วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
เขียนโดย
วริษา ศรีเปลี่ยนจันทร์
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

สารก่อภูมิแพ้คืออะไร

สำรวจความหมาย และประเภทของสารก่อภูมิแพ้ แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะป้องกันสารก่อภูมิแพ้ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 22 ก.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
สารก่อภูมิแพ้คืออะไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • สารก่อภูมิแพ้คือ สารกระตุ้นที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำปฏิกิริยาจนมีอาการแพ้แสดงออกมา เช่น ไอ จาม หายใจไม่ออก น้ำมูกไหล ระคายเคืองผิว
  • สารก่อภูมิแพ้มีหลายประเภทและเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งนั้น ได้แก่ อาหาร ขนสัตว์ ไรฝุ่น แมลง ยางพารา เชื้อรา เกสรดอกไม้
  • สารก่อภูมิแพ้ที่คนไทยแพ้กันมากจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร ได้แก่ อาหารทะเล นมวัว ไข่ แป้งสาลี
  • วิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้ที่ดีที่สุดคือ การอยู่ให้ห่างจากสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ ให้มากที่สุด รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคภูมิแพ้
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้น่าจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” กันเป็นอย่างดี เพราะสารก่อภูมิแพ้คือ ตัวการที่ทำให้อาการภูมิแพ้แสดงออกมา อาการดังกล่าวล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และยังสร้างความรำคาญในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย

นอกจากกลุ่มผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แล้ว กลุ่มคนทั่วไปก็ควรจะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อภูมิแพ้ไว้ เพื่อจะได้รู้จักหลีกเลี่ยง ไม่สัมผัสสารเหล่านี้ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในภายหลังได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความหมายของสารก่อภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) คือ สารกระตุ้นที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดปฏิกิริยาหลังจากได้สัมผัสสาร จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นตามระบบต่างๆ เช่น

  • ระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี๊ด
  • ระบบการมองเห็น ผู้ป่วยจะมีอาการตาแดง แสบตา ระคายเคืองตา น้ำตาไหล หนังตาบวม
  • ระบบผิวหนัง มีผื่นลมพิษขึ้น รู้สึกระคายเคืองผิว
  • ระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ลิ้นกับปากบวม

ประเภทของสารก่อภูมิแพ้

สารก่อภูมิแพ้มีอยู่รอบๆ ตัวเราทุกที่ โดยสามารถแบ่งประเภทหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้

1. สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร

ถือเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ทำอันตรายต่อผู้คนได้โดยไม่รู้ตัว เพราะหลายคนไม่รู้ว่าตนเองแพ้อาหารประเภทใดบ้างจนกว่าจะได้รับประทานเข้าไปจนมีอาการออกมา ผู้ป่วยถึงได้รู้ว่า ตนเองแพ้อาหารประเภทนั้น

ประเภทของอาหารที่มักเป็นสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่

  • ไข่ รวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นไข่
  • น้ำตาลแลคโตส (Lactose) มักอยู่ในอาหาร และเครื่องดื่มประเภทนมวัว โยเกิร์ต
  • นมรวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มอื่นๆ หรืออาหารที่มีส่วนประกอบเป็นนมด้วย เช่น ชานม กาแฟ ครีมนม เนย มาการีน ชีส ช็อกโกแลต ไอศกรีม
  • ถั่วลิสง (Peanut)
  • อาหารทะเล ทั้งหอย เนื้อปลา เนื้อกุ้ง ปู ปลาหมึก
  • ถั่วเหลือง (Soy)
  • ถั่วเปลือกแข็ง (tree nut) เช่น วอลนัท พีแคน รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วด้วย เช่น ขนมปังแครกเกอร์ ขนมปังธัญพืช
  • ข้าวสาลี (Wheat) เช่น ขนมปัง ข้าว อาหารธัญพืช

2. สารก่อภูมิแพ้ประเภทขนสัตว์

ขนสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์มีขนประเภทอื่นๆ ที่เลี้ยงไว้ในบ้าน ก็สามารถเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ เห็บ หมัด รังแค หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่หล่น หรือกระจายไปตามอากาศก็เป็นสารก่อภูมิแพ้ได้เช่นกัน

3. สารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น

ละอองฝุ่น สิ่งสกปรกในอากาศ ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ รวมถึงแมลงไรฝุ่นชนิดเล็กๆ คือ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศที่คุณมักไม่สังเกตเห็น แต่มันกลับอยู่ทุกที่ที่คุณไป ทั้งในและนอกบ้านซึ่งส่งผลให้อาการแพ้สามารถเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่ทันตั้งตัว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

พื้นที่ที่สามารถพบสารก่อภูมิแพ้ได้มากที่สุดคือ ในห้องนอน หรือห้องนั่งเล่น เพราะในสถานที่ที่ตัวไรฝุ่นสามารถอาศัยอยู่ได้มากที่สุด นั่นก็คือ บนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตามีขน เสื้อผ้า ผ้าม่าน พรม เบาะโซฟา

นอกจากนี้สารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่นยังมักเป็นตัวการทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นชนิดของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทยด้วย

4. สารก่อภูมิแพ้จากแมลงกัดต่อย

การถูกแมลงบางชนิดกัด เช่น ตัวต่อ แตน ผึ้ง มดคันไฟ สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ขั้นรุนแรงได้ โดยอาการจะมีตั้งแต่คันบวมบริเวณผิวหนัง แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน ไปจนถึงหัวใจวาย หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

5. สารก่อภูมิแพ้ประเภทยางพารา

ยางพาราจัดเป็นอีกพืชยอดนิยมที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย ถุงมือที่ใช้ใส่สำหรับป้องกันเชื้อโรค หรือลูกโป่งสีต่างๆ ก็ล้วนทำมาจากยางพารา ทั้งนี้ยางชนิดนี้ก็เป็นสารก่อภูมิแพ้ได้เช่นกัน

เพราะผิวหนังของผู้ใช้ยางพาราบางรายจะมีความไวต่อสารยาง (Latex) จนแสดงอาการแพ้ออกมา โดยมักเป็นอาการระคายเคืองผิวหนัง มีตุ่มพองขึ้นตามผิว มีอาการหอบหืด หายใจลำบากร่วมด้วย

6. สารก่อภูมิแพ้ประเภทเชื้อรา

บริเวณที่มีการอับชื้น หรือในฤดูกาลฝน เป็นช่องทางที่เชื้อราจะเติบโตได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีบางบริเวณของที่อยู่อาศัยที่เป็นแหล่งรวมของเชื้อราได้ เช่น ในห้องน้ำ ใต้อ่างล้างจาน แผ่นกรองเครื่องปรับอากาศ ถังขยะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

7. สารก่อภูมิแพ้ประเภทเกสรดอกไม้

การปลูกต้นไม้ หรือมีวัชพืชบางชนิดเติบโตอยู่รอบตัว ก็ถือเป็นการนำสารก่อภูมิแพ้เข้ามาอยู่ใกล้ตัว

แม้ว่าหลายคนอาจมองว่า ต้นไม้เป็นสิ่งให้ความรมรื่น หรือดอกไม้สร้างความสวยงามบริเวณรอบบ้าน แต่ขณะเดียวกัน ละอองเกสรของพืชเหล่านั้นก็เป็นสารก่อภูมิแพ้อีกชนิดที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้

นอกจากสารก่อภูมิแพ้ทั้ง 7 ประเภท ยังมีสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ได้อยู่บ่อยๆ ซึ่งจำเป็นต้องพิถีพิถันในการเลือกใช้ รวมถึงสังเกตสารเคมีในสิ่งของเหล่านี้ให้ดี เช่น

  • เครื่องสำอาง
  • สบู่
  • โลชั่นบำรุงผิว
  • น้ำหอม
  • ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม
  • น้ำยาทำความสะอาดบ้าน

ประเภทของสารก่อภูมิแพ้ที่คนไทยแพ้กันมาก

นม และไข่ เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดอาการแพ้อันดับต้นๆ ของประชากรทุกประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหารถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเกิดอาการแพ้ ไม่น้อยไปกว่าสารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น

สำหรับกลุ่มประชากรที่มักเกิดอาการแพ้มากที่สุดในประเทศไทยคือ กลุ่มประชากรเด็ก ส่วนประเภทอาหารที่แพ้มากที่สุด ได้แก่

  • อาหารทะเล
  • นมวัว
  • ไข่
  • แป้งสาลี

วิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้

หากยังไม่ทราบมาก่อนว่า ร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง ปัจจุบันมีวิธีทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง โดยจะมีการนำน้ำยา หรือสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ มาทดสอบที่ผิวหนัง เพื่อให้เห็นปฏิกิริยาแพ้

หากมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดใด ก็แสดงว่า “คุณแพ้สารชนิดนั้น” และจะได้ระมัดระวังไม่อยู่ใกล้สารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นต่อไป โดยสามารถไปใช้บริการทดสอบภูมิแพ้ได้ที่โรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีวิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับความนิยมในตอนนี้ นั่นคือ "การให้วัคซีนป้องกันโรคภูมิแพ้ (Allergen Immunotherapy)" ซึ่งเป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

แต่วิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคภูมิแพ้ไม่สามารถใช้ป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ทุกชนิด อีกทั้งต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่รับวัคซีนด้วย

วิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้ด้วยตนเองแบบง่ายๆ

ส่วนในผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว และรู้ว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดบ้าง วิธีป้องกันสารก่อภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ ไม่อยู่ใกล้สารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้น และกำจัดไม่ให้มีสารเหล่านั้นอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย เช่น

  • หมั่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ เพื่อให้ภายในบ้านปลอดจากสารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น เชื้อรา หรือแมลง
  • ปิดหน้าต่างทุกบานในบ้านระหว่างไม่อยู่บ้าน และใช้มุ้งลวดปิดเวลาเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท แต่สามารถป้องกันไม่ให้ละอองฝุ่นจากภายนอกลอยเข้ามาในบ้านจนทำให้คุณเกิดอาการแพ้
  • จำกัดพื้นที่สัตว์เลี้ยงไม่ให้เข้าออกได้ทุกบริเวณในบ้าน เพื่อไม่ให้สะเก็ดผิวหนัง และขนของมันลอยฟุ้งไปทั่วบ้าน และควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์หากมีอาการขนร่วงหนักจนทำให้อาการภูมิแพ้ของคุณหนักกว่าเดิมด้วย
  • เปลี่ยนปลอกหมอน และผ้าปูที่นอนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของตัวไรฝุ่น
  • กำจัดวัชพืช หรือปลูกต้นไม้ประเภทที่ไม่มีละอองเกสรที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

ส่วนในผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหาร การสังเกตส่วนประกอบของอาหารจากฉลากก่อนซื้อ หรือสอบถามทางร้านอาหารก่อนสั่งว่า มีอาหารชนิดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้เป็นส่วนประกอบหรือไม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

อีกทั้งฝั่งผู้ประกอบการเอง ก็ต้องมีการระบุข้อมูลอาหารซึ่งเสี่ยงต่อการแพ้ลงในฉลากอย่างละเอียดด้วย และต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายการให้ข้อมูลบนฉลากเป็นระยะๆ

รายชื่อสารก่อภูมิแพ้อาหารที่จะต้องแสดงบนฉลากตามกฎหมายของไทย 

มีทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่

  1. ธัญพืชที่มีกลูเตน
  2. สัตว์ทะเลที่มีเปลือกหุ้ม
  3. ปลา
  4. ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
  5. ถั่วต้นชนิดต่างๆ
  6. นม
  7. ไข่
  8. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือสารประกอบซัลไฟต์ที่มากกว่า 10 ppm

โดยสรุป สารก่อภูมิแพ้ก็คือ ปัจจัยทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ที่ต้องอยู่ให้ห่างที่สุด เพื่อไม่ให้อาการของโรคแสดงออกมาจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม สารก่อภูมิแพ้หลายอย่างเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัว และยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ หากรู้ว่า ตนเองแพ้สารนั้นๆ ให้ศึกษาวิธีรับมือ หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัย

หากมีอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นเมื่อไร อย่าลังเลที่จะรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะอาการแพ้แบบรุนแรงนั้นสามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยไม่ทันตั้งตัว

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kirsi Järvinen-Seppo, Types of Allergens (https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=90&contentid=p01711), 23 June 2020.
Healthwise Staff, Types of Allergens (https://www.uofmhealth.org/health-library/hw34011), 23 June 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป