วิตามินกันแดด กินแล้วช่วยกันแดดได้จริงไหม?

เผยแพร่ครั้งแรก 14 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
วิตามินกันแดด กินแล้วช่วยกันแดดได้จริงไหม?

ทุกวันนี้ วิตามินกันแดด หรือผลิตภัณฑ์กันแดดชนิดกิน กลายเป็นไอเทมฮอตฮิตของสาวๆ ไปแล้ว เพราะผู้ผลิตต่างก็เคลมว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถป้องกันแสงแดดได้ดีตลอดวัน โดยไม่ต้องทาครีมกันแดดให้เหนียวเหนอะหนะ หรือคอยทาซ้ำๆ ทุก 2 – 3 ชั่วโมง และนอกเหนือจากคุณสมบัติในการป้องกันแสงแดดแล้ว วิตามินแบบกินยังช่วยบำรุงผิวพรรณให้ขาวใส เรียบเนียนด้วย แต่หลายคนคงสงสัยใช่ไหม ว่าวิตามินกันแดด สามารถป้องกันแสงแดดได้จริงไหม แล้วทำงานอย่างไร ถ้าอยากรู้ลองไปอ่านกันเลย!

วิตามินกันแดด ช่วยกันแดดได้อย่างไร?

อย่างที่เรารู้กันว่า แสงแดดประกอบด้วยรังสี UV-A, UV-B ซึ่งเป็นตัวการทำร้ายผิว ทำให้เซลล์ผิวอักเสบ ระคายเคือง และหมองคล้ำขึ้น ในวิตามินหรือผลิตภัณฑ์กันแดดแบบกิน มักมีส่วนผสมของวิตามินสังเคราะห์และสารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดสารต่างๆ ที่เป็นตัวทำลายเซลล์ผิว เช่น Hydrogen peroxide และ Nitric oxide ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อผิวถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ดังนั้น เมื่อเรารับวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระเข้าสู่ร่างกาย สารเหล่านี้จะช่วยลดการระคายเคืองของผิว และป้องกันการสร้างเม็ดสีผิวหลังสัมผัสกับแสงแดด รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดผิวแห้งกร้านและริ้วรอยก่อนวัย นอกจากนี้ วิตามิน ซี ยังกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว จึงช่วยให้ผิวดูอิ่มฟู เรียบเนียน และกระชับเต่งตึงขึ้นอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สารประกอบสำคัญในวิตามินกันแดด

วิตามินกันแดดเกือบทุกยี่ห้อ มักประกอบด้วยวิตามินที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ และสารสกัดจากธรรมชาติที่ดูดซึมได้ง่าย เช่น

  • สารกลุ่ม Astaxanthine เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สกัดได้จากสีชมพูและแดงในสัตว์ทะเล เช่น เปลือกกุ้ง ปู ปลาแซลมอน สารกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันอาการผิวไหม้จากแสงแดดและริ้วรอยลึกบนผิว รวมถึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย
  • สารสกัดจากมะเขือเทศ (Tomato extract) มีสารสำคัญ ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยปกป้องผิวจากความเสื่อมโทรมอันเป็นผลมาจากแสงแดดและมลภาวะ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ทำให้ผิวดูขาวอมชมพูมีสุขภาพดี
  • สารสกัดจากพืชกลุ่มซิตรัส (Citrus extract) หรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม อุดมด้วยวิตามิน ซี และวิตามิน อี มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันผลกระทบจากแสง UV เช่น ผิวหมองคล้ำและการทำลายคอลลาเจน จึงช่วยให้ผิวดูกระจ่างใสเปล่งปลั่ง
  • สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grape seed extract) ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดและมลภาวะไม่ให้ผิวระคายเคือง ป้องกันการทำลายคอลลาเจน ทำให้ผิวแข็งแรงและยืดหยุ่น ยับยั้งการสร้างเม็ดสีผิวซึ่งทำให้ผิวคล้ำขึ้น และยังมีงานวิจัยที่พบว่าสารสกัดจากเมล็ดองุ่นช่วยให้ฝ้าดูจางลงด้วย
  • วิตามิน ซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญมาก ซึ่งช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากแสงแดด ป้องกันผิวเสื่อมโทรม หยาบกร้าน หมองคล้ำ และระคายเคือง มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวดูอ่อนเยาว์ กระชับ เต่งตึง นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แข็งแรงขึ้นด้วย
  • สารสกัดอื่นๆ จากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากชาเขียว เฟิร์น และเปลือกสน ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระและป้องกันไม่ให้ผิวถูกแสง UV ทำลายเช่นเดียวกับสารอื่นๆ

กินวิตามินกันแดดอย่างเดียว ไม่ต้องทากันแดดได้ไหม?

วิตามินกันแดด มีส่วนช่วยในการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากแสงแดด เช่น ผิวโทรม ผิวหยาบกร้าน และริ้วรอยเป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นเหมือนโล่กัน UV-A และ UV-B แบบเดียวกับครีมกันแดด รวมถึงการดูดซึมและออกฤทธิ์ในแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้น เราจึงไม่ควรกินวิตามินอย่างเดียว แล้วออกไปเดินกลางแดดจ้าโดยไม่ทากันแดด เพราะไม่มีอะไรรับประกันผิวเราจะไม่ถูกแดดเผาจนพัง ทางที่ดีก็ควรทำควบคู่กันไป ทั้งกินวิตามิน ทาครีมกันแดด และใช้ร่ม หมวก เสื้อแขนยาวป้องกันแดดด้วย

ควรกินวิตามินกันแดดอย่างไร?

วิตามินกันแดด มีทั้งรูปแบบน้ำ เม็ด แคปซูล ฯลฯ ซึ่งการรับประทาน ให้อิงตามฉลากของผลิตภัณฑ์ ว่าต้องทานมากน้อยแค่ไหนต่อวัน และควรทานก่อน หลัง หรือพร้อมกับอาหาร ข้อควรระวังคือไม่ควรทานมากเกินกว่าที่ฉลากกำหนด เพราะสารสกัดบางชนิดอาจส่งผลข้างเคียงหรือสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ และถ้าทานแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นคันตามตัว แสบผิว ตาไวต่อแสง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ให้หยุดทานทันทีและไปพบแพทย์ เพราะวิตามินกันแดดอาจไม่ได้เหมาะกับร่างกายทุกคน


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How to get vitamin D from sunlight. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/live-well/healthy-body/how-to-get-vitamin-d-from-sunlight/)
6 things you should know about vitamin D. Harvard Health. (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/6-things-you-should-know-about-vitamin-d)
Sunscreen Resource Center. American Academy of Dermatology. (https://www.aad.org/public/everyday-care/sun-protection/sunscreen/sunscreen-resource-center)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป