอ เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก และอาการอาจรุนแรงขึ้นหากเกิดหนอง หรือฝีในปอด 

วิธีป้องกัน: หลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะทางอากาศที่เป็นพิษ งดสูบบุหรี่ และเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคซึ่งอาจอยู่ในประเภทเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่  

2.3 โรคฉี่หนู

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเลปโตสไปรา (Leptospira) ซึ่งมีหนูเป็นพาหะ การติดเชื้อมักพบบ่อยในผู้ที่สัมผัสกับแหล่งน้ำสกปรกที่ปนเปื้อนปัสสาวะหนู เช่น ชาวนาที่ต้องเดินลุยน้ำในนา คนหาปลาในหนองน้ำ หรือผู้ที่อาศัยในแหล่งน้ำท่วม

อาการของโรคฉี่หนู คือ ไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง (มักปวดที่น่อง โคนขา กล้ามเนื้อหลังและน่อง) ตาแดง

อาการของโรคฉี่หนูจะค่อนข้างหลากหลาย และอาจมีอาการเด่นของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งที่ถูกทำลาย ไม่ว่าจะเป็นไต ตับ ระบบหายใจ หรือระบบไหลเวียนโลหิต โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับชนิด และปริมาณของเชื้อ

วิธีป้องกัน: ระมัดระวังไม่สัมผัสน้ำ หรือสิ่งปนเปื้อนปัสสาวะสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคอย่างหนู หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำโคลน น้ำขังสกปรก หากมีบาดแผลให้หมั่นทำความสะอาดแผล กำจัดหนูตามแหล่งที่อยู่อาศัย ใส่รองเท้าบูทเมื่อต้องเดินไปในแหล่งน้ำสกปรก

2.4 โรคตับอักเสบ

สาเหตุของตับอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสมากที่สุด รองลงมาเกิดจากพิษสุรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโปรโตซัว เลปโตสไปโรสิส พยาธิ ยาบางชนิด และสารเคมี

อาการที่เด่นชัด คือ มีตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องด้านบนขวา อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับมีไข้หนาวสั่นด้วย โดยอาการอาจแตกต่างกันไปตามระยะของโรค

วิธีป้องกัน: รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่บริโภรคสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์มากเกินไป ไม่ใช้ข้าวของร่วมกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น 

2.5 โรคอาหารเป็นพิษ

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส และแบคทีเรียที่ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวหลายครั้ง อุจจาระมีมูกเลือด อาเจียน และมักพบอาการไข้หนาวสั่นด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของโรคอาหารเป็นพิษที่ต้องระวังคือ ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดชดเชย เพื่อป้องกันอาการช็อกจากร่างกายสูญเสียสารน้ำไปเป็นจำนวนมาก

วิธีป้องกัน: รับประทานอาหารที่สุก สะอาด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารข้ามคืน ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ไม่รับประทานอาหารที่เมนูประหลาด เสี่ยงต่อการระคายเคืองกระเพาะอาหาร

2.6 โรคไข้หวัดใหญ่

เป็นโรคที่พบได้ทุกวัย ซึ่งในผู้ใหญ่เองก็จะพบอาการคล้ายกับเด็ก คือ มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้เช่นเดียวกับในเด็ก 

2.7 ทางเดินปัสสาวะอักเสบ

การอักเสบของท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และไต ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่บางส่วนก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น นิ่วไต หรือภาวะภูมิแพ้ตัวเอง

อาการที่พบนอกเหนือจากมีไข้หนาวสั่น คือ ปวดท้องน้อยรุนแรง ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะขุ่น บางครั้งมีเลือดปนออกมา และปวดหลังบริเวณเอว

วิธีป้องกัน: ไม่กลั้นปัสสาวะ ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายทุกวัน รักษาสุขภาพอนามัยของอวัยวะเพศให้ดี มีเพศสัมพันธ์โดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง 

2.8 ติดเชื้อในกระแสเลือด

เป็นภาวะที่พบได้ในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคปนเปื้อนเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งหลายๆ ครั้งก็เป็นการติดเชื้อลุกลามจากบาดแผล หรือการอักเสบของอวัยวะส่วนอื่น

อาการที่พบคือ มีไข้สูง หนาวสั่น มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว เกิดความผิดปกติของระบบต่างๆ ทั่วร่างกาย จนอาจถึงขั้นช็อกได้

นอกจากโรคที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการไข้หนาวสั่นได้ เช่น โรคไข้รากสากน้อย ไข้รากสากใหญ่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

วิธีป้องกัน: รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารไปสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายได้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย ดูแลสุขอนามัยร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ หากเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ให้หมั่นไปตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำ

โดยสรุปแล้ว ไข้หนาวสั่นเกิดได้จากหลายปัจจัยมากๆ ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถเจอต้นตอของปัญหาตั้งแต่ในระยะแรกๆ หรือปรึกษาแพทย์ออนไลน์เพื่อรับฟังคำแนะนำในการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมต่อไป 

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์

หากคุณพบว่า อาการหนาวสั่นของตนเองหรือคนใกล้ชิดไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการต่อไปนี้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • หายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing)
  • ไออย่างรุนแรง
  • คอแข็ง
  • มีอาการสับสน
  • อาเจียนอย่างรุนแรง
  • มีอาการเฉื่อยชา หรือหงุดหงิดง่ายกว่าเดิม
  • หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบากกว่าเดิม
  • ปวดท้อง
  • ดวงตามีอาการไวต่อแสงผิดปกติ
  • เจ็บแสบขณะปัสสาวะ รวมถึงปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะน้อยเกินปกติ

ส่วนในกรณีของผู้ป่วยเด็ก ให้คุณรีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที หากพบอาการต่อไปนี้

  • อาการไข้ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน
  • อาการไข้ในเด็กอายุ 3-6 เดือน รวมกับมีอาการเซื่องซึม หรือหงุดหงิดง่ายกว่าเดิม
  • อาการไข้ในเด็กอายุ 6-24 เดือน ซึ่งอาการไม่ดีขึ้นนานกว่า 1 วัน
  • อาการไข้ในเด็กอายุ 2-17 ปี และอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน รวมถึงไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น

วิธีวินิจฉัยอาการหนาวสั่น

ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยก่อน รวมถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่า อาการหนาวสั่นนั้นเกิดจากอะไร ได้แก่

  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจเลือด รวมถึงการเก็บตัวอย่างเลือดไปเพาะเชื้อ
  • การเก็บตัวอย่างเสมหะจากปอด และหลอดลมเพื่อนำไปเพาะเชื้อ
  • การเอกซเรย์ปอดเพื่อดูว่า มีภาวะปอดอักเสบ (Pneumonia) วัณโรคปอด (Tuberculosis) หรือมีการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่

การรักษา และบรรเทาอาการไข้หนาวสั่น

การรักษาจะเน้นการแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ ร่วมกับการบรรเทาอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้ ในส่วนของอาการไข้หนาวสั่น เราสามารถบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • เช็ดตัวลดอุณหภูมิ การใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาดๆ เช็ดตามใบหน้า ซอกคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ จะช่วยลดอุณหภูมิร่างกายลงได้ หากไข้กลับมาอีกควรเช็ดตัวซ้ำทุกๆ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้การวางผ้าขนหนูหมาดๆ ไว้บนหน้าผากจะช่วยนำความร้อนออกจากร่างกายได้เช่นกัน
  • รับประทานยาลดไข้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ผู้ใหญ่ควรรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด (ขนาด 500 มก.) ส่วนเด็กรับประทานครั้งละ ½ - 1 เม็ด ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง และหลังรับประทานยาควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ปรับอาหาร ระหว่างมีไข้สูงควรรับประทานอาหารให้น้อยลง และงดรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เพราะกระบวนการย่อยและเผาผลาญสารอาหารจะทำให้ร่างกายเราร้อนขึ้น นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ และผักผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น เบอร์รี่ แตงโม ส้ม นอกจากจะทำให้ร่างกายเย็นขึ้นแล้วยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วย

  • ใช้สมุนไพรลดไข้ สมุนไพรหลายชนิด เช่น สะระแหน่ ขิง ใบกระเพรา มีสรรพคุณช่วยลดไข้ได้ ซึ่งเราสามารถนำสมุนไพรมาต้มดื่ม หรือรับประทานสดๆ ก็ได้เช่นกัน

เนื่องจากไข้หนาวสั่นเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ และพบได้ในหลายๆ โรค ดังนั้นการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เริ่มจากหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว เช่น ดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย งดดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคตับอักเสบ ระวังอย่าให้ยุงกัดเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิงและผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
"Prevention of varicella: Recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP). Centers for Disease Control and Prevention". MMWR Recomm Rep. 45(RR–11): 1–36. July 1996. PMID 8668119
Centers for Disease Control and Prevention (CDC) (March 2012). "FDA approval of an extended period for administering VariZIG for postexposure prophylaxis of varicella" (PDF). MMWR Morb. Mortal. Wkly. Rep. 61 (12): 212. PMID 22456121.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)
อาหารต้านเชื้อราแคนดิดา (Candida Diet)

หากจำนวนเชื้อราแคนดิดาในร่างกายมีมากเกินไป อาจนำไปสู่การติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านเพิ่ม
อาการหนาวสั่นคืออะไร?
อาการหนาวสั่นคืออะไร?

รู้จักสาเหตุของการหนาวสั่น เพื่อดูแลผู้มีอาการอย่างเข้าใจและถูกต้อง

อ่านเพิ่ม
หนาวสั่น (Chills)
หนาวสั่น (Chills)

อาการหนาวสั่น เกิดจากอะไรได้บ้าง หนาวสั่นแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ วิธีการรักษา และวิธีการดูแลตัวเองทำอย่างไร?

อ่านเพิ่ม