ผักคาวตอง

รวมข้อมูล สรรพคุณทางยา และวิธีการใช้ผักคาวตองเพื่อสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ผักคาวตอง

“ผักคาวตอง” เป็นผักพื้นบ้านตระกูลเดียวกับใบพลู ชาวภาคเหนือและภาคอีสานนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยนำยอดอ่อนและใบอ่อนกินเป็นผักสดเคียงกับลาบ ปลาร้า และน้ำพริก หรือเป็นส่วนประกอบของแกงบอนและแกงข้าวคั่ว ไม่เพียงแต่จะนำมาประกอบอาหาร ผักคาวตองยังมีสรรพคุณทางยามากอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Houttuynia cordata Thunb.

ชื่อวงศ์ SAURURACEAE

ชื่อพ้อง Polypara cochinchinensis Lour.

ชื่อสามัญ fish mint, fish leaf, chameleon plant, fish wort, Chinese lizard tail, bishop's weed

ชื่อท้องถิ่น คาวทอง (อุตรดิตถ์, มุกดาหาร) ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักคาวปลา, ผักเข้าตอง, ผักคาวตอง (ภาคเหนือ) พลูคาว (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของผักคาวตอง

ผักคาวตองเป็นไม้ล้มลุก อายุประมาณ 2-4 ปี สูง 15-40 ซม. ทั้งต้นมีกลิ่นคาวคล้ายกลิ่นคาวปลา ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปหัวใจ กว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-8 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3.5 ซม. ก้านใบส่วนโคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น หูใบอยู่ติดกับก้านใบ มีลำต้นใต้ดิน แผ่เลื้อยไปทั่ว และจะแตกรากและยอดชูขึ้นเป็นช่อยอดใบ ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่า รากหรือไหลที่เลื้อยมีสีขาว มีข้อปล้องพร้อมที่จะแตกยอดบนดิน ถ้าปลูกไว้ในกระถางจะเลื้อยขดเต็มกระถาง และชูยอดขึ้นมาเพื่อแตกยอดหรือต้นใบใหม่

ถิ่นกำเนิดของผักคาวตอง

ผักคาวตอง มีถิ่นกำเนิดมาจากทางภาคเหนือของประเทศไทย เนื่องด้วยกลิ่นที่คาวจัดคล้ายคาวปลา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ผักคาว” และเมื่อนำใบมาตากแดด ใบจะไหม้เกรียม มีสีเหลืองคล้ายสีทอง ชาวบ้านจึงเรียกว่า “ผักคาวตอง” หรือ “ผักคาวทอง”

สรรพคุณของผักคาวตอง

  • แพทย์ตามชนบทใช้ใบแก้กามโรค (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
  • แก้โรคผิวหนังทุกชนิด ทำให้น้ำเหลืองแห้ง โดยนำผักคาวตองสดมาตำพอแหลก แล้วพอกบริเวณที่มีแผลหรือฝี แพทย์โบราณกล่าวว่ามีฤทธิ์แรงกว่าพลูจีน
  • ชาวบ้านนำใบมาตำพอกแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย งูพิษกัด และช่วยทำให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
  • รากแก้โรคเลือดและขับลม
  • ใช้ทั้ง 5 ส่วน ซึ่งได้แก่ ส่วนใบ ราก ดอก ผล และลำต้น นำทุกส่วนมาต้มรวมกัน รับประทาน แก้โรคเรื้อนและโรคที่เกิดตามผิวหนัง แก้ไข้หัด แก้ไข้มาลาเรีย รวมถึงไข้ที่มีอาการหนาวสั่น ไข้ป่า
  • ตำราคนจีนว่าผักคาวตองทั้งต้นมีสรรพคุณขับปัสสาวะ รักษาอาการอักเสบในทางเดินปัสสาวะ รักษาอาการปัสสาวะแสบขัด และยังช่วยขับระดูขาวอีกด้วย (ตกขาว) โดยนำมาต้มกับน้ำเดือด แล้วรับประทานเป็นยาต้ม
  • แพทย์เนปาลใช้ลำต้นใต้ดิน ในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของโลหิตสตรี (โลหิตประจำเดือน) รูปแบบในการรับประทานตามดั้งเดิมคือนำมาทำเป็นยาต้ม หรือนำมาอบแห้ง แล้วบดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาเม็ด

ผักคาวตองกับการศึกษาด้านเภสัทวิทยา

ในปัจจุบันพบว่า มีการศึกษาวิจัยมากมายเกี่ยวกับผักคาวตอง เนื่องจากสรรพคุณเด่นที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย บำรุงระบบน้ำเหลือง ต้านไวรัส ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยระงับการปวด และยังช่วยในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยเหตุนี้ผักคาวตองจึงได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะประเทศไทย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วุฒิ วุฒิธรรมเวช, สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย, 2540.
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศัพท์แพทย์ไทย, 2546.
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)